
จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….
เรียน อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Thai Climate Justice for All (TCJA) ทำงานด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เรากังวลต่อแนวคิดเนื้อหาและกระบวนการจัดทำ “ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ….” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศต่อหนึ่งในวิกฤติใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ จากการพิจารณาเนื้อหาอย่างรอบด้าน จึงใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้แผนแม่บทฉบับนี้สามารถตอบโจทย์ต่อสถานการณ์จริงของโลกและประเทศไทยอย่างเป็นธรรม ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ดังนี้
1. ปัญหาเชิงโครงสร้าง โลกทัศน์ ความไม่เป็นธรรม และการขาดการมีส่วนร่วม
- แนวคิดเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ที่ปรากฏในแผนฯ ยังจำกัดเพียงการกระจายผลประโยชน์ โดยไม่ได้กล่าวถึง ภาระความรับผิดชอบที่แตกต่าง (Common But Differentiated Responsibilities) ระหว่างผู้ก่อวิกฤติ (เช่น อุตสาหกรรมพลังงานรายใหญ่) กับผู้ได้รับผลกระทบ (เช่น ชาวบ้าน ชุมชนเปราะบาง คนยากจน)
- สิทธิชนพื้นเมือง สิทธิชุมชน และสิทธิประชาชนในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ได้ถูกยกเป็นหัวใจของแผน ทั้งที่เป็นหลักสากลของความตกลงปารีสและข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออลด้านความหลากลายทางชีวภาพ และหลักรัฐธรรมนูญไทย
- กระบวนการจัดทำแผนแม้อ้างใช้เครื่องมือ PESTEL แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ผู้หญิง เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนในระบบนิเวศต่าง ๆ เกษตรกรรายย่อย คนยากจน ซึ่งพวกเขาแม้จะได้รับผลกระทบสูง แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้อง ฟื้นฟูนิเวศเพื่อสร้างสมดุลระบบนิเวศและภูมิอากาศ
2. การวิเคราะห์สถานการณ์: ไม่สอดคล้องต่อข้อเท็จจริง ละเลยรากปัญหา
- การกล่าวว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.91% ของโลก เป็นการลดทอนบทบาทความรับผิดชอบของไทยในเชิงต่อหัวประชากรและการปล่อยต่อ GDP
- ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 53% ในช่วงปี 2000–2022 โดยภาคพลังงานเพิ่มขึ้นถึง 65% แต่แผนกลับไม่วางเป้าหมายเลิกฟอสซิลอย่างจริงจังให้สอดคล้องกับข้อเสนอ IPCC ที่เสนอให้ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43 % ภายในปี 2030
- การวิเคราะห์การปล่อยในภาคเกษตรและของเสียยัง ไม่ชี้ชัดถึงต้นตอปัญหาเชิงระบบ เช่น ระบบอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การขยายเมือง และการจัดการขยะภาคอุตสาหกรรม
3. ร่างแผนฯ ไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมสภาพภูมิอากาศ
- ร่างแผนไม่ได้อ้างอิง หลักการสำคัญของความตกลงปารีส มาตรา 6.8 ว่าด้วย การลดการปล่อยนอกกลไกตลาด และ หลักสิทธิในสภาพภูมิอากาศ
- แผน NDC และ LT-LEDS ของไทยยังอิงกับเป้าหมายที่คลุมเครือและมีเงื่อนไข โดยไม่มีรายละเอียดของการเปลี่ยนผ่านพลังงานและระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืน
- แผนการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NAP) ยังไม่แยกแยะกลุ่มเปราะบางตามหลัก “climate justice” และยังไม่ตอบโจทย์ การส่งเสริมศักยภาพการปรับตัวของชุมชน บนฐานสิทธิและวัฒนธรรมท้องถิ่น
4. กลไกการเงินและตลาดคาร์บอน: เครื่องมือที่ไม่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและนำไปสู่การฟอกเขียว
- การออกแบบกลไกการเงิน มุ่งเน้นเอื้อภาคเอกชนผ่านกลไกตลาดคาร์บอน เช่น คาร์บอนเครดิต โดยไม่มีระบบป้องกันการฟอกเขียวและสร้างความรับผิดชอบ และยังไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนหรือกลุ่มเปราะบางเข้าถึงกองทุนและการสนับสนุนด้านต่างๆได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
- โครงการที่เข้าถึงกองทุนสีเขียวระดับโลก (GCF) กลับ กระจุกอยู่ในหน่วยงานรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ใช่ชุมชน ประชาชน คนยากจนที่กำลังเผชิญกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ควรเป็นเครื่องมือประชาธิปไตยกลับ รวมศูนย์อำนาจ ส่งเสริมตลาดคาร์บอนที่เสี่ยงฟอกเขียว และละเลยสิทธิชุมชน และไม่ได้ร่างโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
5. ข้อเสนอเชิงนโยบายและปรับปรุงร่างแผนแม่บท
5.1 จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บทฯ เสียใหม่ เพราะการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน
แม่บทฯ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 และร่างพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ…..เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม เพราะทั้งกรอบเวลาและเนื้อหาการรับฟังที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
5.2 เปลี่ยนกรอบคิดหลักจาก “การเติบโตอย่างยั่งยืน” สู่ “การลดการเติบโตบางภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือน
กระจกเป็นหลักและกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชน โดยเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจ สังคมให้สอดคล้องกับความสามารถของระบบนิเวศและวิถีชุมชน” จาก “คาร์บอนต่ำ” สู่ “สิทธิในสภาพภูมิอากาศที่ดี ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านสังคมให้เกื้อกูลกับระบบนิเวศธรรมชาติ”
5.3 ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เศรษฐกิจ สังคมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและยั่งยืน
- กระจายอำนาจการตัดสินใจให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิในการจัดการสภาพภูมิอากาศในวิถีนิเวศวัฒนธรรม
- ยกเลิกโครงการที่ส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุน พลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนเป็นเจ้าของ แทนพลังงานขนาดใหญ่
- เปลี่ยนผ่านการเกษตรพาณิชย์ อุตสาหกรรมอาหารบนฐานโปรตีนสัตว์ ไปสู่เกษตรนิเวศ และระบบอาหารบนฐานโปรตีนจากพืชท้องถิ่น
5.4 สร้าง Climate Justice Education
- บรรจุการเรียนรู้เรื่องวิกฤติภูมิอากาศผ่านมุมมองความเป็นธรรมลงสู่ระบบการศึกษาทุกระดับ
- ให้ชุมชนท้องถิ่น เยาวชน และกลุ่มเปราะบางมีบทบาทนำในการพัฒนาเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้
5.4 ยอมรับสิทธิชุมชนและชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากร
- เคารพสิทธิในการใช้ที่ดิน ป่าไม้ ทะเล และแม่น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพของชนเผ่าพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น
- หยุดใช้กลไกคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท และต้อง สร้างกลไกการฟังเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจริง
ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “แผนแม่บท” ที่กล้าหาญ ซื่อสัตย์ต่อความจริง และยึดหลักความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแผนที่สวยงามในเชิงเอกสาร แต่เป็นแผนที่สามารถ พลิกโครงสร้างปัญหาและฟื้นพลังของประชาชนในการร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ
ด้วยความห่วงใยต่อธรรมชาติ สังคมโลก และสังคมไทย
Thai Climate Justice for All
5 กรกฎาคม 2568

(ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568)
อ่าน (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568) ฉบับเต็ม https://online.pubhtml5.com/czpyf/ebsw/?fbclid=IwQ0xDSwLRtb1leHRuA2FlbQIxMQABHr0NOGcy7os3huB9qCi9wQDLe4IXR1hNFuKHe_jAf-AM7XlMDtzRpRBAT9Sl_aem_y_wXjq86tISJ7r2jQBXm5g