THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย   Gleb Raygorodetsky
แปลและเรียบเรียงโดย     ปิโยรส ปานยงค์
วันที่    13 ธันวาคม 2011


ประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและการผลิตที่อาศัยพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาก่อให้เกิดกาซเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นสูงในบรรยากาศโลก ซึ่งนำไปสู่อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป เกิดพายุรุนแรง น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และอากาศร้อนที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น พืชผลทางการเกษตรลดต่ำลง แหล่งน้ำจืดขาดแคลน เกิดภาวะโรคระบาด คุณภาพชีวิตของผู้คนตกต่ำลง

ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำของกลุ่มชาติพันธ์จะมีส่วนให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยมาก แต่กลุ่มชาติพันธ์กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พึ่งพิงความหลากหลายทางพันธุกรรมท้องถิ่น ระบบนิเวศน์ และสภาพภูมิประเทศดั้งเดิม ความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธ์แยกไม่ออกจากที่ดิน ซึ่งมักอยู่ตามชายขอบทางสังคมของชุมชนมนุษย์ส่วนใหญ่ เช่นตามเกาะเล็กๆ ป่าเขตร้อน บนยอดเขาสูง ชายฝั่ง ทะเลทราย และขั้วโลก ซึ่งเป็นที่ที่ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อการเกษตร ปศุสัตว์ จับสัตว์น้ำ เก็บของป่าล่าสัตว์ และการเข้าถึงแหล่งน้ำ

กลุ่มชาติพันธ์ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธ์ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่ตกเป็นเหยื่อของภาวะโลกร้อน ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มชาติพันธ์คิดเป็นเพียง 4% ของประชากรโลกหรือประมาณ 250-300 ล้านคน ใช้พื้นที่ในการดำรงชีพเพียง 22% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดของโลก แต่กลับมีบทบาทในการดูแลรักษาระบบนิเวศน์ถึง 80-85% ของพื้นที่ธรรมชาติทั้งหมด นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธ์ยังสามารถเก็บกักปริมาณคาร์บอนได้เป็นพันล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญ เพื่อที่จะเก็บกักคาร์บอนที่ปลดปล่อยออกมาจากการผลิต และลดปัญหาโลกร้อนได้

ด้วยองค์ความรู้เก่าแก่ในผืนดิน อากาศ และแหล่งน้ำ ทำให้กลุ่มชาติพันธ์มีความชำนาญในการสังเกตและตีความการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์ความรู้ที่สั่งสมกันมายาวนานในชุมชนทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่มีค่า ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างและพิสูจน์โมเดลทางสภาพภูมิอากาศและประเมินการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ องค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธ์ยังใช้เพื่อสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับตัวและบรรเทาปัญหาโลกร้อนและปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทั้งในระดับชุมชน ภูมิภาค และทั่วโลก

ในขณะที่สภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธ์ แต่ประชาคมโลกก็ยังกีดกันกลุ่มชาติพันธ์ไม่ให้มีส่วนร่วมตัดสินใจและร่างนโยบายที่จะกำหนดอนาคตของตน ผลที่เกิดขึ้นก็คือโครงการระดับนานาชาติที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เช่นการก่อสร้างเขื่อนภายใต้กรอบการพัฒนาพลังงานสะอาดหรือ Clean Development Mechanisms (CDM) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธ์มากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้โครงการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ได้รับการออกแบบและดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม เช่นการลดการปลดปล่อยกาซเรือนกระจกด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่าหรือ Reducing Emissions form Deforestation and Degradation (REDD/REDD+) เป็นโครงการที่ลิดรอนสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์บนผืนแผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติในที่ดินของตน กลุ่มชาติพันธ์ได้รับความกดดันนี้ในขณะที่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของตนก็ได้รับความเสี่ยงมากอยู่แล้วจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี

Alexander Dibesov ผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลค่าย Aktru ในประเทศรัสเซียกวาดตามองหาแกะภูเขาพื้นที่ลาดเอียงในหุบเขาแห่งหนึ่งโดยใช้กล้องส่องทางไกล “ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ในฤดูร้อน ครอบครัวของผมมักจะพาผมมาที่หุบเขา Aktru แห่งนี้” เขาเล่า “เราชอบเล่นเลื่อนลากบนธารน้ำแข็ง” เมื่อ 60 ปีก่อน ธารน้ำแข็งกินเป็นทางยาวลงมาถึงจุดที่ Alexander ยืนอยู่ พอมาถึงวันนี้ธารน้ำแข็งหดตัวสั้นลงจนมองแทบไม่เห็นจากจุดเดิม

ต้องใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมในการออกแบบการแก้ปัญหาโลกร้อน

สิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการจำกัดบทบาทของกลุ่มชาติพันธ์ในการร่างนโยบายและมีส่วนในการตัดสินใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นได้แก่การใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมของชุมชนน้อยมากในการออกแบบการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับสากล มาตรการดังกล่าวขาดการนำเอาวิสัยทัศน์ที่มีคุณค่าของกลุ่มชาติพันธ์มาวิเคราะห์ผลกระทบและวิธีการแก้ปัญหา ปรากฏการณ์นี้ยิ่งเห็นได้ชัดในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประจำปีหรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPPC) Assessment Report

IPPC Assessment Report เป็นรายงานที่มีอิทธิพลต่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติมากที่สุดในโลก เป็นรายงานที่รัฐบาลของประเทศต่างๆใช้ในการร่างนโยบาย และ NGO ใช้ในการวางแผนในการทำงาน IPCC Assessment Report ฉบับสุดท้ายที่ออกในปี 2007 ระบุว่าองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธ์เป็น “สิ่งที่มีค่าในการพัฒนากลยุทธ์ในการปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรับมือกับสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” ข้อคิดเห็นนี้ได้รับการยืนยันในการประชุม IPCC ครั้งที่ 32 ในปี 2010 ความว่า “องค์ความรู้ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจประสิทธิภาพของกลยุทธ์การแก้ปัญหาโลกร้อนที่คุ้มราคา มีส่วนร่วมโดยทุกฝ่าย และยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม รายงาน IPCC ฉบับก่อนหน้านี้ไม่สามารถรวมองค์ความรู้ดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกันเนื่องจาก องค์ความรู้ดั้งเดิมนั้นมักปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านนอกวงการวิชาการ หรือไม่ก็เป็นการบอกเล่าปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น

การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

ในการนำเอาช่องว่างระหว่างองค์ความรู้ดั้งเดิมและกระบวนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนมาพิจารณา และการยกระดับองค์ความรู้ดั้งเดิมและบทบาทของกลุ่มชาติพันธ์ในการกำหนดนโยบายโลกร้อนนั้น สถาบัน United Nations University เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ดั้งเดิม (UNU-TKI) และ IPCC ได้ทำงานร่วมกันบนพื้นฐานงานเดิมของ UNU-TKI อันได้แก่โครงการ Book Advance Guard โดยที่ UNU-TKI และ IPCC ร่วมมือกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนที่มีต่อจากกลุ่มชาติพันธ์และแนวทางการแก้ไขไว้ใน IPCC Assessment Report ฉบับต่อไปที่จะออกสู่สายตาประชาคมโลกในปี 2014 ความร่วมมือระหว่าง IPCC และ UNU-TKI มีความสำคัญในหลายมิติ ซึ่งรวมถึง:

  1. การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศของกลุ่มชาติพันธ์และแนวทางการแก้ไขปัญหา
  2. การเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคและแนวทางการแก้ไขปัญหา แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับองค์ความรู้ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์ และรายงานใน IPPC AR5
  3. เชื้อเชิญกลุ่มชาติพันธ์ให้เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ
  4. จัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศของกลุ่มชาติพันธ์ องค์ความรู้ดั้งเดิม และความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธ์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม

เป้าหมายที่สำคัญของการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้แก่การประชาสัมพันธ์ความสำคัญขององค์ความรู้ดั้งเดิมจากท้องถิ่นในเวทีระดับชาติ การประชุมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธ์ ให้มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติที่เป็นไปตามองค์ความรู้และวัฒนธรรมของตน

สำหรับกลุ่มชาติพันธ์นั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมาในชุมชนท้องถิ่น และยังได้โอกาสที่จะเก็บเกี่ยวข้อมูลจากกระบวนการแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินการอยู่ในระดับนานาชาติ และผลกระทบที่อาจจะเกิดมีขึ้นต่อสังคมของตน นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธ์ยังสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกันเองในระหว่างกลุ่มอื่นๆได้อีกด้วย ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เองก็จะได้โอกาสในการสอบเทียบข้อมูลการวิจัยของตนกับประสบการณ์ตรงของกลุ่มชาติพันธ์

(อ่านต่อพรุ่งนี้)


ภาพโดย               James Gordon
อ้างอิง                  https://unu.edu/publications/articles/why-traditional-knowledge-holds-the-key-to-climate-change.html


Social Share