THAI CLIMATE JUSTICE for All

โลกร้อนแล้ว แต่กฎหมายโลกร้อนของไทยพร้อมหรือยัง?

วัชลาวลี คำบุญเรือง

โลกร้อนแล้ว แต่กฎหมายโลกร้อนของไทยพร้อมหรือยัง?

          ปัญหาสภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนต่างได้เผชิญต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป รายงานว่า ในปี 2023 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาพลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ราว 1.48 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นกว่าเดิม[1] ซึ่งผลจากการที่โลกร้อนขึ้นย่อมให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อันเป็นที่ประจักษ์ว่าย่อมส่งผลต่อมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาโลกร้อน ณ ปัจจุบัน หลายประเทศได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United National Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กำหนดความร่วมมือการดำเนินงานให้กับประเทศภาคีบรรลุเป้าหมายร่วมกับ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. การควบคุม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว 3. การสร้างเงินกองทุนหมุนเวียนที่สอดคล้องกับแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญา และข้อตกลงปารีสที่ได้ลงนามให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559[2]

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยประกาศเป้าหมายหลังเข้าร่วม COP26 ว่าจะทำให้ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065[3] ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้ตามสิ่งที่คาดหวังไว้ การมีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เมื่อหันกลับเข้ามามองความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ร่างกฎหมายโลกร้อนของไทย พบว่า เวทีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ถือเป็นเวทีแรกที่ได้แนะนำร่างกฎหมายโลกร้อน 4 ฉบับ พร้อมกัน ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ … เสนอโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานะปัจจุบัน

2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. … เสนอโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ (พรรคพลังประชารัฐ)

3. ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … เสนอโดย นางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ (พรรคก้าวไกล)

4. ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. เสนอโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ

ความน่าสนใจของร่างกฎหมายโลกร้อนแต่ละฉบับ คือ เป้าหมายที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกลวิธีในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้มีการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซ การควบคุมทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเสนอระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Credit ซึ่งมีความต่างกันในรายละเอียดของแต่ละฉบับ แต่มีเพียงเฉพาะร่างกฎหมายโลกร้อนจากภาคประชาชนที่เสนอให้มีการใช้ระบบภาษีคาร์บอนที่จะใช้เฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ ๆ ความต่างในวิธีคิดที่ปรากฎในร่างกฎหมายโลกร้อนแต่ละฉบับ จึงมีความน่าสนใจ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการหาวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม และยืดหยุ่น แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ร่างกฎหมายทุกฉบับควรต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญคือการควบคุมและลดอุณหภูมิของโลก บนฐานความแตกต่างหลากหลายที่ทุกฝ่ายควรต้องคำนึงถึงประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และภาคส่วนที่เปราะบาง เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวและรับมือกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนได้อย่างทันการณ์

ปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายโลกร้อน จำนวน 3 ฉบับ จากหน่วยงานรัฐและพรรคการเมืองได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นที่เรียบร้อยและอยู่ในระหว่างการดำเนินการขั้นตอนไป และสำหรับร่างกฎหมายโลกร้อนของภาคประชาชน หลังจากที่ได้ยื่นเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567[4] ที่ผ่านมา ยังคงต้องรอการตรวจสอบและจะดำเนินให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อไป ซึ่งร่างกฎหมายโลกร้อนทั้ง 4 ฉบับ ต่างถูกคาดหมายว่าจะได้เข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติในเร็ววัน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกร้อนที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น ท้ายนี้ ร่างกฎหมายโลกร้อนจะได้เข้ามาเป็นหนึ่งในกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกเพิ่มเข้ามาและทำให้เกิดการปรับตัวในทุกภาคส่วนอย่างมาก ฉะนั้น การให้ความสำคัญต่อทุกรายละเอียดในกฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญ และควรค่าแก่การจับตาในทุกความเคลื่อนไหว


[1] BBC News ไทย, สถิติชี้ ปี 2023 ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก ส่วนปี 2024 มีโอกาสร้อนยิ่งขึ้นอีก, ระบบออนไลน์: https://www.bbc.com/thai/articles/cv2ddn1v49ro.

[2] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ระบบออนไลน์ : https://thai-inter-org.mfa.go.th/th/page/ความตกลงปารีส?menu=5d847835517e9b159b5eba97.  

[3] สอวช., การตั้งเป้าหมายของไทยเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางจากการประชุม COP26, ระบบออนไลน์ : https://www.nxpo.or.th/th/9651/#:~:text=ประเทศไทย%20โดยนายกรัฐมนตรี%20พลเอก,Net%20Zero)%20ภายในปี%202065.

[4] ไทยรัฐออนไลน์, ยื่นร่าง กฎหมายโลกร้อนฉบับประชาชนเข้าสภา, เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567, ระบบออนไลน์ : https://www.thairath.co.th/news/local/2794948.

Scroll to Top