THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Maria Fides F. Bagasao
วันที่ 24 มิถุนายน 2016
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Francesca Megaloudi/ IRIN

สตรีมิได้เป็นเพศที่อ่อนแอโดยธรรมชาติ หากแต่สังคม ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองทำให้พวกเธอเปราะบางต่อความเสี่ยงต่างๆ ในวาระการประชุมแผนพัฒนาการเคหะและผังเมืองอย่างยั่งยืนสำหรับปี 2030 โดยสหประชาชาติที่จะจัดขึ้น ณ กรุง Quito ประเทศเอกวาดอร์ในวันที่ 17–20 ตุลาคม 2016 นี้จะต้องรวมการพิจารณาความเสี่ยงจากภัยโลกร้อนโดยเฉพาะที่มีต่อสตรีในชุมชนบทโดยเร่งด่วน ในการศึกษาองค์กรเครือข่ายหญิงชาวบ้าน เราพบว่าพวกเธอได้นำเอาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้เปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชุมชนให้เหมาะสมกับการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแนวทางการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและพิจารณาผลกระทบในภาพรวมของหญิงชาวบ้านมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) การรับรองและสนับสนุนแนวทางตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการพัฒนาจากล่างสู่บนโดยกลุ่มหญิงชาวบ้านจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โมเดลการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่ควบคุมโดยกฎระเบียบที่อ่อนแอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ผู้หญิงและเด็กจะสูญเสียแหล่งที่มาของปัจจัยดำรงชีพ แต่ก็ยังได้รับการคาดหวังให้ทำงานบ้านและดูแลสมาชิกในครอบครัวต่อไป

เราจะต้องตระหนักถึงสาเหตุของความเปราะบางของสตรีที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และช่องว่างที่เกิดขึ้นในการแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับการดำเนินการอย่างเหมาะสม จะสามารถทำให้กลุ่มหญิงชาวบ้านสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนลง

การเชื่อมโยงความเท่าเทียมทางเพศกับประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องเป็นธรรม หากเราต้องการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนที่ทุกผู้คนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราจะต้องไม่มองข้ามสิทธิ คุณค่า และศักยภาพของคนจำนวนครึ่งโลก ความรู้ ความสามารถ และพลังความร่วมมือของเพศหญิงเป็นทรัพยากรที่ทรงพลังที่สามารถนำไปใช้ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ รณรงค์การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสร้างระบบสาธารณสุข อาหาร และพลังงาน ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสตรีและชุมชน

ความเข้าใจในผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อความเปราะบางของสตรีทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ความท้าทายได้แก่การกำจัดสภาวะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภูมิคุ้มกันของสตรีในขณะเดียวกันก็จะต้องผลักดันให้สตรีเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งในด้านการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนและประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศ

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสตรีมากกว่ากลุ่มอื่นๆมีดังต่อไปนี้ :

ความมั่นคงอาหาร

ความมั่นคงอาหารเป็นประเด็นกว้างๆที่ครอบคลุมทั้งปริมาณอาหาร การเข้าถึง การบริโภค และเสถียรภาพ เกษตรกรสตรีผลิตอาหารคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45-80 (ขึ้นอยู่กับภูมิภาค) ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศกำลังพัฒนา ภาวะโลกร้อนทำให้แหล่งอาหารดั้งเดิมขาดแคลนและไม่แน่นอน ทำให้สตรีขาดรายได้และการเข้าถึงอาหาร นอกจากนี้ยังถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจในเรื่องของการจัดสรรที่ดินและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของตน

แหล่งน้ำ

อุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดบ่อยขึ้นทำให้ปริมาณน้ำจืดไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรีเป็นอย่างมากเนื่องจากเด็กและสตรีมักเป็นผู้ดูแลนับผิดชอบเรื่องการหาน้ำมาไว้ใช้ในครัวเรือน ในประเทศพัฒนาแล้ว การหาบน้ำจากแหล่งห่างไกลมายังที่พักอาศัยเป็นงานที่ต้องใช้เวลามากและปริมาณที่ได้มาก็มักจะไม่เพียงพอสำหรับทุกคน นอกจากนี้ น้ำที่ไม่ได้ผ่านการกรองเชื้อยังอาจเป็นผลเสียต่อสุขภาวะของสตรีและสมาชิกในครอบครัว

สุขภาวะ

ผลกระบทจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสุขภาวะของมนุษย์รวมถึงอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน อุทกภัย วาตภัย ไฟป่าและความแห้งแล้ง ความเสี่ยงที่มีต่อสตรียิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อแหล่งน้ำหายากขึ้นและมีการปนเปื้อนเชื้อโรค

การอพยพย้ายถิ่นหนีภัยธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ
ภัยธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทำให้มนุษย์ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและพื้นที่โดยรอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของเด็กและสตรีที่จะถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ และละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ

การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน
ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังพัฒนานโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยเร่งด่วน หญิงชาวบ้านก็ได้พัฒนานวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน ซึ่งทั้งสองประการนั้นไม่สามารถแยกออกจากลำดับความสำคัญของการพัฒนาได้ เนื้อหาต่อไปนี้เป็นการอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างภัยธรรมชาติ การพัฒนา ความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยใช้กรณีศึกษาจากแนวทางการปรับตัวโดยองค์กรหญิงชาวบ้านต่อภัยธรรมชาติในประเทศต่างๆ มาเป็นตัวอย่างในการจัดสรรทรัพยากรในกรณีเร่งด่วน

การเกษตรยั่งยืนในประเทศนิการากัว
The Unión de Cooperativas de Mujeres Productoras “Las Brumas” หรือสหกรณ์เพื่อเกษตรกรสตรี Las Brumas ในประเทศนิการากัวก่อตั้งขึ้นจากการริเริ่มของเกษตรกรที่เป็นผู้หญิงภายหลังจากที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ผู้หญิงจากทั้งสองฝ่ายได้รวมตัวกันฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นเครือข่าย 22 สหกรณ์ที่มีสมาชิกเพศหญิงกว่า 1,320 คนร่วมมือกันสร้างความมั่นคงอาหาร ความเป็นอยู่ และการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรต่างๆ จากรัฐอย่างโปร่งใส
ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 กลุ่มหญิงชาวบ้านนำโดยประธานสหกรณ์ นาง Haydee Rodriguez ได้ร่วมมือกับนาง Helen Toruño ประธานสหภาพและผู้ที่ได้รับการอบรมด้านวิศวกรรมเกษตรอย่างเป็นทางการได้ใช้เงินของกองทุน Community Resilience Fund เพื่อจัดหาเครื่องมือและเมล็ดพันธุ์ ฟื้นฟูสภาพดินและแหล่งน้ำใหม่ และทำการจัดสรรที่ดินใหม่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ทำให้จำนวนแปลงที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 50 แปลงในปี 2009 เป็น 200 แปลงในปี 2014 และรายได้ของเกษตรกรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นจาก C$2,200 เป็น C$13,70 (สกุลเงินนิการากัว) ทำให้นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรยั่งยืนแล้ว กลุ่มสตรียังได้รับการยกย่องในระดับท้องถิ่นและประเทศอีกด้วย

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอูกานดา
แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนโดยผู้หญิงจากชุมชนแออัดหรือ The Slum Women’s Initiative for Development (SWID) เป็นองค์กรที่นำโดยผู้หญิงรากหญ้าในประเทศอูกานดา มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนและความมั่นคงอาหาร พัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และจัดสรรที่ดินให้แก่คนชายขอบ ในโครงการสร้างความมั่นคงอาหารนั้น กลุ่มสตรีได้เจรจากับเจ้าของที่ดินและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขอใช้ที่ดินส่วนหนึ่งมาเป็นแปลงสาธิตให้แก่ผู้หญิงในชุมชนว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มผลผลิตผักผลไม้ได้

ในการลดผลกระทบด้านสุขภาวะจากอุทกภัยในเขตเทศบาลเมือง Jinja กลุ่มสตรีได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาวะแก่สมาชิกชุมชนเช่นการจัดการขยะครัวเรือนและการงดใช้ถุงพลาสติกซึ่งอาจทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน
นอกจากนี้ SWID ยังประสบความสำเร็จในการเจรจากับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเมือง Jinja เพื่อให้ทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนแออัด นอกจากนี้ ความร่วมมือกันระหว่าง SWID และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการจัดสรรที่ดินยังทำให้กลุ่มสตรีมีความมั่นคงอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

ภัยพิบัติในประเทศอินเดีย
องค์กรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาหรือ Swayam Shikshan Prayog (SSP) มีประสบการณ์กว่าสิบปีในการบริหารกระบวนการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรัฐมหาราชา (1993) และกุจรัต (2001) SSP ได้ระดมหญิงชาวบ้านเพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูที่พักอาศัยและโครงสร้างสาธารณะอื่นๆ โดยการนำของ SSP หญิงชาวบ้านสามารถฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่เดิมของตน ให้ความรู้แก่เจ้าของบ้านถึงวิธีการซ่อมแซมบ้านเรือนอย่างปลอดภัย การฝึกอบรมช่างก่อสร้าง และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลประจำชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกและติดตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างของรัฐ
ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด ผู้คนประมาณ 300,000 คนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชุมชนจึงเร่งฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมือประมง และไร่นา ในขณะที่ละเลยเรื่องของสุขภาวะในระยะยาวของเพศหญิง ดังนั้นกลุ่มผู้หญิงจึงได้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะในชุมชนด้วยตนเอง

ผู้หญิงชาวบ้านในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
กรณีศึกษาข้างต้นแสดงให้เราเห็นว่าองค์กรผู้หญิงชาวบ้านสามารถเป็นผู้นำในการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนได้อย่างไรบ้าง แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้มีส่วนสนับสนุน Sustainable Development Goal และการสร้างชุมชนยั่งยืนซึ่งประกอบไปด้วยความมั่นคงปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเกษตรยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีส่วนร่วมของเพศหญิง ในชุมชนเมืองนั้นเครือข่ายองค์กรผู้หญิงรากหญ้าและ NGOs ก็ได้ใช้วิธีการเพื่อการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน คือเน้นการมองภาพรวม การมีส่วนร่วม และกระบวนการออกแบบจากล่างขึ้นบน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายประการหนึ่งก็ยังคงอยู่ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาให้เป็นแบบที่รองรับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศ รัฐบาลจะต้องเร่งนำเอาแนวทางปฏิบัติเพื่อความเท่าเทียมทางเพศไปใช้ในกระบวนการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการ อนุญาตให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เธอมีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่างๆ เพื่อลดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนและช่วยในการตั้งรับปรับตัว และจัดหาเงินทุน แหล่งเงินกู้ เทคโนโลยี และประกันสังคมเพื่อช่วยให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ดีและมั่นคง (จบ)

อ้างอิง https://www.un.org/…/why-organized-grassroots-women…


Social Share