THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Forest Peoples Programme
วันที่ ปีค.ศ. 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Giacomo Pirozzi
อ้างอิง www.localbiodiversityoutlooks.net

เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ E

ปรับปรุงการดำเนินการโดยการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การบริหารข้อมูล และการสร้างศักยภาพ

ใจความสำคัญ

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ของ COP26 โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกัน ในขณะที่บทบาทเหล่านี้เริ่มจะเป็นที่สนใจในกระบวนการระดับโลก ทว่าในเวทีอย่างเช่น National Biodiversity Strategies and Actions Plans (NBSAPs) ยังไม่เป็นที่รับรองมากนัก และในประเทศส่วนใหญ่ยังต้องสร้างกลไกที่จะนำชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการร่างนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ระบบการเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังภัยพิบัติโดยชุมชน (Community-based monitoring and information systems หรือ CBMIS) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบ่งชี้ความต้องการของชุมชน ทำให้บทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเด่นชัดขึ้น และ และจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายระดับชาติและนานาชาติในท้องถิ่น

ข้อเสนอแนะ:

– รัฐบาลควรจัดสรรกลไกระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่จะนำชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการร่างแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการแห่งชาติ และนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมาใช้ในทุกระดับ

– เพิ่มการสนับสนุนด้านทุนในระยะยาวแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

– เชื่อมโยงความรู้ที่หลากหลายจากกลไกการเฝ้าระวังและรายงานผลในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติเข้าด้วยกัน โดยการกำหนดตัวชี้วัดด้านองค์ความรู้และคุณภาพชีวิตของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้สอดคล้องกัน

– ระบบการเก็บและรายงานผลข้อมูลควรมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบแยกตามสถานภาพของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ผู้หญิง เด็ก และกลุ่มคนชายขอบ โดยอาจใช้วิธีให้การสนับสนุนระบบการเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังภัยพิบัติโดยชุมชน (CBMIS) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบ่งชี้ความต้องการของชุมชน ที่ดำเนินการโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

– นำเอามาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมรวมเข้าไว้ในกระบวนการโยกย้ายทรัพยากรในทุกโครงการ

เป้าหมายที่ 17: การวางแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAP)

ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในทุกกระบวนการ NBSAP เท่าที่จะสามารถทำได้ ในหลายพื้นที่ได้มีการวางแผนและดำเนินการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไปแล้วในรูปของแผนการดำเนินชีวิต (Planes de la Vida) แผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรตามวิถีดั้งเดิม ในขณะที่สื่อระดับชาติเริ่มหันมาสนใจกิจกรรมอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ในสามสี่ปีที่ผ่านมา ทว่าเรายังไม่พบการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในกระบวนการ NBSAP เลย นอกจากนี้ มีแผน NBSAP เพียงครึ่งเดียวที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและผู้หญิง แม้ว่าผู้หญิงจะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของพวกเธอในการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นแล้วก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต่างๆที่ต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อให้แผน NBSAP เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มรวมถึงชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ผู้หญิง เด็ก และกลุ่มคนชายขอบ

เป้าหมายที่ 18: ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ในด้านที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนนั้น ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและภาษาของตน เฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินและรักษาสิทธิการถือครอง ลงบันทึกการใช้ทรัพยากร และปกป้องวิถีอาชีพเก่าแก่ไว้ รัฐบาลบางประเทศรับรองบทบาทของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่รายงาน CBD ของประเทศส่วนใหญ่ละเลยมิได้ใช้ตัวชี้วัดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้กระบวนการดังกล่าวขาดข้อมูลที่สำคัญไปและไม่บรรลุเป้าหมายในที่สุด

ป้าหมายที่ 19: แบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้

ระบบ CBMIS ที่ใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นนั้นกลายเป็นที่นิยมเมื่อเร็วๆนี้ โดยระบบจะสร้างชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังในพื้นที่และส่งต่อให้ระบบการประเมินผลในระดับชาติและนานาชาติ ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อแบ่งปันข้อมูล ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์ม Local Biodiversity Outlooks เป็นต้น ถึงแม้ว่าการดำเนินการของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นจะมีความก้าวหน้าในระดับนี้ แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ยังถูกละเลยในหลายประเทศ

เป้าหมายที่ 20: การโยกย้ายทรัพยากร

โดยรวมแล้ว ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการสนับสนุนให้ Aichi Biodiversity บรรลุเป้าหมายทั้ง 20 ข้อโดยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ความร่วมมือเช่นนี้ได้รับความสนใจในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดกลไกสนับสนุนด้านทุนดำเนินงานสำหรับความร่วมมือดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังไม่พบว่ามีการลงทุนและการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งค้านกับบทบาทของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจะต้องเพิ่มการสนับสนุนด้านทุนเพื่อให้สอดคล้องกัน ในขณะเดียวกันก็จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่มาตรการป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการให้ทุนแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นด้วย


(อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share