
เผยแพร่โดย One Young World
วันที่เผยแพร่ 9 ตุลาคม 2016
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง Dubai Expo awards 2 OYW Ambassadors with top prizes
คงไม่มีคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยใดในโลกที่สอนวิชาทำสัญญาทางธุรกิจกับแม่พระธรณีและสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นแน่ แต่แนวคิดนี้ก็ช่วยให้ Tariq Al-Olaimy ทูตสันติภาพของ One Young World ชนะรางวัลเป็นทุนมูลค่า 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯจากงาน Dubai Expo ด้วยวิสัยทัศน์ที่กระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนรับรองสถานภาพของระบบนิเวศว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและพันธมิตรของโครงการพัฒนาทั้งหลาย
Tariq Al-Olaimy ร่วมกับ Khizr Imran Tajammul ก่อตั้ง Public-Planet Partnerships (PPP) ขึ้นมาเพื่อออกแบบแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลักเพื่อให้มนุษย์สามารถร่วมมือกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆและระบบนิเวศ ซึ่งจะนำไปสู่ “สัญญาฉบับแรกระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริงเข้ามามีบทบาทในความร่วมมือต่างๆ
Tariq เกิดความคิดเรื่อง PPP ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ COP22 ที่โมร็อกโก “สัญญาพันธมิตรระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจึงถูกร่างขึ้นเพื่อความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน” Tariq อธิบาย “คำว่ามนุษย์นั้นรวมถึงภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ และนักวิชาการ และคำว่าสิ่งแวดล้อมนั้นรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆจำนวน 9 ล้านสปีชีส์ และคำว่าพันธมิตรนั้นหมายถึงความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน”
ผลงานที่เป็นรูปธรรมของ PPP ได้แก่การ “ร่วมมือ” กับเชื้อราเพื่อออกแบบเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ “ร่วมมือ” กับพวกกบเพื่อเก็บข้อมูลคุณภาพของแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม ผลงานเหล่านี้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบและไม่แพร่หลายไปในสาธารณชนทั่วไป เพราะยังไม่มีใครผลิตเครื่องมือที่จะทำให้ชาวบ้านที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ต่อยอดนวัตกรรมจากการร่วมมือกับธรรมชาติดังกล่าว
หนึ่งในตัวอย่างที่มีชื่อเสียงของการร่วมมือกับธรรมชาติเพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากลได้แก่อ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของเมืองนิวยอร์คที่ใช้ระบบซึมผ่านผิวดินโดยมีแบคทีเรียเป็นตัวช่วยปฏิกิริยาที่มีต้นทุนราว100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีเมื่อเทียบกับระบบกรองน้ำสมัยใหม่ที่มีต้มทุน 8 พันถึง 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี แถมยังช่วยรักษาสารอาหารในดินและไม่กัดเซาะผิวดินจึงไม่เป็นสาเหตุของน้ำท่วม
แนวคิดแก้ปัญหาโดยการร่วมมือกับธรรมชาติเช่นนี้จะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทบทวนเป้าหมาย SDGs ของตนเสียใหม่ เพราะการดำเนินการที่ใช้กันอยู่มีต้นทุนถึงประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีในขณะที่เรามีนิเวศบริการที่มีมูลค่า100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯอยู่ในมือ
นอกจากนี้คู่หูของ Tariq คือ Khizr Imran Tajammul ก็มีผลงานรักษ์โลกที่ไม่น้อยหน้ากัน Khizr ได้ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมชื่อ Jaan Pakistan ที่ช่วยเหลือทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมหุงต้มอาหารที่สะอาดและประหยัดสำหรับคนยากจนและเปราะบางของปากีสถาน “ผู้คนจำนวน 3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงหุงต้มด้วยเตาแบบเปิด ซึ่งเป็นวิธีที่ขาดประสิทธิภาพเพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ
ความสำเร็จของ Jaan Pakistan เริ่มจากการที่ Khizr ส่งระบบเตาต้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าประกวดในงาน Social Startup Competition ในปี 2014 แลฃะชนะเงินรางวัลก้อนแรกเป็นมูลค่า 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ Khizr ใช้เงินก้อนนี้มาพัฒนาเตาหุงต้มอาหารต่อด้วยความตระหนักดีว่าการประกอบอาหารของชาวปากีสถานจะต้องมีคนดูแลใกล้ชิดตลอดเวลาและไม่เหมาะกับเตาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต้องประกอบอาหารกลางแจ้งเท่านั้นเนื่องจากอากาศร้อนมาก
ดังนั้น Jaan Pakistan จึงให้ชาวบ้านทดลองใช้เตาเชื้อเพลิงชีวมวลประสิทธิภาพสูงแต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากลักษณะของเตาไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการประกอบอาหารของชาวปากีสถาน Khizr จึงตระหนักได้ว่าเตาจะต้องออกแบบโดยวิศวกรและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเท่านั้น “และเราโชคดีที่มี Dr. Farid Malik และ Muhammad Ali Chishti ที่ทำงานให้เราเพื่อสังคมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”
หลังจากที่ลองผิดลองถูกถึง 26 ครั้ง Jaan Pakistan จึงได้เตาหุงต้มไร้ควันที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการประกอบอาหารของชนพื้นเมืองของปากีสถานในเดือนเมษายนปี 2017 เป็นเตาระบบปิดที่ไม่ก่อให้เกิดควันที่เป็นพิษต่อร่างกายและปล่อยคาร์บอนต่ำ นอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว เตายังให้ผลพลอยได้เป็นน้ำส้มควันไม้ด้วย จุดอ่อนเดียวของเตาได้แก่เกิดการสะสมของขี้เถ้าปริมาณมากในตัวเตา ผู้ใช้เพียงแต่ต้องทำความสะอาดบ่อยๆด้วยการขูดขี้เถ้าออกแล้วนำไปฝังกลบหรือนำไปทำปุ๋ยต่อไป
เตาหุงต้มไร้ควันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดท้องถิ่น Khizr Imran Tajammul จึงนำเงินรางวัลที่ได้มาจากงาน Dubai Expo มาใช้เป็นต้นทุนผลิตเตาหุงต้มจำนวน 1,300 หน่วยเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นของเมือง Azad Jammu และ Kashmir ในราคาที่ชาวบ้านสามารถหาซื้อได้ และตั้งเป้าที่จะระดมทุนอีก 360,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และเพิ่มเงินลงทุนในตลาดตราสารทุนเพื่อเพิ่มทุนให้เป็น 750,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ สองโครงการนี้ได้นำชื่อเสียงมาให้แก่ Tariq Al-Olaimy กับ Khizr Imran Tajammul มากจนปัจจุบันได้รับแหล่งทุนสนับสนุนถึง 26 แหล่งทุนด้วยกัน