THAI CLIMATE JUSTICE for All

รายงานทบทวนวรรณกรรมเชิงวิชาการ : เรื่องมาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีส

รายงานทบทวนวรรณกรรมเชิงวิชาการ
เรื่องมาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีส

ปิโยรส ปานยงค์
เครือข่าย THAI CLIMATE JUSTICE FOR ALL

บทนำ

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่อุทกภัยในปากีสถาน ไฟป่าและคลื่นความร้อนในแคนาดา ไปจนถึงระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงจนเกิดความเสี่ยงที่จะจมหายไปในทะเลสำหรับประเทศอย่างฟิจิและตูวาลู ย้ำเตือนเราว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริงและโลกต้องการแผนการแก้ไขและตั้งรับปรับตัวโดยเร่งด่วน ความเร่งด่วนดังกล่าวทำให้เราตระหนักว่ามาตรการที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ และเราจะต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

ความตกลงปารีสเป็นมติของนานาชาติที่รับรองภาวะโลกร้อนและนำแนวทางลูกผสมมาใช้แก้ปัญหา โดยมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญของความตกลงปารีสได้แก่มาตรา 2.1 ของความตกลงที่กำหนดเป้าหมายหลักไว้ว่า ‘ต้องรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้มิให้สูงขึ้นอีกเกิน 2°C เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิผิวโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้มิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C’ มาตรา 4.3 ที่เป็นแนวทางดำเนินการจากล่างสู่บนของความตกลงปารีสที่ประเทศสมาชิกจะต้องเสนอเป้า NDC ของตัวเองและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแก่ UNFCCC โดยสม่ำเสมอ และมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศโดยสมัครใจผ่านทางกลไกตลาด (Market-based Mechanisms หรือ MBMs) เช่นกลไกชดเชยคาร์บอนเครดิต และกลไกอื่นๆที่มิใช่กลไกตลาด (Non-market Approaches หรือ NMAs) (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามความตกลงปารีสเป็นต้นมา นานาประเทศยังคงให้ความสำคัญกับ MBMs เป็นหลัก และมีความก้าวหน้าด้าน NMAs ที่จำกัดมากด้วยเหตุผลที่จะกล่าวต่อไปในงานทบทวนวรรณกรรมนี้

ที่มา

ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจมาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสได้นั้น เราจะต้องเข้าใจกลไกลตลาดของ UNFCCC เสียก่อน การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยกลไกตลาด (MBMs) คือหัวใจของการเจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนตั้งแต่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งแรกที่เบอร์ลินเมื่อปี 1995 แนวทางนี้มีความสำคัญเสียจนกระทั่งพิธีสารเกียวโตรวมเอา MBMs ถึงสามแนวทางไว้เพื่อให้พิธีสารมีความยืดหยุ่นและลดต้นทุนในการบรรเทาปัญหาโลกร้อน สามแนวทางดังกล่าวได้แก่การพัฒนาพลังงานสะอาดหรือ Clean Development Mechanism (CDM) (มาตรา 12) การดำเนินการร่วมหรือ Joint Implementation (มาตรา 6) และมาตรการร่วมมือเพื่อนำไปสู่การซื้อขายมลภาวะ (มาตรา 17 ซึ่งเป็นมาตราพื้นฐานของ Cap and Trade ที่ออกแบบไว้สำหรับ (แต่ไม่จำกัดอยู่เพียง) กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือ Annex I) (Jason Monios, 2565)

ส่วนแนวทาง CDM และ Joint Implementation นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนและสร้างระบบชดเชยมลภาวะเพื่อให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ CDM เปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มประเทศ Annex I ให้ทุนเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนแก่ประเทศกำลังพัฒนาและนำมานับและตีราคาเป็น Certified Emission Reduction Units (CERs) ซึ่งทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเกิดความคุ้มทุนขึ้น ส่วน Joint Implementation นั้นทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่กลุ่มประเทศ Annex I ด้วยกันในการดำเนินโครงการร่วมที่นำไปสู่มาตรฐานการนับและตีราคา Emission Reduction Units (ERUs) ทั้ง CERs and EURs นี้ถูกนับเป็นผลจากการบรรเทาภาวะโลกร้อนที่สามารถถ่ายโอนข้ามพรมแดนได้ผ่านระบบการซื้อขายมลภาวะหรือ Emissions Trading Schemes (Rosanna Anderson, 2555)

ต่อมา MBMs ได้รับการบรรจุเข้าไว้ในมาตรา 6.1 แห่งความตกลงปารีสความว่าประเทศสมาชิกแห่งความตกลงอาจใช้ ‘ความร่วมมือภาคสมัครใจ’ เพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs ดำเนินการบรรเทาและตั้งรับปรับตัว และ ‘สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ ส่วนมาตรา 6.2 ระบุให้กลไกภาคสมัครใจที่ ‘เกี่ยวกับการถ่ายโอนผลของการบรรเทาภาวะโลกร้อนข้ามพรมแดน’ จะต้อง ‘สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริหารงานอย่างโปร่งใส และหลีกเลี่ยงการนับ CERs และ EURs ซ้ำ’ มาตรา 6.3 เน้นถึงลักษณะที่เป็นความร่วมมือโดยสมัครใจของ MBM ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนผลของการบรรเทาภาวะโลกร้อนข้ามพรมแดน มาตรา 6.4–6.7 วางกฎระเบียบเกี่ยวกับกลไกการพัฒนาที่ยั่งยืนใหม่ที่มีลักษณะเป็นกลไกตลาด (Jason Monios, 2565)

อย่างไรก็ตาม โครงการภายใต้พิธีสารเกียวโตจะไม่อยู่ภายใต้มาตรา 6 แห่งความตกลงปารีสนี้โดยอนุมาน ซึ่ง UNFCCC ก็กำลังทบทวนแก้ไขเงื่อนไขข้อนี้อยู่ ตัวอย่างเช่นโครงการ CDM ของพิธีสารเกียวโตอาจได้รับการรับรองภายใต้มาตรา 6.4 แห่งความตกลงปารีส โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้ใน Paris Rulebook (Rosanna Anderson, 2555)

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา MBMs ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิธีการนับจำนวน CERs and EURs และผลกระทบที่กลไกตลาดมีต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือความยืดหยุ่นของตลาดทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแนวทางนี้จะทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ถ้าการถ่ายโอนผลกระทบข้ามพรมแดนขาดประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากไม่มีการลดก๊าซส่วนเพิ่ม (Additionality) นอกจากนี้การถ่ายโอนอำนาจในการจัดการสิ่งแวดล้อมไปอยู่ในมือเอกชน (เช่นการเทียบหน่วยคาร์บอนที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงของโครงการ CDM) จะทำให้อุตสาหกรรมได้กำไรมหาศาล หรือความไม่แน่นอนของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจาก CDM ส่วนผู้ที่สนับสนุนก็มองว่า CDM มีข้อดีตรงที่สามารถลดต้นทุนของการบรรเทาปัญหาโลกร้อนลงได้มากและมีกฎเกณฑ์ที่เชื่อถือได้ (Jason Monios, 2565)

ส่วน Joint Implementation ก็ถูกตั้งคำถามในเรื่อง Additionality เช่นเดียวกันจากผลการศึกษาที่พบว่าหลักการนับหน่วยคาร์บอนที่ใช้กับโครงการจำนวน 73% ของ ERUs นั้นฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยยังประมาณการว่าการใช้ ERUs ที่เกิดจากกลไกการดำเนินการร่วมอาจทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 600 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ความกังวลในปัญหานี้เกิดขึ้นกับระบบซื้อขายมลภาวะภายใต้มาตรา 17 แห่งพิธีสารเกียวโต (Emission Trading Systems หรือ ETSs) เช่นเดียวกัน (Rosanna Anderson, 2555)

การใช้ระบบ Cap-and-Trade จะต้องมีระบบการนับและคำนวณมูลค่าที่เที่ยงตรงและสมเหตุผลซึ่งต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เที่ยงตรงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมักใช้ข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรมเพราะภาคเอกชนมีความสามารถและทรัพยากรมากกว่า ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการคำนวณมูลค่ามลภาวะ ซึ่งได้จากการพิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตแยกตามภาคอุตสาหกรรมหรือการประมูลซึ่งก่อให้เกิดรายได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น การคำนวณมูลค่ามลภาวะในระบบซื้อขายมลภาวะมักได้รับการยกเว้นจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจได้กำไรมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น มีการประมาณการกันว่า EU ETSs ทำกำไรให้บริษัทพลังงานสี่บริษัทคิดเป็นมูลค่าถึง 6-8 พันล้านยูโรจากการได้รับการยกเว้นจากกฎหมายใหม่และการกำหนดมูลค่าเครดิตเกินจริง ในขณะที่ความกังวลนี้มีต่อ ETSs ในระดับประเทศ แต่เครือข่าย ETSs ข้ามพรมแดนหลายเครือข่ายก็ทำให้การได้รับการยกเว้นจากกฎหมายใหม่และการกำหนดมูลค่าเครดิตเกินจริงในประเทศหนึ่งส่งผลต่อราคาคาร์บอนในอีกประเทศหนึ่งได้ (Rosanna Anderson, 2555)

การจัดทำคู่มือ Paris Agreement Rulebook เมื่อเร็วๆนี้จึงเป็นไปเพื่อพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น คณะจัดทำได้การยื่นคำขอให้ทบทวนการนับเครดิตและระเบียบวิธีการของโครงการ CDM และ MBMs เสียใหม่ อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการบังคับให้โครงการที่ดำเนินอยู่แล้วเปลี่ยนระเบียบวิธีไปจนกระทั่งปี 2025 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกแบบและสอบเทียบมาตรฐานต่างๆเข้าด้วยกันนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ในขณะที่มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นอาจลดความกังวลในประสิทธิภาพการแก้ปัญหาภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมลง คำวิจารณ์ที่มีต่อ MBMs ภายใต้ UNFCCC นั้นแสดงให้เห็นถึงการกำกับดูแลและบริหารโครงการที่ขาดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มาตรการควบคุม MBMs ต่างๆยังมีข้อเสียด้านการถ่ายโอนความรับผิดชอบจากภาครัฐสู่เอกชนอันเนื่องมาจากความเป็นเสรีนิยมใหม่ของตลาด (Rosanna Anderson, 2555)

ข้อจำกัดของ MBMs เหล่านี้จึงนำไปสู่การเพิ่มมาตรามาตรา 6.8 และ 6.9 เข้าไปในความตกลงปารีส

แนวคิด หลักการ เป้าหมาย

มาตรา 6.8 และ 6.9 แห่งความตกลงปารีสเสนอแนวคิดความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยกลไกที่มิใช่กลไกตลาด เนื้อหาของมาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสที่ประกาศในการประชุม COP28 มีใจความว่า “สร้างโอกาสแก่ประเทศสมาชิกในความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC ของแต่ละประเทศโดยไม่ใช้กลไกตลาดคาร์บอน ซึ่งรวมถึงสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC และการสร้างโอกาสในการประสานเครื่องมือและสถาบันต่างๆเข้าด้วยกัน” จะเห็นได้ว่ามาตรา 6.8 มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกบรรลุเป้าหมาย NDC อย่างสมดุลในองค์รวมด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน การสนับสนุนด้านทุน การพัฒนาและส่งต่อเทคโนโลยี และการสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและขจัดความยากจนตามมา (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

มาตรา 6.8 ระบุต่อไปว่าแนวทางแก้ปัญหาควรให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน นำภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมมือ และพัฒนาการประสานเครือข่าย ส่วนมาตรา 6.9 นั้นให้กรอบดำเนินโครงการที่ไม่ใช้กลไกตลาด ทั้งมาตรา 6.8 และ 6.9 เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างแนวนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกมากกว่าจะเป็นแนวทางสำหรับโครงการใดโครงการเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับมาตราอื่นๆเช่นมาตรา 6.4 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานสะอาดภายใต้พิธีสารเกียวโตที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อหนุนเสริมกลไกตลาดภายใต้ความตกลงปารีส นอกจากนี้ ข้อเสนอจากประเทศโบลิเวียซึ่งเป็นประเทศหัวหอกที่สนับสนุน NMAs ประกาศว่า NMAs คือทางเลือกที่ดีกว่า MBMs ด้วยประการทั้งปวง มิใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนุนเสริมแนวทางอื่น ในที่สุด แนวคิด NMAs ก็แพร่หลายในการเจรจา COP และถูกพิจารณาว่ามิใช่เป็นเพียงแนวปฏิบัติแนวหนึ่ง แต่เป็นขั้วตรงข้ามกับ MBMs (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

เกณฑ์การตัดสินว่าการลดก๊าซเรือนกระจกหรือตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนวิธีใดเป็น NMAs ภายใต้มาตรา 6.8

เกณฑ์ที่ 1: ความไม่ซ้ำซ้อนหรือ Non-duplicative

สิ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่กรอบดำเนินโครงการการจะต้องออกแบบมาเพื่อสนับสนุน NMA ที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่อื่นใดในระบบ UNFCCC เพื่อที่จะไม่สนับสนุนการแบ่งแยกเชิงสถาบันและหันเหความสนใจหรือการใช้ทรัพยากรไปสู่จุดประสงค์อื่น และควรเน้นการปฏิรูปสถาบันที่มีอยู่แล้วมากกว่าจะตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาเดิม (UNFCCC, 2556)

ผู้ดำเนินโครงการควรเลือกประเด็นทำงานที่ไม่มีการระบุไว้ในกระบวนการหรือกฎระเบียบของสถาบันอื่นใด หรือระบุไว้เพียงบางส่วนจากมุมมองของการบรรเทาหรือตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะที่การพัฒนาแนวทางการค้นหาผลประโยชน์ร่วมระหว่างการลดก๊าซเรือนกระจกหรือตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนเพื่อความร่วมมือจากทั้งสองด้านจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง (UNFCCC, 2556)

ตามปกติแล้ว ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้วยกันเองและระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับสถาบันจะถูกรวมอยู่แล้วในข้อบังคับของสถาบันส่วนใหญ่ภายใต้ UNFCCC นอกจากนี้ยังมีกระบวนการความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่ายเข้ากับสถาบันและกระบวนการภายนอก UNFCCC อย่างไรก็ตาม NMAs ที่มุ่งเน้นสร้างความร่วมมืออาจซ้ำซ้อนกับงานในประเด็นที่มีผู้ดำเนินการอยู่แล้วในกระบวนการอื่นได้ (UNFCCC, 2556)

เกณฑ์ที่ 2: ไม่ใช้กลไกตลาดในการดำเนินงาน

มาตรา 6 เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติในสามรูปแบบ สองในสามรูปแบบเป็นกลไกตลาดซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ของการลดก๊าซเรือนกระจกถูกถ่ายโอนไปยังประเด็นอื่น ความร่วมมือด้านตลาดเป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีมลภาวะต่ำที่มักมาจากภาคธุรกิจ ส่วนรูปแบบที่สามคือกรอบดำเนินงานและโครงการด้านความร่วมมือสำหรับ NMAs ที่มุ่งเน้นไปยังประเด็นเฉพาะภาคส่วนและเครื่องมือที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย Joint Implementation หรือกลไกคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรา 6.4 ซึ่งรวมถึงแนวปฏิบัติต่อไปนี้:

  • มาตรการตั้งรับปรับตัวที่นโยบายกลไกตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ระบุถึง
  • มาตรการที่ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวไปพร้อมๆกัน ยกตัวอย่างเช่นการจัดการป่าที่ยั่งยืนหรือระบบจัดการน้ำที่ปล่อยมลภาวะต่ำ เนื่องจากองค์ประกอบของการตั้งรับปรับตัวดังกล่าวไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้จากกลไกตลาด
  • มาตรการตั้งรับปรับตัวที่ทำได้ยากและไม่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ เช่นโครงการที่มุ่งเน้นมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ แต่ส่งผลกระทบทางอ้อมหรือใช้เวลานานกว่าที่จะส่งผล ยกตัวอย่างเช่นการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความเร่งด่วนของปัญหา
  • มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่ไม่เหมาะกับการนำกลไกตลาดมาใช้เนื่องจากความเสี่ยงจากความไม่สมดุลของตลาด (เช่นภาคการใช้ที่ดินหรือโครงการก๊าซธรรมชาติ) (UNFCCC, 2556)

เกณฑ์ที่ 3: การเปลี่ยนผ่าน

กรอบดำเนินการควรมุ่งเน้นไปที่แนวนวัตกรรมเพื่อประเด็นที่ยังไม่ได้รับความเอาใจใส่จากงานภายใต้ UNFCCC อย่างเพียงพอ ดังนั้นกรอบดำเนินการนี้อาจใช้ประชาสัมพันธ์โครงการในระยะทดลองของนวัตกรรมดังกล่าว และประเทศสมาชิกรวมถึงกลุ่มงานวิจัยควรกำหนดประเด็นหลักของกรอบดำเนินการเพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน การสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน และการพัฒนาเทคโนโลยีมลภาวะต่ำ ยกตัวอย่างเช่นในภาคการใช้ที่ดิน ซึ่ง IPCC ได้เน้นถึงความสำคัญของภาคส่วนนี้ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงอุปสรรคของมาตรการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพในภาคส่วนนี้ด้วย (UNFCCC, 2556)

เกณฑ์ที่ 4: ถูกมองข้ามโดยแหล่งทุนสาธารณะในระดับนานาชาติ

ประการสุดท้าย กรอบดำเนินการควรมุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนและประเด็นที่ขาดแหล่งทุนสนับสนุนเพราะไม่ตกอยู่ในขอบเขตการให้ทุนของสถาบันหรือกลไกทางการเงินใด ซึ่งมักเกิดขึ้นกับโครงการบรรเทาปัญหาโลกร้อนขนาดใหญ่ในภาคเกษตรที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาคส่วนที่ไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้อย่างมีนัยสำคัญ (เช่นการดูดซับคาร์บอนไว้ในดินหรือการชลประทาน) เช่นเดียวกับที่ภาคขนส่งที่ถูกมองข้ามโดยแหล่งทุนส่วนใหญ่เนื่องจากมีแหล่งมลภาวะที่กระจัดกระจายมาก ต้นทุนดำเนินการสูง และโครงสร้างสถาบันที่ซับซ้อน (UNFCCC, 2556)

พัฒนาการเนื้อหานโยบาย

NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสเริ่มต้นจากการที่ประเทศโบลิเวียคัดค้านการใช้กลไกตลาดมาแก้ปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP16 ที่ Cancun ในปี 2010 ต้นกำเนิดของข้อตกลง Cancun ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากลไกตลาดมาแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งอดีตประธานาธิบดีโมราเลสของประเทศโบลิเวียเรียกว่าเป็น ‘การละเมิดมติที่ได้จากระบบพหุภาคีและกฎหมายเป็นครั้งแรกที่จะเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดการละเมิดในครั้งต่อๆไป’ (Axel Michaelowa, 2564)

ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ทำการประนีประนอมด้วยการเสนอให้คงมาตราที่เกี่ยวข้องกับ NMA ไว้ในข้อตกลง Cancun มาตราหนึ่งว่าด้วยการสนับสนุนการเจรจาเรื่องตั้งรับปรับตัวใน COP17 แต่ไม่มีการอธิบายในรายละเอียดว่า NMAs ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ดังนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้คณะทำงาน Ad Hoc Working Group on Long-term Cooperative Action (AWG-LCA) ทำการศึกษาแนวทาง NMAs ที่เป็นไปได้ทั้งหมดและรายงานผลใน COP17 ที่ Durban ประเทศอาฟริกาใต้ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก และ NMAs ก็ถูกชะลอไว้เป็นวาระเพื่อการพิจารณาภายใต้โครงการ Framework for Various Approaches (FVA) (Axel Michaelowa, 2564)

ก้าวสำคัญต่อมาได้แก่การที่ COP17 ลงมติอนุมัติให้เริ่มดำเนินการ Green Climate Fund ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ NMAs ต่อมาในการประชุม COP18 ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วตั้งกองทุนสนับสนุนการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ท้ายที่สุด นานาชาติจึงลงมติให้ NMAs เป็นกลไกสำคัญที่จะต้องพิจารณา และคณะที่ปรึกษา Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice (SBSTA) ก็เรียกร้องให้ตั้งโครงการทดลองที่จะมาขยายความ NMAs แม้ว่าขอบเขตของ NMAs จะยังกว้างอยู่มาก (Axel Michaelowa, 2564)

การอภิปรายเรื่อง NMAs ไม่มีความก้าวหน้ามากนักในการประชุม COP19 และ COP20 นอกเสียจากการที่เลขาธิการ UNFCCC ขอให้มีการพัฒนาข้อมูลเชิงเทคนิคเกี่ยวกับ NMAs สำหรับคณะที่ปรึกษา SBSTA นำไปใช้งาน ต่อมาได้มีการนำเสนอข้อมูลนี้ก่อนการประชุม COP21 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ‘ประเมินประสบการณ์ แนวปฏิบัติ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากความร่วมมือของนานาประเทศในเรื่อง NMAs เพื่อให้ประเทศสมาชิก COP นำไปพิจารณาต่อ’ รายงานฉบับนี้เสนอความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลประโยชน์ร่วมจาก NMAs, การพัฒนาที่ยั่งยืน, ความเท่าเทียม, การขจัดความยากจน, การตั้งรับปรับตัว, ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร นอกจากนี้ยังได้บรรยายถึงความท้าทายและอุปสรรคของ NMAs เช่นความเพียงพอของการดำเนินการด้าน NMAs ที่มีอยู่ในปัจจุบันภายใต้ UNFCCC ที่อำนวยความสะดวกด้านการโยกย้ายทุนและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา (Axel Michaelowa, 2564)

ความพยายามของประเทศโบลิเวียที่จะขึ้นเป็นหัวหอกด้าน NMAs ทำให้เกิดมาตรา 6.8 ในความตกลงปารีส โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2015 ผู้แทนประเทศโบลิเวียได้เสนอกลไก ‘สนับสนุนแนวทางความร่วมมือในภาพรวม’ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และช่วยประเทศกำลังพัฒนา ‘โยกย้ายทุนและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว’ ต่อมาข้อเสนอดังกล่าวกลายเป็นรากฐานของมาตรา 6.8 ในความตกลงปารีส นอกจากนี้ กลไกดังกล่าวมีเงื่อนไขที่ต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างสังคมมนุษย์และธรรมชาติ (Axel Michaelowa, 2564)

ในวันที่ 22 ตุลาคม 2015 ข้อเสนอของโบลิเวียได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกจำนวนหนึ่งให้บรรจุไว้เป็นความยาวหนึ่งบรรทัดในมาตราที่ในขณะนั้นคือมาตรา 3 เมื่อคณะทำงาน Ad Hoc Working Group on the Durban Platform for Enhanced Action (ADP 2-11) ได้หมดวาระลง ร่างข้อเสนอของโบลิเวียที่เกี่ยวข้องกับ Joint Mitigation and Adaptation Mechanism for the Integral and Sustainable Management of Forests and Mother Earth (JMAM) และ NMAs ถูกบรรจุไว้เป็นข้อเสนอที่เป็นทางเลือกภายใต้มาตรา 3 ต่อมาที่ประชุม COP21 ได้โยกย้ายเนื้อหาของความตกลงที่เกี่ยวกับ NMAs ไว้ในมาตรา 6 เป็นการถาวร ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายที่เพิ่มเข้าไปในความตกลงปารีสก่อนที่จะให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ เพื่อที่ให้ประเทศสมาชิกรับรองมาตราที่ว่าด้วยกลไกตลาดเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีส จึงกำหนดให้มาตรา 6.8 และ 6.9 เป็นมาตราที่ว่าด้วย NMAs โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับที่มาตรา 5.2 ที่ว่าด้วยการดูดซับคาร์บอนโดยป่า (Axel Michaelowa, 2564)

เส้นทางการเจรจามาตรา 6.8 เน้นให้เห็นถึงความซับซ้อนของมาตรานี้ หลักการและการเลือกใช้คำของมาตรา 6.8 ทำให้ผู้ร่างต้องแก้ไขเนื้อหาของมาตราให้มีความประนีประนอมขึ้นจนนาทีสุดท้าย แต่ยังมีหลายประเด็นใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการเจรจามาตรา 6.8 ที่ไม่ได้รับการแก้ไขแม้ว่าประเทศสมาชิกจะรับรองความตกลงปารีสไปแล้วก็ตาม ทำให้ประเด็นเหล่านี้ก็ยังถูกนำขึ้นมาโต้แย้งอยู่เสมอเมื่อมีการเจรจารอบใหม่ๆใน COP (Axel Michaelowa, 2564)

การอภิปรายเรื่อง NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 ทวีความซับซ้อนขึ้นเมื่อขาดนิยามทางกฎหมายแก่ NMAs และมุมมองความเข้าใจที่แตกต่างกันในหมู่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ทำให้การกำหนดนิยามทำได้ยากแม้แต่ในการอภิปราย UNFCCC ยกตัวอย่างความกว้างของแนวคิด NMAs ได้แก่รายงานเชิงเทคนิคที่ UNFCCC ร่างไว้ในปี 2014 ซึ่งแยกประเภทย่อยของ NMAs ไว้เป็นมาตรฐานและกฎหมาย ความตกลงภาคสมัครใจ เป้าหมาย กรอบดำเนินงาน สารสนเทศ หลักสูตรการศึกษาและเพิ่มการรับรู้ วิจัยและพัฒนา และเครื่องมือทางเศรษฐกิจการคลัง (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

มาตรฐานและกฎหมายสำคัญต่อ NMAs ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานทางเทคนิคและการดำเนินการ โดยนานาชาติมักให้ความสำคัญกับข้อกำหนดและมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานเช่น Building Energy Codes Program ของกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา ประการต่อมา ความตกลงภาคสมัครใจอยู่ในรูปแบบของข้อสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนนอกกรอบการบังคับใช้กฎหมาย แนวทางนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่มีการบังคับและสามารถนำไปใช้เพื่อขยายกิจการไปสู่อุตสาหกรรมที่ไม่มีกฎหมายมากำกับดูแลหรือโครงการทดลองต่างๆ ประการที่สาม หลักสูตรการศึกษาและเพิ่มการรับรู้ และสารสนเทศมุ่งเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่พบบ่อยได้แก่ Eco-labeling ที่สามารถนำมาใช้อ้างคุณประโยชน์ของระบบนิเวศในบริบทของผลิตภัณฑ์ และมาตรา 6 ของ UNFCCC ก็กล่าวถึงความสำคัญของสารสนเทศและสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สารสนเทศยังเน้นถึงเส้นแบ่งที่คลุมเครือระหว่าง NMAs กับ MBMs ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ส่วนการวิจัยและพัฒนาในบริบทของ NMAs นั้นมักเกี่ยวข้องกับมาตรากองทุนสำหรับสร้างนวัตกรรมการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

ในขณะที่ NMAs ต้องการแหล่งทุนในระดับหนึ่ง เครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเงินกลับอยู่ในมือของตลาด ดังนั้นจึงยากระบุว่ากลไกการเงินเป็น NMAs หรือ MBMs กันแน่ขึ้นอยู่กับบริบท ยกตัวอย่างเช่นในการเจรจาความตกลงปารีส ผู้แทนประเทศสมาชิกบางรายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะสรุปว่า MBMs คือกลไกที่บิดเบือนตลาดเพื่อให้ผลลัพธ์จากการบรรเทาปัญหาโลกร้อนสามารถส่งต่อข้ามประเทศได้ ดังนั้นผู้แทนประเทศสมาชิกจึงรวมเอาภาษีคาร์บอนไว้เป็น NMAs และเนื่องจากกองทุนโลกร้อนมีลักษณะรวมศูนย์กลาง เครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเงินจึงเป็นหัวข้อของ NMAs ที่มีการอภิปรายกันมากที่สุดหัวข้อหนึ่ง (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

ส่วน UNFCCC ตัดสินว่ากลไก NMAs จะเป็นอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ใช่กลไกตลาด จนกว่าประเทศสมาชิกจะตัดสินใจเป็นอย่างอื่น หลังจากการเจรจามาตรา 6.8 ยืดเยื้อมาเป็นเวลาห้าปี ในที่สุดดูเหมือนว่านานาชาติจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ NMAs เสียที่ในปี 2021 ที่การประชุม COP26 มีมติเห็นชอบใน Paris Rulebook ที่รวมเอาแนวทางในการดำเนินโครงการภายใต้กรอบดำเนินการสำหรับ NMAs ที่อ้างถึงในมาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีส มีใจความสำคัญว่า NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาแบบไม่ใช้กลไกตลาดภาคสมัครใจ มีผู้ร่วมโครงการมากกว่าหนึ่งราย ไม่มีการส่งต่อผลลัพธ์จากการบรรเทาปัญหาโลกร้อนข้ามพรมแดนประเทศ กระตุ้นให้เกิดการดำเนินการตามเป้าหมาย NDC ที่วางไว้ เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยแนวทางหลักมีดังต่อไปนี้ (UNFCCC, 2556):

  1. การตั้งรับปรับตัว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และความยั่งยืน
  2. มาตรการบรรเทาภาวะโลกร้อนที่มีส่วนเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

โครงการดังกล่าวมุ่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้รับการพิจารณาทบทวนจากคณะที่ปรึกษา Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice ในปี 2026 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการและให้คำแนะนำแก่ประเทศสมาชิกความตกลงปารีส อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม COP26 ผลงานของโครงการได้รับการประเมินไว้เพียงระดับปานกลาง และส่วนมากจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มของ UNFCCC บนเว็บไซต์เพื่อเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นที่รู้กันดีว่าการดำเนินการใดๆก็ตามจะขึ้นอยู่กับแหล่งทุน ทำให้ประเทศสมาชิกเสนอให้ทุคนร่วมลงขันกันในกองทุน Trust Fund for Supplementary Activities for Implementing the Work Programme นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกหลายประเทศยังได้ทำโครงการทดลองความเป็นไปได้ต่างๆของ NMAs ที่ถือว่าอยู่ภายใต้มาตรา 6.8 (UNFCCC, 2556)

หลังจาก COP27 สิ้นสุดลง มาตรา 6.8 ถูกนำไปดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ที่ดูไบ ประเทศสมาชิกหารือกันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ COP28 ไปจนถึงการประชุมที่กรุงบอนน์ในเดือนมิถุนายนปี 2024 ส่วนหนึ่งได้แก่สรุปการพัฒนาแพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ที่จะใช้เก็บข้อมูลแนวทางที่ไม่ใช้กลไกตลาดและประสบการณ์การดำเนินการของประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

ประเทศภาคีที่ผลักดัน และประเทศภาคีที่คัดค้าน

  1. ประเทศโบลิเวียคัดค้านการใช้กลไกตลาดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและเสนอกลไก ‘สนับสนุนแนวทางความร่วมมือในภาพรวม’ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และช่วยประเทศกำลังพัฒนา ‘โยกย้ายทุนและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว’ ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป บราซิล ปานามา เปรู โคลอมเบีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แตนาดา สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เคนยา โตโก โกติวัวร์ สิงค์โปร์ เซเนกัล ออสเตรเลีย อาฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ (Michelle Fournier, 2555)
  2. รัฐบาลเอกวาดอร์เสนอ ‘Net-avoided emissions’ (NAE) เป็นข้อเสนอที่ได้แนวความคิดจากโครงการทดลองในอุทยานแห่งชาติ Yasuní ที่ดำเนินการในปี 2007 ซึ่งมีหลักการสำคัญว่าอุตสาหกรรมจะได้รับเงินชดเชยจากการหยุดปล่อยมลภาวะหากสัญญาว่าจะไม่นำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อีก (UNFCCC, 2564)
  3. ประเทศเคนยาได้ดำเนินโครงการ ABM และ LoCAL นำร่องที่ทำให้เกิดใช้พันธมิตรเพื่อการพัฒนาโดยใช้สถาบันการเงินเป็นกลไกดึงดูดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมาลงทุนในโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจ และระบบนิเวศในระดับครัวเรือน (African Development Bank Group, 2567)
  4. ประเทศสวีเดน เกาหลีใต้ และกาตาลุญญ่า ดำเนินโครงการนำร่องสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่ผู้รับในระดับชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนในประเทศโกติวัวร์ อูกานดา สวาตินี่ เคนยา แกมเบีย และกัมพูชา และจัดตั้งโครงการนำร่องในประเทศภูฏานและกัมพูชา (Rosanna Anderson, 2555)
  5. ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทยเริ่มใช้ระบบเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการ
  6. ในวันที่ 20 มกราคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนำประเทศสหรัฐอเมริกาออกจากความตกลงปารีส ทำให้ภาระผูกพันของประเทศสหรัฐอเมริกาในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนทุนและเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

รูปธรรมข้อเสนอนโยบายล่าสุดในระดับสากลและในระดับอื่น ๆ

  1. แนวทางที่ภาครัฐเข้าแทรกแซงเพื่อให้เกิดการระดมทุนจากภาคเอกชน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีคาร์บอนคือภาษีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเรียกเก็บจากผู้ประกอบการและองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซกลุ่มฟลูออริเนต (F-Gases) ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์กำหนดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆในการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสีย การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเดินทางขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการตัดไม้ และการเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนจะนำปริมาณคาร์บอนส่วนเกินมาคำนวณกับอัตราภาษีคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีที่แตกต่างกันไป และส่วนใหญ่จะแบ่งประเภทของภาษีออกเป็น 2 แบบ คือ
    • ภาษีคาร์บอนทางตรง คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งมักจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่าเช่น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล, การเผาไหม้ของเครื่องจักรในโรงงาน, การเผาขยะและการบำบัดน้ำเสีย, การเผาไหม้ของยานพาหนะต่างๆ, และการผลิตปูนซีเมนต์และเคมีภัณฑ์
    • ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามการบริโภคแต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เช่น การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อาทิ เหล็ก กระดาษ บรรจุภัณฑ์ หมึกพิมพ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
    • นอกจากภาษีคาร์บอนภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันยังเกิดแนวคิดใหม่ Carbon Border Tax หรือ ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน เป็นภาษีนำเข้าสินค้าที่เรียกเก็บจากประเทศที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน ผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่มีมาตรการทางภาษี ถ้าต้องการค้าขายกับประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องก๊าซเรือนกระจกจะถูกผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่สุด ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนมีผลบังคับใช้ในสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป

ภาษีคาร์บอนถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อชวยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนตามหลักเศรษฐศาสตร์ เพราะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่มีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ใช่ของฟรีที่จะปล่อยเท่าไหร่ก็ได้อีกต่อไป ในต่างประเทศเริ่มนำนโยบายการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้กันอย่างจริงจังนำโดยประเทศฟินแลนด์ที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในปี 1990 จากฐานภาษีที่ต่ำเพียง 1.75 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ก่อนที่จะค่อยๆปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันฟินแลนด์เก็บภาษีคาร์บอนเฉลี่ยที่ 83.74 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน

ปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป เช่นฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ส่วนในทวีปเอเชียก็เริ่มที่ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ระบบภาษีคาร์บอนที่บังคับใช้ยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อกำหนดประเภทเชื้อเพลิง รูปแบบการจัดเก็บภาษีที่มีทั้งทางตรงจากการผลิตและทางอ้อมจากการบริโภค และตลอดจนอัตราภาษีที่มีตั้งแต่ 0.08 จนถึง 155.87 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ซึ่งอุรุกวัยเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราสูงที่สุดในโลกในปี 2022 (UOB Asset Management, 2567)

  • ส่วนประเทศไทยเริ่มนำแนวคิดจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตฉบับที่ 23 พ.ศ. 2565 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ ดังนี้
    • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี คือ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/ กิโลเมตร อัตราภาษี 25%ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150-200 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 30%ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 35%
    • รถยนต์นั่งความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี อัตราภาษี 40%

หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป จะเพิ่มภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเป็นขั้นบันไดจนไปถึงระดับสูงสุดในปี 2030 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 30
    • ถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 40%
    • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี อัตราภาษี 50%

      อีกทั้งกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจาณาแนวทางการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้แบบเต็มระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการเดินหน้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2065 โดยจะนำมาปรับใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นเก็บจากผู้ผลิตสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการ (UOB Asset Management, 2567)

      หมายเหตุ : แม้ว่าภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้กลไกตลาดเพราะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและประชาชนลดการปล่อยมลภาวะผ่านแรงจูงใจทางราคา แต่ก็ไม่ใช่กลไกตลาดแท้เพราะรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราภาษีแทนที่จะปล่อยให้ตลาดกำหนดราคาโดยเสรี ดังนั้นภาษีคาร์บอนจะอยู่ภายใต้มาตรา 6.8 ของความตกลงปารีสหรือไม่ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของแต่ละประเทศ เช่นถ้าประเทศหนึ่งเก็บภาษีคาร์บอนร่วมกับระบบซื้อขายเครดิตคาร์บอน ก็จะตกอยู่ภายใต้มาตรา 6.2  แต่ถ้าประเทศนั้นเก็บภาษีคาร์บอนเป็นมาตรการหลักในการลดก๊าซเรือนกระจก ก็จะตกอยู่ภายใต้มาตรา 6.8

      2. แนวทางสนับสนุนทุนแก่ประเทศกลุ่มเปราะบาง

      • กลไกที่ประกอบไปด้วยเครื่องมือทางการเงินเฉพาะทาง   รูปแบบของ NMA ที่ประกอบไปด้วยปัจจัยทางการเงินที่แพร่หลายที่สุดได้แก่กลไกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนข้ามพรมแดน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกลไกนี้ได้แก่กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกหรือ Global Environment Facility (GEF) และ Green Climate Fund (GCF) แนวทาง NMAs ใหม่นี้จะมุ่งเป้าไปที่ “จุดบอด” ของกลไกอื่นๆ กลไกด้านทุนเช่นนี้อาจตั้งขึ้นจากความร่วมมือสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายหรือแม้แต่ภายใต้ UNFCCC เอง มีรายละเอียดดังนี้
      • กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) คือกลไกความร่วมมือด้านการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดของโลก (Earth Summit) จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ในปี 2535 โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ก่อตั้งได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระดมเงินทุนจากแหล่งอื่นอีก 75,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับโครงการต่างๆ เกือบ 4,000 โครงการ นอกจากนี้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกยังเป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ สถาบันระหว่างประเทศ องค์กรประชาสังคม และภาคเอกชน 183 แห่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกด้วย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกทำหน้าที่เป็นกลไกทางการเงินให้กับอนุสัญญาเหล่านี้
        • อนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (CBD)
        • อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
        • อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs)
        • อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD)
        • อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท

      และถึงแม้ว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจะไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (MP) แต่ก็สนับสนุนการปฏิบัติตามพิธีสารฉบับดังกล่าวในหลายประเทศ (GEF, 2567)

      กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นแหล่งการเงินส่วนเพิ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะให้เปล่า (Grants) หรือเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้วในการดำเนินมาตการเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโลก และจะดำรงบทบาทในการเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติงานรวมทั้งการระดมเงินทุนจากแหล่งอื่นๆเช่นธนาคารเพื่อการพัฒนาและองค์กรเอกชนเพื่อสมทบให้กับโครงการ (GEF, 2567)

      โครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจะต้องเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างชัดเจนและจะต้องมีหน่วยงานต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเข้ามาร่วมดำเนินโครงการอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้จะต้องเป็นโครงการที่คุ้มค่าคุ้มราคา นำผลไปใช้กับพื้นที่อื่นได้ และการยกร่างโครงการนั้นจะต้องเป็นไปโดยอาศัยแรงจูงใจเป็นพื้นฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อกองทุนยุติการให้การสนับสนุนแล้ว โครงการก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยความยั่งยืนทางการเงินของโครงการ (GEF, 2567)

      นอกจากนี้โครงการที่จะเสนอจะต้องมีรายละเอียดบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เที่ยงตรงและหนักแน่น ประกอบไปด้วยแผนการติดตามตรวจสอบและประเมินผล กองทุนจะไม่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยตรง แต่โดยทั่วไปแล้วโครงการที่ได้รับการสนับสนุนมักจะมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชาติ (GEF, 2567)

      • การระดมทุน : กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกได้มีการเพิ่มทุนมาแล้ว 8 รอบนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา โดยครั้งล่าสุดในวันที่ 21 มิถุนายน 2022 ประเทศให้ทุน 29 ประเทศได้ลงนามอนุมัติเงินจำนวน 5.33 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับปี 2002-2006 ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากทุนรอบที่ 7 เพื่อให้ประเทศผู้รับทุนตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้สูงขึ้น ทุนดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่แก้ไขปัญหาสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูป่าไม้และทะเล แก้ปัญหามลภาวะ และลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนข้ามพรมแดนภายในเวลาสิบปี (GEF, 2567)
      • กรณีตัวอย่าง : การสนับสนุนทุนเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ หยุดการตัดไม้ทำลายป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ป่าแอมะซอน ในปี 2015

      กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกได้ริเริ่มโครงการ Amazon Sustainable Landscapes Program (ASL) เฟสแรกขึ้นในประเทศบราซิล โคลอมเบีย และเปรูที่ครอบคลุม 80% ของพื้นที่ป่า และในปี 2019 ASL เฟส 2 ก็ได้รับการอนุมัติโดยเพิ่มหนึ่งโครงการใหม่ในประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ กิอาน่า และสุรินัม เพิ่มโครงการในเปรูเป็นสองโครงการ และขยายขนาดสองโครงการที่ดำเนินอยู่ในบราซิลและโคลอมเบีย ASL และเฟส 3 รวมเอาเวเนซุเอล่าเข้ามาในเดือนมิถุนายนปี 2023 นอกจากนี้โครงการ ASL ยังทำหน้าที่ประสานโครงการในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในภูมิภาค ในเฟสสุดท้ายของโครงการนี้ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกจะให้การสนับสนุนต่อไปจนถึงปี 2030 ด้วยเงินจำนวน 306 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯและคาดว่าจะได้เงินจากแหล่งอื่นอีกประมาณ 1.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (GEF, 2567)

      วัตถุประสงค์ของโครงการ Amazon Sustainable Landscapes Program (ASL) ได้แก่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของป่าแอมะซอนแบบองค์รวมด้วยวิธีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเน้นไปที่การปรับปรุงการจัดการและความยั่งยืนทางการเงินของพื้นที่อนุรักษ์ หยุดการตัดไม้ทำลายป่า และหลักการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนกับอุตสาหกรรมที่เป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเกษตรกรรมและเหมืองแร่ ด้วยการกำหนดให้เป็นนโยบายที่นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหารือและวางแผน (GEF, 2567)

      ผลลัพธ์ที่ได้ : โครงการเฟสสองได้เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์จากเดิม 380 ล้านไร่ขึ้นมาอีก 25.8 ล้านไร่ เกิดกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้เดิม 18.75 ล้านไร่ และสนับสนุนการจัดการป่าและผลิตอาหารยั่งยืนโดยชุมชนด้วยการลงทะเบียนพื้นที่ป่าชุมชนขนาด 6 ล้านไร่ในโครงการ Environmental Regularization Program (PRA) ในเดือนมิถุนายนปี 2023 หรือคิดเป็น 83% ของเป้าหมาย ประการที่สาม จากการที่โครงการตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลกลางและรัฐใช้นโยบายและกลไกการเงินเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี 2023 รัฐบาลระดับรัฐได้อนุมัติกลไกการเงินจำนวน 27 โครงการ และรัฐบาลกลางได้ออกกฏหมายป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและจุดไฟป่าในพื้นที่แอมะซอน ประการสุดท้าย โครงการได้เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าด้วยกัน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบการดำเนินการ การปฏิบัติตามข้อตกลง และการประเมินผลโครงการ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน (GEF, 2567)

      • ท่าทีของประเทศไทยที่มีต่อกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

      ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกทำหน้าที่เป็นกลไกทางการเงิน บนพื้นฐานความสอดคล้องกับนโยบายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ตลอดจนนโยบายและแผนการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2566) และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2559 คณะรัฐมนตรีได้รับรองข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปฏิบัติหน้าที่ Operational Fiscal Point มีอำนาจในการพิจารณาให้การรับรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนการลงนามในข้อตกลงทางการเงินสำหรับกรณีที่โครงการได้รับอนุมัติสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและมีข้อผูกพันทางการเงินที่เป็นตัวเงินร่วมสนับสนุนในการดำเนินโครงการ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2549)

      ส่วนในการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกโครงการนั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นประธานการประชุมหารือระหว่างฝ่ายเลขานุการคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความสอดคล้องของโครงการที่จะขอรับทุนสนับสนุนกับเกณฑ์การคัดเลือกของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศมากที่สุด

      ในระหว่างรอบการเพิ่มทุน GEF-6 และ GEF-7 ประเทศไทยรับทุนจาก GEF รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯและเงินสมทบจากกงบประมาณของรัฐบาลอีก 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (ISRL) โครงการการผลักดันการประยุกต์ใช้และการจัดการตลอดวงจรของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (รับทุนจำนวน 3.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับดำเนินโครงการในปี 2563-2568) โครงการการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (รับทุนจำนวน 3.36ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับดำเนินโครงการในปี 2564-2569) และโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงเทคนิคและสถาบัน (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2565) ส่วนโครงการที่สำคัญอื่นๆได้แก่โครงการจัดการของเสียภาคเกษตรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (รับทุนจำนวน 2.5 ล้านยูโรสำหรับดำเนินโครงการในปี 2565-2569)

      ส่วนในรอบการเพิ่มทุนที่ GEF-8 นี้มีโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำนวน 12 โครงการ ส่วนโครงการที่ได้รับทุนจาก GEF-1-7 มีจำนวนทั้งสิ้น 30 โครงการซึ่งเป็นโครงการของหน่วยงานราชการทั้งหมด (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2564)

      • กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund หรือ GCF) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 16 ที่เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558 เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประชาคมโลกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ กองทุน GCF จะคำนึงถึงความเป็นเจ้าของประเทศและความต้องการของประเทศเป็นหลัก โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนจำนวน 24 คนซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากประเทศพัฒนาแล้วและอีกครึ่งหนึ่งมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยที่การตัดสินใจอาศัยมติแบบเอกฉันท์ของคณะกรรมการบริหารกองทุนในส่วนของความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตั้งเป้าหมายระดมทุนให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปีภายในปี 2563 โดยจะจัดสรรเงินทุนในสัดส่วนที่เท่ากันเพื่อใช้ในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบ และร้อยละ 50 ของเงินด้านการปรับตัวจะจัดสรรให้กับประเทศที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาคีประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภาคีประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และภาคีกลุ่มประเทศแอฟริกา อย่างไรก็ตาม (กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2567) เมื่อถึงปี 2563 กองทุนระดมเงินได้เพียง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อถึงปี 2566 กองทุนมีมูลค่าเพียง 13.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ  13.5 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม เนื่องจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมิได้ลงทุนตามที่ให้คำมั่นไว้
      • วัตถุประสงค์หลักของกองทุน
        • การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มการผลิตและการเข้าถึงพลังงานที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ เพิ่มการขนส่ง อาคาร เมืองอุตสาหกรรม และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบการปล่อยคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการใช้ที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน และเพิ่มการดูดกลับคาร์บอนในภาคป่าไม้
          • การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่สุขภาพความเป็นอยู่และความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ การดำรงชีวิตของผู้คนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ระบบสาธารณูปโภคและสภาวะแวดล้อม และระบบนิเวศและการบริการ (กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2567)
          • รูปแบบกลไกทางการเงินของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว
            • เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ใช้เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น กิจกรรมด้านการปรับตัวในพื้นที่เปราะบาง การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตลอดจนการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล
            • เงินกู้แบบมีเงื่อนไขผ่อนปรน ใช้เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาด การยืดระยะเวลา และ/หรือ การพักชำระหนี้ชั่วคราว
            • เงินค้ำประกัน ใช้เพื่อบรรเทาหรือลดความเสี่ยงของการลงทุน โดยที่ผู้ค้ำประกันทำสัญญารับผิดชอบร่วมหรือแทนผู้กู้ ซึ่งการค้ำประกันนี้อาจครอบคลุมการลงทุนทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน
            • ตราสารทุน เป็นการระดมเงินทุนจากนักลงทุนสำหรับโครงการหรือสินทรัพย์ เพื่อช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มผลตอบแทนในที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป ตราสารทุนเหมาะกับโครงการที่มีความเสี่ยงสูง แต่มีโอกาสของความสำเร็จและให้ผลตอบแทนต่อนักลงทุน (กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2567)
          • การเข้าถึงกองทุนภูมิอากาศสีเขียว : GCF ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการและแผนงานที่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการและแผนงานต้องเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ของกองทุน GCF โดยหน่วยงานปฎิบัติการที่ได้รับการรับรองสามารถพัฒนาและส่งข้อเสนอโครงการไปที่สำนักเลขาธิการกองทุน หรือกองทุน GCF อาจประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการเป็นระยะๆ ผ่านทางเว็บไซต์ (กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2567)
      • เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา
        • ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กล่าวคือศักยภาพของโครงการหรือแผนงานที่จะช่วยให้บรรลุหมายของกองทุน ในการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำและมีความสามารถในการรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
          • ศักยภาพในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คือระดับของกิจกรรมที่นำเสนอสามารถกระตุ้นผลกระทบที่นอกเหอไปจากการลงทุนในโครงการหรือแผนงานเพียงครั้งเดียว โครการดังกล่วสามารถไปพัฒนาต่อยอด ขยายผลหรือทำซ้ำในพื้นที่อื่นๆ ได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีนวัตกรรมและโอกาสของการแปรรูปอย่างไร
          • ศักยภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือศักยภาพของโครการหรือแผนงานที่จะสร้างประโยชน์มากขึ้นและร่วมกันในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการพัฒนาที่คำนึงถึงผลกระทบด้านเพศภาวะ
          • ความเป็นเจ้าของประเทศ ประเทศที่เป็นจ้าของโครงการหรือแผนงาน สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่เสนอ และโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธ์ศาสตร์และนโยบายของประเทศต้นการปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด
          • ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้แก่อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์และการเงินของโครงการ/แผนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด และมีงินสนับสนุนร่วมด้วยสักเท่าไหร่
          • ความต้องการของผู้รับ เช่นความเปราะบางและความต้องการด้านเงินทุนของประเทศที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการหรือแผนงานว่าสามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อุปสรรคในการจัดหาแหล่งเงินทุนและระดับของความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมทั้งความต้องการด้านการพัฒนาศักยภาพของสถาบัน (กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2567)
          • จุดอ่อนของกองทุน ประเทศกำลังพัฒนาได้ตั้งข้อสังเกตถึงการที่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วผลักภาระนี้ไปสู่เอกชนและประเทศพัฒนาแล้วผ่านกลไกตลาด จากการที่กองทุนไม่สามารถระดมทุนจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วให้ครบ 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯตามที่ได้ให้คำมั่นไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วโต้แย้งว่าแผนการระดมทุนจาก NMAs REDD + และถ้าทุนไม่เพียงพอกับการดำเนินงานจึงระดมจากภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในกองทุนภูมิอากาศสีเขียวมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นที่ต้องการ เช่นหอการค้าระหว่างประเทศอาจมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเท่านั้น ประการที่สอง ทำให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและอำนาจในการบริหารจัดการโครงการที่จะนำไปสู่การแปลงระบบนิเวศเป็นสินค้าและบริการ และเปลี่ยนวัตถุประสงค์ด้านการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นการทำธุรกิจแบบเดิมๆในที่สุด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วเลี่ยงความรับผิดตามหลัก CBDR-RC อีกด้วย
          • ท่าทีของประเทศไทยที่มีต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานหลัก (National Designated Authority หรือ NDA) ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียวเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในอนาคตจากกองทุนดังกล่าวจึงได้ร่วมดำเนินโครงการฯในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเตรียมพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน Green Climate Fund ระยะที่ 1 ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของสผ.ด้านกระบวนการของกองทุน ระบวนการรับรองข้อเสนอโครงการ กลไกการประสานงานและกระบวนการรับรอง สนับสนุนการวางแผนกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจัดทำแผนงานระดับประเทศเพื่อวางกลยุทธ์ในการขอการสนับสนุนจากกองทุน และสนับสนุนสผ.ในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการดำเนินงานของกองทุนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย, 2563)
          • กรณีตัวอย่าง : กองทุนภูมิอากาศสีเขียวได้สนับสนุนเงินทุน 38 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศในไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ร่วมลงนามเอกสารข้อตกลงการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) ซึ่งเสนอโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของกองทุนในการประชุมครั้งที่ 37 ณ เมืองทบิลีซี ประเทศจอร์เจีย โดยมีงบประมาณสมทบจากหน่วยงานภาคีภาครัฐของไทย ได้แก่ กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และภาคเอกชน (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย, 2566)

      โครงการ Thai Rice GCF ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาผ่านการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดำเนินการแบบ bottom-up เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรรายย่อยที่เปราะบางให้สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ส่งเสริมการทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) ภายใต้ระยะดำเนินการของโครงการ 5 ปี (2567-2572) คาดว่าจะสามารถเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนและลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชาวนารายย่อยจำนวน 250,000 ราย อีกทั้งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาได้ประมาณ 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย, 2566)

      • The Climate Investment Funds (CIF) เป็นกองทุนสัมปทานที่ก่อตั้งขึ้นจากการการร่วมมือในระดับพหุภาคีของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (MDBs) จำนวน 6 ธนาคารได้แก่ World Bank (ซึ่งรวมถึง International Finance Corporation), African Development Bank, Asian Development Bank, European Development Bank, และ Inter-American Development Bank เพื่อสนับสนุนการให้คำปรึกษาและทุนสำหรับต่อสู้กับภาวะโลกร้อนแก่ประเทศกำลังพัฒนา กองทุน CIF แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือกองทุนพลังงานสะอาดหรือ Clean Technology Fund (CTF) และกองทุน Strategic Climate Fund (SCF)
        • CTF เป็นแหล่งทุนขนาดใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดในประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและต่ำ โดยเน้นไปที่การถ่ายโอนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวให้แก่ผู้รับทุน แหล่งทุนประกอบไปด้วยเงินให้เปล่า เงินกู้สัมปทาน หุ้นกู้ และหลักประกัน การรับทุน CTF ต้องรับจาก World Bank, Inter-American Development Bank, African Development Bank, European Bank for Reconstruction and Development, และ Asian Development Bank โดยตรงเท่านั้น
        • SCF เป็นกองทุนสนับสนุนการทดลองหรือขยายผลนวัตกรรมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะเฉพาะด้านหรือเฉพาะภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดความยากจน การฟื้นฟูระบบนิเวศที่สามารถดูดซับคาร์บอน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านทางโครงการต่างๆดังต่อไปนี้:
          • โครงการ Forest Investment Program เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าด้วยการให้ทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาล ชุมชน หรือภาคเอกชนที่จะร่วมมือกันหาแนวทางอยู่ร่วมกันระหว่างคน เศรษฐกิจ และระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
          • โครงการนำร่องเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนหรือ Pilot Program for Climate Resilience ที่ให้ทุนแก่ประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและต่ำเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
          • โครงการขยายผลด้านพลังงานทางเลือกในประเทศกลุ่มรายได้ต่ำที่สนับสนุนทุนให้แก่กิจกรรมเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดที่ให้แก่ชุมชนรายย่อยนอกพื้นที่ให้หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์
          • โครงการบูรณาการพลังงานทางเลือกหรือ Renewable Energy Integration Program ที่ให้ทุนสนับสนุนการขจัดอุปสรรคเชิงระบบต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
          • โครงการ Nature, People and Climate ให้ทุนช่วยรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และชุมชนใช้ที่ดินและระบบนิเวศเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขจัดอุปสรรคสู่ความยั่งยืนในภาคเกษตร อาหาร ป่า และระบบนิเวศภภาคพื้นดินอื่นๆ
          • เช่นเดียวกับ CTF ที่การรับทุน CIF ต้องรับจาก World Bank, Inter-American Development Bank, African Development Bank, European Bank for Reconstruction and Development, และ Asian Development Bank โดยตรงเท่านั้น

      เนื่องความต้องการเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและเสนิมสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กองทุน CIF จึงจำเป็นต้องระดมทุนจากภาคเอกชนนำมาสมทบกับทุนจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว โดยการจูงใจด้วยโครงการความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนสูง คำปรึกษาและโอกาสในการเข้าตลาด Emerging Market ที่มีศักยภาพอย่างเช่นธุรกิจ Low Carbon และ Climate-smart Market ปัจจุบันร้อยละ 30 ของกองทุน CIF มาจากภาคเอกชน (Climate Investment Fund, 2568)

      • กองทุน Adaptation Fund ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารเกียวโต มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนเปราะบางในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามลำดับความต้องการและความเปราะบางของประเทศเป็นหลัก

      ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา กองทุน Adaptation Fund ได้ลงทุนจำนวน 1.25 พันล้านดอลล่าร์ฯในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการตั้งรับปรับตัวของชุมชนเปราะบางจำนวน 183 โครงการในประเทศที่เปราะบางที่สุดทั่วโลกที่มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการรวม 45.8 ล้านคน นอกจากนี้กองทุนนี้ยังได้ริเริ่มโครงการ Direct Access and Enhanced Direct Access ที่ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงทุนและนำไปใช้บริหารโครงการท้องถิ่นได้

      กองทุน Adaptation Fund ได้รับเงินลงทุนส่วนใหญ่จากรายรับร้อยละ 2 ที่ได้จากการขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ  Certified Emission Reductions (CERs) ให้แก่ประเทศอุตสาหกรรม ที่ได้จากการพัฒนากลไกทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา ร่วมกับเงินบริจาคจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก โดยมีคณะกรรมการ Adaptation Fund Board (AFB) ที่ประกอบไปด้วยกรรมการ 16 คนเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน และเลขาธิการผู้จัดทำงานวิจัยและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการ และ World Bank เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์เป็นการชั่วคราว Adaptation Fund. (2568)

      • พันธมิตรระดับพหุภาคีที่ให้การสนับสนุนด้านทุน
        • World Bank ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญสองโครงการ ได้แก่โครงการ HCFC Phase-out Management Plan เฟสที่สองที่ให้ทุนจำนวน 153 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการในปี 2563-2566 วัตถุประสงค์ของโครงการคือเพื่อลดการใช้ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในประเทศไทยตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของ UNFCCC เป้าหมายลด HCFC ภายในปี 2020 ของพิธีสารมอนตริออล และเงื่อนไขเบื้องต้นของความตกลง Kigali

      โครงการที่สองได้แก่โครงการ Thailand Readiness Preparation Proposal (R-PP) ที่รับทุนจำนวน 13 ล้านบาทจาก World Bank ในปี 2563-2566 สำหรับจัดตั้งกลไกต่างๆที่จำเป็นสำหรับการดำเนินโครงการประเภท REDD+ ในประเทศไทยในอนาคต (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2565)

      • พันธมิตรระดับทวิภาคีที่ให้การสนับสนุนด้านทุน
        • ประเทศเยอรมนี โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (BMU) ได้สนับสนุนทุนให้แก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประเทศไทยผ่านช่องทาง International Climate Initiative (IKI) ยกตัวอย่างเช่นโครงการ Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement Project ที่รับทุนจำนวน 35 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการในปี 2561-2565, โครงการ Climate and Environmentally Friendly Agricultural Waste Management ที่รับทุนจำนวน 88 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการในปี 2565-2569, โครงการ Low Carbon Cities Programme (LCCP) ที่ใช้ทดแทน TVERs ที่รับทุนจำนวน 63 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการในปี 2562-2565, โครงการ Integrated Waste Management for GHG Reduction, โครงการ Climate Action Programme for the Chemical Industry (CAPCI) ที่รับทุนจำนวน 70 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการในปี 2564-2567 และโครงการสนับสนุนการลดใช้ไนตรัสออกไซด์ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2565)
        • กลไกที่ใช้เพื่อประสานแหล่งทุนระดับนานาชาติที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน            ประเทศที่รับทุน NGO และนักวิจัยพบว่ากระแสเงินสนับสนุนระหว่างรัฐมักขาดความโปร่งใส ซึ่งนำไปสู่ความซ้ำซ้อนและขาดประสิทธิภาพในการใช้ทุนที่หายากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ให้รัฐเข้าแทรกแซงให้เกิดการระดมทุนจากภาคเอกชนอย่างเช่นการเก็บภาษีคาร์บอนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก จึงทำให้เกิดกองทุนอย่างเช่น Sub-national Climate Fund หรือ SCF ที่ดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงแหล่งทุนเพื่อภูมิอากาศเข้าด้วยกัน

      Subnational Climate Fund (SCF) เป็นกลไกลการเงินระหว่างประเทศแบบผสมผสานที่มุ่งลงทุนในโครงการขนาดกลาง (5–75 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การกำจัดของเสีย สาธารณสุข เกษตรกรรมฟื้นฟู และ Nature-based Solutions ในระดับท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันมีหน่วยงานระดับรัฐและเทศบาลจำนวน 6,000 หน่วยงานได้เข้าร่วมโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Subnational Climate Fund, 2567)

      โครงการจำนวนมากเหล่านี้ต้องการเงินทุนที่มากพอกัน และงบประมาณจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วก็มีจำกัด จึงต้องการทุนจากภาคเอกชนเข้ามาเสริม อย่างไรก็ตาม ทุนจากเอกชนนั้นย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ และเป็นกองทุนขนาดเล็ก ดังนั้น SCF จึงตั้งเป้าหมายขจัดอุปสรรคดังกล่าวด้วยการลดความเสี่ยงด้วยการให้กู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรน การเพิ่มขนาดเงินกู้จากหลายแหล่งทั้งจากภาครัฐและเอกชน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารงาน การรายงานผล และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับของสัญญากู้อย่างเข้มงวด และตรวจรับรองโครงการเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Subnational Climate Fund, 2567)

      แหล่งทุนหลักของ SCF ได้แก่ Green Climate Fund ที่ได้สนับสนุนทุนจำนวน 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับให้กู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรน และอีก 19.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯสำหรับให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทุนส่วนอื่นๆมาจาก NGOs และภาคเอกชนที่มักไม่เปิดเผยชื่อแหล่งทุน ตัวอย่างโครงการที่รับทุนจาก SCF ได้แก่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของประเทศโกติวัวร์ โครงการผลิตพลังงานทางเลือกในประเทศไนจีเรีย โครงการจัดการของเสียในอินโดนีเซีย รวันดา เซเนกัล เคนยา และอาฟริกาใต้ เป็นต้น (Subnational Climate Finance Initiatives, 2567)

      ส่วนในระดับประเทศนั้น มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษเฉพาะทางในประเทศที่ให้ทุน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งทุนเพื่อภูมิอากาศและแหล่งทุนกระแสหลัก NMAs แนวใหม่นี้อาจมีหน้าที่เชื่อมโยงแหล่งทุนเพื่อภูมิอากาศของรัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสอดคล้องระหว่างกองทุนเพื่อบรรเทาและเพื่อการตั้งรับปรับตัวเข้าด้วยกัน โดยอาจจัดตั้งกลไกดังกล่าวในระหว่างประเทศสมาชิกหรือในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง และมุ่งเน้นสนับสนุนทุนแก่ภาคส่วนที่สำคัญทั้งการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวเช่นภาคพลังงานเป็นต้น

      • กลไกเพื่อช่วยประสานทุนจากประเทศต่างๆสู่ประเทศผู้รับรายเดียว                ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าในหลายประเทศขาดการประสานงานระหว่างแหล่งทุนและโครงการที่ให้ทุนเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนต่างๆ การเชื่อมโยงผู้ให้ทุนเข้าด้วยกันจึงเป็นงานที่มีความสำคัญอันดับแรก ในขณะที่บางประเทศ ผู้ให้ทุนจัดประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้เข้าร่วมมักไม่มีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้นจึงอาจออกแบบกลไกความร่วมมือใหม่ๆบนฐานการประเมินความต้องการของประเทศผู้รับที่มีอยู่แล้วหรือสร้างขึ้นมาใหม่โดยสิ้นเชิง
      • แนวทางที่มุ่งเน้นการพัฒนาหรือส่งต่อเทคโนโลยีและเสริมสร้างความเข้มแข็ง
        • กลไกที่ประสานการพัฒนาและ/หรือส่งต่อเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาและเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนระหว่างพหุภาคี ยกตัวอย่างเช่นศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network หรือ CTCN) ที่เกิดจากความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อเร่งกระบวนการส่งต่อเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนที่ได้ผลเป็นรูปธรรมตามความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา CTCN จัดขึ้นโดยโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติด้วยความร่วมมือของ UN Industrial Development Organization (UNIDO) และการสนับสนุนจากองค์กรภาคี 11 องค์กร CTCN ทำให้เกิดเครือข่ายของศูนย์เทคโนโลยี องค์กร และธุรกิจในระดับภาคส่วน ระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ กลไกความร่วมมือเช่นนี้อาจเกิดขึ้นภายในหรือภายนอก UNFCCC ก็ได้

      ยกตัวอย่างเช่น CTCN ได้เผยแพร่รายงานในหัวข้อ Climate Change Strategies 2020 โดยกล่าวถึงบทบาทสำคัญของการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยขอบเขตเนื้อหาระบุถึงโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการของศูนย์เครือข่าย CTCN ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆผ่านทาง Know-How เทคโนโลยี และมาตรการทางการเงินที่ให้ประเทศสมาชิกของ UNFCCC เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศต่างๆให้พร้อมรับและปรับใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาเพื่อลดผลกระทบทางด้านสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศ (สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ประจำกรุงเวียนนา, 2563)

      เนื้อหาภายในรายงานอยู่ในรูปแบบการรวมบทความจากผู้เชี่ยวชาญในการให้ความเห็นและความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งมีการนำเสนอ Best Practices และกรณีศึกษาจากการดำเนินงานในประเทศต่างๆ อีกด้วย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ (สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ประจำกรุงเวียนนา, 2563)

      • ต้องลงมือทำเร่งด่วน (Action Now) เป็นส่วนแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อสถานการณ์ของโลกที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ไขเช่นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ความต้องการให้มีการสนับสนุนด้านการเมืองและการเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
      • เทคโนโลยี (Technology) เป็นส่วนที่แสดงวิธีการแก้ปัญหาหรือบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิธีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำอุปโภคและบริโภค ด้านอาหารและด้านพลังงาน การพัฒนากังหันลมเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานให้สำหรับพื้นที่ชนบท การจัดตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ด้านสภาพภูมิอากาศ (Innovation Climate Center) โดยมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้คิดค้นวิธีในการแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับพื้นที่ของตน เป็นต้น
      • วิธีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางระบบ (Systemic Change) เป็นส่วนที่นำเสนอถึงการเปลี่ยนแปลงระบบและวิธีการในการบริหารจัดการเมืองอย่างยั่งยืน เช่น วิธีการและเทคโนโลยีที่ถูกคิดโดย UN-Habitat เพื่อทำให้เมืองและโครงสร้างพื้นฐานมีความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศหรือการวางแผนเพื่อขยายโครงข่ายการคมนาคมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ (Climate-smart Transport) ในประเทศกัมพูชา เป็นต้น
      • การดำเนินการเพื่อให้เกิดขึ้นจริง (Making It Happen) เป็นส่วนที่นำเสนอถึงวิธีการที่ศูนย์เครือข่าย CTCN มีส่วนร่วมในการดำเนินการโครงการต่างๆ เช่น การสร้างเครือข่ายการลงทุนภาคเอกชนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และให้การสนับสนุนประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นการติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวทางในการใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากบริการที่ศูนย์เครือข่าย CTCN มีให้บริการ  
      • นอกจากรายงานดังกล่าวแล้ว ศูนย์เครือข่าย CTCN ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์  ctc-n.org ที่เป็นศูนย์ข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและแนวทางการดำเนินงานที่น่าสนใจ โดยข้อมูลต่างๆ จะมาทั้งจากส่วนกลางและสมาชิกของศูนย์เครือข่าย ทั้งนี้ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของศูนย์เครือข่ายดังกล่าวด้วย โดยหน่วยงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก

      นับจนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่เผยแพร่โดย CTCN ไปใช้ดำเนินกิจกรรมบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนแล้วกว่า 1,500 กิจกรรมใน 150 ประเทศ (CTCN, 2567)

      • กลไกที่ประสานนโยบายในระดับทวิภาคีเพื่อบรรเทาและเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน กลไกนี้ช่วยให้ประเทศเตรียมความพร้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ กำหนดอัตราภาษีคาร์บอน และกำหนดมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานร่วมกับประเทศคู่ค้า และที่สำคัญได้แก่การประสานนโยบายระหว่างสองประเทศขึ้นไปเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมาย NDC ที่ไม่ใช่การใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes หรือ ITMO) ยกตัวอย่างเช่นประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลที่มีเขตแดนติดกันสองประเทศสามารถกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาระดับน้ำทะเลสูงร่วมกันได้
        • กลไกที่ประสานการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี กลไกนี้จะทำให้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่างๆสอดคล้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ ซึ่งมีประโยชน์เมื่อพิจารณาถึงโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศที่ยังมีลักษณะกระจัดกระจายอยู่ ตัวอย่างเช่นกลไกของ UNFCCC ที่ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีด้วยการประเมินความต้องการของแต่ละประเทศ
        • กลไกที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนระหว่างประเทศ    NMAs ข้อเป็นการนี้จัดตั้งกลไกเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและล้มเหลวของโครงการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่ดำเนินการข้ามพรมแดน ความร่วมมือแบบหลวมๆเช่นนี้อาจมุ่งเป้าไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งโดยเฉพาะและเกิดขึ้นภายในหรือภายนอก UNFCCC ก็ได้เช่นการทำงานร่วมกันของโคโรนีเวียในด้านการเกษตร (Koronivia Joint Work on Agriculture) หรือ Lima Work program on Gender

      การทำงานร่วมกันของโคโรนีเวียในด้านการเกษตรก่อตั้งขึ้นในการประชุม COP23 เพื่อเรียกร้องให้องค์กรย่อยเพื่อคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SBSTA) และคณะที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน (SBI) ทำงานร่วมกันในด้านการเกษตรในประเด็นความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนและความมั่นคงทางอาหารโลก ซึ่งรวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันและการตั้งรับปรับตัวของเกษตรกร ปรับปรุงคุณภาพดินและแหล่งน้ำ ปรับปรุงการใช้สารอาหารพืชและปุ๋ย ปรับปรุงการทำปศุสัตว์ และสร้างความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC, 2565)

      ส่วน Lima Work program on Gender เป็นโปรแกรมงานที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมในการประชุม COP20 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู ในปี 2014 เป้าหมายคือส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแผนงานระบุชัดว่าผู้หญิงเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้สามารถร่วมเป็นภาคีหนึ่งที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาและดำเนินงานนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากผู้หญิงมีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษเพราะดำรงชีพโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีบทบาทที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและในกิจกรรมการผลิตอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน จึงทำให้พวกเธออยู่ในตำแหน่งที่สามารถกำหนดกลยุทธ์การปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ความรู้และทักษะของผู้หญิงสามารถนำไปใช้ในการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้ดี (UNFCCC, 2567)

      อย่างไรก็ตามรายงานล่าสุดของ UNFCCC พบว่าจำนวนผู้แทนประเทศที่เป็นผู้หญิงใน COP ลดลง จาก 37% เหลือเพียง 34% ใน COP27 และสัดส่วนเวลาที่ได้พูดในที่ประชุมมีเพียง 29% ส่วนแผนงาน Gender Action Plan ก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนักโดยอ้างว่าเป็นเพราะภาวะระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้าออกไป (Ellie Powell, 2567)

      ตัวอย่างข้อเสนอนโยบายของประเทศต่าง ๆ ที่นำมาตรา 6.8 ไปปรับใช้

      1. ‘Net-avoided emissions’ (NAE) เป็นรูปแบบของ NMAs ล่าสุดที่เสนอแก่ UNFCCC โดยรัฐบาลเอกวาดอร์ในปี 2010 เป็นข้อเสนอที่ได้แนวความคิดจากโครงการทดลองในอุทยานแห่งชาติ Yasuní ที่ดำเนินการในปี 2007 ซึ่งมีหลักการสำคัญว่าอุตสาหกรรมจะได้รับเงินชดเชยจากการหยุดปล่อยมลภาวะหากสัญญาว่าจะไม่นำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อีก เงินชดเชยมาจากหลายแหล่งทุนรวมกันเช่นรัฐบาลต่างประเทศ ภาครัฐ เอกชน และ NGOs

      กรณีอุทยานแห่งชาติ Yasuní ในเอกวาดอร์เป็นตัวอย่างความสำเร็จแรกของ NAE อุทยานแห่งชาตินี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นบ้านของชนพื้นเมืองหลายเผ่า อย่างไรก็ตามพื้นที่อุทยาน 20% มีแหล่งน้ำมัน รัฐบาลเอกวาดอร์จึงเสนอแผนชดเชยแก่เอกชนที่จะไม่แตะต้องแหล่งน้ำมันนี้ที่มีมูลค่า 3.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯหรือคิดเป็น 50% ของมูลค่าบ่อน้ำมันในปัจจุบัน แม้ว่ากลไก NAE ถูกมองว่าเป็นทางเลือกเสริมของ MBMs เพราะจะต้องคำนวณมูลค่าเสียโอกาสของการไม่ซื้อขายมลภาวะ แต่ก็สามารถดำเนินการแบบ NMAs ได้ ที่สำคัญคือประโยชน์ที่ได้รับจากแนวทางนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสามารถปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง มรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการบรรเทาภาวะโลกร้อนที่มีความคุ้มทุน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนา

      แต่ในขณะที่กำลังมีการพัฒนากลไก NAE อยู่นั้น ข้อเสนอ Yasuní ITT ก็ล้มเลิกไปในปี 2013 เนื่องจากกลไกดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการขุดเจาะน้ำมันในอุทยานแห่งชาติ Yasuní ได้สำเร็จในที่สุด อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ก็ถือเป็นความพยายามหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กลไกตลาดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (UNFCCC, 2564)

      2. แนวทางความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice Entity หรือ CJE) และกลไกร่วมระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการตั้งรับปรับตัวเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (Joint Mitigation and Adaptation Mechanism for the Integral and Sustainable Management of Forests หรือ JMAM) ที่เสนอโดยรัฐบาลโบลิเวีย (Michelle Fournier, 2555)

      • CJE นั้นถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกที่นอกเหนือจากกรอบดำเนินการของ UNFCCC ที่มีอยู่ เป็นหลักการที่ใช้ความเท่าเทียม หลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ (Common but Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities หรือ CBDR-RC) และสิทธิของพระแม่ธรณี (Rights of Mother Earth to adapt naturally to climate change) ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบในมลภาวะและผลกระทบที่ตนก่อขึ้นทั้งในปัจจุบันและอดีตด้วยการสนับสนุนทุนและเทคโนโลยีในการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่เรื่องของ Climate Finance ในลักษณะของ Grant ไม่ใช่ Loan (Michelle Fournier, 2555)
      • ส่วน JMAM เป็นกลไกสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืนสำหรับชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง โดยรัฐบาลของนายโมราเลสเสนอให้โครงการ JMAM รับทุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวหรือ Green Climate Fund (Michelle Fournier, 2555) JMAM ถูกออกแบบมาเพื่อบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนด้วยการจัดการป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนด้วยการ
      • จัดการป่าและทรัพยากรดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีธรรมาภิบาล ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เปลี่ยนแปลงแนวทางเกษตรและปศุสัตว์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความเปราะบางของชุมชนและระบบนิเวศ
      • ให้ป่าทำหน้าที่บรรเทาภาวะโลกร้อนตามธรรมชาติ (ดูดซับคาร์บอน) ก็ต่อเมื่อใช้กระบวนการตั้งรับปรับตัวที่ยั่งยืนสำหรับทั้งระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในป่า
      • สอดแทรกกระบวนการตั้งรับปรับตัวเข้าไว้ในโครงการป่าดูดซับคาร์บอนเพื่อลดแรงกกดดันต่อแหล่งทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่นโครงการป่าดูดซับคาร์บอนที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตของแก่ชุมชนท้องถิ่น ทำให้การดูดซับคาร์บอนโดยป่าและการตั้งรับปรับตัวของชุมชนรวมเป็นเรื่องเดียวกันโดยเป็นผลมาจากการจัดการป่าที่ยั่งยืน แนวทางดูดซับคาร์บอนและการตั้งรับปรับตัวที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันนี้จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากโครงการประเภทหยุดการตัดไม้ทำลายป่า อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ดิน และแหล่งทรัพยากร ทำให้เกิดผลทั้งลดความยากจนและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน (UNFCCC, 2557)
        • หลักการขั้นพื้นฐานของกลไก JMAM
          •  จะต้องไม่มีการแปลงป่าให้เป็นสินค้าเพราะป่ามีคุณค่าความหมายมากกว่าเป็นเพียงแหล่งเก็บกักคาร์บอน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกรับรองและสนับสนุนแนวร่วมปฏิบัติการโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการผลิตของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้เกิดการใช้ทรัพยากรดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างคุ้มค่าสนับสนุนการแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมที่สาเหตุเช่นการวางแผนที่ดิน การออกโฉนด และการกระจายอำนาจการจัดการที่ดินสู่ท้องถิ่นสนับสนุนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทั้งระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยการเพิ่มความหลากหลายของอาชีพ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนทำการประเมินสภาพความเปราะบางต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการตั้งรับปรับตัว รวมถึงความต้องการด้านทุนของระบบนิเวศแห่งต่างๆ และประเมินทางเลือกที่มีอยู่กิจกรรมการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวจะต้องสอดคล้องกับวิถีชุมชนและองค์ความรู้ท้องถิ่นของชนพื้นเมืองวางแผนระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้ชุมชนต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง และกำหนดกลยุทธ์ใหม่ๆตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (UNFCCC, 2557)
        • กรณีตัวอย่างที่ 1 : MASIPAG หรือองค์กรนักวิทยาศาสตร์/เกษตรกรในฟิลิปปินส์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้ที่เราจะใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบวนเกษตรเพื่อแก้ปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตามรายงานของ MASIPAG วิถีเกษตรกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้ผลดีกว่า มีต้นทุนต่ำกว่า และทนทานต่อสภาพอากาศมากกว่า โดยการคัดเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะกับพื้นที่ทำให้พืชโตเร็ว ทนแล้งหรือน้ำท่วม และใช้การบริหารจัดการน้ำที่ใช้จัดการภาวะน้ำท่วมและเก็บความชื้นไว้ในดินสำหรับหน้าแล้งโดยเฉพาะ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวนาของ MASIPAG ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่กว่า 2,000 พันธุ์ โดยมี 18 พันธุ์ที่ทนความแล้ง 12 พันธุ์ที่ทนน้ำท่วม 20 พันธุ์ที่ทนน้ำเค็ม และ 24 พันธุ์ที่ทนโรคพืช (GRAIN, 2564)

      นอกจากนี้ ชาวนาของโครงการยังได้ลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยงดใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในนาของตน เพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืชรวมถึงต้นไม้ใหญ่ในไร่เพื่อลดความรุนแรงจากน้ำป่าไหลหลาก ความแล้ง และน้ำเค็มจากพายุไซโคลน ระบบวนเกษตรเช่นนี้ยังทำให้มีผลผลิตที่หลากหลายและเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี และยังเกิดผลพลอยได้อื่นๆเช่นฟางที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยคอก ฟืน รั้วต้นไม้ตามธรรมชาติ พืชคลุมดินป้องกันการกัดเซาะ สัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัยให้ล่าเป็นอาหาร และดูดซับคาร์บอน เป็นต้น วนเกษตรนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังมีส่วนทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอีกด้วย (GRAIN, 2564)

      • กรณีตัวอย่างที่ 2 : การใช้วนเกษตรแก้ปัญหาผลผลิตกาแฟที่ลดลงของประเทศบราซิล

      บราซิลสนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยใช้ระบบไร่นาสวนผสมที่มีทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และป่าไม้ ยิ่งมีพืชที่หลากหลายในพื้นที่มากเท่าไร ความสามารถในการปรับตัวก็จะยิ่งสูงขึ้น แทนที่เกษตรกรจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวเต็มพื้นที่ แต่ให้ปรับเปลี่ยนเป็นไร่นาสวนผสมระหว่าง ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชและปลูกป่า เลี้ยงสัตว์และปลูกป่า หรือทั้งสามอย่างร่วมกัน

      การทำไร่นาสวนผสมเช่นนี้เป็นการผลิตอาหาร พลังงาน ใยอาหาร ไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่าอื่นๆในพื้นที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน พันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูกก็จะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกันและไม่เป็นศัตรูกัน ทำให้เกิดความสามารถในการปรับตัวโดยการลดอุณหภูมิในพื้นที่และเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนต่อผลผลิต ลดการกัดเซาะหน้าดิน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเพราะความหลายหลายของพืชไร่และต้นไม้ทำให้พื้นที่นั้นๆมีผลผลิตตลอดปี

      ยกตัวอย่างเช่นเกษตรกรในเขต Apuí รัฐแอมะซอน ประเทศบราซิลเกือบจะเลิกปลูกกาแฟเนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากภาวะโลกร้อน แต่หลังจากที่หันมาทำวนเกษตร พวกเขาพบว่านอกจากรายได้ของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นจากกาแฟที่งอกงามดีแล้ว ยังทำรายได้จากพืชและต้นไม้ที่ปลูกแซมอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูป่าอีกทางหนึ่ง Apuí เป็นหนึ่งในสิบเขตเทศบาลที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในบราซิลเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ (Sibélia Zanon, 2564)

      เกษตรกรในเขต Apuí เริ่มทำวนเกษตรในปี 2012 จากคำแนะนำของสถาบัน Institute for Conservation and Sustainable Development of the Amazon (Idesam) ทำให้กาแฟ Café Apuí Agroflorestal เป็นกาแฟแบรนด์แรกที่ผลิตจากไร่วนเกษตรในรัฐแอมะซอน ปัจจุบันมีเกษตรกร 30 ครัวเรือนทำไร่กาแฟวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่าบนพื้นที่ 312 ไร่ (Sibélia Zanon, 2564) ระบบวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่า ประกอบด้วยพรรณไม้ 44 ชนิด มีขนาดพื้นที่หน้าตัดของไม้ใหญ่และความหนาแน่นของหมู่ไม้เท่ากับ 24.25 ตร.ม./เฮกแตร์ และ 491 ต้น/เฮกแตร์ ผลการดำเนิงานพบว่าระบบวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่ามีค่าดัชนีความหลากหลายสูงสุดและมีค่าใกล้เคียงกับป่าดิบเขาธรรมชาติ แสดงว่าการทำวนเกษตรในรูปแบบนี้สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้ทั้งพืชและสัตว์ป่า เช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หรือแม้แต่การส่งเสริมให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนในหมู่ไม้มากขึ้น และที่สำคัญได้แก่ความหนาแน่นของหมู่ไม้ทำให้แสงส่องผ่านลงมายังพื้นป่าของระบบวนเกษตรกาแฟปลูกร่วมไม้ป่ามีน้อยจึงทำให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตด้านความสูงเพื่อหาแสงได้มากกว่าในพื้นที่เกษตรกาแฟเชิงเดี่ยว ทำให้ต้นกาแฟสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น (ประครอง เชียงแรงและแหลมไทย อาษานอก, 2563)

      • ส่วนแนวทางอื่นๆที่รัฐบาลโบลิเวียเสนอเช่น Non-market Mechanism for Climate-Resilience and Sustainable Development ที่เสนอให้ตั้งกองทุน Loss and Damage และมาตรการตอบสนองภัยพิบัติ (Response Measures Mechanism) ที่เสนอโดยประเทศกลุ่ม G7 และจีนนั้นยังไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องการดำเนินงานในส่วน NMAs
      • สองโครงการนำร่องซึ่งจัดว่าเป็นแนวโน้ม NMAs แห่งอนาคตที่ประเทศสมาชิกจัดทำขึ้นและเสนอต่อ UNFCCC ให้รับรองว่าเป็น NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 ได้แก่ Adaptation Benefits Mechanism (ABM) และ Local Climate Adaptive Living Facility (LoCAL) ที่สนับสนุนการระดมทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัว เนื่องจากโครงการเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่างๆประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ระดมโดยกลไกตลาดเพราะค่าตอบแทนที่ต่ำ ต้นทุนเตรียมการที่ต้องทดรองจ่ายสูง ขาดประสบการณ์ด้านบริหารจัดการ และรายได้ไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป นอกจากนี้เกณฑ์วัดความสำเร็จของการตั้งรับปรับตัวคือการที่ชุมชนไม่เกิดความเสียหายหรือไม่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการยากที่จะกำหนดค่าตอบแทน ในที่สุด การสนับสนุนทุนแก่การตั้งรับปรับตัวในประเทศกำลังพัฒนาจึงขาดประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ใช้จริง ดังนั้น NMAs จึงเอื้อต่อการเพิ่มทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวเนื่องจากลักษณะที่ข้ามพรมแดนซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ NMAs ที่จะประสบความสำเร็จ (African Development Bank Group, 2567)

      การที่จะทำให้ ABM และ LoCAL เข้าข่าย NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 นั้น ประเทศเคนยาจึงได้ดำเนินโครงการนำร่องที่เน้นใช้พันธมิตรเพื่อการพัฒนา ธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่มประเทศอาฟริกาหรือ African Development Bank (AfDB) ประกาศว่า ABM ‘ให้ความสำคัญกับภูมิคุ้มกัน’ เป็นกลไกการเงินที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลักเพื่อดึงดูดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาลงทุนในโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจ และระบบนิเวศในระดับครัวเรือน ธนาคาร AfDB ดำเนินโครงการนำร่องในปี 2019–2023 ด้วยการระดมทุนจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนชุมชนระดับรากหญ้าในการตั้งรับปรับตัวที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนแบบเดิมๆได้ด้วยเหตุและผลของระบบตลาดทุน การดำเนินการมีความหลากหลายเช่นปั๊มน้ำที่ทำงานด้วยระบบโซลาร์เซลล์ จ้างงานกลุ่มคนเปราะบาง และใช้ระบบเกษตรยั่งยืน และผู้ให้ทุนจะได้รับประกาศนียบัตร Certified Adaptation Benefits (CABs) เป็นการตอบแทน ทว่าประกาศนียบัตรดังกล่าวไม่สามารถนำไปแปลงเป็นเครดิตเพื่อการซื้อขายได้แต่สามารถใช้ด้านประชาสัมพันธ์ได้ (African Development Bank Group, 2567)

      แผนกลยุทธ์สำหรับโครงการนำร่อง Adaptation Benefits Mechanism ปี 2020–2023 นั้นระบุไว้อย่างชัดเจนถึงความจำเป็นของแหล่งทุนภาคเอกชนเพราะกระแสทุนเพื่อภูมิอากาศยังต่ำกว่าความต้องการมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัว ซึ่งกลไก LoCAL ที่นำโดยกองทุน UN Capital Development Fund ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีแก่ประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs ก็ประสบปัญหาเดียวกัน

      LoCAL มุ่งสนับสนุนทุนให้เปล่า (Grant) แก่ผู้รับในระดับชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน และเสนอให้เป็น NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 โดยประเทศโกติวัวร์ อูกานดา สวาตินี่ เคนยา แกมเบีย และกัมพูชา และจัดตั้งโครงการนำร่องในประเทศภูฏานและกัมพูชา ต่อมาจึงขยายเป็น 30 ประเทศทั่วโลก ภายใต้กลไกนี้ ภาครัฐดูเหมือนจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพราะเป็นผู้รับทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้รับต่อไป ประเทศผู้ให้ทุนที่สำคัญได้แก่สวีเดน ธนาคาร AfDB, กองทุน Africa Climate Change Fund (ACCF), NDC Partnership, เกาหลีใต้ และกาตาลุญญ่า (Rosanna Anderson, 2555)

      อย่างไรก็ตาม เครือข่าย World Alliance of Cities Against Poverty ได้รายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่าโครงการ LoCAL ในกัมพูชาเริ่มมองหาแหล่งทุนจากภาคเอกชนเพื่อยกระดับการดำเนินงานโครงการด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ขนาดของทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนจากประเทศพัฒนาแล้วนั้นเล็กกว่าที่ให้คำมั่นไว้และที่โครงการจำเป็นต้องใช้อยู่มาก’ ผลของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนนี้กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดและหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบให้โครงการ LoCAL อื่นๆต่อไป (Rosanna Anderson, 2555)

      ทว่าหลังการประชุม COP26 เป็นต้นมา โครงการนำร่องเหล่านี้ยังมิได้ถูกรับรองว่าอยู่ภายใต้มาตรา 6.8 แต่อย่างใด และมาตรา 6.8 ก็ยังคงเป็นมาตราที่ขาดความชัดเจนและการนำไปปฏิบัติได้ แต่ก็เป็นพัฒนาการที่สำคัญ โครงการนำร่องแสดงให้เราเห็นถึงลักษณะข้ามพรมแดนที่ต้องการการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และนานาประเทศเข้าด้วยกัน (Rosanna Anderson, 2555)

      จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างข้อเสนอ NMAs ในยุคต้นๆที่ล้มเหลวในทางปฏิบัติ (CJE/JMAM และ NAE) กับโครงการนำร่องในปัจจุบัน (ABM และ LoCAL) ที่รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และ NGOs ได้แก่ความแตกต่างระหว่างขอบเขต เป้าหมาย และแนวคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CJE ที่เสนอให้ทบทวนแนวคิดและสถาบันที่เป็นรากฐานของ UNFCCC และ NAE ที่ระดมทุนนับพันล้านแก่โครงการๆเดียว ในทางตรงกันข้าม ABM และ LoCAL ยอมรับกรอบดำเนินการของ UNFCCC และมุ่งเป้าไปที่การสร้างผลกระทบที่หลากหลายจากโครงการย่อยๆ ประการที่สอง CJE และ NAE มุ่งบรรเทาปัญหาโลกร้อนโดยการรับรองสิทธิชนพื้นเมืองและมองภาพรวมของนิเวศทั้งระบบในขณะที่ ABM และ LoCAL สนใจการตั้งรับปรับตัวที่ไม่มีจุดศูนย์กลาง (Rosanna Anderson, 2555)

      การเปรียบเทียบความแตกต่างของทั้งสองยุคนี้มิได้เป็นการมองหาปัจจัยของความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของรูปแบบ NMAs ที่จะเป็นที่ยอมรับจากภาครัฐและเอกชนผู้ให้ทุน และเนื่องจากแนวโน้มในอนาคตที่จะเปิดโอกาสให้ NMAs มีการจัดการข้ามพรมแดนมากขึ้น อำนาจตัดสินใจและบริหารจัดการโครงการภายใต้มาตรา 6.8 ในอนาคตก็จะตกอยู่ในมือของนิติบุคคลหรือสถาบันระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย

      จุดเด่น จุดอ่อน ข้อวิจารณ์ และข้อเสนอในการพัฒนาแนวนโยบายดังกล่าว

      NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 ของความตกลงปารีสไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และนักวิชาการเท่ากับแนวทางที่ใช้กลไกตลาด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6.8 ก็จำกัดอยู่เพียงแนวทางที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือการปรับเป้าหมายระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำลงอีก นอกจากนี้กฎหมายภูมิอากาศข้ามพรมแดนก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งเมื่อคำนึงถึงลักษณะของปัญหาโลกร้อนและวิธีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและไม่สนใจเส้นแบ่งเขตแดนที่มนุษย์ขีดขึ้น แม้ว่าที่ประชุม COP26 จะลงมติรับรองคู่มือ Paris Rulebook แล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความท้าทายในการดำเนินโครงการภายใต้มาตรา 6.8 และประสิทธิภาพที่มีต่อการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอยู่มาก ดังนี้

      ความขัดแย้งระหว่างภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน NMAs

      ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่ายังคงมีความขัดแย้งทางความคิด และการดำเนินโครงการ NMAs ในปัจจุบันก็อยู่ในวงจำกัด ข้อเสนอ NMA ในยุคแรกๆได้แก่ CJE/JMAM และ NAE นั้นประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงและความซับซ้อนของการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ปัจจัยสำคัญของการพัฒนามาตรา 6.8 มาจากการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง NMAs กับ MBMs และการอภิปรายรอบสุดท้ายที่จะนำมาสู่มาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสก็เน้นให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสองแนวคิดนี้ ในระหว่างการร่างความตกลงปารีสในที่ประชุม COP15 เดือนตุลาคม ปี 2015 ผู้แทนรัฐบาลโบลิเวียเสนอให้ยกเลิกกลไกตลาดทั้งหมดและแทนที่ด้วยหลักการความเป็นธรรมทางภูมิอากาศระดับนานาชาติและ ‘กองทุนคาร์บอนที่มาจากหลักการความเป็นธรรมทางภูมิอากาศนั้น’ นอกจากนี้ยังพยายามหาวิธีการที่เคารพสิทธิของชนพื้นเมืองและสมดุลธรรมชาติ หลังจากนั้นไม่นาน สหภาพยุโรป บราซิล ปานามา เปรู โคลอมเบีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แตนาดา สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เคนยา โตโก โกติวัวร์ สิงค์โปร์ เซเนกัล ออสเตรเลีย อาฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ก็ตอบรับข้อเสนอของโบลิเวีย แต่ไม่ได้รับรองแนวคิดและองค์ประกอบของข้อเสนอทั้งหมด แต่ให้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับ NMAs ความยาวหนึ่งบรรทัดไว้ในมาตรา 3 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมาตรา 6.8 (Rosanna Anderson, 2555)

      ข้อเสนอของโบลิเวียเกิดจากองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ มิได้มาจากความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเอง ยกตัวอย่างเช่นข้อเสนอที่ส่งให้ UNFCCC ล่าสุดได้แก่ Climate Land Ambition and Rights Alliance (CLARA) และ Corporate Accountability ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของกลไกตลาดและขอให้ทบทวนมาตรา 6.8 เสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเสริมสร้างความเข้มแข็ง แหล่งทุน และเป้าหมาย (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565) อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์ที่มีต่อกลไกตลาดใน UNFCCC นั้นได้รับความนิยมแพร่หลายกว่า เช่นข้อเสนอต่อ UNFCCC โดยประเทศบังคลาเทศในปี 2011 ความว่า:

      ภาวะโลกร้อนชี้ให้เราเห็นถึงความล้มเหลวของตลาด ดังนั้น การใช้กลไกตลาดมาแก้ปัญหาที่ตลาดก่อขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

      การเจรจาด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศไม่ทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่ชัดเจน แต่มีเพียงความแตกต่างเล็กน้อยเนื่องจาก ‘พันธมิตรที่มีผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจทุนนิยม’ นอกจากนี้ ในขณะที่นานาประเทศพยายามรักษาที่นั่งของตัวเองบนโต๊ะเจรจา กระบวนการที่ใช้แนวคิด ‘มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติ’ เป็นหลักก็ดำเนินการโดยประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจทุนนิยมเหล่านั้น ดังนั้นค่านิยมของกลุ่มประเทศนี้จึงสะท้อนอยู่ในลักษณะของการบริหารจัดการที่สนับสนุนโดยกรอบดำเนินการของ UNFCCC (Rosanna Anderson, 2555)

      เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้วิพากษ์แนวคิดที่ใช้กันอยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและกรอบดำเนินการของ UNFCCC รับรองแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้และขัดขวางการแทรกแซงจากภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมตะวันตก ที่ระบุถึง ‘ความสามารถของสังคมในการกำหนดและควบคุมสิ่งแวดล้อม’ เป็นตัววัดความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรม แนวคิดนี้ทำให้เกิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรม และขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แนวทางที่มีความเป็นเสรีนิยมใหม่ยังให้ค่าแก่ผู้ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้กระแสหลักและผู้เล่นในตลาด และลดความสำคัญของชนพื้นเมือง คนยากจน และคนชายขอบลง (Rosanna Anderson, 2555)

      เราจะพบการกีดกันเช่นนี้ในพัฒนาการของมาตรา 6.8 รัฐบาลโบลิเวียและเอกวาดอร์ที่เป็นผู้นำด้าน NMAs ในยุคต้นๆจึงเสนอให้มีการแก้ไขด้วยการรับรองสิทธิของธรรมชาติและชนพื้นเมืองที่ทำให้เกิดระบบนิเวศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่ออธิปไตยและองค์ความรู้ของชนพื้นเมือง รัฐพหุชนชาติ และผู้มีส่วนได้เสียที่มิใช่มนุษย์ และสนับสนุนแนวคิดที่ว่างสิ่งแวดล้อมคือสมบัติของสาธารณชน มิใช่เอกชน และเสนอให้ ‘เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกจากสายตาของมนุษย์เป็นสายตาของธรรมชาติ’ และ ‘ธรรมชาติและชนพื้นเมืองไม่ได้มีไว้ขาย’ (UNFCCC, 2564)

      แนวคิดที่สนับสนุนการอนุรักษ์ระบบนิเวศและต่อต้านกลไกตลาดนี้ทำให้ NMAs ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่ต่อต้านมหาอำนาจทุนนิยมที่มองว่าการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนจะต้องเคารพสิทธิและองค์ความรู้ท้องถิ่น เคารพในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่นำออกมาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการนำแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติ หลักการดังกล่าวก็เสื่อมถอยลง ยกตัวอย่างเช่น การระดมทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวสำหรับประเทศกำลังพัฒนา พบว่าทุนมิได้ตกถึงมือชนพื้นเมือง แต่ยังคงตกถึงมือคนเพียงบางกลุ่มที่ไม่เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง ท้ายที่สุดในขณะที่มาตรา 6.8 ยังคงให้กลไกการะดมทุนเพื่อการบรรเทาและตั้งรับปรับตัว แต่จากผลการประเมินพบว่าทุนเหล่านี้มิได้ถูกนำไปใช้สนับสนุนโครงการที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ริเริ่มไว้โดยรัฐบาลโบลิเวียและเอกวาดอร์แต่อย่างใด (UNFCCC, 2564)

      บทบาทของภาคเอกชนในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนกับ “การทำธุรกิจแบบเดิมๆ”

      การเปลี่ยนแปลงในแนวคิดเสรีนิยมใหม่ใน UNFCCC ส่งผลต่อการให้ทุนต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและบทบาทของเอกชนในเวทีโลก เริ่มจากหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศหรือ CBDR-RC ภายใต้กรอบดำเนินการของ UNFCCC มีระบุไว้ในมาตรา 3.1 ของ UNFCCC ความว่า:

      ประเทศสมาชิกควรปกป้องสภาพภูมิอากาศตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ กล่าวคือประเทศพัฒนาแล้วจะต้องนำการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

      องค์ประกอบของ CBDR-RC ได้แก่ หนึ่ง หลักความรับผิดชอบในอดีต กล่าวคือประเทศที่ก่อมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหา และสอง ประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและทุนจะต้องรับสัดส่วนภาระที่มากกว่าประเทศยากจน อย่างไรก็ตาม ประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นเป้าหมายของเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้วเสนอให้มีการแบ่งภาระความรับผิดชอบไปสู่ภาคเอกชนด้วย (Malek Romdhane, 2564)

      อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาได้ตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของ CBDR-RC ที่เป็นรูปธรรม ในการประชุม COP15 ที่โคเปนฮาเก้นในปี 2009 กลุ่มประเทศ G77 และจีนได้ตั้งข้อสังเกตถึงการที่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วผลักภาระนี้ไปสู่เอกชนและประเทศพัฒนาแล้วผ่านกลไกตลาด ประเทศอัลจีเรียในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศในทวีปอาฟริกาคัดค้านว่ากลไกตลาดและทุนจากภาคเอกชนควรเป็นเพียงส่วนเสริม มิใช่แหล่งทุนหลักเพื่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และประเทศตูวาลูแสดงความกังวลต่อการใช้ MBMs ในโครงการ REDD+ ซึ่งตรงกันข้ามกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่สนับสนุน MBMs ใน REDD + ข้อคัดค้านเหล่านี้ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วขู่ว่าจะเดินออกจากโต๊ะเจรจา ต่อมาในปี 2020 ประเทศพัฒนาแล้วจึงเสนอทุนมูลค่า 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีเพื่อสนับสนุนการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวในประเทศกำลังพัฒนา โดยการร่วมระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามในมาตรา 114 แห่งความตกลงปารีส คำมั่นดังกล่าวถูกแก้ไขเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้วเร่งให้มีการระดมทุนจำนวน 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีภายในปี 2020’ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขาดข้อกำหนดที่แน่นอนเกี่ยวกับแหล่งทุนและลักษณะของทุน นอกจากนี้รายงาน IPCC ปี 2022 ยังระบุว่าต้นทุนที่แท้จริงสำหรับการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นถึง 4.1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี (Malek Romdhane, 2564)

      แม้ว่าจะมีการจัดทำ Paris Rulebook ได้สำเร็จใน COP26 แต่เรื่อง Climate Finance ยังคงเป็นหัวข้อที่ไม่มีความก้าวหน้ามากนัก แม้ว่าการประชุม Glasgow Climate Pact จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการระดมทุนเพื่อบรรเทาและตั้งรับปรับตัวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเร่งด่วน และเรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการพัฒนา สถาบันการเงิน และภาคเอกชนเข้าช่วยเหลือประเทศพัฒนาแล้วในการระดมทุนดังกล่าวเนื่องจากความล้มเหลวของประเทศพัฒนาแล้วในการให้ความช่วยเหลือทุนมูลค่า 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีแก่ประเทศกำลังพัฒนาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ (Rosanna Anderson, 2555)

      ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ NMAs นั้น CBDR-RC มีจุดอ่อนในด้านการเจรจาเรื่องทุน โดยประเทศกำลังพัฒนาให้ความเห็นว่า NMAs ควรเป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อบรรเทาและตั้งรับปรับตัวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอีกทางหนึ่งในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังพยายามลดขอบเขตความรับผิดชอบด้านทุนในมาตรา 6.8 ให้เล็กลง เช่นในปี 2011 ที่เป็นยุคต้นกำเนิดของ NMAs ประเทศเปรู โบลิเวีย และเวเนซุเอล่าเสนอให้ประเทศพัฒนาแล้วช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการบริโภคพลังงานลง แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศพัฒนาแล้วโต้แย้งว่า NMAs และแผนการระดมทุนจาก NMAs ภายใต้ UNFCCC จะซ้ำซ้อนกับมาตราที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือเป็นส่วนหนึ่งของ REDD + และถ้าทุนไม่เพียงพอกับการดำเนินงานจึงระดมจากภาคแอกชน (Rosanna Anderson, 2555)

      เราจะเห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องการรับผิดตามหลัก CBDR-RC ในการเจรจาต่อรองมาตรา 6.8 ประเทศพัฒนาแล้วไม่เต็มใจที่จะเสนอทุนเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อน NMAs อีก ดังนั้นจึงคาดว่าจะได้เห็นโครงการ NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 ในอนาคตที่มีลักษณะเป็น ABM หรือ LoCAL อีกโดยรับทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ประเทศเซเนกัลตั้งข้อสังเกตต่อ UNFCCC ไว้ในปี 2022 ว่าการพึ่งพาทุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ใน NMAs อาจทำให้เกิด ‘ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา’ ตัวอย่างเช่นสมาคมภาคเอกชนที่ถือเป็นผู้สังเกตการณ์ใน UNFCCC เช่นหอการค้าระหว่างประเทศอาจประสบภาวะพิการในเวทีนานาชาติเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมกับปัญหาเพราะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเท่านั้น ส่วนผลกระทบอื่นๆได้แก่ ทุนจากภาคเอกชนอาจเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วเลี่ยงความรับผิดตามหลัก CBDR-RC ประการที่สอง ทำให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและอำนาจในการบริหารจัดการโครงการ NMAs นำไปสู่การแปลงระบบนิเวศเป็นสินค้าและบริการ และเปลี่ยนวัตถุประสงค์ด้านการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นการทำธุรกิจแบบเดิมๆในที่สุด (Rosanna Anderson, 2555)

      การที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้โครงการ NMAs เป็นเครื่องมือเพื่อเลี่ยงความรับผิดตามหลัก CBDR-RC นั้นเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบ NMAs กับ MBMs โดยที่ MBMs ภายใต้พิธีสารเกียวโตถูกออกแบบมาเพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีที่คุ้มทุนที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว MBMs เปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาและเลี่ยงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุน MBMs และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะสนับสนุนทุนแบบให้เปล่าแก่ NMAs (Rosanna Anderson, 2555)

      การเลี่ยงความรับผิดของประเทศพัฒนาแล้วนี้ทำให้เกิดขั้วอำนาจใหม่ในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ที่เป็นผู้เล่นข้ามพรมแดนเข้ามาเติมช่องว่างนี้ ซึ่งมิได้เกิดเฉพาะกับโครงการภายใต้มาตรา 6.8 และ NMAs แต่อย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น REDD+ ที่สุดท้ายแล้วให้อำนาจแก่ผู้เล่นรายนี้เหนือผู้มีส่วนได้เสียอื่น การแผ่ขยายของกลไกตลาดข้ามพรมแดนนี้ทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีอำนาจแทนอำนาจแบบเก่าของภาครัฐผ่านทางการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าและบริการ และใช้อำนาจทุนกำหนดกฎหมายให้แก่กระบวนการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าและบริการนี้ ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลที่ซื้อขายได้ในตลาดโลก กระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้วในโครงการภายใต้มาตรา 6.8 หลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ABM ที่พยายามกำหนดมูลค่าให้แก่ ‘ภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน’ ในขณะที่โครงการนี้มุ่งสนับสนุนทุนแก่การตั้งรับปรับตัวในอาฟริกา ก็มีความพยายามที่จะแปลง ‘ภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน’ เป็นสินค้า เนื่องจาก ABM ไม่จำกัดอยู่เพียงทุนจากภาครัฐ เจ้าของโครงการจึงสามารถทำการตลาดเชิงพาณิชย์โดยใช้แนวทาง NMAs ภายใต้ความตกลงปารีสได้ตราบเท่าที่ไม่มีการถ่ายโอนผลลัพธ์ข้ามพรมแดน จะเห็นได้ว่าหากขาดการกำกับดูแลโครงการ NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 อย่างเข้มงวด ผลกระทบที่ประเทศกลุ่มเปราะบางจะได้รับก็ไม่แตกต่างไปจากผลกระทบที่จะเกิดจาก MBMs (Rosanna Anderson, 2555)

      ทิศทางการขับเคลื่อนในระดับสากล

      เนื่องจากแนวทาง NMAs หลายแนวทางยังมีจุดอ่อนและสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันการดำเนินงานด้าน NMAs ของ UNFCCC และประเทศสมาชิกจึงยังจำกัดอยู่เพียงแนวทางที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสมาชิกน้อยที่สุดดังนี้

      1. จัดทำระบบทะเบียนเพื่อเชื่อมโยงเป้าหมาย NDC เข้ากับวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสมของ NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 เป็นวิธีการที่รับประกันว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้การตั้งรับปรับตัวที่มีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ก่อหนี้เพิ่ม และทำให้ชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง สตรี และเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนโดยตรงเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น นอกจากนี้การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแพลตฟอร์มชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองกับระบบทะเบียนนี้จะเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการแก้ปัญหาโลกร้อนตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 7 ของมติ COP26 เรื่องภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองในการบิหารจัดการระบบนิเวศ (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)
      2. พัฒนาแพลตฟอร์มเว็บไซต์ของ UNFCCC ที่อ้างอิงในย่อหน้าที่ 8 (b)(i) ของมติที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (CMA/3) ที่สนับสนุน “การสร้างโอกาสให้แก่ประเทศสมาชิกในการกำหนด พัฒนา และดำเนินแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ใช้กลไกตลาด” ที่สอดคล้องกับกรอบดำเนินการที่โปร่งใส และคณะกรรมการ Glasgow ได้ใช้ Section V ของมติที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (CMA/3) เพื่อกำหนดขอบเขตงาน จากนั้นจึงกำหนดขอบเขตความร่วมมือด้านการเงินและเทคนิค สุดท้ายจึงออกแบบแนวทางปฏิบัติการ (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

      แพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่เรียบง่ายนี้มีหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติและจับคู่แนวทางที่กำหนดไว้เข้ากับแหล่งทุนที่สนับสนุนด้านสิทธิเหนือที่ดิน วนเกษตร และการอนุรักษ์ร่วมการพัฒนาอื่นๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกหรือภาคเอกชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชดเชยคาร์บอนและต้องการสนับสนุนการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการที่ไม่ใช้กลไกตลาดได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการที่ต้องการทุนสนับสนุน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ได้รับการรับรองและมูลนิธิต่างๆ (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

      การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ไม่ใช้กลไกตลาดมีกฎเกณฑ์การรายงานผลที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนเพราะไม่มีเรื่องของเครดิตหรือการชดเชยเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินงานที่สนับสนุนโดยภาคธุรกิจหรือประเทศสมาชิก ทำให้การตั้งรับปรับตัวภายใต้มาตรา 6.8 เป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของมาตรา 2 แห่งความตกลงปารีสเต็มร้อย ซึ่งจะสะท้อนอยู่ในเป้าหมาย NDC ของประเทศกำลังพัฒนาอีกทางหนึ่ง

      • กองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน  ใน COP26 ประเทศสมาชิก ภาคธุรกิจ และมูลนิธิต่างก็ประกาศสนับสนุนแนวทางบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคำประกาศใช้ที่ดินและป่า (Declaration on Forests and Land Use) แม้แต่คณะกรรมการกลาสโกวก็อ้างถึง “การร่วมมือกัน” เพื่อ “ขจัดความเปราะบาง สร้างภูมิคุ้มกัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น …และรับรองคุณค่าที่หลากหลายของป่าและสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น” (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

      ส่วนผู้นำชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นจากกลุ่ม Global Alliance for Territorial Communities ได้ประกาศเรื่อง ‘Shandia Vision’ ที่ระดมทุนแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นโดยตรงเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินและสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินของพวกเขาในที่ประชุมกลาสโกว วันที่ 1 พฤศจิกายน 2021 และสถาบัน The International Land and Forest Tenure Facility ที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อสิทธิในที่ดินและป่าของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นก็เพิ่มทุนสนับสนุนให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่นการจัดตั้งโครงการ Community Land Rights and Conservation Finance Initiative (CLARIFI) ที่นำโดย Rights and Resources Initiative and the Campaign for Nature สุดท้ายผู้นำจากประเทศต่างๆร่วมกับมูลนิธิจากยุโรปและอเมริการ่วมกันประกาศรับรองบทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการปกป้องป่าจากการถูกตัดทำลาย และให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1.7 พันล้านดอลล่าร์แก่พวกเขา (Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson, 2565)

      โครงการเหล่านี้สามารถนำมาลงทะเบียนในแพลตฟอร์มเว็บไซต์เพื่อเป็นรายการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ไม่ใช้กลไกตลาดภายใต้มาตรา 6.8 นอกจากนี้ยังพบแนวปฏิบัติประเภทนี้ในโครงการอนุรักษ์ร่วมพัฒนา พื้นที่อนุรักษ์โดยชุมชนพื้นที่อนุรักษ์ที่ร่วมจัดการระหว่างรัฐและชุมชน และโครงการฟื้นฟูป่าอื่นๆอีกมาก การดำเนินการภายใต้มาตรา 6.8 ของแนวร่วมพันธมิตร Climate Land Ambition and Rights Alliance (CLARA) ได้ทำให้เกิดแหล่งทุนใหม่สำหรับแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ไม่ใช้กลไกตลาดและการเพิ่มทุนที่มาจากการเก็บภาษีคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเครื่องบินส่วนตัว อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน และการเก็งกำไรในตลาดหุ้น มูลค่าความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนจากแหล่งทุนเหล่านี้จะทำให้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจนั้นดูเล็กไปเลย นอกจากนี้จะยังเป็นแหล่งทุนที่สนับสนุนการตั้งรับปรับตัวที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่าที่ตลาดคาร์บอนจะทำได้ ซึ่งส่งผลถึงการสร้างผลลัพธ์ด้วยกลไกตลาดในมาตรา 6.2 และ 6.4 ที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน

      บทสรุป

      แม้ว่า NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสจะเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบสำหรับการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ที่สนับสนุนการขจัดความยากจนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ประเทศกำลังพัฒนา และการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิทธิชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นและความเท่าเทียมทางเพศ เป็นแนวทางที่สมดุลเมื่อเทียบกับกลไกตลาดที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือถ่วงความพยายามที่จะทำให้เกิดกระบวนการตั้งรับปรับตัวที่แท้จริง อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคอีกมากในการนำเอา NMAs ภายใต้มาตรา 6.8 แห่งความตกลงปารีสมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อมลภาวะจะพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดโดยผลักดันกลไกตลาดหรือผลักภาระไปสู่ภาคเอกชน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่โครงการ NMAs จะได้รับการบริหารจัดการแบบธุรกิจแบบเดิมๆ หรือแม้แต่การบริการจัดการทุนที่ได้รับจากแหล่งทุนโดยภาครัฐเองก็จะถูกบิดเบือนไปสู่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล เช่นแนวคิดที่สนับสนุนการอนุรักษ์ระบบนิเวศและเคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นที่นำมาสู่การให้ทุนแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อนำแนวคิดนี้สู่การปฏิบัติ หลักการดังกล่าวก็เสื่อมถอยลง ยกตัวอย่างเช่น การระดมทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวสำหรับประเทศกำลังพัฒนา พบว่าทุนมิได้ตกถึงมือชนพื้นเมือง แต่ยังคงตกถึงมือคนเพียงบางกลุ่มที่ไม่เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง และพบว่าการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นกลับทวีความรุนแรงขึ้นตามขนาดของผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

      ในปัจจุบัน NMAs ที่ถูกนำมาใช้แพร่หลายในสังคมโลกกระแสหลักจึงเป็นกลไกเก็บภาษีคาร์บอน เพราะเป็นแนวทางที่เรียบง่าย มีกลไกรองรับอยู่แล้ว และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาษีคาร์บอนก็ถือเป็นการผลักภาระจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ที่มีความสามารถที่จะผลักภาระสู่ผู้บริโภคได้อีกต่อหนึ่ง ประเทศอัลจีเรียในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศในทวีปอาฟริกาจึงคัดค้านว่าทุนจากภาคเอกชนควรเป็นเพียงส่วนเสริม ส่วนแหล่งทุนหลักจะต้องมาจาก Grant โดยรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น


      บรรณานุกรม

      กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2564). โครงการที่ขอรับการสนับสนุนจาก GEF ของประเทศไทย. สืบค้นจาก https://dfa.mnre.go.th/th/download/?file=nJM4MUOjoF53ZRj0oGWaZKDmnGW4AKN0oGI3AHj2oGMaZKDjnGS4ZaNkoGW3ZxjjoGWaYKD2nGq4A3N1oGA3ZHjgoJIaoUEcnJM4Y3OyoJk3nHkzoF9aq3EhnGS4AUNkoF93MRkuoJ9aoUEjnKI4Yjweweb3Qweweb3Q&n=%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%20GEF&t=GTMgoJqwqS9cMUug

      กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. (2567). กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF). สืบค้นจาก https://climate.dcce.go.th/th/topic/measure-and-mechanism/climate-finance/climate_finance_international/green_climate_fund/

      ประครอง เชียงแรง และ แหลมไทย อาษานอก. (2563, 3 พฤศจิกายน). ลักษณะไม้ปลูกร่วมในระบบวนเกษตรกาแฟของพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย, น. 68-73.

      สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศประจำกรุงเวียนนา. (2563). รายงาน Climate Change Strategies 2020. สืบค้นจาก

      รายงาน Climate Change Strategies 2020

      สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. Thailand’s Forth Beinnial Update Report. (2564, 22 ธันวาคม). กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

      สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรอบท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมสมัชชากองทุนสิ่งแวดล้อมโลกครั้งที่ 7. (2566, 18 สิงหาคม). กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

      สำนักบริหารการประชุมคณะรัฐมนตรี. การรับรองข้อเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก. (2549, 30 พฤษภาคม). สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

      องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย. (2563). โครงการสนับสนุนการเตรียมพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน Green Climate Fund ระยะที่ 1. สืบค้นจาก https://www.thai-german-cooperation.info/th/the-green-climate-fund-gcf-readiness-and-preparatory-support-programme/

      องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย. (2566). กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) สนับสนุนเงินทุน 38 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศในไทย. สืบค้นจาก https://www.thai-german-cooperation.info/th/green-climate-fund-to-invest-38-million-eur-to-strengthen-climate-smart-rice-farming-in-thailand/

      African Development Bank Group. (2567).  Adaptation Benefit Mechanism. Retrieved from https://www.afdb.org/en/topics-and-sectors/initiatives-partnerships/adaptation-benefit-mechanism-abm

      Adaptation Fund. (2568). Governance. Retrieved from https://www.adaptation-fund.org/about/governance/

      Axel Michaelowa, Aglaja Espelage, Anne-Kathrin Weber, Juliana Kessler, Stephan Hoch. Development of guidance for nonmarket approaches in the Paris Agreement, German Environment Agency, Briesgau, 2564, (FKZ) 3718 42 008 0, FB000546/ENG.

      Climate Investment Fund. (2568). CIF Funding. Retrieved from https://www.cif.org/cif-funding

      CTCN. (2567). Technology Transfer Project Database. Retrieved from  https://www.ctc-n.org/countries/asia/thailand

      Ellie Powell. (2567). Everything you Should Know about the Lima (in)Action Plan. Retrieved from https://www.shechangesclimate.org/blog/everything-you-should-know-about-the-lima-inaction-plan

      Global Environment Facility. (2567). Brazil Amazon Sustainable Landscapes Project – Phase 2. Retrieved from https://www.thegef.org/projects-operations/projects/10749

      Global Environment Facility. (2567). GEF-8 Replenishment. Retrieved from https://www.thegef.org/who-we-are/funding/gef-8-replenishment

      GRAIN. (2564). Agroecology vs. climate chaos: Farmers leading the battle in Asia. Retrieved from  https://grain.org/en/article/6632-agroecology-vs-climate-chaos-farmers-leading-the-battle-in-asia

      IDESAM. (2564). Agroforestry-grown coffee gives Amazon farmers a sustainable alternative. Retrieved from  Agroforestry-grown coffee gives Amazon farmers a sustainable alternative – Idesam

      Jason Monios. (2565). The Moral Limits of Market‑Based Mechanisms: An Application to the International Maritime Sector. (Page 287-290). Marseille: Kedge Business School.

      Michelle Fournier. (2555). The future of forest management in Bolivia: JMAM vs. REDD+. Retrieved from https://prezi.com/1usg2mebddzd/the-future-of-forest-management-in-bolivia-jmam-vs-redd/

      Malek Romdhane. (2564). What is the Common But Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities (CBDR-RC) Principle? Retrieved from https://climatalk.org/2021/07/12/what-is-the-cbdr-rc-principle/

      Rosanna Anderson. (2555). Non-market mechanisms under article 6.8 of the Paris Agreement: a transnational perspective. Retrieved from https://research.tilburguniversity.edu/en/publications/non-market-mechanisms-under-article-68-of-the-paris-agreement-a-t

      Souparna Lahiri and Rachel Rose Jackson. (2565). Operationalise  Article 6.8 for Non-Market Approach to Real Solutions & Real Zero. (Page 1-8). Washington D.C.: Climate Adaptation Resource for Advisors.

      Subnational Climate Finance Initiatives. (2567). the Subnational Climate Finance Innovations. Retrieved from https://www.climatefinancelab.org/ideas/sub-national-climate-finance-initiative-scf/

      Subnational Climate Fund. (2567). Key Components of Subnational Climate Fund. Retrieved from https://www.subnational.finance/

      UNFCCC. (2564). Net-avoided Emissions. Retrieved from https://unfccc.int/files/meetings/ad_hoc_working_groups/lca/application/pdf/ecuador_-_nae_version_1.1.pdf

      UNFCCC. (2556). Non-market-based approaches. Retrieved from https://unfccc.int/files/cooperation_support/market_and_non-market_mechanisms/application/pdf/nma_environmental_integrity_group_12092013.pdf

      UNFCCC. (2565). Koronivia joint work on agriculture. Retrieved from https://unfccc.int/topics/land-use/workstreams/agriculture/KJWA

      UNFCCC. (2567). The Enhanced Lima Work Programme on Gender. Retrieved from https://unfccc.int/topics/gender/workstreams/the-enhanced-lima-work-programme-on-gender?gad_source=1&gclid=CjwKCAjw68K4BhAuEiwAylp3khcGuVvAIyL2bWUuVhVI0hfmWd5R02He-rw8orD6RdRA5VE3USET0hoCJaMQAvD_BwE

      UNFCCC. (2557). The Joint Mitigation and Adaptation Mechanism for the Integral and Sustainable Management of Forests (JMA). Retrieved from  annex_1._the_joint_mitigation.pdf (unfccc.int)

      UOB Asset Management. (2567). ภาษีคาร์บอน ‘Carbon Tax’ ระเบียบการค้าของโลกยุคใหม่. Retrieved from https://www.uobam.co.th/th/publication/download/305

      Scroll to Top