THAI CLIMATE JUSTICE for All

ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมได้จริงต้องเริ่มจาก การรื้อโครงสร้างความคิด ทั้งในระดับคนทำงานเชิงนโยบาย และระดับชุมชน ต้องเชื่อก่อนว่า “เด็กมีศักยภาพ” และ “เด็กควรได้รับอำนาจบางส่วนในการตัดสินใจ”

ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เขาพบเจอกับภาพใหญ่ของปัญหา หรือรู้สึกว่าตนเองมีพลังในการลงมือทำอะไรบางอย่างได้ 

คุณณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและการเรียนรู้ Thai Climate Justice for All (TCJA)

จากประสบการณ์การทำงานในสายงานนี้ ดิฉันพบว่า “อคติ” และ “ความเชื่อ” เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้คน โดยเฉพาะในการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หลายครั้งเราจะเห็นการเปรียบเทียบที่สร้างแรงกดดัน เช่น “เธอกินคลีน กว่า” “เธอเขียวกว่า” หรือ “เธอแยกขยะได้ดีกว่า” ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับทำให้ผู้ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้รู้สึกผิด  

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเบื้องลึกของปัญหา คือ ความเชื่อและทัศนคติที่สังคมมีต่อการกระทำเหล่านี้ หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความเชื่อภายในของผู้คน

เมื่อพูดถึงเยาวชน เราพบว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มถอยห่างจากศาสนาซึ่งเป็นแหล่งความเชื่อดั้งเดิมที่เคยสอนให้เราเป็นคนดีและดูแลธรรมชาติ อัตราของผู้ที่ไม่นับถือศาสนา 

(Atheist) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่กำลังพัฒนาระบบความเชื่อของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างจากอดีต

ความเชื่อแบบใหม่เหล่านี้อาจไม่ยึดโยงกับศาสนา แต่ยังสามารถเป็นรากฐานที่สำคัญในการผลักดันพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ หากเราสามารถปลูกฝังความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การสร้างพื้นที่ให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติ ใช้ประสาทสัมผัสในการเชื่อมโยงความรู้สึกกับสิ่งแวดล้อม และให้ความหมายใหม่ ๆ กับธรรมชาติในแบบที่สอดคล้องกับโลกทัศน์ของเขา

แนวทางเช่นนี้จะสามารถนำไปสู่การ “เปลี่ยนแปลง” แม้ในระดับพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนทั่วไป และอาจส่งผลให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีวิธีคิดและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น

ดิฉันมองว่านี่คือสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การผลักดันอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้เยาวชนมีความสุขกับชีวิตแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย เพื่อจุดประกายให้เกิดการขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่มีความหมายและเป็นพลังร่วมกันได้จริง

การขับเคลื่อนของเยาวชนในการมีส่วนร่วมกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในโรงเรียนและนอกระบบการศึกษาและการมีอำนาจในการขับเคลื่อนของเยาวชนในปัจจุบัน

คุณณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ Thai Climate Justice for All

“หลังจากที่ดิฉันได้พยายามรวบรวมสิ่งที่เคยได้รับฟังมาจากน้อง ๆ เยาวชนหลากหลายกลุ่ม ขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่อยากสื่อสารซึ่งถือเป็นประเด็นที่ดิฉันให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำของโอกาส” ที่เยาวชนในเมืองและเยาวชนในพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านธรรมชาติ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

เยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ควรเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและเสียงในการพูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด เพราะพื้นที่เหล่านั้นคือบ้านเกิดของเขาโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนในเมือง จะพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งในด้านวัฒนธรรม โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร เนื่องจากศูนย์กลางของโอกาสยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

“ นี่จึงทำให้เราเห็นจำนวนเยาวชนจากต่างจังหวัดที่สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ได้น้อยมาก แม้จะมีศักยภาพและความพร้อม แต่โอกาสก็ยังไปไม่ถึงพวกเขา ภาพที่สะท้อนออกมาจึงเป็นว่า เยาวชนที่มีศักยภาพจำนวนมากกลับไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออกหรือพัฒนาตนเองให้เติบโตอย่างเต็มที่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้”

หากเราต้องการให้เยาวชนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของสังคม เราจำเป็นต้องสร้าง “พื้นที่ที่เท่าเทียม” ให้กับเยาวชนทุกคน โดยไม่จำกัดเฉพาะเยาวชนในเมืองเท่านั้น

สำหรับประเด็นถัดมา ดิฉันอยากชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจำเป็นต้องเริ่มจากการ “รื้อโครงสร้างทางความคิด” ด้วยเช่นกัน หากเราอยากเห็นเยาวชนมีบทบาทนำในการเปลี่ยนแปลงสังคม ควรทดลองมอบหมายพื้นที่รับผิดชอบให้พวกเขาได้บริหารจัดการด้วยตนเอง ให้พวกเขาได้ลองผิดลองถูก และรู้สึกภูมิใจในบทบาทของตนเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด สิ่งนี้จะไม่เพียงแต่ช่วยให้เยาวชนเติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงกระเพื่อมที่ช่วยเปลี่ยนความเชื่อหรือวิธีคิดในกลุ่มผู้ใหญ่หรือหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้อยู่เดิมอีกด้วย

ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบเยาวชนในเมืองกับเยาวชนในชนบท จะเห็นว่าเด็กเมืองมักได้รับบทบาทในฐานะนักกิจกรรม นักพูด หรือผู้มีประสบการณ์ในเวทีสาธารณะมากกว่า ส่วนเยาวชนในต่างจังหวัด เมื่อพวกเขาพยายามแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนของตนเอง กลับมักถูกผลักไปสู่พื้นที่แห่งความขัดแย้ง หรือบางกรณีก็ถูกดำเนินคดี

ดังนั้น เราควรมีการออกแบบพื้นที่ปลอดภัยและอิสระให้กับเยาวชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ พัฒนา และกล้าแสดงออกได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อตนเอง

ประเด็นเรื่อง “ความเชื่อ” ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ดิฉันมีโอกาสได้ศึกษาความเชื่อในกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ พบว่าวิถีประเพณีความเชื่อของพวกเขาเริ่มต้นจากความเคารพต่อธรรมชาติทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นตามวิถีของบรรพชน สิ่งเหล่านี้สร้างคุณค่าและผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมาก

ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าเด็กเมืองจำนวนมากเลือกเดินทางไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนว่าแม้พวกเขาจะเติบโตในเมือง แต่ก็ยังโหยหาความเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยให้คุณค่ากับธรรมชาติรอบตัวไม่แพ้กัน

ดังนั้น “พื้นที่กลาง” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทุกภูมิหลังได้เข้าถึงธรรมชาติ ไม่ว่าจะในเมืองหรือต่างจังหวัด จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เพราะธรรมชาติคือรากฐานของความเป็นมนุษย์ และเป็นจุดร่วมที่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันได้

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ทางวัฒนธรรมที่เราอยากเห็น Bangkok Climate Action Week (BKKCAW) มุ่งเน้นและช่วยจุดประกายให้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า

การเป็นพื้นที่อิสระ ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน พื้นที่ที่สลายความเชื่อเดิมที่ปิดกั้นการเรียนรู้และทำให้เกิดแรงผลักดันใหม่  เริ่มต้นจากการทำลายโครงสร้างอำนาจระหว่างรุ่นและวัย  Generation Gap 

เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สำหรับเยาวชนที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลายและประสบการณ์ 

การลดความแตกต่างระหว่างวัยเป็นประเด็นที่น่าพูดคุย เราควรสร้างพื้นที่อิสระ ปลอดภัย ให้เยาวชนไม่ว่าเขาจะมาจากแหล่งใดก็ตาม ให้ได้เรียนรู้พัฒนาตัวตน ความคิด ทักษะ ความสามารถ และขับเคลื่อนร่วมกัน

นอกจากนี้ BKKCAW เป็นพื้นที่นำเทรนด์ใหม่ ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นในสังคม บนรากฐานคุณค่าการเคารพผูกพันกับธรรมชาติ และความเป็นธรรมต่อสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติและสังคม เช่น ปัจจุบัน เยาวชนก็มีบางส่วนหันมาสนใจกิน Plant-based Food เป็นทางเลือกแล้ว เพราะ น้อง ๆ ไม่ชอบกินผักและรู้สึกผิดต่อโลก ดังนั้นเราจะเป็นผู้นำเทรนด์ดี ๆ ให้กับสังคมได้

ครั้งแรกของงานจะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2568 ณ สถานที่สำคัญต่างๆ เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และสวนลุมพินี

เทศกาลด้านสภาพภูมิอากาศประจำปี ที่จัดในเมือง เพื่อปลุกพลังของผู้คนให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

BKKCAW เชิญชวนประชาชน คนทำงานสร้างสรรค์ ชุมชน และสถาบันต่างๆ มาร่วมกันเฉลิมฉลองบทบาทผู้นำท้องถิ่นและพลังของจินตนาการร่วม เพื่อสร้างอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปลอดภัยจากวิกฤตภูมิอากาศและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

งานนี้จัดโดย Just Transitions Incubator (JUTI) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และได้รับแรงบันดาลใจจาก London Climate Action Week (LCAW) ซึ่งเป็นงานด้านภูมิอากาศอิสระที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

BKKCAW ใช้รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น นิทรรศการ การแสดง การทดลองของชุมชน ห้องปฏิบัติการนโยบาย ฯลฯ เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมอย่างสนุกสนาน กล้าคิดกล้าทำ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

นี่เป็นส่วนหนึ่งในงานของ BKKCAW


TCJA (Thai Cimate Justice for All)  เป้าหมายสร้างความตื่นตัวของพลเมืองต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน ให้เกิดเป้าหมาย ความหวัง มีบทบาทปรับตัวต่อผลกระทบได้อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์กิจกรรมและวิถีชีวิตพัฒนาต้นแบบของวิถีสังคมที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม

TCJA (Thai Climate Justice for All) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ Bangkok Climate Action Week (BKKCAW)

 (เรียบเรียง) ไครียะห์ ระหมันยะ communication officer Thai Climate Justice for All

Scroll to Top