THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

THAI CLIMATE JUSTICE FOR ALL

เวทีสัมมนาวิชาการ : สังเคราะห์องค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่งประเทศไทย ครั้งที่ 1

ครั้งที่ 1 : วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564

นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั้งยืน :

เวทีสัมมนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จัด 7 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง เพื่อหาวิธีปรับตัวในระดับพื้นที่และร่วมมือกับหน่วยงานราชการเพื่อการทำงานเชิงรุก จัดหัวข้อละชั่วโมงครึ่ง วันนี้สองหัวข้อคือ ผศ.ดร.จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์ เรื่องข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดร.นลินีเรื่องระบบนิเวศน์ปะการัง โดยทั้งสองหัวข้อมีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วย

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม :

กล่าวเปิดงาน กล่าวถึง COP26 เมืองกลาสโกว และกล่าวถึงการสัมมนาครั้งนี้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงจุดไหนแล้ว และจะต้องทำอะไรเพิ่ม ปัจจุบันผลกระทบและสภาพอาการรุนแรงขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว 1 องศาทำให้เราต้องยอมรับการมีอยู่จริงของภาวะโลกร้อน และต้องป้องกันไม่ให้เพิ่มขึ้นอีกเกิน 1.5 องศา เพราะโลกโดยเฉพาะไทยจะได้รับผลกระทบมากเพราะพึ่งพิงธรรมชาติมาก รัฐบาลจึงได้ปรับเป้าหมายต่างๆ ให้เกิดเร็วขึ้นและท้าทายขึ้น ชาวประมงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมาหาว่าอะไรคือต้นเหตุของความเสี่ยงว่ามาจากไหน จากชุมชนเองหรือภาครัฐ แล้วหาทางแก้ไข

ผศ.ดร.จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง:

เผยแพร่ข้อมูล forecast การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ในปัจจุบันความเข้มของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเกิน 400 ppm แล้ว หรือเพิ่มมากว่า 100 ppm ภายในเวลาเพียงสิบปี ได้มีการทดลองว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริงหรือไม่โดยการวัดอุณหภูมิ พบว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลังสุดชัดเจนมาก ซึ่งจะกระทบต่อระบบนิเวศน์มาก และทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงเช่นซูเปอร์ไต้ฝุ่น และจะเกิดขึ้นอีกเพราะภาวะโลกร้อนจะทำให้พายุไต้ฝุ่นรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น สมมติว่าถ้าเราปล่อยก๊าซแบบเดิมไม่หยุด อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 4 องศา ส่วนในประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่ม 3 องศา ทำให้รูปแบบฝนเปลี่ยนแปลงไป จากแบบจำลองฝนบ่งชี้ว่าบางพื้นที่จะมีฝนตกมากขึ้น บางพื้นที่ก็ลดลง ความแปรปรวนของภูมิอากาศหรือเอลนินโญ่และลานินญาจะถี่มากขึ้น แปลว่าความแล้งสลับน้ำท่วมจะเกิดบ่อยขึ้น

ปริมาณคาร์บอนที่บรรยากาศโลกจะรับได้ถ้าจะไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2 องศาคือ 790 GTON ปัจจุบันคือ 512 GTON เหลือเพียง 275 GTON ซึ่งเหลือไม่มากเลย

แสดงโมเดล CMIP หรือแบบจำลองภูมิอากาศร่วมได้รับการพัฒนามาหลายรุ่นตั้งแต่ CMIP1 CMIP2 และ CMIP3 โดยเพิ่มความเข้มก๊าซเรือนกระจกเข้าไป และดูผลของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  CMIP3 เป็นรุ่นที่ทุกหน่วยงานสามารถเปรียบเทียบโมเดลกันได้เพราะมีพื้นฐานข้อมูลเหมือนกัน ปัจจุบันมีถึง CMIP5 และ 6 แต่รุ่นที่ 5 เป็นที่นิยมที่สุดเพราะข้อมูลมีมากและยังไม่ล้าหลัง เป้าหมายของโมเดลคือ RCP 2.6 หรืออุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศา โมเดลยิ่งใหม่ความแม่นยำยิ่งสูงเพราะมีข้อมูลมากและกริดมีความละเอียดมากขึ้น อย่าง CMIP6 มีแบบจำลองมากกว่าร้อยแบบจากกลุ่มต่างๆ แต่ละแบบใช้เวลานานในการพัฒนาทำให้เผยแพร่ค่อนข้างล่าช้า ผลที่ได้คือการทำนายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยพบว่าถ้าเกิน 4 องศา ระบบนิเวศน์จะเสียหายถาวรอย่างที่ฟื้นคืนไม่ได้ และพบว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีมาก ผลก็คือเมื่อมีฝน ฝนจะตกหนัก แต่ตกไม่บ่อย และปริมาณฝนโดยรวมลดลง แปลว่าจะแห้งแล้งเป็นส่วนมาก แต่พอฝนตกน้ำจะท่วม ปกติอุณหภูมิของน้ำทะเลจะต่ำกว่าอากาศเหนือน้ำทะเลประมาณ 1-2 องศา แสดงว่าอุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงขึ้นด้วยจาก 25 เป็น 28 องศา และฝนในทะเลจะลดลงเช่นเดียวกัน โมเดลเหล่านี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็น visualization เพื่อให้มวลชนสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่ออัปโหลดลงในเว็บไซต์ของสำนักนโยบายและแผนฯต่อไป

ช่วงตอบคำถาม :

  • ผลกระทบต่างๆ ที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นภายในกี่ปี? เกิดเฉียบพลันหรือค่อยๆ เกิดขึ้น? ตอบว่าจะไม่ได้แล้งหรือท่วมทุกปี แต่จะเกิดในบางปี แต่จะค่อยๆ ลดลงทีละน้อยในระยะยาวคือประมาณปี 2040-2060 จึงจะแสดงผลกระทบอย่างหนัก
  • ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลกระทบมีอะไรบ้าง? ตอบว่าภาคการผลิต และการตัดไม้ทำลายป่า
  • ถ้าระบบนิเวศน์เสียหายถาวรจะเกิดอะไรขึ้น : สัตว์และพืชบางส่วนจะสูญพันธุ์ แต่คนก็จะต้องปรับตัวให้อยู่ได้โดยที่ไม่มีพืชและสัตว์เหล่านั้นแต่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก
  • ขอข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการอิสระ:

ที่มาของภาวะโลกร้อน สรุปสั้นๆ คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์ทำให้ความร้อนสะสมจากพลังงานแสงอาทิตย์ระบายออกจากโลกไม่ได้ ทำให้อากาศร้อนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปีตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมาด้วยอัตราเร่งที่เร็วขึ้นมาก ผลกระทบก็คือ สุขอนามัยโรคระบาดกลับมาอีกเพราะอุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโต สัตว์สูญพันธุ์ ที่อยู่อาศัยอยู่ไม่ได้ต้องอพยพ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สูญเสียป่าไม้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำทะเลอุ่นขึ้น และปะการังฟอกขาวและตายลง ไทยมีปะการัง 300 ชนิด ทั่วโลกมี 800 ชนิด ความสำคัญของปะการังคือปล่อยของเสียเป็นอาหารสัตว์เล็ก สร้างที่อยู่อาศัยให้สัตว์เล็กเข้ามาอาศัย ให้สัตว์ใหญ่เข้ามาหากิน จึงทำให้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มาก ปะการังพบมากในทะเลที่แสงส่องถึง ไม่ลึกเกินไป น้ำใสไม่มีตะกอน ความเค็มปกติ อุณหภูมิระหว่าง 26-28 องศา ไม่มีคลื่นลมแรง และมีพื้นแข็งให้ตัวอ่อนเกาะ เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิมาก จึงเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ง่ายที่สุด ประโยชน์ของปะการังมีมากมายทั้งด้านท่องเที่ยง เป็นแหล่งอาหารและการประมง เป็นแหล่งกำเนิดเม็ดทราย เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ฝนชะตะกอนลงทะเล แสงน้อยลง ปะการังตาย พายุแรงทำลายแนวปะการัง อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ปะการังตาย ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปะการังฟอกขาวเพราะน้ำทะเลอุ่นขึ้นติดต่อกันเพียงสองสัปดาห์ หลังๆ มานี้อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นอยู่นานขึ้นไม่ยอมลง ความเสียหายเช่นนี้จะแตกต่างกันตามพื้นที่

ตั้งแต่ปี 2553 กรมทรัพยากรประมงก็ออกมาตรการเฝ้าระวัง เผชิญเหตุ และแก้ไข กล่าวคือเริ่มต้นด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เฝ้าระวังอุณหภูมิของน้ำทะเลโดยผู้สังเกตการณ์เข้าไปรายงานในเว็บไซต์ และประเมินการเสียหายและติดตามการฟื้นตัว ว่าตายแล้วหรือฟื้นตัวใหม่ได้ และมาตรการซ่อมแซมแนวปะการังเป็นอันดับสุดท้าย

การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ปะการัง เพื่อให้เมื่อฟอกขาวแล้วกลับมาฟื้นตัวเองได้ใหม่ เช่นวัดขนาดและจำนวนของตัวอ่อนและปลาที่เข้ามาอาศัย ความรุนแรงของการฟอกขาว และการฟื้นตัวจากการฟอกขาว ถิ่นที่อยู่ และการทดแทน และปกป้องการรบกวนจากมนุษย์ ทั้งหมดรวม 22 ปัจจัย และนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาบริหารจัดการ เช่นประกาศเขตห้ามเข้า ห้ามทำการประมง และส่งเสริมการฟื้นตัว เช่นนำตัวอ่อนมาเพาะปลูกใหม่ หรือย้ายที่ปลูก ศึกษาพันธุกรรมของปะการังที่มีความอดทนสูง เพื่อนำมาเพาะเลี้ยง

ส่วนการปรับตัวของมนุษย์นั้น จะต้องใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิเคราะห์ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง และอัตราความเปราะบางของชุมชน แล้วจึงหาวิธีแก้ไข

ช่วงตอบคำถาม :

  • มีความเห็นว่ามนุษย์ไม่น่าจะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ทันเวลา เพราะการปล่อยก๊าซมันอยู่ในวิถีชีวิตของคนทุกคนไปแล้ว ทำให้แก้ได้ยากมาก
  • สถานีตรวจเช็คปัจจัย resilience สี่จังหวัดยังทำอยู่ไหม ตอบว่าไม่ต้องทำบ่อย เช็คทีละสี่ห้าปีแล้วนำมาวิเคราะห์ก็ได้
  • ชาวบ้านแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่านอกจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจารย์แจ้งมาแล้วมีเรื่องกระแสลมและกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง และขยะด้วย ทำให้ทำนายการเกิดพายุได้ยากขึ้น ขอการสนับสนุนด้านการฟื้นฟูสภาพทะเล แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างแข็งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้าที่ไหนไม่เหมาะสมก็ไม่สมควรสร้าง และร่างกฎหมายเรื่องอุทยานทางทะเลขอให้ทบทวน เพราะไม่มีส่วนร่วมจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
  • เสนอให้รัฐต้องจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะชาวบ้านกระบี่ก็ได้ทำ MOU กับทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นฟูทะเลที่เป็นแหล่งอาหาร ทำกันอยู่แล้ว แต่การแก้ไขจากภาครัฐไม่มีการทำอย่างจริงจัง

นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั้งยืน : กล่าวสรุปปิดประชุม


Social Share