THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

รายงานโดย Cynthia Liao, Nina Jeffs, และ John Wallace
วันที่ 10 สิงหาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบโดย Springnews

ความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) หมายความว่าอะไร?

ความสูญเสีย โดยทั่วไปหมายถึงความเสียหายที่เกิดจากจากภาวะโลกร้อนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการตั้งรับ (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) หรือปรับตัว (เข้าหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและอนาคต) ความหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่ระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐาน และสุขภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตามยังไม่มีนิยามของคำว่าความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติ

บ่อยครั้งที่ความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เป็นหัวข้ออภิปรายที่ร้อนแรงและเต็มไปด้วยอุปสรรคในเวทีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) มักใช้อ้างอิงในเวทีเจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติและประเด็นการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับประเทศกลุ่มเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่างเช่นประเทศหมู่เกาะ ที่มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำหายไปทั้งประเทศในอนาคต

ดังนั้น เรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) จึงเป็นเป็นหัวข้ออภิปรายที่ร้อนแรงและเต็มไปด้วยอุปสรรคในเวทีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) แบ่งออกเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่และทรัพย์สิน และความสูญเสียด้านอื่น ๆเช่นความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และครอบคลุมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเช่นอุทกภัยที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่นการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ

ขอบเขตของความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) นั้นยากที่จะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เพราะมีตั้งแต่ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานจากเหตุน้ำท่วมไปจนถึงความตายที่เกิดจากคลื่นความร้อน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) นั้นกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเปราะบาง และความสูญเสียนี้มีแต่จะมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเช่นรูปแบบการอพยพของปลาทูน่าในทะเลแปซิฟิกนั้นเปลี่ยนแปลงไปเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของประเทศหมู่เกาะมากถึง 140 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี

ในภูมิภาคทะเลสาบชาด อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 องศานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างอุทกภัยและภัยแล้งทำให้จับปลาได้น้อยลง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวน 40 ล้านคน ทำให้เกิดการแย่งที่ทำกิน อพยพ และวัฒนธรรมสูญหาย

มูลค่าความสูญเสียนั้นมักตกอยู่กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเช่นชุมชนบทในบังคลาเทศต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 30 ของรายได้ครอบครัวเพื่อสร้างแนวป้องกันน้ำและเสริมตัวบ้านให้แข็งแรงเพื่อทนต่อพายุ หรือเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม V20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด เกิดความสูญเสียไปแล้วคิดเป็นมูลค่าถึง 5 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ความสูญเสียมูลค่าสูงเช่นนี้ทำให้รัฐยากที่จะเยียวยาผู้เสียหายหรือเตรียมการรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ใครคือผู้ที่แบกรับความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน)?

กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดนั้นมักเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศหมู่เกาะ ซึ่งไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศมัลดีฟส์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 0.03 แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องจมหายไปในมหาสมุทรทั้งเกาะเพราะในเวลานี้เกาะส่วนใหญ่ของประเทศสูงพ้นระดับน้ำทะเลขึ้นมาเพียงเมตรเดียว เช่นเดียวกับทวีปอาฟริกาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 3.8 แต่ต้องแบกรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดเพราะตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร

ในปัจจุบันมีนักการเมืองและผู้มีส่วนได้เสียในประเทศกำลังพัฒนาได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้ก่อและเรียกร้องให้มีการชดเชยแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมก็เรียกร้องให้มีการเก็บภาษีอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างภาคพลังงานและขนส่ง เพื่อนำเงินที่ได้มาเยียวยาชุมชน

กองทุนชดเชยความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน)

เนื้อหาของข้อตกลงปารีสมิได้อนุญาตให้มีการเรียกร้องค่าชดเชยความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในเวทีประชุมของสหประชาชาติ และมีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ด้วยกลไกความร่วมมือด้านอื่น

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศระมัดระวังมากในเรื่องของภาระความรับผิดชอบและการชดเชยเพราะมูลค่าของความสูญเสียนั้นคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในปี 2050 นักการเมืองหลายคนเกรงว่าการรับภาระดังกล่าวจะก่อให้เกิดการฟ้องร้องโดยประเทศกำลังพัฒนาและผู้มีส่วนได้เสียในประเทศของตนเองตามมามากมาย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็แย้งว่า เวทีเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติได้พยายามหลีกเลี่ยงหัวข้อการชดเชยความสูญเสียมาตั้งแต่ปี 2015 แล้วหันไปเน้นเรื่องการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและทุนแทน ในขณะที่ประเทศกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่เริ่มมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นก็เรียกร้องให้มีกองทุนเยียวยา แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคในเรื่องปริมาณก๊าซที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบันและแผนการปล่อยก๊าซที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในอนาคต

ข้อตกลงปารีสมิได้ห้ามไม่ให้ประเทศแสวงหาทุนเพื่อนำมาเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) นอกเวทีประชุมของสหประชาชาติ และหลาย ๆประเทศก็เริ่มทำเช่นนั้น

ในปี 2021 ประเทศตูวาลูและหมู่เกาะบาร์บาดอสได้ก่อตั้งคณะกรรมการแห่งประเทศหมู่เกาะขึ้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องการชดเชยความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ต่อศาลโลก นอกจากนี้ประเทศตูวาลูยังได้นำการรณรงค์เพื่อขอแนวทางในการเรียกร้องการชดเชยความสูญเสียจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ภาพ: BBC Thai

หัวข้อเจรจาเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในการประชุมระดับนานาชาติ

การเจรจาเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เกิดขึ้นครั้งแรกในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปี 1991 เมื่อประเทศตูวาลูซึ่งเป็นตัวแทนประเทศหมู่เกาะเสนอให้มีกรมธรรม์สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงได้รับการบรรจุเป็นวาระประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปี 2007 ที่บาหลี

ในขั้นตอนนี้ ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเข้าใจว่าประเด็นความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะรู้สึกถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนบ้างแล้วก็ตาม การเจรจาในครั้งนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การเจรจาหามตินานาชาติว่าด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงปารีสในปี 2015

ในที่สุดประเด็นเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ก็มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อสมาชิก United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ตกลงที่จะตั้งกลไก Warsaw International Mechanism สำหรับเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในปี 2013 กลไกนี้จะนำไปสู่การตั้งเวทีหารือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ กลไกนี้ยังทำให้เกิดพื้นที่สำหรับกำหนดแนวนโยบายด้านการเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อน โดยรวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกดังกล่าว ประเทศสมาชิกตกลงที่จะจัดตั้งเครือข่าย Santiago Network ในการประชุม COP25 ในปี 2019 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่อการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยเยียวยาความสูญเสีย แม้ว่าประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการกลไกและทุนสนับสนุนยังอยู่ในระหว่างการเจรจา

ในปีที่ผ่านมา ความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองจากแรงผลักดันของประเทศกลุ่มเปราะบางและองค์กรภาคประชาสังคม ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาในกลุ่มมวลชนและกลุ่มที่มีอำนาจตัดสินใจ

เรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) กับข้อตกลงปารีส

ประเทศต่างๆได้แบ่งออกเป็นฝักฝ่ายในด้านความเห็นที่มีต่อเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ก่อนการประชุม COP21 ในปี 2015 ต่อมาจึงมีการประนีประนอมเพื่อที่จะให้ได้มติในเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมที่เป็นไปตามข้อตกลงปารีส เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการนำเอาเรื่องความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกร้อนมาพิจารณาอย่างจริงจัง

มาตราที่ 8 ในข้อตกลงปารีส

ข้อตกลงปารีสรับรองความสำคัญของความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) และการเพิ่มการรับรู้ ความเข้าใจ และการให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในข้อตกลงปารีสไม่มีข้อใดที่เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยย่อหน้าที่ 52 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะไม่มีการแสวงหาผู้รับผิดชอบหรือการชดเชยในบริบทของมาตราที่ 8

เรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในการประชุม COP26

ประเด็นความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกวในปี 2021 ในการเจรจาอภิปรายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา 77 ประเทศและประเทศจีนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ขึ้น ทว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศแสดงความกังวลต่อแนวคิดที่เสนอว่าสถาบันการเงินทั้งหลายความเป็นผู้จัดตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) และอ้างว่าการประชุมให้เวลาในการอภิปรายในเรื่องนี้น้อยเกินไป ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็ตอบโต้โดยวิพากษ์วิจารณ์ประเทศพัฒนาแล้วว่ามีเจตนาไม่ต้องการให้มีการตั้งกองทุนขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ประนีประนอมกันโดยจัดตั้ง Glasgow Dialogue ขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเจรจาเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ที่ใช้เวลาสามปี

ภาพ: The Urbanis

ประเด็นความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) : ปัจจุบันและอนาคต

ประเทศที่เสนอให้มีการเจรจาในเรื่องนี้หวังว่าจะช่วยให้ที่ประชุมบรรลุมติได้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมวิจารณ์ว่าเวทีเจรจาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความเร่งด่วนของการจัดตั้งกองทุน ถึงแม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะผิดหวังกับเวที Glasgow Dialogue แต่ก็ยินดีที่จะประนีประนอมเพื่อให้เกิดข้อตกลงใน COP26 และทำให้กระบวนการก่อตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสียมีความก้าวหน้าให้ได้ นอกจากนี้สก็อตแลนด์และเบลเยียมยังตกลงที่จะลงทุนจำนวน 2 ล้านปอนด์และ 1 ล้านยูโรตามลำดับสำหรับเยียวยาความสูญเสีย การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกระตุ้นให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆช่วยลงขันในกองทุน นอกจากนี้ยังมีองค์กรเพื่อมนุษยธรรมอีก 5 องค์กรที่ให้คำมั่นว่าจะช่วยสนับสนุนทุนอีกด้วย

เรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ในการประชุม COP27

การประชุมครั้งแรกของ Glasgow Dialogue จัดขึ้นที่กรุงบอนน์ในเดือนมิถุนายน 2022 เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ หัวใจของการเจรจาได้แก่การจัดตั้งกองทุนเยียวยาความสูญเสียและสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นักเจรจาจากประเทศพัฒนาแล้วและองค์กร NGO แสดงความผิดหวังที่ผลการเจรจาใน Glasgow Dialogue ขาดแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้เกิดกองทุนเยียวยาความสูญเสีย จึงขอให้มีการลงมติในเรื่องนี้ในเวที COP27 ด้วย

ในขณะเดียวกัน ความไม่ลงรอยในแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องโดยเครือข่าย Santiago Network ก็ยังคงดำเนินต่อไป

ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้บรรจุเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เข้าไว้ในวาระการประชุม COP27 โดยหวังว่าจะเป็นการยกระดับความสำคัญของประเด็นปัญหาในเวทีโลกและจัดเวทีเจรจาเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยา ในขณะที่เรื่องนี้ไม่ได้รับการพิจารณาที่กรุงบอนน์ แต่ ‘เรื่องที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน)’ ก็ได้รับการบรรจุเข้าไว้ในร่างวาระการประชุม COP27

หลายฝ่ายคาดหวังให้การอภิปรายเรื่องการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อหลักใน COP27 แต่ประเด็นเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ก็คาดว่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญด้วยเช่นกันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นที่หลายต่อหลายชาติประสบและการสนับสนุนจากประเทศกลุ่ม G77 และประเทศจีนให้มีกองทุนเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน)

ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้บรรจุเรื่องความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เข้าไว้ในวาระการประชุม COP27 และประเทศกลุ่ม G77 และประเทศจีนก็จะเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกลไกเยียวยาความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) ต่อไป ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการพิจารณาการทำงานและโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับกลไกดังกล่าว อย่างเช่นเวที Climate Vulnerable Forum ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบางต่อภาวะโลกร้อน ได้เรียกร้องให้ COP27 มอบหมายให้ IPCC จัดทำรายงานฉบับพิเศษเกี่ยวกับความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน) เพื่อเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่

นอกเหนือจากเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เยอรมนียังได้เสนอให้จัดตั้ง ‘Global Shield Against Climate Risks’ หรือกลไกปกป้องชุมชนเปราะบางและประเทศกำลังพัฒนาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนด้วยการเชื่อมโยงประเทศเหล่านี้เข้ากับกองทุนเยียวยาและกรมธรรม์ประกันภัย

การรับมือความสูญเสีย (จากภาวะโลกร้อน)

ข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นที่กรุงกลาสโกวในปี 2021 หรือ Glasgow Climate Pact ได้รับความเห็นชอบใน COP26 และเร่งให้ประเทศพัฒนาแล้วและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆให้การสนับสนุนกิจกรรมการรับมือความสูญเสียจากภาวะโลกร้อน แต่จะทำอย่างไรนั้น ยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เปราะบางต่อความเสี่ยงได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลายต่อหลายข้อในกลไกของสถาบันการเงินในปัจจุบันอย่าง Green Climate Fund และ World Bank ตัวอย่างเช่น สถาบันเหล่านี้ไม่ชดเชยความสูญเสียที่ไม่อาจคิดเป็นตัวเงินได้หรือความสูญเสียที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆอย่างระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแนะนำว่ากองทุนเยียวยาความสูญเสียจากภาวะโลกร้อนนี้จะช่วงเติมเต็มช่องว่างที่ยังเหลืออยู่ได้ เนื่องจากต้องการให้กองทุนเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาแทนที่จะเป็นการดึงทุนมาจากแหล่งทุนเก่าที่อุทิศให้แก่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่แล้ว ทว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศแย้งว่าการใช้ทุนจากแหล่งที่มีอยู่แล้วจะมีประสิทธิภาพมากกว่า


อ้างอิง : What does ‘loss and damage’ mean?


Social Share