THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย แวบือราฮาน ยูโซะ

บ้านสีเขียวที่ทุกคนควรรักษา     เป็นที่มาของสัตว์น้ำนานาชนิด

เหล่าต้นไม้ใบหญ้าให้ชีวิต          ร่วมกันคิดเพื่อรักษาป่าชายเลน

หลายคนคงเคยได้ยิน คำว่า ‘’ป่าชายเลน’’ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมีกิจกรรมปลูกป่าเกิดขึ้นมาเสมอและมีภาพการปลูกให้เห็นโดยทั่วไป ซึ่งบางคนอาจยังคงสงสัย และตั้งคำถามถึงความสำคัญของการปลูกป่า ซึ่งแน่นอน เมื่อขึ้นชื่อว่า “ปลูกป่า” สิ่งนั้นจะต้องมีประโยชน์และให้คุณค่าแก่มนุษย์อย่างมหาศาล

                ป่าชายเลน คือ ระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืช และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ หลายชนิด ที่ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึง ดังนั้นจึงพบป่าชายเลนปรากฏอยู่ทั่วไปตามบริเวณชายฝั่งทะเล บทบาทที่สำคัญที่สุดในป่าชายเลนสำหรับผม คือ ไม้โกงกาง หรือเรียกโดยทั่วไปคือ ป่าโกงกาง นั่นเองครับ ซึ่งในพื้นที่”บ้านท่ากำชำ”ของผมเมื่อไม่นานมานี้ มีความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์ มันเกิดจากความเสียสละของชาวบ้านที่มอบที่ดินบริเวณริมป่าเลนให้เป็นที่สาธารณะ เพื่อขุดลอกทางเดินน้ำ และมีการร่วมมือในการปลูกและรักษาป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ

ย้อนกลับไปผมเกิดและเติบโตมาในพื้นป่าชายเลน บ้านท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ชีวิตในวัยเด็กของผมนั้นก็ล้วนแล้วมีความทรงจำเกี่ยวกับป่าชายเลนอยู่มากมาย เมื่อครั้นที่เป็นวัยเด็ก เวลาว่างหลังจากเลิกเรียน ผมมักจะตามคุณพ่อ ออกไปจับปู หาปลา เป็นประจำ ระหว่างทางก็มักชื่นชมกับธรรมชาติรอบข้างที่เต็มไปด้วยใบไม้สีเขียว แต่ในระยะหลัง ผมเริ่มสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าชายเลน  น้ำในลำคลองลดระดับลง  สัตว์น้ำลดจำนวนน้อยลง ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการปล่อยของเสียลงสู่ลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย และทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อขาดห่วงโซ่อาหารต่อระบบนิเวศในป่าชายเลนที่ผมเห็นที่บ้านของผม

 ผมได้คุยกับนาแว มะลี ชาวประมงที่บ้านผม เล่าว่า เมื่อ10 กว่าปีที่ผ่านมา ป่าชายเลนแถวนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก และสามารถสร้างรายได้  แต่พอถึงภายหลังนี้  กุ้งหอยปูปลาในน้ำลดลง ซึ่งสาเหตุที่สังเกตเห็นคือ เมื่อน้ำขึ้น น้ำจะมาพร้อมกับขี้เลน ทำให้น้ำในคลองตื้น เมื่อน้ำลดปลาจะไปพร้อมกับน้ำเนื่องจากขาดที่อยู่อาศัย และเป็นเหตุทำให้ทรัพยากรลดลงในที่สุด และยังบอกด้วยว่า  ทุกวันนี้รู้สึกได้ว่า อากาศร้อนกว่าสมัยก่อน  อาจเป็นสาเหตุให้ปลาลดลงหรือเปล่า ส่วนใหญ่เดี่ยวนี้เลยออกไปหาปลาช่วงเวลากลางคืนแทน

 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมป่าชายเลนแถวใกล้เคียง พบว่า ป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่ผมเห็นตอนเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมกับมลพิษต่างๆ ขณะที่การออกไปสำรวจป่าชายเลนที่อื่นๆแถวบ้านผมในจังหวัดปัตตานีหรือนราธิวาส ผมก็พบความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายเลน การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน การสูญเสียสัตว์น้ำแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน สิ่งที่ผมทำได้คือการรวมตัวกันกับกลุ่มเพื่อนๆชักชวนกันมาร่วมปลูกป่าและความสำคัญกับป่าชายเลนเพราะหวังว่าวันหนึ่งความสมบูรณ์ของป่า สัตว์น้ำจะกลับมาเหมือนเดิมแบบที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ

แวบือราฮาน ยูโซะ
ผู้ประสานงานเยาวชนบ้านท่ากำชำ
จ.ปัตตานี

ที่มา : https://www.adnews.tv/mangrove_forest/



Social Share