THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jennifer Ellen Good
วันที่ 28 เมษายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Shutterstock

มีหัวข้อหนึ่งที่สำคัญและไม่เคยปรากฏมาก่อนในรายงาน IPCC ฉบับที่ 6 ซึ่งได้แก่แนวคิดเรื่อง Degrowth คณะทำงานของ IPCC ที่ทำงานด้านการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ได้ใช้คำนี้ในการถกเถียงเรื่องนโยบายที่จะนำไปสู่การลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

การปรากฏของคำนี้ในรายงานมีนัยสำคัญลึกซึ้ง นาย Timothée Parrique นักเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาชี้ว่า การอ้างอิงถึง Degrowth เป็น “โอกาสปฏิรูประบบเศรษฐกิจไปสู่สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ และตัดความฟุ่มเฟือยออกไป”

ในรายงาน ผู้เขียนได้ท้าทายแนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่เคยได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่า การเพิ่มจำนวนสินค้าและบริการคือสิ่งจำเป็นเพื่อการขจัดความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก

แต่ Degrowth นั้นเห็นต่างออกไปเกี่ยวกับบทบาทของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีต่อภาวะโลกร้อนและทางเลือกอื่น ๆ ที่เรามี

เรามักทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและตัวตนของเราผ่านการเล่าเรื่องราว ดังนั้นเราจึงควรคิดถึงระบบเศรษฐกิจว่าเป็นเรื่องราว ๆ หนึ่งเช่นกัน ดังที่นาย Thomas King ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษและนักเขียนพื้นบ้านได้ให้ความเห็นว่า “เรื่องราวของเราบ่งบอกถึงตัวตนของเรา” รายงาน IPCC มิเพียงแต่ให้ความหวังเราในเรื่องการตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจและซาบซึ้งต่อสิ่งที่โลกให้แก่เรา

ทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในบทวิเคราะห์ของรายงานคณะทำงาน IPCC คณะที่สามเรื่อง “ผลกระทบ การตั้งรับปรับตัว และความเปราะบาง” ที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 นั้น นาย Parrique สังเกตเห็นการอ้างอิงถึง Degrowth ถึง 15 ครั้ง และชี้ให้เห็นว่า รายงานเน้นถึงกรณีศึกษาแนวทางการดำรงชีพที่ไม่ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศอาฟริกาใต้และอินเดีย แต่อาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ รายงานคณะทำงาน IPCC คณะที่สามเรื่อง “การตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน” ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน ปี 2022 ยังอ้างอิงถึง Degrowth ห้าครั้งและประกาศว่า “ชีวิตที่สุขสมบูรณ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน”

รายงานสองฉบับนี้ได้เน้นถึงความเร่งด่วนของปัญหาโลกร้อน ว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากการบริโภคพลังงานฟอสซิลเกินพิกัดและนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงระดับหายนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มชนที่มิได้เป็นต้นเหตุของปัญหา

หากเราจะแก้ปัญหานี้ได้ เราจะต้องล้มเลิกแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กลไกตลาดเสียและชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลง

Degrowth มีตัวอย่างของชุมชนมากมายที่ดำรงชีพโดยไม่พึ่งพาตลาดและระบบทุนนิยม และไม่มองว่าโลกเป็นเพียงแค่แหล่งทรัพยากรที่จะนำออกมาใช้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด ทำให้เราต้องคิดทบทวนบทบาทของมนุษย์ที่มีต่อโลก

อนาคตแห่งปฏิสัมพันธ์

สมัยก่อนบรรพชนของเราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเป็นอย่างดีและใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติโดยไม่ฝืน ดังที่หนังสือ Braiding Sweetgrass: Indigenous Wisdom, Scientific Knowledge and the Teachings of Plants โดย Robin Wall Kimmerer เขียนไว้ว่า “เราทุกคนสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง”

ทว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่ถูกจริตของภาคธุรกิจและระบบอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการสกัดทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้และทิ้งขยะไว้แทนที่

หนังสือได้บรรยายถึงลัทธิเหยียดเชื้อชาติที่รุกรานชนพื้นเมืองและประวัติศาสตร์แห่งการกระทำความรุนแรงต่อชนพื้นเมืองที่เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ความรุนแรงเช่นนี้เปลี่ยนธรรมชาติเป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะในท้ายที่สุดแล้วแหล่งทรัพยากรย่อมมีจำกัด

ในหนังสือ Prosperity Without Growth: Economics for a Finite Planet โดยนักเศรษฐศาสตร์ นาย Tim Jackson เขียนบรรยายไว้ว่า “ผู้ที่หวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำเราไปสู่สังคมอุดมคติจะต้องผิดหวังในที่สุด ระบบนิเวศของเราไม่มีศักยภาพในการตอบสนองความฝันเช่นนั้นได้” และเขายังเสริมอีกว่าการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ นั้น “จะทำให้เราเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ แหล่งทรัพยากรถูกใช้จนหมด ระบบนิเวศเสื่อมโทรม วิกฤติอาหาร พืชและสัตว์สูญพันธุ์ การอพยพครั้งใหญ่ และเหตุการณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดสงคราม ภายในสิ้นศตวรรษนี้”

แต่รายงาน IPCC ฉบับล่าสุดที่ให้ความสำคัญกับ Degrowth ก็เสนอทางออกให้แก่มนุษยชาติ ด้วยการตระหนักถึงขีดจำกัดของระบบนิเวศ เราจะเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เป็นภัยอย่างยิ่งและหันมาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติดังเช่นที่บรรพชนของเราได้กระทำมาโดยตลอด

ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ

นักวิจัยบางคนได้สัมภาษณ์ชนพื้นเมืองเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของธรรมชาติที่เป็นสิ่งลึกลับที่เชื่อมโยงเราเข้ากับอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าโดยไม่จำกัดอยู่ที่ศาสนาหรือความเชื่อ ดังที่นักวิจัย Tristan Snell กับ Janette Simmonds เขียนไว้ว่า “สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติสามารถกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณได้” และ “เมื่อบุคคลหนึ่งเดินเข้าไปในป่าเพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติ บุคคลนั้นอาจรู้สึกว่าองค์กรศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเนื่องจากความต้องการเชิงจิตวิญญาณของเขาได้รับการตอบสนองแล้ว”

การมองว่าโลกเป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบเพื่อการบริโภคนั้นขัดแย้งกับแนวทางปฏิสัมพันธ์และจิตวิญญาณโดยสิ้นเชิง

นักวิชาการอย่าง Rachel Carson ที่เป็นทั้งนักสิ่งแวดล้อม นักศึกษาด้านจิตวิญญาณสิ่งแวดล้อม และนักเดินป่า ได้เล่าถึงประสบการณ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติด้านจิตวิญญาณแม้จะได้รับการต่อต้านมากมาย ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนและรายงาน IPCC ทำให้เริ่มมีคนเห็นด้วยกับประสบการณ์ของเธอและหันมาต่อต้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

โอกาสที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ในยุคแห่งข่าวลวงและข่าวลือ Bill McKibben ให้ความเห็นว่า “วัฒนธรรมส่วนใหญ่ในอดีตวางพระเจ้า เทพแห่งธรรมชาติหรือทั้งสองอย่างไว้ที่ศูนย์กลางของความเชื่อ แต่เรามองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล สังคมบริโภคนิยมไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่ศาสนาพยายามจะบอก ซึ่งได้แก่ กิเลสของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด”

เหตุการณ์อุทกภัย ไฟป่า และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทำให้เราเห็นว่าธรรมชาติมีขีดจำกัด และภาวะโลกร้อนก็ได้ย้ำเตือนเราว่าเราทุกคนเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในธรรมชาติที่มีข้อจำกัดนี้

ดังที่นักธรรมชาติวิทยา นาย John Muir เขียนไว้ในหนังสือ My First Summer in the Sierra ที่เผยแพร่ในปี 1911 ว่า “เมื่อเราเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งในธรรมชาติขึ้นมา เราจะพบว่ามันมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ นับล้านในจักรวาล”

ภาวะโลกร้อนอาจเป็นทั้งหายนะและโอกาสที่จะแสวงหาทางเดินใหม่สู่อนาคตแห่งจิตวิญญาณและความยั่งยืน


อ้างอิง : https://theconversation.com/stories-about-economic-degrowth-help-fight-climate-change-and-yield-a-host-of-other-benefits-181025?fbclid=IwAR0_JwsLXepFHnn5aQ7zGuVAaKFFjfnFL432-iytPmKFYLK1mpoGwE-mAnM


Social Share