THAI CLIMATE JUSTICE for All

การพัฒนาหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรอบวิธีการสำหรับโรงเรียนและครูชั้นประถม-มัธยม

เขียนโดย Kirstin Milks, Veronica Vesnaver, Tanya Flores, Brian Drayton,
และ Gillian M. Puttick
วันที่ 1 กันยายน 2024
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง Growing Climate Justice Education: A Framework for K-12 Teachers and School Communities

บทนำ

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชุมชนทุกชุมชน และผลกระทบก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อนมักเกิดขึ้นกับชุมชนที่ขาดแคลนทรัพยากรด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และยิ่งไปกว่านั้นยังขาดโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของโลกอย่างเท่าเทียมกับชาติที่ร่ำรวย ทำให้ชุมชนเหล่านี้ขาดการเตรียมการและศักยภาพในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ดังนั้น ศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งที่เกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางแก้ไขจึงเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงของวิกฤติสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์มีความหมายว่าการศึกษาศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นธรรมทางภูมิอากาศอาจทำให้ผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน รู้สึกเป็นทุกข์ โกรธ และกังวล ผลงานวิจัยในระดับโลกชิ้นหนึ่งระบุว่าร้อยละ 84 รู้สึกกังวลปานกลางถึงกังวลมาก และกว่าร้อยละ 45 ระบุว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาแล้ว ดังนั้น ครูผู้สอนจะออกแบบหลักสูตรที่จะช่วยให้นักเรียนประถมและมัธยมเข้าใจภาวะโลกร้อนและความเป็นธรรมทางภูมิอากาศได้โดยไม่รู้สึกเป็นทุกข์มากเกินไปนัก?

การเรียนรู้ที่จะนำเอาองค์ความรู้มาใช้ในการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนนั้นเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยลดความกังวลของผู้เรียน และช่วยให้นักเรียนศึกษาและนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวกล้อม ในปัจจุบัน ครูชั้นมัธยมมักเสาะหาแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับนักเรียนของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น

วารสารเพื่อวงการครูวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งได้เชื่อมโยงครูเข้ากับทรัพยากรเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในเชิงสังคม อย่างไรก็ตามเราพบว่ายังไม่มีการนำเอาทรัพยากรส่วนนี้ออกมาใช้ประโยชน์มากนัก ในบทความนี้ เราจึงขอนำเสนอ “Growing Climate Justice Education” ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดสำหรับครูผู้สอนและนักเรียนซึ่งได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม เป็นกรอบแนวคิดที่รวมเอาวิธีการที่ครูผู้สอนสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาการ Next Generation Science Standards (NGSS) และเราหวังว่าเหล่าครูจะใช้เครื่องมือนี้สร้างหลักสูตรความเป็นธรรมทางภูมิอากาศของตนขึ้นมา

การพัฒนากรอบวิธีการ

ในอดีตที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นสาขาวิชาหลักที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม เวลานี้เราได้รู้แล้วว่าเราต้องเข้าใจองค์ความรู้ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ ความมีอคติทางเชื้อชาติ เพศ และสังคม เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบและหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ถูกต้อง ในการนี้ มูลนิธิ John D. and Catherine T. MacArthur ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนา TERC เพื่อการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทดลองสร้างสถาบัน Climate and Equity ขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายครูผู้สอนที่สนใจสาขาวิชานี้ โดยเชิญครูผู้สอนสิบสองคนและผู้ดำเนินรายการสองคนจากโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ในเมือง ย่านชานเมือง และชนบททั่วประเทศที่มารวมตัวกันที่สถาบัน Schoodic ในอุทยานแห่งชาติอาคาเดียเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และคิดไอเดียใหม่ ๆ องค์ความรู้มากมายที่ได้จากครูผู้สอน ผู้ดำเนินรายการ และวิทยากรที่นำมาผสมผสานกัน หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องความเป็นธรรมทางภูมิอากาศสำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

หลักการขั้นพื้นฐานของการเรียนการสอนเรื่องความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ

จากบันทึกการประชุม การสัมภาษณ์ และข้อความจากอีเมล์ เราใช้กระบวนการทวนซ้ำโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางและพัฒนากรอบวิธีการที่ใช้สร้างบุคลากรในการศึกษาเรื่องความเป็นธรรมทางภูมิอากาศขึ้น และพบว่าครูที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ได้นำเอาหลักการขั้นพื้นฐานเช่นการเข้าถึงธรรมชาติและความเป็นธรรมไปใช้นอกเหนือไปจากงานสอนประจำวันของตน ครูที่พบว่าตนเองสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัวให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ทำสวนหลังบ้านหรือแม้แต่ปลูกพืชผักสวนครัว เดินไปทำงานแทนการใช้ยานพาหนะ ไปเยี่ยมที่ใดที่หนึ่งในธรรมชาติอยู่เสมอจนเป็นจุดนัดพบประจำตัว และมองหาธรรมชาติอยู่เสมอแม้ในเมืองใหญ่ ส่วนการเรียนการสอนเกี่ยวกับความเป็นธรรมนั้น ครูได้ค้นหาข้อมูลจากสื่อและหาประสบการณ์ที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจวิธีการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม และเราพบว่าผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการมีชุดความรู้ที่ไม่ซ้ำกันเลยและได้ร่วมอภิปรายในเรื่องความเป็นธรรมและสังคมเพื่อลดระยะห่างระหว่างหลักการและปฏิบัติการลง นอกจากนี้ เหล่าครูยังเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งในชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว ครูท่านหนึ่ง (Carl) เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่แต่งนิยายและโครงกลอนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนด้วย ส่วนอีกท่าหนึ่ง (Eva) ก็เป็นกุ๊กผู้เชี่ยวชาญที่คอยมองหาวิธีการปรุงอาหารใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และคนอื่นๆก็มองหาโอกาสในการเรียนรู้เรื่องความเป็นธรรมและภูมิอากาศ และนำเอาวิธีการใหม่ ๆ สนุก ๆ มาทดลองใช้ในห้องเรียน การที่ครูกลายมาเป็นผู้เรียนไปพร้อมๆกันกับนักเรียนเช่นนี้ทำให้ครูสามารถทำได้มากกว่าเพิ่มพูนภูมิคุ้มกันและองค์ความรู้ให้แก่ตนเองตามที่ Ronnie ครูผู้สอนหลักสูตรสิ่งแวดล้อมตามบริบทพื้นที่ได้กล่าวไว้ว่า “ในฐานะครูผู้สอน ผมแค่ทำตามหน้าที่เพราะผมได้ใช้เวลาส่วนตัวไปมากกับการเรียนรู้ในสาขาวิชาที่ตัวเองสอน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกของชุมชนต่าง ๆ ที่ผมได้รับเชิญไปเข้าร่วม”

การเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนของตนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ครูแต่ละคนได้สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในห้องเรียนของตน ทำให้นักเรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและกล้าแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มีภูมิหลังเป็นคนชายขอบตามมาตรฐานการศึกษาแบบเก่าที่ไม่เท่าเทียม อย่าง Cedric ที่ท้าทายให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นด้วยการวางโจทย์ที่ยากมากๆตั้งแต่ต้นคาบเรียน ครู Kirstin มักกระตุ้นให้นักเรียนของเธอแก้ไขงานจนกว่าจะสมบูรณ์แบบ ส่วนนักเรียนของ Martha ก็สนุกกับเกมและการสวมบทบาทต่างๆในละครเพื่อฝึกให้การร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้ตนเองเครียดหรือกังวล นักเรียนของ Ronnie ลงบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ไปสำรวจสิ่งแวดล้อม วาดรูป ความคิดเห็น และบทความต่าง ๆ ไว้ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้เหล่าครูยังได้สอนนักเรียนของตนในเรื่อง “Justice History” ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ความไม่เป็นธรรมที่นักเรียนและชุมชนของตนได้รับ ยกตัวอย่างเช่นนักเรียนของ Ronnie ที่เล่าถึงผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งของตนเมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้น สำหรับพวกเราทุกคนแล้ว การเรียนการสอนคือปฏิสัมพันธ์และการสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้นั้นสำคัญเท่า ๆ กับตัวหลักสูตรเอง

ความรู้สึกห่วงใยต่อสวัสดิภาพของนักเรียนของครูอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพความเป็นครูของพวกเขาได้เช่นกัน มีนักสิ่งแวดล้อมหลายคนที่เคยประสบภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนด้วยตนเองและทำให้เกิดความเครียด สิ่งนี้ก็อาจเกิดกับครูผู้สอนวิชานี้ได้ด้วย ดังนั้นครูจะต้องแก้ปัญหาของตนด้วยการช่วยนักเรียนของตนสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนทั้งทางกายภาพและจิตใจ

สร้างความหวังและศักยภาพให้แก่นักเรียนด้วยการสอนนอกห้องเรียน

ภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่การสร้างความหวังและศักยภาพด้วยกลยุทธ์การสอนชั้นสูงอาจกระตุ้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ครูแต่ละคนต่างก็ใช้กลยุทธ์ที่ช่วยให้นักเรียนตระหนักว่าพวกเขาสามารถสร้างความแตกต่างได้ เช่นการสร้างหลักสูตรโดยบนสิ่งที่นักเรียนสนใจ ยกตัวอย่างเช่นครู Eva วางเอาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนและความมั่นคงอาหารไว้ที่จุดศูนย์กลางและให้นักเรียนศึกษาว่าฤดูกาลและสภาพฝนฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่ใช้ในการประกอบอาหารจานโปรดของนักเรียนได้อย่างไร ส่วนนักเรียนของ Denise ก็นำเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแต่งเป็นเนื้อเพลงและติดตามกระบวนการร่างกฎหมายอากาศสะอาดของประเทศ และนักเรียนของ Abe ได้ประกอบโลกจำลองขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงจากข้อมูลวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม กรณีต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความสนใจของนักเรียนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติการที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความเป็นธรรมในที่สุด

ประการที่สอง หลักสูตรควรสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างชุมชนในระดับท้องถิ่นและสากล เชื่อมโยงนักเรียนเข้ากับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของพวกเขา สิ่งสำคัญคือต้องพาพวกเขาออกไปข้างนอก ไปทำกิจกรรมเช่นช่วยสังคมกำจัดพืชหรือสัตว์ต่างถิ่น รวบรวมข้อมูล หรือกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆในพื้นที่ เช่นนักเรียนของ Carl ที่ศึกษาสนามหญ้าในเขตชานเมืองและพบความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ของการมีสนามหญ้าหน้าบ้านกับวัฒนธรรมชนชั้น ส่วนนักเรียนของ Kirstin ส่งรายงานเกี่ยวกับสถานที่ที่ตนเองชอบไปเยี่ยมบ่อยๆในธรรมชาติทุกเดือนและสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การใช้ที่ดินที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง

ประการที่สาม ใช้โครงการเรียนรู้จากปัญหา ให้ข้อมูลแก่นักเรียนและสังเกตว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง เช่นนักเรียนของ Sara ที่ใช้ฐานข้อมูลแห่งชาติ คลังข้อมูล และกรณีศึกษาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมของภาวะโลกร้อน นักเรียนของ Margo พัฒนาความสามารถในการอ่านข้อมูลของตนด้วยการเรียนรู้ตัวแปรต่างๆและตั้งคำถามต่อข้อมูลอุตุนิยมวิทยา นักเรียนของ Tanya สวมบทบาทในการประชุมความเป็นธรรมทางภูมิอากาศและนำเอาแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนในชีวิตจริงมาย่อส่วนใช้ในระดับปัจเจก การจำลองสถานการณ์เช่นนี้ในหลาย ๆ ชั้นเรียนทำให้นักเรียนสามารถสร้างต้นแบบนโยบายด้านโลกร้อนด้วยการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตจากข้อมูลปัจจุบันได้ กรณีเช่นนี้ทำให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนปฏิบัติการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ประการต่อมา ครุควรกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้จากการแก้ปัญหาและช่วยให้นักเรียน “มองภาพใหญ่แต่ลงมือทำในส่วนที่เล็ก ๆ” การมุ่งเน้นการเรียนรู้จากบริบทในพื้นที่จะทำให้นักเรียนสามารถวางแผนงานและบริการโครงการได้ง่ายในขณะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและสร้างความหวังด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่นครู Ronnie and Sarah ได้บริหารโครงการเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียน ครู Carl ใช้หลักสูตรวิชาพฤกษศาสตร์ออกแบบและฟื้นฟูสนามหญ้าและสวนรอบๆพื้นที่โรงเรียน และนักเรียนของครู Margo เรียนรู้ด้วยการเข้าพบสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ครูส่วนหนึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนนักเรียนในการลงมือปฏิบัติงานในพื้นที่เล็กๆ เช่นนักเรียนของ Kirstin ที่สร้างกำแพงดูดซับความร้อนที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ประจำเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้การทำเส้นทางรถจักยานในเมืองทำให้อากาศในเมืองร้อนขึ้น ส่วนนักเรียนของ Denise ก็สร้างสวนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นในโรงเรียน บ้างก็ออกแบบข้อความประกาศผ่านเสียงตามสายในชุมชนหรือติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายโลกร้อนที่อยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ทำให้งานของพวกเขาขยายตัวออกไปยังวงกว้างขึ้นในสังคม

เราจะเริ่มต้นตรงไหนดี?

ครูไม่จำเป็นต้องออกแบบหลักสูตรความเป็นธรรมทางภูมิอากาศขึ้นมาใหม่โดด ๆ แต่การนำเอาการศึกษาเรื่องศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นธรรมทางภูมิอากาศขึ้นมาเป็นมาตรฐานจะเปิดโอกาสให้นักเรียนรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่เป็นธรรม และทำให้นักเรียนสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในสังคมและนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมทางภูมิอากาศได้

เราเริ่มต้นด้วยการกำหนดพื้นที่ในหลักสูตร ตามมาด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติในแต่ละบริบทพื้นที่ ครูพบว่าเมื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนค้นหาแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนในบริบทพื้นที่ของตนเองจะทำให้เกิดการลงมือทำที่ให้ผลลัพธ์ดียิ่ง ขั้นตอนต่อมาให้ครูสอนให้นักเรียนกำหนดผลลัพธ์ที่เป็นภาพใหญ่ไว้ในใจ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้ออย่างการศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ แต่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ได้ดีขึ้น

ต่อมาให้ครูเชื่อมโยงนักเรียนเข้ากับนักเรียนคนอื่นๆและสมาชิกชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน ค้นหาองค์กรไม่แสวงผลกำไร คณะประชาชน เทศบาล หรือโรงเรียนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและ/หรือความเป็นธรรม ตามที่ครู Ronnie ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เราติดต่อกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการศึกษา การขับเคลื่อนนโยบาย และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานร่วมกับนักขับเคลื่อนนโยบายอย่างใกล้ชิด และนักเรียนก็ได้เรียนรู้ว่ากลุ่มผลประโยชน์มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองอย่างไร และทำไมกฎหมายบางฉบับจึงผ่านง่ายกว่าฉบับอื่น” นอกจากนี้ครูยังสามารถขอทุนจากมูลนิธิหรือบริษัทเอกชนในพื้นที่มาสนับสนุนโครงการของเด็กๆ และสุดท้ายการทำงานร่วมกับครูคนอื่นๆในแผนกเดียวกันหรือแม้แต่ต่างแผนกก็สามารถพัฒนาความสามารถในหารแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนได้

ครูอาจมองหาความรู้ที่นอกเหนือไปจากการศึกษาในกระแสหลัก ซึ่งได้แก่ภูมิปัญญาชาวบ้านและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อออกแบบแนวทางแก้ไข งานเขียนอย่าง Braiding Sweetgrass ของ Kimmerer (2015) และ The Trouble with Wilderness ของ Cronon,(1995) ให้ความรู้ที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับนิเวศวิทยา การรีไซเคิล กระบวนการผลิตและใช้พลังงาน และกิจกรรมของมนุษย์ สำหรับให้นักเรียนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ประการสุดท้าย ขอให้ครูไม่ลืมที่จะแสดงความยินดีต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น เรื่องราวของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอาจช่วยให้นักเรียนทำงานโครงการของตนได้แต่ก็เป็นตราบาปให้แก่เหยื่อความไม่เป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ครูจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการแชร์เรื่องราวที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ ยกตัวอย่างเช่นนักเรียนของครู Abe ที่ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายสุขภาวะของระบบนิเวศในแม่น้ำบรองซ์ทำให้มุมมองของนักเรียนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือพวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมในปัญหาและต้องการร่วมแก้ไขมันมากขึ้น ส่วนชั้นเรียนสมุทรศาสตร์ของครู Martha ก็นำเอาแนวคิดความเป็นธรรมมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ทั้งชั้นก็จะแสดงความยินดีร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ทั้งครูและนักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง

บทสรุป

ในยุคแห่งความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าเรา นักเรียนจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจะต้องเข้าใจสถานการณ์ทางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้ ยังต้องมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการกระทำในชีวิตประจำวัน การรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล และการจัดการกับความทุกข์ทางอารมณ์ที่เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อมและความอยุติธรรม การใช้กรอบการทำงานการพัฒนาหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของเราทำให้ความสามารถของนักเรียนในการฝึกฝนวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงและการแก้ปัญหามีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ใช้การกระทำเพื่อปกป้องนักเรียนและครูจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศ การสอนในลักษณะนี้ ตามคำพูดของครู Tanya คือ “การวางกรอบการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศ ในแง่บวกและความหวัง “ความตั้งใจของฉันคือการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนของฉันเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในขณะที่ผลักดันพวกเขาให้ห่างจากความรู้สึกสิ้นหวังที่ไร้ความสามารถ” สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจและเข้มข้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับนักเรียนในด้านพลเมือง การเรียนรู้เชิงสัมพันธ์ การคิดร่วมกัน และการสื่อสาร สร้างช่องทางสำหรับการกระทำและผลกระทบส่วนบุคคลที่กว้างไกลออกไปนอกห้องเรียนอีกด้วย

Scroll to Top