THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Mike Duncan
วันที่ 20 ตุลาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Wikipedia

นักประวัติศาสตร์ได้ทำการสังเกตมาอย่างยาวนานถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมและอารยธรรม

ภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้ง อุทกภัย และความเสียหายของพืชผลมักตามมาด้วยจลาจล

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเกิดขึ้นอาจทำให้สังคมของเราล่มสลายเช่นเดียวกับจักรวรรดิโรมัน แต่บางทีอาจไม่มีตัวอย่างใดที่จะนำมาเปรียบเทียบกับภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้ดีไปกว่าเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากการที่ซีกโลกเหนือเข้าสู่ภาวะเย็นจัดในช่วงกลางศตวรรษที่ 13 หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อยุคน้ำแข็งน้อย

การลดลงของอุณหภูมิไม่ได้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นฤดูร้อน

ต่อมาในปี 1770 เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นอีกในภูมิภาคแอตแลนติกเหนือ ทำให้เกิดหายนะแก่การเกษตรและการขนส่ง อากาศที่เย็นจัดส่งผลต่อเนื่องมาจนในปี 1775

ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักทำให้เกิดจลาจลไปทั่วราชอาณาจักร ซึ่งต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นสงครามแป้งสาลีหรือ Flour War และในท้ายที่สุดคือการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามลำดับ

ภาวะอากาศที่เย็นจัดประกอบกับเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ในเดือนมิถุนายน ปี 1783 ที่พ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณ 120 ล้านตันสู่บรรยากาศของทวีปยุโรปเหนือตลอด 8 เดือนต่อมา ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ถึงผิวโลก อากาศเป็นพิษ และสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นอย่างสูง ทำให้อากาศกลับมาร้อนจัดในปี 1783

หลังจากผ่านช่วงเวลาที่หนาวจัดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดพายุที่รุนแรงและลูกเห็บที่มีขนาดและความรุนแรงพอที่จะฆ่าปศุสัตว์ได้

หลังจากนั้นอุณหภูมิก็ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและยุโรปก็ตกอยู่ในอากาศที่หนาวจัดอีกครั้งหนึ่ง และตามมาด้วยฤดูใบไม้ผลิที่ร้อนผิดปกติทำให้น้ำแข็งละลายเร็วเกินไปและเกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่

ภาวะอากาศแปรปรวนผิดปกติเช่นนี้ก่อให้เกิดภูมิอากาศรูปแบบใหม่ในอีกหลายปีที่ตามมา คือฤดูร้อนที่แห้งแล้ง ตามมาด้วยพายุรุนแรง ฤดูหนาวที่หนาวจัดและพายุหิมะที่รุนแรง

ภาวะอากาศสุดขั้วเช่นนี้ส่งผลต่อสวัสดิภาพของชาวฝรั่งเศสอย่างรุนแรงด้วยการทำลายพืชผลและปศุสัตว์ เกิดวงจรความอดอยากยากจนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จอห์น แอดัมส์ ประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกาได้บรรยายไว้ในอนุทินระหว่างการเยือนประเทศฝรั่งเศสในปีว่า “ฝรั่งเศสกลายเป็นผืนดินที่มีแต่กองขี้เถ้าจนมองแทบไม่เห็นหญ้า ต้นข้าวในทุ่งนาดูผอมและอ่อนแอในขณะที่ต้นป่านดูเหมือนตายแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารผู้คนจับใจ ดูเหมือนว่าสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง”

ความเสียหายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วนี้ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1770-1780 และจากข้อเท็จจริงที่ว่าก่อนหน้านี้ระบบการเงินของราชอาณาจักรก็ไร้ประสิทธิภาพมากพออยู่แล้ว โดยชนชั้นสูงได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด

เมื่อพืชผลเสียหายและเงินรายได้จากภาษีไม่เพียงพอเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พยายามที่จะปฏิรูประบบการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่เงินท้องพระคลัง แต่ก็ถูกต่อต้านจากชนชั้นสูงที่จะต้องถูกเก็บภาษี เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับอภิสิทธิทางการเมืองเป็นค่าตอบแทน แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับความยินยอม ทำให้การปฏิรูปหยุดชะงักและวิกฤติการณ์ไม่ได้รับการแก้ไข

วิกฤติภูมิอากาศ การเงิน และการเมืองในฝรั่งเศสพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1789 เนื่องจากเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง ตามมาด้วยพายุลูกเห็บที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 1788 ทำให้ไร่นาและไร่องุ่นเสียหายทั้งหมด ทำให้ราคาพืชผลพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่เคยใช้เงินครึ่งหนึ่งซื้ออาหารต้องใช้เงินเกือบทั้งหมดที่มีเพื่อที่จะอยู่รอด ทำให้กำลังซื้อสินค้าประเภทอื่นนอกจากอาหารหายไปจากระบบเศรษฐกิจ

ทำให้ผู้คนในอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรมตกงาน ขาดรายได้ที่จะนำมาซื้ออาหาร และนำไปสู่วงจรความอดอยากยากจน และเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด

ภาวะขาดแคลนอาหารเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองและการเงินระหว่างชนชั้นสูงและสถาบันกษัตริย์ยิ่งเลวร้ายลงอีก

ความพยายามของของพระเจ้าหลุยส์ที่จะแก้ปัญหาถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะเครียดและวิตกกังวล และเริ่มตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ที่ละเลยความเป็นอยู่ของประชาชนและเกิดการชุมนุมกันทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไข

ในที่สุดในฤดูใบไม้ผลิปี 1788 พระเจ้าหลุยส์จึงทรงประกาศเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี
โชคไม่ดีที่หลังการประกาศเพียงไม่กี่วันและการประชุมยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น ประเทศฝรั่งเศสประสบภัยหนาวที่ร้ายแรงที่สุดในรอบร้อยปี

อดีตประธานาธิบดี ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอยู่ที่ฝรั่งเศสบรรยายเหตุการณ์ว่า “ฤดูหนาวในปีนั้นอากาศหนาวเย็นอย่างร้ายกาจ อย่างที่ไม่มีใครจำได้ว่าเคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ งานที่ต้องทำกลางแจ้งถูกเลื่อนออกไปหมด ทำให้แรงงานไม่มีรายได้เพื่อนำไปซื้อขนมปังเพื่อประทังชีพหรือฟืนเพื่อบรรเทาความหนาว”

สภาวะอากาศที่หนาวอย่างทารุณนี้ดำเนินไปเป็นเวลาหลายเดือนไปจนถึงเดือนเมษายนในปีถัดไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มตายจากความหนาวและความหิว

กว่าจะถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 1789 ที่แวร์ซายส์ ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ผ่านความทุกข์เข็ญจากภัยธรรมชาติซ้ำเติมมาหลายคราวแล้ว แม้แต่เมื่อความหนาวอันทารุณผ่านพ้นไป เหตุการณ์ก็ไม่กระเตื้องขึ้นเพราะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าผลผลิตใหม่ๆ จะชดเชยความขาดแคลนที่ผ่านมาได้ ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะที่ตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง

จนในที่สุดเมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีดำเนินไปด้วยความล่าช้าและไม่เกิดผลลัพธ์อันใด

ในเดือนกรกฎาคมปี 1789 ประชาชนผู้อดอยากได้บุกทำลายคุกบาสตีย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมองว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเหตุการณ์ที่ใช้เตือนให้เราตระหนักถึงการจลาจลอันมีผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในขณะที่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมีแต่จะเลวร้ายลงหากเราไม่เร่งแก้ไข ความเกี่ยวเนื่องระหว่างภูมิอากาศและเสถียรภาพทางการเมืองจึงกลายเป็นหัวข้อการศึกษาเร่งด่วน

มีงานวิจัยในปี 2013 ที่เปรียบเทียบข้อมูลสภาพภูมิอากาศกับความขัดแย้งทางการเมืองและพบว่า “มีหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภัยธรรมชาติและความขัดแย้งในสังคมมนุษย์ และผลกระทบจากธรรมชาติที่มีต่อสังคมมนุษย์นั้นมหาศาล”

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้เตือนว่าเมื่ออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกสิบปีข้างหน้า “จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมมนุษย์รุนแรงขึ้นและก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา”

ในเดือนสิงหาคม สหประชาชาติได้เสนอรายงาน IPCC โดยระบุว่าเป็น “ประกาศภาวะฉุกเฉินต่อมนุษยชาติ” มีใจความว่า “ภาวะอากาศสุดขั้วทำลายผลผลิตทางการเกษตรและนำไปสู่ GDP ที่ต่ำและภาวะจลาจลตามลำดับ”

การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ประกอบกับระบอบการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพที่ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้นในขณะที่เราเข้าสู่ยุคใหม่แห่งปัญหาสภาพภูมิอากาศ เราจะบรรเทาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยก๊าซหรือใช้พลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ

แต่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองให้สามารถรองรับวิกฤติการณ์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นเมื่อจุดสูงสุดภาวะโลกร้อนมาถึง (จบ)


อ้างอิง https://time.com/6107671/french-revolution-history-climate/


Social Share