THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย Allen Lane
วันที่ 8 ตุลาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Nicolás Ortega/The Guardian

บางทีชื่อนั่นแหละอาจเป็นต้นตอของปัญหา คำว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกหรือ Climate change ไม่ได้ฟังดูแย่ไปเสียทีเดียว คำว่า Change หรือเปลี่ยนแปลงกลับเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำในโลกที่ก้าวไปไม่ยอมหยุดเช่นนี้ ไม่ว่าเราจะทำดีขนาดไหนก็ตาม ในโลกแห่งธุรกิจยุคใหม่นั้นมีช่องว่างให้เราปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ

ส่วนคำว่า สภาพภูมิอากาศ นั้นก็ไม่ได้ฟังดูแย่อีกนั่นแหละ ถ้าคุณเป็นประชากรของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในซีกโลกเหนือ แนวคิดเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก” อาจไม่ได้ถูกตีความไปในเชิงลบแต่อย่างใด โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง หรือโลกที่อบอุ่นขึ้น มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ คนจึงคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ราบเรียบ และไม่เป็นภัย

ในความเป็นจริงแล้ว สภาพภูมิอากาศโลกไม่ได้เพียงแค่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่เสถียรและแตกสลายอีกด้วย สมดุลอันเปราะบางของวงจรธรรมชาติซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบที่ขับเคลื่อนชีวิตบนโลกกำลังเสียไป และผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ก็อาจหนักหนาสาหัสเพราะว่าโลกเราได้ก้าวข้ามระดับอุณหภูมิที่สูงจนไม่อาจย้อนกลับได้แล้ว และเราก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าหายนะกำลังใกล้เข้ามา แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่กระบวนการก็เร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไฟป่า พายุ คลื่นความร้อน น้ำท่วม เหล่านี้ราวกับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดาวเคราะห์น้อย และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

Stefan Rahmstorf นักสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาได้บันทึกไว้ว่า “เรามีน้ำแข็งขั้วโลกเป็นปริมาณมากพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลขึ้นอีก 65 เมตรหรือเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น ในยุคน้ำแข็งตอนปลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 120 เมตรจากอุณหภูมิผิวโลกที่สูงขึ้นเพียง 5 องศา” ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นและตระหนักถึงความหนักหนาของสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ระดับน้ำทะเลจะไม่เพิ่มสูงขึ้นเพียงไม่กี่เซนติเมตรอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้

พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังละลาย นักวิทยาศาสตร์เรียกพืดน้ำแข็งนี้ว่า “พืดน้ำแข็งแห่งชะตากรรมแห่งแอนตาร์ติกาตะวันตก” รายงานฉบับล่าสุดระบุว่าระดับอุณหภูมิผิวโลกและการละลายของพืดน้ำแข็งแตะถึงระดับที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว รายงานฉบับอื่น ๆ ก็มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งหมายความว่าเราได้ทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากเสียจนถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป หรือใกล้เคียงกับจุดนั้น

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อหยุดกระบวนการนี้ เพราะถ้าเราข้ามเส้นที่ไม่อาจย้อนกลับได้แล้ว เราก็ไม่อาจถอยกลับมาได้อีกก็จริง แต่เรายังสามารถชะลอมันให้เกิดช้าลงได้

“นี่คือ New Normal” เป็นคำที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในสังคมที่สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ลักษณะภูมิอากาศ ไฟป่า พายุ คลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยแล้ง เป็นเรื่องที่ทุกคนกำลังพูดถึงด้วยความกังวล ภัยธรรมชาติเหล่านี้มิเพียงแต่เกิดถี่ขึ้นเท่านั้น ยังรุนแรงขึ้นอีกด้วยราวกับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดาวเคราะห์น้อยและจากผิดธรรมชาติบนโลกมนุษย์

แต่นี่มิใช่ “New Normal” สิ่งที่เรากำลังประสบคือการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เมื่อก่อนนั้นระบบตามธรรมชาติของโลกทำหน้าที่เป็นกันชนรองรับแรงกระแทก และลดความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติลง ทำให้มนุษย์อาศัยอยู่ได้ แต่ระบบอันสำคัญนี้กำลังถูกทำลาย มีหลักฐานว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกลายมาเป็นวิกฤติเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ นักวิจัยหลายคนที่ฉันได้มีโอกาสพูดคุยด้วยบอกกับฉันว่าพวกเขารู้สึกตกใจที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ แต่เนื่องจากการทำนายเหตุการณ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เราจะต้องระวัง บางทีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ

อย่างไรก็ตาม มีคนเพียงหยิบมือที่รู้ว่าควรจะรับมืออย่างไรเมื่อสัญญาณเตือนเริ่มชัดเจนขึ้นในปีที่ผ่าน ๆ มา และจำนวนคนที่รู้ว่าจะสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ยิ่งน้อยลงไปอีก

ดูเหมือนว่าคนส่วนมากเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่เร่งด่วนน้อยกว่านี้ อย่างภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตามเราก็ได้ประจักษ์แล้วว่าวิกฤติสิ่งแวดล้อมกำลังเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ที่นี่ หาใช่ในทศวรรษหน้าไม่

ถ้าทุกคนบนโลกใบนี้ใช้ชีวิตตามวิถีทางของเราในสวีเดน เราคงต้องการทรัพยากรอีกประมาณ 4 เท่าจากที่มีอยู่ และอุณหภูมิเป้าหมายของข้อตกลงปารีสก็คงผ่านเลยไปนานหลายปีแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ว่าคนจำนวน 3 พันล้านคนใช้พลังงานต่อหัวต่อปีน้อยลงเป็นปริมาณเท่ากับพลังงานที่ตู้เย็นใบหนึ่งใช้ทำให้เราเห็นว่าเรายังอยู่ห่างไกลจากความเท่าเทียมกันทางภูมิอากาศหรือ Climate Justice เพียงไร

วิกฤติภูมิอากาศมิใช่สิ่งที่ “เรา” ก่อให้เกิดขึ้น มุมมองกระแสหลักที่ถูกครอบงำโดยสังคมในเมืองหลวงของโลกอย่างสต็อกโฮลม์ เบอร์ลิน ลอนดอน มาดริด นิวยอร์ค โตรอนโต ลอสแองเจลิส หรือซิดนีย์นั้นไม่ได้รับความนิยมมากนักในมุมไบ มะนิลา ไนโรบี ลากอส ลีม่า หรือซานทิเอโก้

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนจะต้องตระหนักว่ายังมีมุมมองต่าง ๆ บนโลกใบนี้นอกเหนือจากมุมมองกระแสหลักอีกมากและเราต้องเริ่มที่จะฟังพวกเขาบ้างแล้ว เพราะว่าในเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมนั้นก็เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ คือ ประชากรในประเทศร่ำรวยยังคงทำตัวเสมือนว่าพวกเขาคือผู้ที่ครองโลก

ถ้าเราใช้งบประมาณคาร์บอน (ปริมาณคาร์บอนที่จะปล่อยได้ภายในเพดานคือ ปล่อยอีกได้ไม่เกิน 360 กิ๊กกะตันภายในปี 2030 จากที่ปล่อยมาแล้ว 600 กิ๊กกะตัน) ที่เหลือ เราก็จะมีโอกาสประมาณ 67% ที่จะช่วยให้การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกอยู่ต่ำกว่า 1.5C ได้ แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น ประเทศในซีกโลกเหนือกลับขโมยอนาคตและปัจจุบันของทั้งผู้คนและเด็ก ๆ ที่อยู่ในประเทศกลุ่มเปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีเพียงโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่โลกเจริญแล้วมองว่าล้าหลัง

การกระทำที่ไร้ซึ่งศีลธรรมเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในโลกที่เรียกตัวเองว่าประเทศพัฒนาแล้ว

การรักษ์โลกเป็นเรื่องที่ตามความสมัครใจ คุณอาจแย้งคำกล่าวนี้ได้จากมุมมองทางศีลธรรม ทว่าข้อเท็จจริงก็ยังคงอยู่ ข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดที่จะบังคับให้ผู้คนลงมือกระทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปกป้องอนาคตของโลกใบนี้

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ สิ่งที่ Beyoncé เคยพูดไว้นั้นเป็นเรื่องที่ผิด สาว ๆ ไม่ใช่คนที่ขับเคลื่อนโลก แต่เป็นนักการเมือง นายทุน และผลประโยชน์ ซึ่งส่วนมากคือชนชั้นอภิสิทธิที่เป็นชายแท้ผิวขาววัยกลางคน และกลายเป็นว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนที่เหมาะสมกับงานที่ตัวเองทำอยู่เสียเลย

ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเป้าหมายของบริษัทเอกชนไม่ใช่การช่วยโลก แต่เป็นการทำกำไรสูงสุดเพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจ

ดังนั้นก็เหลือแต่นักการเมือง พวกเขาเป็นคนกลุ่มที่มีอำนาจที่จะปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ แต่กลายเป็นว่า การช่วยโลกก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสนใจอีกนั่นแหละ

การพิจารณาประเด็นปัญหาเรื่องวิกฤติโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมนั้นเกี่ยวข้องกับการที่เราต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่เราไม่อยากตอบมากมาย การสวมบทบาทของคนที่ต้องบอกข่าวร้ายแก่สังคมแล้วเสี่ยงต่อการเป็นที่ไม่ชอบขี้หน้านั้นไม่ใช่สิ่งที่นักการเมืองต้องการอย่างแน่นอน ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องดังกล่าวให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้จนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว ก็จะหันมาใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และพีอาร์ให้ดูเหมือนว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

ตัวฉันเองนั้นเบื่อหน่ายมากต่อการมานั่งจับโกหก “ผู้นำโลก” เหล่านี้ ฉันอยากจะเชื่อว่าคนทุกคนเป็นคนดี แต่ก็ดูเหมือนว่าเกมแมวจับหนูพวกนี้จะไม่สิ้นสุดลงเสียที

หากเป้าหมายของนักการเมืองคือการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆแล้วละก็ สิ่งแรกที่พวกเขาควรทำได้แก่การหาข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยกันอยู่ในปัจจุบันเพื่อประเมินขนาดของปัญหา เพื่อให้ได้ไอเดียเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำ และระยะเวลาดำเนินการ แล้วจึงค้นหาแนวทางแก้ที่เหมาะสม

สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นหรือแม้แต่พูดถึงโดยผู้นำโลกหรือนักการเมืองคนไหน

นักสื่อสารมวลชนอย่าง Alexandra Urisman Otto อธิบายว่าเธอได้ตรวจสอบนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของสวีเดนและพบว่าเป้าหมายการลดก๊าซนั้นถูกคำนวณจากสัดส่วนก๊าซเรือนกระจกเพียงหนึ่งในสามของปริมาณที่ปล่อยจริง ส่วนที่เหลือถ้าไม่ถูกแยกออกไปก็ซ่อนไว้ในช่องว่างในงานเก็บข้อมูลสภาพอากาศโลกที่ไหนสักที่หนึ่ง

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศในประเทศบ้านเกิดของฉันแล้วละก็แสดงว่า เราไม่ได้พิจารณาถึงปัญหาของอีกสองในสามส่วน

บทวิเคราะห์ของ Washington Post ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในสวีเดน ถึงแม้ว่าตัวเลขจะแตกต่างกันไปตามกรณี กระบวนการและความคิดที่เอาแต่จะกวาดปัญหาไว้ใต้พรมแล้วชี้นิ้วตำหนิผู้อื่นก็ยังดำเนินต่อไปในสังคมโลก

ดังนั้นเมื่อนักการเมืองพูดว่าพวกเราจะต้องแก้ปัญหาโลกร้อน เราควรถามพวกเขาว่าพวกเขากำลังพูดถึงปัญหาโลกร้อนอันไหน อันที่ใช้ปริมาณก๊าซเพียงหนึ่งในสามหรืออันที่ใช้ปริมาณทั้งหมดมาพิจารณา

เมื่อนักการเมืองกล้าที่จะกล่าวหาองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมว่าไม่ยอมเสนอวิธีแก้ปัญหาแก่สังคม เราควรถามพวกเขาว่าพวกเขากำลังพูดถึงปัญหาอะไร ปัญหาที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือปัญหาที่ถูกแยกออกไปหรือซ่อนไว้ในช่องว่างในงานเก็บข้อมูล เพราะมันต่างกันโดยสิ้นเชิง

ถ้าเป้าหมายที่แท้จริงของนักการเมืองคือการแก้ปัญหาโลกร้อน แน่นอนว่าขั้นตอนแรกพวกเขาจะต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเป็นฐานการวิเคราะห์ปัญหา

เราต้องใช้คุณสมบัติหลายประการเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหา ส่วนหนึ่งได้แก่ความซื่อสัตย์ ความสุจริต และความกล้าหาญ ยิ่งเราประวิงเวลาออกไปนานเท่าใด ปัญหาก็จะยิ่งแก้ยากขึ้นและมีต้นทุนที่สูงขึ้นเท่านั้น การนิ่งเฉยในวันนี้และวันวานจะต้องได้รับการชดเชยด้วยเวลาที่มากขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคต

โอกาสที่เราจะหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่มีวันหวนกลับได้นี้มีเพียงการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันที เมื่อน้ำกำลังจะล้นอ่าง คุณจะไม่มองหาถังเพื่อมาตักออกหรือหาผ้ามาคลุมพื้น แต่คุณจะปิดก๊อกน้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การปล่อยให้น้ำไหลออกจากก๊อกต่อไปเป็นการหนีปัญหาซึ่งมีแต่จะทำให้ผลลัพธ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ

นักการเมืองของเราไม่ควรรอให้ผู้อื่นมาบอกว่าควรแก้ปัญหาได้แล้ว หรือรอให้มีการประชุม ลงนามในข้อตกลง หรือแรงกดดันทางสังคมใดๆ แต่ควรเริ่มลงมือทำทันที พวกเขามีโอกาสมากมายที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของสังคม แต่ก็ไม่ทำ ซึ่งการตัดสินใจที่จะไม่ลงมือทำอะไรนี้จะส่งผลต่อพวกเขาอย่างมหาศาลในอนาคต

จากรายงานสหประชาชาติเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการใช้พลังงานฟอสซิลรวมทั่วโลกภายในปี 2030 จะคิดเป็นปริมาณสองเท่าของปริมาณที่ควรเกิดขึ้นหากเราต้องการรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นเกิน 1.5c ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงระบบโลกเสียใหม่ เพราะจริงๆ แล้วการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นเราจะต้องฉีกสนธิสัญญาเดิม ๆ ที่ทำไว้ทิ้งให้หมด และประเด็นเหล่านี้จะต้องได้รับการเผยแพร่ใน news feed ทุกชิ้น การประชุมทางการเมืองและธุรกิจทุกวง และทุกตารางนิ้วในชีวิตประจำวันของเรา แต่สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

สื่อมวลชนและนักการเมืองของเรามีโอกาสมากมายที่จะดำเนินการที่เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็เลือกที่จะนิ่งเฉย อาจเป็นเพราะพวกเขายังอยู่ในภาวะที่ปฏิเสธความจริง หรือไม่สนใจ หรือไม่รู้ถึงปัญหา หรือเกรงกลัวถึงผลของการแก้ไขมากกว่าตัวปัญหาเอง หรือกลัวว่าจะเกิดการรณรงค์ต่อต้าน หรือกลัวว่าจะเสียคะแนนเสียงไป หรือทุกเหตุผลที่กล่าวมารวมกัน

ระบบเศรษฐกิจที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีความยั่งยืนเลย แต่ภาคธุรกิจก็เอาแต่พูดว่าเราทำได้ พวกเขาผลิตสิ่งที่อ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ยั่งยืนสำหรับวิ่งบนถนนที่ยั่งยืนโดยใช้พลังงานที่ยั่งยืน เราได้กินอาหารและดื่มน้ำที่ยั่งยืนจากขวดที่ยั่งยืน เราสามารถซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นที่ยั่งยืนและบินโดยสายการบินที่ยั่งยืนด้วยเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน และแน่นอนว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของข้อตกลงปารีสได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเลยสักนิด

ผู้นำของพวกเรายังคิดว่าพวกเขาสามารถเจรจาต่อรองกับกฏธรรมชาติและกฏฟิสิกส์ได้ พวกเขาพยายามพูดกับต้นไม้โดยใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์

คุณอาจถามว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรถ้าเรายังไม่มีวิธีทางเทคนิคที่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ได้เลย และการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันทีก็ไม่ใช่ทางเลือกในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แล้วเราจะต้องทำอย่างไร

คำตอบก็ยังเป็นเช่นเดิมก็คือเราต้องแก้ช่องโหว่ในกรอบดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านภูมิอากาศทั้งหมดที่มีมาเริ่มตั้งแต่ COP1 ที่เบอร์ลิน เราจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซพร้อมทั้งจำนวนโรงงานลง เราจะต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อคำนวณหาปริมาณที่ต้องลดที่แท้จริง แทนที่จะเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไปแล้วชดเชยด้วยการปลูกป่าคาร์บอนเครดิตปลอมๆที่ป่าอาจตายด้วยโรคหรือไฟป่าในอนาคต แต่กลับตัดไม้ทำลายป่าตามธรรมชาติเดิมที่เหลืออยู่จนหมด

อย่าเข้าใจฉันผิด การปลูกต้นไม้อย่างถูกต้องในดินที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้นไม้ก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศโลก และเราก็ควรปลูกต้นไม้ในทุก ๆ ที่ที่เหมาะสมต่อพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น

แต่เราไม่ควรนำการปลูกป่ามาปนกับการผลิตคาร์บอนเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คุณจะเห็นว่าปัญหาหลักคือเรามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในบรรยากาศโลกเป็นระยะเวลาสี่สิบปีและจะคงอยู่ต่อไปอีกนับศตวรรษที่จะต้องชดเชย ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมนี้แหละคือสิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงให้มากเมื่อเราต้องการใช้วิธีการอันจำกัดในการดูดซับก๊าซออกจากบรรยากาศโลกเช่นการปลูกป่าคาร์บอน แต่การชดเชยคาร์บอนตามที่เราเข้าใจนั้นมิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้หรือแก้ปัญหาใดๆ แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นข้อแก้ตัวเพื่อที่บริษัทต่าง ๆ จะได้ปล่อยก๊าซเพื่อดำเนินธุรกิจกันต่อไป และส่งสัญญาณว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการแก้ปัญหาแล้ว จึงไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีก

คำพูดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และบ่อยครั้งที่คำพูดของเราเองย้อนกลับมาทำร้ายเรา เรื่องที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเรื่องโกหก เป็นการโกหกที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าออกไปอีก องค์การสหประชาชาติทำนายไว้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 16% ภายในปี 2030 ดังนั้นเวลาที่เราจะหลีกเลี่ยงหายนะที่กำลังมาถึงนั้นเหลือน้อยเต็มทน

โลกของเราจะร้อนขึ้นอีก 3.2C ภายในสิ้นศตวรรษนี้ถ้าประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายที่ตนเองวางไว้ ซึ่งเป็นนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผิด ๆ เป็นส่วนใหญ่ และเราก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างเป้าหมายข้อตอลงปารีสอยู่เป็นร้อยปีแสงตามที่เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ในเดือนกันยายนปี 2021

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความล้มเหลวของการปฏิบัติตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้โดยตลอดที่ผ่านมา

แม้ว่าเราจะเริ่มลงมือดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนที่วางไว้ เราก็ยังจะพบกับอุปสรรคอยู่ดี การบรรลุเป้าหมาย Net zero ภายในปี 2050 นั้นน้อยเกินไปและช้าเกินไป มันเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่เราจะหวังพึ่งเทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นทดลองในการแก้ปัญหา

เราไม่ต้องการ Net Zero สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ นั้นคือ Real Zero เราต้องซื่อสัตย์กับตนเอง หรืออย่างน้อยเราต้องการผู้นำที่เริ่มใช้ตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่ถูกต้องในการวางนโยบาย และเลิกการวางเป้าหมายที่คลุมเครือที่ทำให้พวกเราเสียเวลาเสียที

พวกเขาพูดว่าจะไม่ยอมให้ความสมบูรณ์แบบมาเป็นอุปสรรคของการทำความดี แต่เราจะได้อะไรจากการทำแค่ “ความดี” ที่ไม่สามารถป้องกันเราจากหายนะทางธรรมชาติได้

พวกเขาพูดว่าเราต้องประนีประนอม ราวกับว่าข้อตกลงปารีสยังไม่ได้เป็นข้อตกลงที่ประนีประนอมที่สุดในโลกยังงั้นแหละ ข้อตกลงปารีสคือการประนีประนอมที่ทำให้เกิดความทุกข์ยากขึ้นในประเทศกลุ่มเปราะบางทั่วโลก ฉันจึงตอบว่า “ไม่เอาการประนีประนอม” และ “เราต้องมีจุดยืน”

พวกผู้นำโลกทั้งหลายยังคงคิดว่าพวกเขาสามารถเจรจาต่อรองกับกฏธรรมชาติและกฏฟิสิกส์ได้ พวกเขาพยายามพูดกับต้นไม้โดยใช้ภาษาเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไม่มีการมองการณ์ไกล พวกเขาต้องการส่งรายงานงบฯ การเงินให้พวกสัตว์อ่านและรายงานผลประกอบการให้มหาสมุทรฟัง

ช่างโง่แท้ ๆ

เรากำลังเข้าสู่ภาวะที่ล่อแหลม และฉันขอเร่งให้พวกเราที่ยังไม่ถูกการฟอกเขียวจนเสียสติไป จงมีจุดยืนที่มั่นคง อย่าให้พวกนักการเมืองหรือนายทุนลากเราลงเหวไป


อ้างอิง : https://www.theguardian.com/environment/2022/oct/08/greta-thunberg-climate-delusion-greenwashed-out-of-our-senses?fbclid=IwAR39L5wu1QtooXn47mYyBR8DehDyEq0MBoclZVmU-VAo8zhVuzRsCnCTEBY


Social Share