
พืชพรรณเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา อากาศชื้นแฉะ และฝูง “หนอนบุ้ง” ตัวดำขนขาวนับร้อยนับพันที่คลานเรียงรายตามต้นไม้และพื้นดิน สัญญาณจากธรรมชาติว่า บ้านแม่ยางมิ้น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีม Thai Climate Justice for All และ IMPECT ได้เดินทางกลับมาที่ชุมชนพี่น้องปกาเกอะญออีกครั้ง เพื่อจัดเวที “พัฒนาและจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีส่วนร่วม” จุดมุ่งหมายหลักคือการเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน พร้อมพัฒนาแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับบริบทจริงของชุมชน
กิจกรรมครั้งนี้ต่อยอดจากเวทีเมื่อเดือนเมษายน ที่ตัวแทนชุมชนได้ร่วมกันออกแบบเครื่องมือเก็บข้อมูล และในช่วงเกือบสองเดือนที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทรัพยากรในป่าชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์และจัดทำแผนร่วมกัน โดยแยกออกเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ากับทรัพยากรที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นฐานในการออกแบบแผนการปรับตัว
แม้จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านยุ่งกับงานไร่งานสวน และสามารถจัดกิจกรรมร่วมกันได้เพียงวันเดียว แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลโดยชุมชนเอง ตามด้วย กฤษฎา บุญชัย นำทุกคนวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงใน 6 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และสุขภาพ จากนั้นร่วมกันแบ่งกลุ่มเพื่อระดมแนวทางการปรับตัวใน 3 ระยะ ได้แก่ การรับมือเฉพาะหน้า การวางแผนระยะยาว และการย้อนกลับไปหาแนวทางดั้งเดิมที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชน
ถัดจากนั้น ทนงศักดิ์ จันทร์ทอง นำทุกคนร่วมกันต่อยอดข้อมูลวิเคราะห์ ไปสู่การออกแบบแผนปฏิบัติการ ว่าจากปัญหาที่ระบุไว้ ชาวบ้านควรทำอะไร เมื่อไร ใครจะรับผิดชอบ และต้องการการสนับสนุนจากใครบ้าง ได้เป็นร่างแผนเบื้องต้นที่พร้อมนำไปต่อยอดในอนาคต
ก่อนจบกิจกรรม ณัฐธิดา รัตนสวัสดิ์ ได้ชวนทุกคนพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง “สิทธิของธรรมชาติ” แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่อยู่กับป่ามาทั้งชีวิต แต่กลับเป็นเรื่องท้าทายเมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากนโยบายรัฐ เช่น การห้ามเผาในไร่ ทำให้จำเป็นต้องใช้สารเคมีแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติที่พวกเขาผูกพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเช้าวันสุดท้าย ก่อนเราเดินทางกลับ พ่อหลวงและทีมชุมชนได้นำทางเดินเท้าสำรวจป่าใช้สอยของชุมชน ระหว่างเดินก็พลางได้ยินเสียงแนะนำพืชสมุนไพรที่แฝงสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางอาหาร ใบไม้ที่เราอาจเคยมองข้ามเวลาเดินทางผ่าน กลับเป็นพืชพื้นถิ่นที่เป็นรากฐานของความมั่นคงทางอาหารของคนที่นี่
กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงมอบเครื่องมือให้กับชุมชนในการวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ แต่ยังเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยน และร่วมสร้างความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน











