
Thai Climate Justice for All (TCJA) เกิดขึ้นในปี 2564 จากการรวมตัวขององค์กรประชาสังคม และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ก่อตั้งประกอบด้วย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า มูลนิธิอันดามัน และนักวิชาการอิสระ เช่น รศ.ประสาท มีแต้ม คุณศุภกิจ นันทะวรการ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 2
TCJA เห็นว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและเร่งด่วนที่สุดที่มนุษยชาติเผชิญ ผ่านรูปธรรมปัญหาที่กำลังเผชิญได้แก่ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระบบนิเวศผันผวน ความแห้งแล้ง ภาวะโรคระบาดอย่างกรณีโควิด ปัญหามลภาวะทางอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมโทรม เกิดความไม่มั่นคงอาหาร ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ การแย่งชิงทรัพยากร กระทบต่อเศรษฐกิจ สร้างปัญหาความยากจนรุนแรง โดยเฉพาะประเทศไทยเอง ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
รากฐานปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากระบบทุนนิยมเสรีบนฐานอุตสาหกรรมและพลังงานฟอสซิล ที่สร้างการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม ทำลายระบบนิเวศ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล การเปลี่ยนแปลงวิถีบริโภคที่ใช้ทรัพยากรมากขึ้น โดยผลักภาระและผลกระทบไปสู่สังคม กลุ่มคนยากจน คนด้อยโอกาสซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ แต่มีการใช้ทรัพยากรน้อยกว่ากลุ่มอื่น กลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด ทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนยังเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงถึงเพียงนี้ แต่ในสังคมไทยยังมีการตื่นตัวและขับเคลื่อนกันน้อยมาก สาเหตุอาจจะเพราะ หลายคนเห็นว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่ไกลตัว ประเทศไทยไม่ได้เป็นสาเหตุหลัก หลายคนไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาที่เผชิญชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาปากท้อง ปัญหาสุขภาพ ปัญหามลภาวะต่างๆ ปัญหาโรคระบาดมีความเชื่อมโยงกับสภาวะโลกร้อน และที่สำคัญหลายคนไม่เห็นความหวังที่จะกอบกู้วิกฤติดังกล่าวได้ ทำให้สังคมไทยขาดการวางแผน ตั้งรับ ปรับตัว และสร้างบทบาทเชิงรุกในการกอบกู้วิกฤติโลกร้อน ปล่อยให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
TCJA จึงมีเป้าหมายสร้างความตื่นตัวของพลเมืองต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน ให้เกิดเป้าหมาย ความหวัง มีบทบาทปรับตัวต่อผลกระทบได้อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์กิจกรรมและวิถีชีวิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาต้นแบบของวิถีสังคมที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม
เพื่อให้เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รวมพลังจากทุกภาคส่วน บนฐานแนวคิดความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม ขับเคลื่อนด้วยการรณรงค์สื่อสารทางสังคม พัฒนางานวิชาการ พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม สร้างทางเลือกและทางออกที่เหมาะสมแต่และกลุ่มสังคม เสริมความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่นและพลเมือง ส่งเสริมการขับเคลื่อนเยาวชนคนรุ่นใหม่
ขอเชิญชวนประชาชน พลเมือง ภาคส่วนต่างๆ ที่มุ่งมั่นอยากกอบกู้โลกให้พ้นวิกฤติโลกร้อน มาขับเคลื่อนกับ TCJA ด้วยกันครับ
ดร.กฤษฎา บุญชัย