ผู้วิจัย : ณัฐกานต์ อัครพงษ์พิศักดิ์, สร้อยมาศ รุ่งมณี
ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเกิดขึ้นมากว่าครึ่งศตวรรษ โดยทวีความเข้มข้นขึ้น เรื่อย ๆ นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2007 ที่รายงานฉบับที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุอย่างชัดเจนว่าสภาวะโลกร้อนขึ้นเป็นเรื่องจริง อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยน้ำมือมนุษย์ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มีความหลากหลาย ทั้งการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับเวทีการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) หรือ COP และการเคลื่อนไหวของคนในภาคประชาสังคมที่เข้าไปมีบทบาทในเชิงการเมืองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยวิธีการรวมกลุ่มรณรงค์ ประท้วง หรือผลักดันนโยบายตามช่องทางต่าง ๆ และได้เชื่อมโยงกิจกรรมของตนเข้ากับการเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้ามชาติ รวมถึงบางขบวนการเคลื่อนไหวเน้นย้ำมิติด้านความเป็นธรรมและการเมืองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโต้แย้งว่าประเทศกำลังพัฒนา ประชากรที่มีรายได้น้อย และชนพื้นเมืองมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
โครงการวิจัยนี้สำรวจตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก เพื่อถอดบทเรียนเป็นแนวทางให้กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ได้แก่ 1) ขบวนการป่าฝนโลก (the World Rainforest Movement: WRM) ซึ่งเป็นขบวนการที่เริ่มต้นในประเทศฝ่ายใต้โดยเคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ 2) ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future: FFF) เป็นขบวนการที่ริเริ่มโดยเยาวชนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงปี ค.ศ. 2016-2019 ที่สามารถระดมการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของประชาชนทั่วโลกในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) ขบวนการขบถต่อต้านการสูญพันธุ์ (Extinction Rebellion: XR) เป็นขบวนการต่อสู้ที่เริ่มต้นในประเทศอังกฤษช่วงปี ค.ศ. 2018 ที่เคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืน ท้าทายระบอบคณาธิปไตยและทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ โดยในแต่ละขบวนการข้างต้น ผู้เขียนได้ทบทวนความเป็นมา องค์ประกอบ รูปแบบ ยุทธวิธี และประเด็น ในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้ง 3 ขบวนการข้างต้นจัดว่าเป็นขบวนการที่มีประสบความสำเร็จในแง่การเป็นที่รู้จัก การชิงพื้นที่สื่อมวลชน และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หรือการสร้างกลไกและกระบวนการใหม่ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบการเมือง
รายงานวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการ : ประชาสังคมเปลี่ยนผ่านภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
ข้อตกลงที่ 67-E1-0250 รหัสโครงการ 67-00325
สนับสนุนโดย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (มทพ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผู้วิจัยหวังว่ารายงานฉบับนี้อาจมีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และขบวนการสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้ตระหนักถึงวิกฤติที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกันด้วย
อ่านโครงการวิจัยฉบับเต็มได้ที่
Climate-movements-Nattakant-and-Soimart