THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share


เขียนโดย Pradip Swarnakar
ลงใน Oxford Scholarship Online
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพโดย Sherwin Crasto



ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอินเดียเนื่องจากประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศสูง แนวทางในแก้ปัญหาโลกร้อนในอินเดียนั้นส่วนมากมาจากรัฐบาล และมีองค์กรเพื่อสังคมหรือ Civil Society Organizations (เทียบได้กับ NGO ในประเทศไทย) มีส่วนร่วมในการร่างนโยบายและนำไปปฏิบัติ อินเดียมีองค์กรเพื่อสังคมจำนวนมากที่ทำงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่หลากหลาย โดยเน้นไปที่การแก้ไขสภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องมีการดำเนินการตั้งแต่การสนับสนุนนโยบายและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงการปรับตัวชุมชนและระดมความร่วมมือในระดับรากหญ้า

ในขณะที่ NGO กำลังดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้นั้น การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศอินเดียนั้นแตกต่างออกไป คือการมุ่งเน้นแนวทางที่เรียกว่า ‘สิ่งแวดล้อมสำหรับคนยาก’ ที่เกิดจากเสียงประท้วงจากชนกลุ่มน้อยที่ต้องพึ่งพาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้และแม่น้ำเป็นหลักในการดำรงชีพ การประท้วงนี้เพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อน ตัดไม้ทำลายป่า และการทำเหมืองแร่ของรัฐบาล ในยุค 1990 นั้น เมื่อมีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกต่างๆอย่างเช่นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและการสูญพันธ์ของพืชและสัตว์บางประเภทที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย นักสิ่งแวดล้อมชาวอินเดียยังลังเลใจที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้านแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะ อินเดียมีความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศมากกว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ NGO ในประเทศอินเดียจึงสนใจเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาเมืองและชนบท เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ส่วนแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคนยากนั้นยังสร้างความสับสน ทว่าเรื่องโลกร้อนนี้ก็ได้ผลักดันให้นักสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมวงการเมืองอย่างเต็มตัว

ดังนั้น ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือโอกาสที่จะขยายขอบเขตงานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับ NGO ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในอินเดีย อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ใช้แก้ปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและการสูญพันธ์ของพืชและสัตว์บางประเภทอาจแตกต่างออกไป โดยหลักการสิ่งแวดล้อมสำหรับคนยากนั้นสามารถสร้างกรอบแนวคิดที่มีประโยชน์ในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนได้ ในด้านการดำเนินการแก้ไขปัญหาในอินเดียนั้น NGO มีบทบาทที่สำคัญสองประการ ประการที่หนึ่ง บทบาทในการเชื่อมโยงลักษณะและข้อเท็จจริงระดับชุมชนเช้ากับนโยบายบรรเทาปัญหาของรัฐบาล ประการที่สอง บทบาทในการสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจที่ปราศจากการเผาไหม้พลังงานถ่านหิน อย่างไรก็ตาม NGO อาจทำให้ความชอบธรรมของตนนั้นอยู่ในภาวะเสี่ยง เมื่อพบว่าแนวทางในการแก้ปัญหาโลกร้อนเหล่านี้ขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลและกลุ่มทุน

ภาวะโลกร้อนกับโมเดลต้นคริสต์มาส : โอกาสทางอ้อม

รัฐบาลอินเดียตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ขึ้นในปี 1985 เพื่อปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่าในประเทศตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกตั้งเป็นประเด็นในนโยบายต่างประเทศที่ร่วมรับผิดชอบโดยกระทรวงต่างประเทศ ในปี 2007 จึงได้ตั้งสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ขอบเขตในการจัดการปัญหากว้างขึ้น ครอบคลุมสื่อ ธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) สำหรับ NGO ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในอินเดียนั้น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาประเทศเป็นประเด็นหลักในการทำงานมาเป็นทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้นศตวรรษที่ 21 NGO เริ่มเชื่อมโยงงานที่ทำอยู่เข้ากับประเด็นโลกร้อน ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยโมเดลต้นคริสต์มาส โมเดลต้นคริสต์มาสคือโมเดลที่ให้ทุกคน (รวมทั้ง NGO ด้วย) แขวนลูกบอลกลมที่ตนชอบบนต้นคริสต์มาส เปรียบได้กับการนำเอาประเด็นจากมุมมองของตนเองเข้าร่วมอภิปรายเรื่องโลกร้อน ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พบว่าการดำเนินงานด้านโลกร้อนของ NGO เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของงานด้านสิ่งแวดล้อมของ NGO นี้เรียกว่ากระบวนการ crowding-in ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจาก 5 กลไกโดยนักสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ได้แก่ 1) การขยายตัวของโอกาสทางอ้อม 2) ผลพวงจากการประชุมนานาชาติ 3) เครือข่าย NGO ที่ขยายตัวครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก 4) การขยายผลงานเดิมไปพื้นที่ใหม่และนวัตกรรมใหม่ๆ และ 5) ความกดดันระดับนานาชาติที่ขับเคลื่อนให้รัฐบาลดำเนินการที่สร้างโอกาสให้แก่ NGO

กลไกอันดับแรกได้แก่การขยายตัวของโอกาสทางอ้อม ที่แสดงให้เราเห็นว่าเรื่องโลกร้อนนั้นได้อยู่ในความเอาใจใส่ของนานาชาติ ทำให้ NGO ในประเทศอินเดียได้รับโอกาสในการปรับปรุงขอบเขตการทำงานของตนไปพร้อมกัน อันดับที่สอง การประชุมเรื่องโลกร้อนในระดับนานาชาติ เช่นการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปีโดยสหประชาชาติ หรือ Conference of the Parties (COP) และการประชุมอื่นๆดึงดูดความสนใจของ NGO ในซีกโลกใต้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอินเดีย ให้เข้าร่วม โดยนำเอากิจกรรมที่ตนเองดำเนินงานอยู่กับชุมชนท้องถิ่นมาร่วมอภิปราย อันดับที่สาม เครือข่ายระหว่างบุคคลและองค์กรที่ NGO ของอินเดียสร้างขึ้นเปิดโอกาสให้มีการโยกย้ายทุนและ ‘สร้างความตระหนักถึงประเด็นปัญหาโลกร้อนในระดับนานาชาติในประเทศอินเดีย อันดับที่สี่ NGO อาจยังดำเนินการแบบเดิมเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ในขณะเดียวกันก็สร้างนวัตกรรมด้วย อันดับสุดท้าย กระบวนการ crowding-in ตามด้วยกลไกความกดดันระดับนานาชาติผ่านทางองค์กรระหว่างประเทศต่างๆที่สร้างโอกาสให้แก่ NGO ทั้งระดับประเทศและระดับชุมชน

นักวิชาการให้ความเห็นว่าการร่างนโยบายต่อสู้ภาวะโลกร้อนในอินเดียมักเกิดในกระบวนการเจรจาระดับนานาชาติ ซึ่งทำให้ NGO ของอินเดียได้รับโอกาสเป็นอย่างมากในช่วงปีค.ศ. 2007 เป็นต้นมาในเรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของ NGO ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎข้อบังคับของรัฐบาลของตนเสมอไป ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้ง

การแยกการเมืองออกจากวิทยาศาสตร์ : Climate Sustainability and Climate Justice

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากวงจรคาร์บอนถูกรบกวน ซึ่งหมายความว่ามีคาร์บอนที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะย่อยสลายได้ ปัญหานี้อาจแก้ได้โดยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพหรือเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ ทว่าทุกประเทศไม่ต้องการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิธีที่ทำให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงักหรือคุณภาพชีวิตของประชากรตกต่ำลง ดังนั้นจึงได้พยายามเสาะหาเทคโนโลยีที่จะมาแก้ปัญหา หรือไม่ก็เลี่ยงปัญหาด้วยการปฏิเสธหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนในเชิงวิทยาศาสตร์ หรืออ้างว่าต้องพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ในการเมืองสิ่งแวดล้อมไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ตามความคาดหวังเนื่องจากวิธีแก้ปัญหาที่คิดค้นขึ้นมานั้นมักขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และนักการเมือง ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ แม้ว่าประชาชนจะต้องการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็เกิดคำถามเรื่องความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (ด้านเงินทุน) นักวิชาการได้ให้เหตุผลว่าไม่สามารถแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากผลกระทบทางด้านลบที่มีต่อระบบนิเวศน์ได้

ในการอธิบายถึงกิจกรรมที่ดำเนินการโดย NGO ในประเทศอินเดียนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงการแยกการเมืองเรื่องโลกร้อนออกจากวิทยาศาสตร์ด้วย ในสามทศวรรษที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศได้พิสูจน์แล้วว่าโลกกำลังร้อนขึ้น และถ้าเหตุการณ์นี้ยังดำเนินต่อไป โลกและมนุษยชาติจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยง วิทยาศาสตร์สรุปว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายจะต้องร่วมมือกันลดความเสี่ยงและปรับตัวเอง เครื่องมือต่างๆทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และนโยบายจะต้องนำมาใช้โดยรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และกลุ่มทุน ในเรื่องนี้ กิจกรรมที่ดำเนินการโดย NGO จะช่วยกดดันให้ผู้นำองค์กรต่างๆใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน

ผู้ที่เข้าร่วมในการอภิปรายเรื่องสิ่งแวดล้อมมักจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง เนื่องจากปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่แทรกอยู่ในประเด็นการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลหนึ่งต้องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล รัฐบาลก็จะวางตนเองอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับธุรกิจน้ำมันโดยอัตโนมัติ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมนั้นผลักดันให้ NGO นำเอากลยุทธ์กรอบการดำเนินการด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศมาใช้ ซึ่งมีเป้าหมายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมด้านศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม NGO ที่ทำงานด้านนี้มักจะไม่สนใจการเมืองเนื่องจากพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเช่นรัฐบาลและนายทุน เหตุผลที่เลือกกลยุทธ์นี้มีสองข้อ ข้อแรกคือองค์กรอาจให้ความสำคัญต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับองค์กรระหว่างประเทศเช่น Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ข้อที่สอง องค์กรอาจถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน

สถาบันพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของอินเดีย (TERI) เป็นสถาบันที่เก่าแก่และทรงเกียรติที่สุดในอินเดีย ซึ่งมักมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายและประเมินผลสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆนี้ มี NGO กลุ่มหนึ่งได้เข้าร่วมในการดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐ ในด้านการสร้างโมเดลการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ผู้ก่อตั้งสถาบัน Delhi-based Integrated Research and Action for Development เป็นอดีตสมาชิกของคณะกรรมการวางแผน และมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับร่างนโยบายคาร์บอนต่ำสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังมี NGO อื่นๆเช่น Council on Energy, Environment and Water (CEEW), Center for Study of Science, Technology & Policy (CSTEP), และ Shakti Sustainable Energy Foundation (SSEF), ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของประเทศเป็นพลังงานสะอาด

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

อ้างอิง https://oxford.universitypressscholarship.com/view/10.1093/oso/9780199498734.001.0001/oso-9780199498734-chapter-15


Social Share