
เขียนโดย Jamal Srouji, Taryn Fransen, Sophie Boehm, David Waskow, Rebecca Carter และ Gaia Larsen
วันที่ 25 เมษายน 2024
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง Next-Generation Climate Targets: A 5-Point Plan for NDCs
นานาประเทศมีกำหนดการที่จะต้องปรับเป้าหมาย NDCs ของตนเองใหม่ภายในปี 2025 ตามข้อบังคับในความตกลงปารีส ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับสากล รวมถึงเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกและมาตรการอื่น ๆ ที่ประเทศเหล่านั้นได้ให้คำมั่นไว้ ความตกลงปารีสกำหนดให้นานาประเทศต้องทบทวนเป้าหมาย NDCs ทุก ๆ 5 ปีและคาดหวังว่าเป้าหมายใหม่จะสูงกว่าเป้าหมายเก่า โดยสรุปแล้ว เป้าหมาย NDCs มีความสำคัญเนื่องจากเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นานาชาติใช้ในการต่อกรกับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs ยังไม่เพียงพอที่จะชะลอผลกระทบจากภาวะโลกร้อนลงหรือที่จะรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รายงานล่าสุดจาก UNFCCC ระบุว่าหากเหตุการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป อุณหภูมิอาจสูงขึ้นถึง 2.5-2.9 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้สิ่งแวดล้อมล่มสลายและมนุษย์ไม่สามารถอยู่รอดได้
ความก้าวหน้าที่สำคัญ ๆ นับตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย NDCs ครั้งที่ผ่านมาในปี 2020 จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ปรับเป้าหมาย NDCs ขึ้นได้ คำถามก็คือแต่ละประเทศยินดีที่จะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์หรือไม่
เมล็ดพันธุ์เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่เราหว่านไว้เริ่มแตกหน่อ
ความก้าวหน้าของแต่ละประเทศในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในช่วงปี 2020-2027 ทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะปรับเป้าหมาย NDCs ให้สูงขึ้น ตัวอย่างเช่นตอนนี้เกือบทุกประเทศมีเป้าหมาย net-zero ภายในปี 2050 แล้ว และในการทบทวนเป้าหมาย NDCs รอบที่กำลังจะมาถึงก็จะเร่งกรอบเวลาขึ้นเป็นปี 2035 ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างปี 2020 (ซึ่งถือเป็นปีเริ่มต้น) กับปี 2050 ทำให้เป้าหมาย NDCs รอบนี้กลายเป็นจุดเช็คความก้าวหน้าระยะกลางของเป้าหมายระยะยาว นอกจากนี้ การปรับเป้าหมาย NDCs จะต้องอ้างอิงข้อมูล Global Stocktake เมื่อปีที่แล้วที่เก็บโดย UNFCCC ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่านโยบายของประเทศใดที่สมควรได้รับการปรับปรุงเพื่อการบรรลุเป้าหมาย NDCs ซึ่งรวมถึงการลดการบริโภคพลังงานฟอสซิล การปฏิรูปการขนส่งและการเกษตร
ในตอนนี้โลกเริ่มมีความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องของการผลิตอาหาร ป่าไม้ พลังงานทางเลือก และมีเทนกันมากขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถปรับเป้าหมาย NDCs ขึ้นได้อีก นอกจากนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ จากรายงานIPCC) ก็เปิดเผยว่าภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยพยากรณ์ไว้มาก ทำให้เราต้องเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนการตั้งรับประบตัว และให้ทุนแก่การดำเนินการทั้งสองด้าน
เป้าหมาย NDCs ที่ตั้งขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างได้ผล ดังนั้น ในการประชุมเพื่อทบทวนเป้าหมายครั้งนี้ เป้าหมาย NDCs ควรจะต้องถูกปรับให้สูงขึ้นเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในสเกลที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างเห็นได้ชัด เราจึงเสนอแนวทางในการพิจารณาปรับเป้าหมาย NDCs ใหม่ดังนี้
1) ตั้งเป้าสำหรับปี 2035 และปรับเป้าลดก๊าซเรือนกระจกของปี 2030 ให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสและเป้า Net Zero
งานวิจัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะหลีกเลี่ยงหายนะด้านสิ่งแวดล้อมได้นั้นเราจะต้องรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 43 ภายในปี 2030 และร้อยละ 60 ภายในปี 2035 จากปริมาณที่ปล่อยทั้งหมดในปี 2019
เนื่องจากเป้าหมายนี้เกี่ยวข้องกับ 194 ประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำหนดเป้าหมายปี 2030 และปี 2035 ให้แก่แต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกจะต้องปรับเป้าหมาย NDCs ของตนขึ้นอีกมาก และจะต้องสนับสนุนทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนอีกส่วนหนึ่งด้วย
เป้าหมายอีกข้อหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสคือเป้า Net Zero ที่หลาย ๆ ประเทศใช้กันอยู่ ประเทศที่ใช้ Net Zero ควรตรวจสอบเป้าปี 2030 และปี 2035 ของตนว่าทำให้เกิดการลดก๊าซที่เป็นรูปธรรมภายในช่วงเวลาที่กำหนดแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะปรับเป้าระยะสั้นและระยะกลางให้สอดคล้องกับเป้าระนะยาวได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานอาจต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการเปลี่ยนแปลง ถ้าเป้าหมาย NDCs ต่ำเกินไปที่จะตามทัน สุดท้ายการบรรลุเป้าหมายระยะยาวจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น UNFCCC จึงได้ขอให้นานาประเทศยื่นเป้าหมายระยะยาวภายในเดือนพฤศจิกายนปี 2024 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDCs ของปี 2025 ได้
ประการสุดท้าย นานาประเทศควรตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้ก๊าซอื่นที่นอกเหนือไปจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเช่นมีเทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDCs ได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามเรายังไม่เห็นเป้าหมายลดมีเทนในเป้า NDCs ของหลาย ๆ ประเทศ ในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ให้คำมั่นว่าจะบรรจุเป้ามีเทนเข้าไปในเป้าหมาย NDCs ของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากปริมาณการบริโภคมีเทนของจีนอยู่ในระดับ Top 10 ของโลก
2) เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบด้วยการกำหนดเป้าหมายแก่ภาคส่วนย่อยที่มีกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน
การที่จะรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้นั้นเราจะต้องเปลี่ยนผ่านระบบในทุก ๆ ภาคส่วนอุตสาหกรรม การที่จะทำเช่นนั้นได้ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จะต้องตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นรายภาคส่วนอุตสาหกรรมและรวมเอาเป้านี้ไม้ในแผนยุทธศาสตร์กระทรวง ซึ่งจะช่วยให้แนวทางในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในภาพรวมได้ และจะทำให้นักลงทุนภาครัฐและเอกชนเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายได้สะดวกขึ้น
ในขณะที่เป้าหมาย NDCs ส่วนใหญ่บ่งชี้ถึงปริมาณก๊าซที่แต่ละประเทศจะต้องลด แต่น้อยรายที่จะแตกเป้าหมายออกเป็นรายภาคส่วนอุตสหากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนให้แก่ภาคพลังงาน (รวมภาคผลิตและบริโภคเช่นการขนส่ง) และภาคเกษตร เนื่องจากสองภาคส่วนนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 90 ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก
การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
เป้าหมาย NDCs ควรนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วภายในสิบปี ด้วยการใช้แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร โรงงาน และการขนส่ง ใช้พลังงานคาร์บอนต่ำในอุตสาหกรรมที่ลดก๊าซได้ยากอย่างโรงผลิตเหล็กและซีเมนต์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
โชคดีที่นานาประเทศไม่ได้เริ่มต้นการดำเนินงานจากศูนย์เสียเลยทีเดียว แหล่งข้อมูลอย่าง Global Stocktake และ Global Renewables and Energy Efficiency Pledge ให้ข้อมูลที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้กำหนดเป้าหมายของตนได้ ตัวอย่างเช่นที่ COP28 นานาประเทศตกลงว่าจะดำเนินการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดขึ้นสามเท่าภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย net zero ภายในปี 2050 คำมั่นนี้แสดงถึงความก้าวหน้าที่สำคัญที่เป้าหมาย NDCs ควรนำมาดำเนินการต่อ
แต่เราควรที่จะต้องไปให้ไกลกว่ารักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส งานวิจัยต่าง ๆ สรุปว่าเราจะต้องนำแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และลมมาใช้คิดเป็นร้อยละ 88 ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดเป็นอย่างต่ำและลดการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลงร้อยละ 4 และ 7 ตามลำดับภายในปี 2030 นอกจากนี้จะต้องลดคาร์บอนในภาคขนส่งด้วยการจ้างงานในชุมชนและพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนเพื่อลดการเดินทางและขนส่ง เพิ่มจำนวนรถสาธารณะเป็นสองเท่าในพื้นที่เมือง และเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นร้อยละ 20 เป็นอย่างน้อยภายในปี 2030
แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องมีความก้าวหน้าในการดำเนินการในเรือ่งเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันหรือตั้งเป้าหมาย NDCs ที่เหมือน ๆ กัน เพราะประเทศพัฒนาแล้วมีหน้าที่ที่จะต้องตั้งเป้าหมาย NDCs ที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งในแง่ของปริมาณกาซเรือนกระจกและกรอบระยะเวลา แม้ว่าบางประเทศจะต้องการการสนับสนุนด้านทุนและอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน อย่างไรก็ตามเป้าหมายเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่นานาประเทศจะต้องปฏิบัติตาม
ประการสุดท้าย เป้าหมาย NDCs ควรจะต้องทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมและเท่าเทียมด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานเช่นแรงงานในภาคพลังงานฟอสซิล เป็นต้น
การเปลี่ยนผ่านด้านการผลิตอาหารสำหรับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและลดก๊าซเรือนกระจก
เกษตรกรในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรที่รักษาความสมบูรณ์ของดินและประหยัดน้ำ เพราะภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก และเมื่อรวมกับปริมาณที่ปล่อยตลอดทั้งสายการผลิตแล้วก็จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว เห็นได้จากหลายต่อหลายประเทศนำเอาเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของตนไว้ในเป้าหมาย NDCs มากขึ้น มีการรวมเอาเรื่องอนุรักษ์ระบบนิเวศเข้าไว้ใน Global Stocktake และกำหนดเป้าหมายตั้งรับปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบอาหารกันมากขึ้น ทำให้คำปฏิญญาร่วมสมัยอย่าง Glasgow Leaders’ Declaration on Forests และ Land Use and the Emirates Declaration on Sustainable Agriculture และ Resilient Food Systems and Climate Action กำลังได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในระดับสากล
ถึงแม้ว่าความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ นี้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ยังต้องปรับเป้าหมาย NDCs ให้สูงกว่านี้เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของความตกลงปารีส รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรและปกป้องเกษตรกรรายย่อยจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
เพื่อการบริหารอุปสงค์ นานาประเทศควรตั้งเป้าหมายลดขยะอาหารและการสูญเสียในกระบวนการผลิตลงภายในปี 2030 ส่วนภูมิภาคที่มีอัตราการบริโภคสูงอย่างอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลียก็ควรตั้งเป้าลดการบริโภคเนื้อปศุสัตว์อย่างวัว แกะ และแพะต่อหัวประชากรลงเป็นสองมื้อต่อสัปดาห์ภายในปี 2030 ส่วนในด้านอุปทานนั้น เป้าหมาย 1.5 องศาทำให้เราต้องลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรลงร้อยละ 22 ภายในกรอบระยะเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็จะต้องเพิ่มผลผลิตพืชไร่ขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 18 และสร้างภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงให้แก่เกษตรกร การตั้งเป้าหมายด้านอาหารร่วมกับเกษตรที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าโกงกาง และทุ่งหญ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำเพื่อรักษาแหล่งดูดซับคาร์บอนไว้
สิ่งสำคัญได้แก่เราจะต้องบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่ละเลยเป้าหมายใดไว้ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดหมายขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่นการเพิ่มพื้นที่เกษตรที่ไปรุกล้ำที่ป่าหรือทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนที่ไปแย่งพื้นที่เกษตรทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้และชุมชนสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร หรือการนำเอาการเกษตรแบบใหม่ที่เพิ่มผลผลิตมาใช้แต่ทำลายดินหรือใช้น้ำสิ้นเปลือง
3) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนต่อผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงเฉียบพลันอย่างคลื่นความร้อน พายุ ไฟป่า และอุทกภัย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในระยะยาวอย่างระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงและภัยแล้งทำให้นานาประเทศต้องเร่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของชุมชนของตน ถึงแม้ว่า NDCs และเครื่องมืออื่น ๆ อย่าง National Adaptation Plans (NAPs) มุ่งเน้นการจัดการก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการตั้งรับปรับตัวในกระบวนการนโยบายและงบประมาณแผ่นดิน
เป้าหมาย NDCs แบบใหม่นี้เป็นไปตามแนวทางการนำเอา Global Goal on Adaptation หรือเป้าหมายสากลของการตั้งรับปรับตัวซึ่งแยกเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าย่อยตามภาคส่วนอุตสาหกรรมมาใช้ นานาประเทศสามารถอ้างอิงเป้าหมายระดับนานาชาตินี้ได้ในการกำหนดเป้าระดับประเทศและจังหวัดในหัวข้ออย่างการผลิตและขนส่งอาหารที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนจากผลกระทบต่อสุขภาวะ หรือลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะต้องใช้การประเมินความเปราะบางเป็นระยะ วิเคราะห์ผลกำไรขาดทุน (โดยใช้วิธี Triple Dividend) และนำผลที่ได้ไปปรึกษากับผู้นำท้องถิ่นและชุมชนเพื่อหาวิธีการตั้งรับปรับตัวที่ทันต่อการรับมือกับภาวะโลกร้อน และหลังจากที่ลงมือดำเนินการแล้วก็ควรมีกระบวนการตรวจติดตาม ประเมินผล และถอดบทเรียน
นอกจากนี้ กระบวนการตั้งเป้าหมาย NDC ยังเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศนำชุมชนเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาร่วมออกแบบมาตรการตั้งรับปรับตัวของประเทศ กระบวนการแบบมีส่วนร่วมเช่นนี้ช่วยให้การลงทุนในการตั้งรับปรับตัวและเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อภาวะโลกร้อนเป็นไปตามความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยแท้จริง
ประการสุดท้าย เป้าหมาย NDCs เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ จัดลำดับความเปราะบางของพื้นที่ที่มีข้อจำกัดของการตั้งรับปรับตัว ซึ่งจะทำให้เรารู้ถึงต้นทุนของเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการตอบสนองต่อผลกระทบที่รุนแรง รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟูความเสียหาย การย้ายถิ่นที่อยู่ และการฟื้นฟูระยะยาวแก่ความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น
4) กระตุ้นการลงทุนและการจัดการจากเป้าหมายสู่การปฏิบัติ
เป้าหมาย NDCs จะต้องไม่เป็นเพียงคำมั่นเท่านั้น แต่จะต้องนำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่จะมาร่วมมือกันนำเป้าหมายสู่การปฏิบัติด้วยการใช้เครื่องมือทางนโยบาย สถาบัน และการเงิน
ขั้นตอนที่หนึ่งของการดำเนินการตามเป้าหมาย NDCs รับผิดชอบโดยรัฐบาลระดับชาติ วิธีการที่ใช้ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง และการตรวจสอบกระบวนการกำหนดเป้าหมาย NDCs สามารถเปลี่ยนดุลทางการเมืองและสร้างโอกาสในการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ปประเทศต่าง ๆ กำลังกำหนดเป้าหมาย NDCs ของตนอยู่นั้น ก็สามารถออกกฎหมายหรือริเริ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เริ่มตั้งแต่สำนักนายกรัฐมนตรีสู่กระทรวงการคลัง กระทรวงที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง และกฤษฎีกา ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อมีการลงมติและเชื่อมโยงประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับแผน นโยบาย งบประมาณ และกฎหมายของประเทศ และคู่มือดำเนินการตามเป้าหมาย NDCs ก็สามารถอธิบายถึงการแบ่งความรับผิดชอบในระหว่างกระทรวงและระบุว่านโยบายของประเทศสามารถส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งความรับผิดชอบแล้วหรือยัง การใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายและสถาบันที่จะมาทำให้เป้าหมาย NDCs บรรลุผล
นอกจากนี้ กระบวนการกำหนดเป้าหมาย NDC ยังเปิดโอกาสให้รัฐนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาคอย่างเทศบาล ตำบล อำเภอ และจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามนโยบายและงบประมาณที่วางไว้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นด้วย
การดำเนินการตามเป้าหมาย NDC มักขึ้นอยู่กับเงินงบประมาณ ความสูงของเป้าหมายและวัตถุประสงค์เชิงนโยบายของเป้าหมาย NDC ซึ่งจะส่งสัญญาณไปถึงนักลงทุนและสถาบันการเงินว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสัญญาณดังกล่าวจะยิ่งแรงขึ้นหากรัฐบาลรวมเอาเป้าหมาย NDC นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนกระทรวง ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนที่จะนำมาสู่การบรรลุเป้าหมาย NDC โดยตรง
แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะรวมเอาเป้าหมาย NDCเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนกระทรวงแล้วก็ตาม เป้าหมาย NDC เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายได้ แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยแผนกลยุทธ์ที่สามารถระดมทุนได้จริง กล่าวคือประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ในเป้าหมาย NDC รอบที่แล้ว ต้องบ่งชี้ถึงโครงการในประเทศที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนทุนได้และโครงการที่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก และแผลกลยุทธ์จะต้องระบุถึงแหล่งทุนที่จะมาสนับสนุนโครงการเหล่านี้ การวางแผนการเงินที่ชัดเจนจะทำให้เป้าหมาย NDC น่าเชื่อถือและนำไปปฏิบัติได้จริง
กลยุทธ์การใช้งบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC ยังทำให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาสามารถระดมพันธมิตรทางการเงินภาคสาธารณะอย่างธนาคารเพื่อการพัฒนา กองทุน Climate Fund และมูลนิธิ และภาคเอกชนเพื่อหารือว่าทั้งสองภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมาย NDC ได้อย่างไรบ้าง กระบวนการความร่วมมือนี้ควรถูกขับเคลื่อนโดยเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและทำให้เกิดความร่วมมือทางการเงินที่จะสนับสนุนโครงการ การลงทุนเชิงโครงสร้าง และนโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
5) วางประชาชนไว้เป็นศูนย์กลางของแผน สร้างงานในภาคลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัว และปรับปรุงบริการสาธารณสุข
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่กว้างขวางของภาวะโลกร้อนและประโยชน์ที่จะได้รับในการแก้ไขแต่ละปัญหาแล้ว เป้าหมาย NDCs จะต้องเชื่อมโยงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเข้าด้วยกัน นับตั้งแต่การจ้างงานและสาธารณสุขไปจนถึงเศรษฐกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อม ๆ กับรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลและการใช้ที่ดินบางประเภท เพื่อลดแรงต้านทางการเมืองในการดำเนินการ
เป้าหมาย NDCs ของบางประเทศเริ่มเชื่อมโยงแผนปฏิบัติการเข้ากับเป้า SDGs แล้ว ในขณะที่บางประเทศเรียกว่าเป็น “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” การจ้างงานที่เป็นธรรม หรือสิทธิของคนทุกเพศ อย่างไรก็ตามเป้าหมาย NDCs ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นการแก้ปัญฆาเพียงผิวเผิน มิได้ลงลึงถึงต้นตอของปัญหา
ในขณะที่เป้าหมาย NDCs ไม่สามารถทำให้เกิดนโยบายแก้ไขทุกปัญหาได้ แต่ก็สามารถนำไปสู่แผนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อพัฒนาแผนคาร์บอนต่ำและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมอย่างมีส่วนร่วม NDCs สามารถให้แนวทางที่รัฐบาลจะสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วยการสร้างงานในภาคพลังงานสะอาด ฝึกอบรมทักษะใหม่ ให้ทุนพัฒนาชุมชน กระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่น และประกันสังคม เป็นต้น และประการสุดท้าย NDCs สามารถกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณให้แก่วัตถุประสงค์อย่างจำนวนแรงงานที่ได้รับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวนประชากรที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการลดมลพิษ และจำนวนประชากรที่ใช้พลังงานสะอาดและการขนส่งปลอดมลพิษที่เพิ่มขึ้น
ก้าวต่อไป ภายในปี 2035 โลกจะต้องการมาตรการขั้นเด็ดขาดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหากต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เป้าหมาย NDCs ที่แต่ละประเทศจะส่งเข้ามาในปีหน้าจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไหนบ้างที่ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างความเข้มแข็งในการตั้งรับปรับตัวให้กับประชาชนของตนอย่างจริงจัง แนวทางการวางแผนงาน 5 ข้อที่เราได้เสนอไปนั้นได้ให้แนวทางสู่ความสำเร็จ กล่าวคือเพิ่มเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้สูงกว่านี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส เร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในทุกภาคส่วน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทุกระบบ เร่งกระบวนการลงทุนในโครงการร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และวางประชาชนไว้เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาโลกร้อน หากนานาประเทศใช้หลักการเหล้านี้ในการปรับเป้าหมาย NDCs ก็จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างงานและการสาธารณสุขที่ดีไปพร้อมกัน