THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Natasha N. Iskander และ Nichola Lowe
วันที่ 23 พฤษภาคม 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

บทนำ

ภาวะโลกร้อนคือปัญหาสำคัญที่สุดในยุคสมัยของเราเพราะนอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่และการอาชีพของเราอีกด้วย นอกจากการสูญเสียอาชีพการงานอย่างเฉียบพลันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ยังมีผลกระทบที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นในระยะยาวอีกด้วย เช่นการย้ายฐานการผลิต ความเสี่ยงต่อความมั่นคงอาหาร การเกษตร และเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน และความเสียหายต่อชุมชนทางบกและชุมชนชายฝั่งทะเล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและการอาชีพที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร และสร้างแรงกดดันต่อสังคมและการเมืองในแบบที่วิชารัฐศาสตร์จะช่วยเราทำความเข้าใจและควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมทางรัฐศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนและอาชีพในอนาคตนั้นยังมีน้อยมาก แน่นอนว่ารัฐศาสตร์มีการศึกษาการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อน เช่นงานของ Javeline ในปี 2014 หรือ Keohane ในปี 2015 ซึ่งรวมถึงการเจรจาทางการเมืองเพื่อให้เกิดการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวแล้ว เพื่อเป็นการชดเชยต่อการขาดองค์ความรู้ในด้านนี้ในยุคต้นๆ เช่นเดียวกับที่เริ่มศึกษาผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่มีต่อสิทธิแรงานและการร่วมมือกันทางการเมืองเพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ แต่เรายังขาดงานวิจัยที่เชื่อมโยงสองสาขาวิชานี้เข้าด้วยกัน และช่องว่างนี้เองทำให้เราไม่สามารถทำความเข้าใจผลลัพธ์ทางการเมืองที่ภาวะโลกร้อนมีต่ออาชีพ การผลิต และเทคโนโลยี นอกจากนี้เรายังขาดความสามารถที่จะกำหนดและตีความการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้

ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพบช่องว่างระหว่างงานวิจัยของสองสาขาวิชารัฐศาสตร์นี้เมื่อศึกษาลึกลงไปในทั้งสองวิชา และเมื่ออ่านวรรณกรรมทางสังคมศาสตร์ต่างๆ ที่แบ่งแยกธรรมชาติออกจากสังคม วรรณกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะนิยาม “ธรรมชาติ” ว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และ “สังคม” ว่ามีความหมายเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และขยายความรวมเอาการแสดงออกและกิจกรรมของมนุษย์ ความเชื่อมโยงทางสังคม และการผลิตของระบบเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน แล้วแยกเอาธรรมชาติไว้ในฐานะที่เป็นเป็นฐานรองรับกิจกรรมของมนุษย์ และลดคุณค่าความหมายของธรรมชาติลงให้เป็นเพียงสินค้าที่จะต้องได้รับการปกป้อง เพื่อการใช้สอย และบริหารจัดการเพื่อตอมสนองความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ ในกรอบความคิดนี้ มนุษย์เป็นฝ่ายกระทำ เป็นผู้ที่ศึกษา เปลี่ยนแปลง และนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ และการเมืองคือเครื่องมือที่สังคมใช้ตัดสินว่าควรจะทำอย่างไรต่อธรรมชาติได้บ้าง

ในขณะที่แนวคิดแบ่งแยกธรรมชาติออกจากสังคมนี้เป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์ของนักวิชาการในเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการเมืองเรื่องอาชีพและการผลิต คลื่นประท้วงและการเมืองหัวก้าวหน้าก็เรียกร้องให้เชื่อมโยงสองสาขาวิชานี้เข้าด้วยกัน โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้นำเอาเรื่องรักษ์โลกและรักษาการจ้างงานไว้เป็นลำดับความสำคัญเดียวกันและเรียกร้องให้นโยบายด้านภูมิอากาศและเศรษฐกิจสร้างโอกาสและความเท่าเทียม การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในตัวอย่างของแนวโน้มนี้ แรงงานนับพันคนเดินไปตามท้องถนนต่อต้านภาษีคาร์บอนที่เก็บจากน้ำมันดีเซลที่สูงเกินไป แม้ว่ากระประท้วงจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและวุ่นวาย แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามต่อนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยขาดการคำนึงถึงแรงงาน คนเสื้อกั๊กเหลืองหลายคนต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจการเงินที่อนุรักษ์นิยม และเรียกร้องให้ช่วยเหลือชนชั้นแรงงานที่ถูกเทคโนโลยีแย่งงานทำด้วยการลงทุนสีเขียวอย่างมีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กัน

ในสหรัฐอเมริกา นโยบาย Green New Deal ที่พรรคเดโมแครตเสนอก็เป็นนโยบายที่เชื่อมโยงภาวะโลกร้อนเข้ากับผลประโยชน์ของแรงงาน วัตถุประสงค์หลักของนโยบาย Green New Deal คือการรวมเอาเทคโนโลยี การสร้างงาน และสิทธิแรงงานเข้าไว้เป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบรรลุเศรษฐกิจ Net Zero นโยบายนี้ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงการเมืองเกี่ยวกับนโยบายโลกร้อนและชี้นำเสียงโหวตส่วนใหญ่ของประเทศที่คิดว่าภาวะโลกร้อนคือความเสี่ยงต่อสภาพเศรษฐกิจของตนในอนาคต

แม้ว่าเดโมแครตจะสามารถรวมเอานโยบายโลกร้อนและการสร้างงานเข้าไว้ด้วยกันได้ตามความตั้งใจ แต่ก็เกิดแรงต่อต้านตามมาจากผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนและภาคธุรกิจที่เห็นแก่ผลกำไรเป็นหลัก ร่วมกับแรงงานที่เกรงว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน การรวมตัวของกลุ่มต่างๆเพื่อปกป้องอาชีพของตนนี้มองว่าความเสี่ยงที่ตนได้รับจากนโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในการเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงการต่อต้านของแรงงานที่มีต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียวของยุโรปในปี 2000 สหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาองค์การอุตสาหกรรมหรือ American Federation of Labor–Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) ที่เป็นสหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาไดเออกมาคัดค้าน Green New Deal โดยให้เหตุผลว่ามิได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของแรงงานเป็นหลักและไม่มีมาตรการใดมารับรองว่าจะไม่มีการย้ายฐานการผลิตตามโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและการแบ่งปันเทคโนโลยีที่เป็นธรรม “เราจะไม่นิ่งดูดายต่อความเสี่ยงต่ออาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องของเรา” เป็นส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายที่ AFL-CIO ส่งให้แก่สส.ผู้เสนอร่าง Green New Deal

แนวร่วมทางการเมืองฝั่งประชานิยมใช้แรงต่อต้านจากแรงงานดังกล่าวนี้สร้างจุดยืนต่อต้านนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบทกฎหมายและการเก็บภาษี และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของการที่นายทุนหาผลประโยชน์จากความสูญเสียของชนชั้นแรงงานและชุมชนท้องถิ่น

เพื่อหาข้อสรุปของการอภิปรายปัญหาเหล่านี้ เราไม่เพียงแต่ต้องมีมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนและสร้างการจ้างงานไปพร้อมๆกันเท่านั้น แต่จะต้องมีการตีความที่เชื่อมโยงอุปสรรคของทั้งสองประเด็นเข้าด้วยกันเช่นความเท่าเทียม สิทธิเสียงทางการเมือง และอำนาจในการกำหนดอนาคต หากเราไม่มีแนวคิดที่สอดคล้องกันในเรื่องเหล่านี้ การอภิปรายทางการเมืองก็จะจบลงที่ธรรมชาติแยกตัวออกจากสังคมเช่นเดิมที่แบ่งแยกนโยบายเรื่องโลกร้อนออกจากการทดสอบผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

จุดมุ่งหมายของเราในบทความนี้คือเริ่มหาการตีความที่เชื่อมโยงอุปสรรคของทั้งสองประเด็นดังกล่าวที่สามารถก้าวข้ามแนวคิดแบ่งแยกธรรมชาติและสังคมออกจากกันในวรรณกรรมรัฐศาสตร์เพื่อให้เป็นพื้นฐานของจุดตั้งต้นทางนโยบายและการเมืองที่เชื่อมโยงภาวะโลกร้อน การจ้างงาน และคุณภาพชีวิตเข้าด้วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจึงกำหนดประเด็นหัวข้อต่างๆที่ใช้แก้ไขประเด็นปัญหาในงานวิจัยทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนและการจ้างงานในอนาคตในสาขาวิชารัฐศาสตร์ บางประเด็นก็มิได้แบ่งแยกสองสาขานี้ออกจากกันแต่กลับดำเนินไปพร้อมๆกันอย่างกลมกลืน

แต่เนื่องจากประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทั้งภาวะโลกร้อนและการจ้างงาน จึงแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ทับซ้อนกันของทั้งสองหัวข้ออย่างชัดเจนเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการจ้างงานในอนาคตเข้าด้วยกัน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนและการจ้างงานเข้าด้วยกัน และเมื่อนำมาใช้ร่วมกัน โครงสร้างของสองหัวข้อนี้จะสามารถรองรับน้ำหนักของทั้งสะพานและคนเดินข้ามร่วมกันได้

เราจึงกำหนดสามหัวข้อร่วมดังต่อไปนี้ในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการจ้างงาน หัวข้อแรกได้แก่การแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าและกระบวนการที่ทำให้เราเห็นต้นทุนและทรัพยากร หัวข้อที่สอง เราพิจารณาเรื่องการผลิตองค์ความรู้และการเมืองที่เป็นตัวแทนแห่งอนาคต และหัวข้อสุดท้าย เราได้ยกเรื่องการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมและการกระจายต้นทุนและโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

หัวข้อเหล่านี้จะอธิบายว่าอิทธิพลของตลาดทั้งในเชิงสำนวนและในเชิงของนโยบายครอบงำวัตถุแห่งการผลิตในทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนในทางสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะอธิบายว่าการที่ตลาดใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการผลิตเชิงเศรษฐกิจนั้นดูเหมือจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอำนาจของตลาดจะกระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่การเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทำโดยมนุษย์จะก่อให้เกิดแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เองในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างไร

หัวข้อเหล่านี้เปิดช่องให้เราใคร่ครวญถึงกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการของระบบแนวใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนและคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกันด้วยการตั้งคำถามต่อตลาดในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความต้องการงานวิจัยที่สร้างความเป็นรูปธรรมให้แก่ตลาดและความต้องการการเมืองที่นำเอาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นศูนย์กลางของชีวิตสมัยใหม่

การแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าและการเมืองเรื่องกำหนดราคาสินค้า

หัวข้อแรกที่เป็นความสนใจทั้งในหมู่นักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาภาวะโลกร้อนและนักวิชาการด้านการจ้างงานในอนาคตได้แก่การแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าและการเมืองเรื่องกำหนดราคาสินค้า การแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวัตถุให้เป็นสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำไปซื้อขายในตลาดได้ เป็นกลไกที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานมีความเด่นชัดขึ้นในระบบทุนนิยม และเมื่อเรากำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยนหรือราคาให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือแรงงาน ทรัพยากรหรือแรงงานนั้นกะจะถูกแยกออกมาจากกระแสธารแห่งธรรมชาติและกลายมาเป็นสินค้าหรือวัตถุดิบเพื่อการผลิตชิ้นหนึ่ง เป็นการให้คำนิยามใหม่แก่วัสดุชิ้นนั้นว่ามีเจ้าของและวัตถุประสงค์ สามารถกำหนดราคาและซื้อขายในตลาดได้

กรณีเช่นนี้จึงได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธรรมชาติและเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติและสังคมด้วยการผลักดันทรัพยากรเข้าสู่ตลาด ซากพืชซากสัตว์ที่ผุพังสะสมอยู่ใต้ดินกลายมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อขายกันเป็นบาร์เรล และกลุ่มคนที่ทำการแปรสภาพซากพืชซากสัตว์ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงกลายมาเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือรายบาร์เรล เมื่อวัสดุและแรงงานกลายมาเป็นสินค้า กระบวนการแปรรูปถูกทำได้เรียบง่ายขึ้น สินค้าบางรายการถูกกำหนดราคาและนำมาซื้อขายในตลาด ส่วนอีกหลายรายการที่เหลือไม่สามารถจับต้องได้จึงยากที่จะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยน

วรรณกรรมทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่สะท้อนถึงการเมืองเรื่องแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าในยุคแรกๆมักเป็นงานวิเคราะห์กลไกตลาดคาร์บอน ตลาดคาร์บอนเป็นตลาดที่สิทธิการปล่อยคาร์บอนสามารถนำมาซื้อขายกันได้ หลักการซื้อขายคาร์บอนนี้เป็นนโยบายสำคัญเพื่อจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2008 มีรัฐและประเทศจำนวน 46 ชาติทั่วโลกนำแนวทางตลาดคาร์บอนนี้มาใช้ มีปริมาณคาร์บอนที่ซื้อขายกันคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณที่มนุษย์ปล่อยทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีระบบซื้อขายใหม่ๆที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาภายใต้ความตกลงปารีสอีกส่วนหนึ่ง

วรรณกรรมทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนและผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์นโยบายบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการกินความที่กว้างสะท้อนถึงการครอบคลุมของการซื้อขายคาร์บอนในวงกว้างและความเสี่ยงที่ตามมาพร้อมกับประสิทธิภาพของตลาด

วรรณกรรมกระแสรองศึกษากระบวนการทางการเมืองที่เริ่มต้นจากแปลงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นสินค้าเพื่อการซื้อขาย นักวิเคราะห์กระบวนการอธิบายว่าการแปลงมลภาวะเป็นสินค้านี้จะต้องลดความซับซ้อน พลวัติ และความคาดเดาไม่ได้ของภาวะโลกร้อนลงให้เหลือเป็นเพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีมิติเดียวที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ กระบวนการนี้เปลี่ยนระบบนิเวศที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ให้เป็นสินค้าที่กำหนดราคาจากต้นทุนที่เกิดจากความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโลก อาณาจักรพืช หรืออาณาจักรสัตว์

การแปลงมลภาวะเป็นสินค้านี้ถูกผลักดันโดยภาครัฐ ธุรกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ที่ร่วมมือกันออกแบบแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในงานเขียนของ Meckling ที่เสนอให้ใช้การเจรจาทางการเมืองจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนกล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของ International Climate Change Partnership ที่เป็นความร่วมมือทางกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจน้ำมันและเคมีภัณฑ์เพื่อผลักดันให้ใช้กลไกตลาดแก้ปัญหาโลกร้อน ส่วน Paterson & Stripple อธิบายถึงการใช้เครื่องมือทางการเมืองเพื่อนำเอาศาสตร์ภูมิอากาศและโมเดลแปลงมลภาวะเป็นสินค้าเข้าสู่เวทีเจรจาพิธีสารเกียวโต ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของก๊าซเรือนกระจกที่แวดวงวิทยาศาสตร์มีอยู่ในช่วงปี 1980-1990 ถูกนำมาตัดทอนเป็นหน่วยคาร์บอน ตามมาด้วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในสนธิสัญญามาร์ราเคช

ด้วยวิธีการนี้เอง มลภาวะสะสมทวีคูณจึงกลายมาเป็นหน่วยคาร์บอนที่สามารถใช้สิ่งอื่นทดแทนได้ สิ่งที่กระบวนการนี้สร้างขึ้นมิใช่การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงแต่เป็นการแปลงสิทธิในการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมให้เป็นตัวเงิน ซึ่งหมายความว่าต้นทุนของคาร์บอนหนึ่งหน่วยจะถูกกำหนดขึ้นโดยความต้องการของธุรกิจหนึ่งที่จะก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในช่วงเวลาหนึ่งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กลไกที่เกิดจากการสมมตินี้ทำให้เกิดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในตลาดคาร์บอนเป็นการล่วงหน้า (Cap and Trade) ในโครงสร้างตลาดเช่นนี้ธุรกิจที่ถือสิทธิในการปล่อยมลภาวะที่ยังไม่เกิดขึ้นและธุรกิจที่ทำการลดมลภาวะของตนด้วยการดูดซับ (เช่นการปลูกป่า) หรือปกป้องการทำลายการดูดซับคาร์บอน (เช่นการห้ามตัดไม้ทำลายป่า) สามารถขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ธุรกิจที่ต้องการได้

ในขณะที่หน่วยวัดการปล่อยคาร์บอนถูกแปลงให้เป็นสินค้าที่รัฐรับรอง และสามารถนำไปกำหนดราคาและซื้อขายกันในตลาดระหว่างประเทศ มูลค่าของหน่วยวัดใหม่นี้ก็จะถูกกำหนดโดยเครือข่ายทางการเมืองและกลไกทางกฎหมายที่นำการปล่อยคาร์บอนมาเป็นธุรกิจซื้อขายในตลาดการเงินมาตั้งแต่ต้น Paterson และ Lohmann ได้ตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของสถาบันการเงินเช่นธนาคารเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ในลอนดอนและนิวยอร์ค และสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่าง World Bank ในการซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอนและมีส่วนในการกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายร่วมกับรัฐในการกำกับดูแลตลาด ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบเดียวกับที่ตลาดหลักทรัพย์และอนุพันธ์ใช้แปลงความเสี่ยงของตลาดแบบอื่นให้เป็นสินค้า เช่นสัญญาจำนอง เพื่อทำกำไรให้แก่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในลักษณะเดียวกัน

ส่วนนักวิชาการรายอื่นๆก็เขียนถึงความพยายามทางการเมืองของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเข้าไปมีอิทธิพลกำหนดแนวทางการคำนวณปริมาณคาร์บอนและผลักดันให้สิทธิในการปล่อยก๊าซมีราคาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือแม้แต่เป็นการให้เปล่า ในบางบริบทอย่างยุโรปและออสเตรเลีย รัฐบาลให้การสนับสนุนแนวทางคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมากจนถึงกับเสนอคาร์บอนเครดิตแบบให้เปล่ากับอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะ ซึ่งนำคาร์บอนเครดิตไปใช้หากำไรอีกต่อหนึ่งด้วยการขายสิทธิส่วนเกินให้แก่บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

การแปลงสิทธิการปล่อยคาร์บอนให้เป็นสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการซื้อขายและกำหนดราคาคาร์บอนนั้นขึ้นอยู่กับการตัดทอนความซับซ้อนของกระบวนการลง ประการแรก ธุรกิจจะต้องแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากกระบวนการผลิตโดยเด็ดขาดเพื่อกำหนดมูลค่าให้โดยอิสระ ดังนั้น ไม่ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกมาโดยโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศพัฒนาแล้วหรือจากเตาถ่านตามบ้านเรือนประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่ได้แตกต่างกันตามสายตาของตลาดคาร์บอน สำหรับตลาดคาร์บอนแล้ว กลไกเหล่านี้ทำงานไปด้วยกันอย่างแบ่งแยกออกจากกันไม่ได้เพราะว่าลักษณะสำคัญของคาร์บอนเครดิตมีเพียงจำนวนหน่วยคาร์บอนที่นับได้เท่านั้น

ประการต่อมา โครงการพัฒนาต่างๆอย่างเช่นโครงการที่สนับสนุนให้ชาวบ้านใช้เตาไฟฟ้าแทนเตาถ่านเพื่อสุขภาพก็สามารถนับเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนได้ โครงการพัฒนาหลายโครงการกลายมาเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนโดยใช้วิธีการเช่นนี้ แล้วจึงนำเอามูลค่าการลงทุนของโครงการมาแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อการซื้อขาย เมื่อระบบเศรษฐกิจและกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกสังคมลืมเลือนไป ผลกระทบด้านความเป็นธรรมก็ถูกลืมเช่นเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าถ้ากระบวนการใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนยากจนหรือเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมานั้นก็คือคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ การเงินระหว่างประเทศและการลงทุนก็มีส่วนผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก การแปลงคาร์บอนให้เป็นสินค้าบดบังกระบวนการที่ผลิตคาร์บอนขึ้นมาตั้งแต่แรก แม้แต่โครงการที่อ้าง Carbon Neutral ก็พบว่าหลายโครงการเป็นโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ สัตว์ป่า และบริการทางระบบนิเวศ ในบางกรณีผลกระทบที่เกิดกับแหล่งทรัพยากรส่งผลให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นและทำให้การตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของชุมชนทำได้ยากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การซื้อขายคาร์บอนยังกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินพอดี การคิดค้นระบบชดเชยคาร์บอน (การซื้อคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการลดมลภาวะโดยบุคคลหนึ่งเพื่อชดเชยการปล่อยมลภาวะโดยอีกบุคคลหนึ่ง) นำไปสู่การพัฒนาอย่างไม่เป็นธรรมที่นักวิชาการและ NGO เรียกว่า Greengrabbing

คำๆนี้รวมความหมายถึงการยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านและนำมาปลูกป่าเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตและการผูกขาดแหล่งน้ำเพื่อนำมาเลี้ยงต้นกล้าในป่าที่ปลูก การผูกขาดทรัพยากรเพื่อใช้ผลิตคาร์บอนเครดิตเช่นนี้เป็นการดึงเอาพื้นที่ระบบนิเวศออกจากกระบวนการทางธรรมชาติหรือดึงธรรมชาติเข้ามาสู่สังคม พื้นที่ชุ่มน้ำและป่ากลายมาเป็นพื้นที่ดูดซับคาร์บอนเพื่อการซื้อขาย ส่วนมหาสมุทรก็กลายมาเป็นแพลตฟอร์ม Blue Economy และเนื่องจากวงจรของการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าเป็นศูนย์กลางของการแผ่ขยายตลาดคาร์บอน กลไกชดเชยคาร์บอนนี้จึงเป็นการตัดตอนทางเลือกอื่นๆขอองการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนจนหมด

เมื่อเราหันมาพิจารณาวรรณกรรมรัฐศาสตร์เกี่ยวกับงานอาชีพและแรงงานบ้าง เราก็พบว่ามีการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแปลงแรงงานให้เป็นสินค้าเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วและมีการศึกษาในเรื่องนี้โดยนักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว ดังนั้นนักวิชาการร่วมสมัยจึงหันไปเน้นการศึกษาเรื่องกระบวนการทางการเมืองที่ใช้ประเมินค่าของแรงงานมากกว่าที่จะสนใจเรื่องกลไกการแปลงแรงงานเป็นสินค้า

เครื่องมือสำคัญที่ใช้กำหนดค่าของแรงงานก็คือค่าแรง หลายทศวรรษของงานวิจัยด้านค่าแรงร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ค่าแรงแสดงให้เห็นว่าค่าแรงจะถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแรงงาน และสหภาพแรงงานก็เป็นหัวใจของงานวิจัยผลกระทบดังกล่าว ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา งานวิจัยพบว่าสหภาพแรงงานมีความสามารถที่จะต่อรองค่าแรงขั้นต่ำให้แก่สมาชิกของตนได้สูงกว่าค่าแรงที่แรงงานอิสระจะหาได้ประมาณร้อยละ 10–30

สหภาพมีบทบาทที่สำคัญต่อการประเมินค่าแรงงานตามหลักเศรษฐศาสตร์แม้แต่ค่าแรงของแรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพ การมีสหภาพทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ต่อมางานวิจัยได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากความถดถอยของสหภาพในสหรัฐฯ พบว่าอัตราการเกิดของสหภาพลดลงจากร้อยละ 21 ในปี 1977 เหลือเพียงร้อยละ 11 ในปี 2007 มีส่วนทำให้เกิดค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมในภาคธุรกิจถึงร้อยละ 30 สำหรับแรงงานชายและร้อยละ 20 สำหรับแรงงานหญิงในช่วงที่สหภาพแรงงานอ่อนแอ

งานวิจัยเรื่องการเมืองของการกำหนดค่าแรงแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของแรงงานในตลาดก็เป็นเช่นเดียวกับราคาของคาร์บอน ขึ้นอยู่กับกระบวนการตัดทอนมูลค่า (Erasures) งานวิจัยได้มุ่งเน้นศึกษาประเภทของกิจกรรมที่แรงงานต้องกระทำเพื่อให้งานของตนเสร็จสมบูรณ์ในวันหนึ่งๆแต่ไม่ได้รับการรับรองหรือค่าจ้างจากนายจ้าง ตัวอย่างหนึ่งได้แก่แรงงานทางอารมณ์ (การควบคุมความรู้สึกขณะทำงาน) ซึ่งหมายถึงสภาวะทางจิตใจที่แรงงานต้องมีในเวลาทำงานเพื่อทำงานให้ลุล่วง

นอกจากนี้ เรายังพบนิยามที่กว้างขึ้นของคำว่างานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในกรอบแนวคิดเรื่องชีวทุนนิยม (Biocapitalism) ที่ไม่เพียงพิจารณาถึงแรงงานทางอารมณ์และแรงงานสัมพัทธ์แต่ยังคำนึงถึงศักยภาพทางร่างกายและจิตใจของแรงงาน เช่นความสามารถในการเคลื่อนไหวและทำงานในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกันออกไป งานวิจัยนี้ได้บันทึกประเภทของงานต่างๆที่นายจ้างไม่ได้รวมอยู่ในค่าแรงของลูกจ้าง และชี้ให้เห็นถึงกระบวนการตัดทอนมูลค่าทั้งที่สถานประกอบการและทั้งระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยให้นายจ้างใช้งานในลักษณะนี้โดยมิได้กำหนดมูลค่าให้ ทำให้นายจ้างสมารถแสดงอำนาจในการตัดทอนค่าแรงที่ตนไม่ต้องการจ่ายทั้งในสถานประกอบการและในระบบเศรษฐกิจโดยรวม

งานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในสถานประกอบการและอุตสาหกรรมก็แสดงถึงผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน เทคโนโลยีทั้งในระดับเครื่องกลและดิจิทัลต้องการมูลค่าส่วนเพิ่มจากลูกจ้าง และบ่อยครั้งจากลูกจ้างที่เทคโนโลยีนั้นจะเข้ามาทดแทนในอนาคตเสียเอง กระบวนการตัดทอนมูลค่าเกิดขึ้นกับทุกทักษะและอาชีพ เช่นศัลยแพทย์พบว่าแขนกลช่วยผ่าตัดต้องใช้แรงงานที่รับค่าตอบแทนจำนวนมากเพื่อชดเชยความขาดแคลนแรงงานในเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากลูกจ้างต้องฝึกฝนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนตัวลูกจ้างเอง และยังต้องทำงานส่วนที่ใช้ทักษะเหตุผลและการแก้ปัญหาแทนหุ่นยนต์ที่ยังไม่สามารถทำได้โดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์กระบวนการตัดทอนมูลค่าแรงงานได้ขยายผลไปถึงการที่ธุรกิจใช้ข้อมูลการทำงานของลูกจ้างเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาทดแทนลูกจ้างเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางชีวเคมีที่เก็บจากการเคลื่อนไหวของลูกจ้างเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ หรือเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของนัยน์ตาลูกจ้างเพื่อนำไปออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล มูลค่าของข้อมูลเหล่านี้มิได้สะท้อนอยู่ในค่าแรง นอกจากนี้ แรงงานมักไม่มีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลของตนเพื่อนำไปใช้งานหรือขายต่อ

การเมืองของการแปลงแรงงานเป็นสินค้าและกระบวนการตัดทอนมูลค่านี้เข้าครอบงำการแข่งขันทางการเมืองของทางเลือกอื่นๆและบ่อนทำลายขบวนการที่สนับสนุนนโยบายเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การมองว่าแรงงานเป็นเพียงสินค้าที่ซื้อขายได้ที่ใช้ค่าแรงเป็นตัวกำหนดมูลค่าคือหัวใจของพัฒนาการทางสังคมของตลาดที่การเมืองเรื่องแรงงานมีความสัมพันธ์กับค่าแรงที่แรงงานได้รับอย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้นการรวมตัวเรียกร้องขอค่าแรงสำหรับทักษะที่ใช้ในงานโดยปริยายและคุณสมบัติทางสังคมและชีวภาพที่แรงงานใช้ในกระบวนการทำงานจะต้องทำให้คุณสมบัติเหล่านี้เด่นชัดขึ้นมาเพื่อให้สามารถประเมิน กำหนดมูลค่า และแปลงให้เป็นสินค้าเพื่อรับค่าตอบแทนได้ เพื่อตอบโต้นายจ้างที่พยายามเปลี่ยนสถานประกอบการหรือบรรทัดฐานในการทำงานเพื่อกดดันให้แรงงานใช้คุณสมบัติดังกล่าวเพื่อการทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ทว่าการเน้นศึกษาประเด็นเรื่องค่าแรงนี้หมายความว่ามีการเมืองเรื่องแรงงานด้านอื่นๆในวรรณกรรมและเวทีการเมืองน้อยลง งานศึกษาของ Ahlquist & Levi เกี่ยวกับความพยายามจัดตั้งสหภาพคนงานท่าเรือได้ให้นิยาม Economism ไว้ว่า “การลดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของงานๆหนึ่งลง” และได้อธิบายว่าทำไมและเมื่อไรที่สหภาพแรงงานเคลื่อนไหวนัดหยุดงานและคว่ำบาตรเพื่อคัดค้านนโยบายต่างประเทศของรัฐเพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์ของผู้อื่น”และเรียกร้องอิสรภาพกลับประสบปัญหาเมื่อเรียกร้องในสิ่งที่ใกล้ตัว กล่าวคือสำหรับการเมืองประเภทนี้นั้น สหภาพจะต้องก้าวถอยออกจากการแปลงแรงานเป็นสินค้าและหันมามองการรวมตัวที่เห็นแก่ประโยชน์ของชุมชนและคุณภาพชีวิตของแรงงานของตนเองเป็นหลัก

ถ้าการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าคือกระบวนการทางการเมืองที่ธรรมชาติถูกแปลงให้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในสังคม ก็จะมีกระบวนการทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันที่รับประกันว่าโครงสร้างและพลวัติทางสังคมจะผลักดันทรัพยากรธรรมชาตินั้นกลับไปที่เดิม เพศสภาพเป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น เราพบว่าในการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนและที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการอาชีพพบยังไม่มีการศึกษาอิทธิพลของเพศสภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการมองข้ามที่สำคัญเมื่อพิจารณาว่าเรามีหลักฐานว่าปัญหาโลกร้อนและการสูญเสียอาชีพให้แก่เทคโนโลยีนั้นจะส่งผลกระทบต่อเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

การศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาพและความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนในเชิงการเมืองมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเพศทางชีวภาพ และกำหนดผลกระบทที่มีต่อเพศหญิงไว้สูงกว่าเพศชายอันเนื่องมาจากลักษณะที่มีมาโดยกำเนิด ยกตัวอย่างเช่นเพศหญิงถูกมองว่าเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนดังนั้นน่าที่จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาวะทางกายภาพและสภาวะเศรษฐกิจมากกว่าเพศชาย หรือมองว่าเป็นเพศที่มีหน้าที่ที่ต้องอยู่ใกล้กับบริเวณบ้านดังนั้นจึงทำกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเพศชาย หรือมีความเสี่ยงที่จะเอาตนเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือบุตรของตนในภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าเพศชาย เช่นเดียวกับที่เพศหญิงถูกมองว่ามีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพจากการเข้ามาทดแทนของเทคโนโลยีใหม่ๆมากกว่าเพศชายเพราะว่าเพศหญิงประกอบอาชีพในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ น้อยกว่าเพศชาย และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงอินเตอร์เน็ตน้อยกว่าเพศชาย เป็นต้น

มีงานศึกษาจากการสังเกตการณ์สองสามชิ้นที่มุ่งเน้นเพศสภาพพบว่านโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือการสูญเสียฐานะทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศทวีคูณขึ้นและเป็นภัยต่อคุณภาพชีวิตของเพศหญิงโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่นในระบบซื้อขายคาร์บอน ทั้งกลไก Clean Development Mechanisms และโครงการ REDD ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าแรงงานถูกแปลงให้เป็นสินค้าด้วยค่าแรงเป็นปัจจัยแรกสู่การลดก๊าซ สมมติฐานนี้เปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการผลิตและบริหารทรัพยากรธรรมชาติเสียใหม่ที่เป็นไปเพื่อการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การประเมินผลโครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโครงการทำให้ภาระของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมากกว่าเพศชายด้วยการห้ามมิให้เข้าไปเก็บของป่าในพื้นที่ปลูกป่าคาร์บอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เพศหญิงในชุมชนต้องพึ่งพาในการใช้ชีวิต และงานศึกษาชิ้นนี้เสนอแนวคิดที่ว่าต้นทุนของภาวะโลกร้อนและนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เพศหญิงต้องรับนั้นมิได้มาจากเพศสภาพโดยตรงแต่มาจากอคติที่ฝังรากอยู่ในหน่วยงานของรัฐ

องค์ความรู้และวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

การแปลงทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นสินค้าที่วัดมูลค่าได้ด้วยราคานั้นไม่เพียงแต่ทำให้เรารับรู้การมีอยู่ของตลาด แต่ยังสะท้อนถึงโครงสร้างทางการเมืองของตลาดที่บริหารจัดการตัวมันเองอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าตัวแทนในอุดมคติของตลาดก็คือพื้นที่นอกเหนือกาลเวลาและพลังของสังคม แต่ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงทางการเมืองและการออกแบบโดยหน่วยงานของรัฐ

นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่ศึกษาทั้งการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อนและอาชีพการงานอนาคตได้วิเคราะห์อิทธิพลทางการเมืองที่ล้อมอยู่รอบๆตลาดเพื่อปกป้องตลาดจากแรงกดดันจากภายนอกและปกป้องตัวมันเองจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งความถึงความพยายามที่จะควบคุมองค์ความรู้เกี่ยวกับอนาคตเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนเองต้องการและเป็นในแบบที่สังคมสามารถรับมือและบริหารจัดการได้ นักรัฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าความพยายามทางการเมืองที่จะควบคุมการผลิตและองค์ความรู้เกี่ยวกับอนาคตที่กระจัดกระจายอยู่ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง แต่เกี่ยวกับการกุมอำนาจปกครองเพื่อกำหนดทิศทางผลลัพธ์ของสังคมในปัจจุบัน การแข่งขันด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับอนาคตและการที่องค์ความรู้เหล่านั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และโอกาส หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่สองที่ทั้งสองสาขาวิชามีร่วมกัน

ในการวิเคราะห์การเมืองในนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนนั้น นักรัฐศาสตร์พยายามหาคำอธิบายว่าทำไมการทำนายปรากฏการณ์โลกร้อนจึงเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดการอภิปรายทางการเมืองและทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนมากที่สุด นักวิชาการบางรายมุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างองค์กรและพันธมิตรทางการเมืองที่รวมตัวกันเพื่อลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะลงมติร่วมกันอย่างหนักแน่นแล้วก็ตาม

Dunlap กับ McCright ได้ร่างแผนผังของโครงสร้างทางการเมืองนี้ไว้อย่างครบถ้วน โดยเรียกว่าเป็น “เครื่องจักรปฏิเสธภาวะโลกร้อนที่ออกแบบไว้อย่างดี มีความซับซ้อน และมีทุนหนา” โดยประกอบไปด้วยผู้เสียผลประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวที่มารวมตัวกันเพื่อล็อบบี้นโยบายรัฐ หัวใจสำคัญของเครื่องจักรปฏิเสธภาวะโลกร้อนนี้ได้แก่บรรดาบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันและองค์กรอนุรักษ์ที่นำโดยขบวนการรากหญ้าเทียม (Astroturf) ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดิสเครดิตข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้นเหมือนมาจากชนชั้นรากหญ้าโดยตรง

งานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองที่ปฏิเสธภาวะโลกร้อนได้มุ่งเป้าไปที่ส่วนประกอบบางส่วนของเครื่องจักรปฏิเสธภาวะโลกร้อนและวิเคราะห์กลยุทธ์ต่างๆที่ใช้ดิสเครดิตข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ บางกลยุทธ์ก็ทื่อและไม่มีอะไรใหม่เช่นการลงขันกันในระหว่างบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่เพื่อล็อบบี้นโยบายแบบตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างเช่นที่บริษัท ExxonMobil ลงทุนเพื่อล็อบบี้ให้รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงปารีส

บางกลยุทธ์ก็ลึกซึ้งและอันตรายกว่านั้น ตัวอย่างเช่นที่ Freudenburg กับ ได้เปิดเผยถึงการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากเครื่องจักรปฏิเสธภาวะโลกร้อนทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงความเห็นใดๆเกี่ยวกับสารสนเทศที่ได้จากงานวิจัย ซึ่งทำให้มติทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยดังกล่าวเช่นรายงานประเมินผลของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่ำกว่าความเป็นจริง

การลงทุนของภาครัฐในเครื่องจักรปฏิเสธภาวะโลกร้อนมิเพียงแต่จะบ่อนทำลายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น นักรัฐศาสตร์ยังพบว่าการลงทุนดังกล่าวยังสามารถสร้างอิทธิพลทางการเมืองในวงกว้างได้อีกด้วย จากข้อมูลของ Gallup Poll ระหว่างปี 2001-2010 แสดงให้เห็นว่าการอภิปรายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนได้ถอยห่างออกจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไปทุกทีจนกลายเป็นรูปแบบของ “การปกป้องอัตลักษณ์ของตนเอง” โดยพบว่าผู้ชายผิวขาวหัวอนุรักษ์นิยมมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการปฏิเสธภาวะโลกร้อนมากกว่าประชากรอเมริกันทั่วไปมาก และยังมองว่าตนเองมีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวด้วยการทำกิจกรรมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ การเดินขบวนประท้วง และงานประชาสัมพันธ์ต่างๆ

งานวิจัยประเภทเดียวกันในประเทศอื่นๆอย่างนอร์เวย์และออสเตรเลียก็พบความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ของผู้ชายผิวขาวและการปฏิเสธข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และนักจิตวิทยาการเมือง Hoffarth กับ Hodson ได้ค้นหาตรรกะที่ซ่อนอยู่ระหว่างอัตลักษณ์และการปฏิเสธภาวะโลกร้อนและพบว่าการต่อต้านภาวะโลกร้อนจากพวกขวาจัดมิได้เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาชีพหรือเศรษฐกิจ แต่มาจากหลักความเชื่อที่ว่านักสิ่งแวดล้อมเป็นภัยต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน

มุมมองที่ทับซ้อนกันที่มีต่อภาวะโลกร้อนในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์คือคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิขวาจัดและการปฏิเสธภาวะโลกร้อน ในการศึกษาอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น นโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนถูกมองว่าเป็นวาระที่เสนอโดยพวกเสรีนิยมชั้นสูงที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาคมโลกเหนือผลประโยชน์ของประเทศ และแน่นอนว่าเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์ การยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ และการย้ายถิ่นที่อยู่อย่างอิสระทิ้งไว้เบื้องหลัง

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการเมืองยังพบว่าความแตกต่างนี้อยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์และค่านิยมทางการเมืองที่ไม่เพียงแต่กำหนดพฤติกรรมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชากร แต่ยังส่งอิทธิพลต่อความคิดเห็นและการตีความผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรพบว่าความเชื่อเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นตัวกำหนดความคิดเห็นที่มีต่อความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความคิดเห็นนั้นก็กลับมาตอกย้ำความเชื่อเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอีกต่อหนึ่ง เช่นเมื่อผู้ที่ปฏิเสธภาวะโลกร้อนประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเปลี่ยนความเชื่อของพวกเขาได้ แต่พวกเขากลับยิ่งเชื่อมั่นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียงเกมการเมืองที่ปล่อยข่าวเท็จ

ในขณะที่การปฏิเสธภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “ชนชั้นสูง” และ “คนทั่วๆไป” การบริหารจัดการแรงงานในอุตสาหกรรมที่ถูกดิสรัปโดยนวัตกรรมในปัจจุบันอย่างเช่น AI หุ่นยนต์ และควอนตัมเอื้อประโยชน์ทางองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและทิ้งแรงงานส่วนใหญ่ไว้เบื้องหลัง บริษัทเทคฯต่างๆที่นำโดยนักประดิษฐ์และผู้บริหารชั้นนำของโลกก็พยายามที่จะรักษาระดับชั้นของการเข้าถึงองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ไว้โดยอ้างว่าเทคโนโลยีที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมานั้นมิเพียงแต่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตเท่านั้นแต่ยังสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอีกด้วย แม้แต่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายย่อยบางรายยังผลักดันแนวคิด Singularity หรือวิสัยทัศน์ที่ AI ในอนาคตมิได้เพียงแค่ฉลาดกว่ามนุษย์เท่านั้นแต่ยังมีสติสัมปชัญญะอีกด้วย ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ได้หรือคิดค้นสิ่งที่มนุษย์จะไม่มีวันค้นพบ จนบางคนเกรงว่าภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ในอนาคตไม่ใช่ภาวะโลกร้อน แต่เป็น AI

แน่นอนว่าในปัจจุบันเราจะพบบทความที่แพร่หลายทั่วไปตามสื่อต่างๆที่พูดถึงเทคโนโลยีที่ดิสรัปงานอาชีพและการที่ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาแทนที่แรงงานนับล้านและก่อให้เกิดหายนะจากการสูญเสียงานและรายได้ โดยสื่อส่วนใหญ่รายงานตรงกันว่าแรงงานเกือบร้อยละ 50 ในประเทศพัฒนาแล้วกำลังสูญเสียงานอย่างถาวรเมื่อ AI เข้ามาแทนที่ทั้งในอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานที่เป็น Blue Collar และ White Collar และแม้ว่าสื่อเหล่านี้จะตื่นตระหนกกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พวกเขาก็ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีในอุดมคติเหล่านี้ เนื่องจากเป็นความก้าวหน้าที่ง่ายดาย ปราศจากอคติ ข้อจำกัดทางการเมือง และความเลินเล่อของมนุษย์

แนวโน้มของสาธารณชนเช่นนี้ทำให้การสูญเสียงานอาชีพของแรงงานบางกลุ่มเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้และส่งอิทธิพลต่อกลยุทธ์ของสหภาพแรงงานด้วย ในสองสามปีที่ผ่านมา สหภาพทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆได้ออกแคมเปญ “Future of Work” เพื่อบรรเทาปัญหาการสูญเสียงานให้แก่เทคโนโลยี บ้างก็กำหนดให้มีการเตือนล่วงหน้าในข้อตกลงที่ได้จากการเจรจาต่อรอง เช่นสหภาพ Culinary Union ในลาสเวกัสที่กำหนดให้บ่อนที่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงานต้องบอกกล่าวลูกจ้างเป็นเวลาหกเดือนล่วงหน้าเมื่อเห็นความเป็นไปได้ที่งานของลูกจ้างจะมีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีนั้น สหภาพหันไปขอคำแนะนำจากที่ปรึกษารายเดียวกับที่พยายามเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนแรงงานคนในบางอาชีพ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ควบคุมทิศทางเทคโนโลยีและอาชีพการงานในอนาคต

แต่ทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตและผลกระทบที่มีต่องานและสังคมยังไม่มีความแน่นอน เปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังทางการเมืองและพลังของสังคมที่ซ่อนอยู่และการดำเนินการต่างๆที่กำหนดแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว ในหนังสือที่ชื่อ The Age of Surveillance Capitalism ของ Zuboff ได้มุ่งศึกษาบริษัทเทคฯขนาดใหญ่อย่าง Google และ Amazon ที่ผลิตและจำหน่าย Big Data ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ตรวจสอบ สร้างอิทธิพล และหาผลประโยชน์จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและเล่นสื่อสังคมออนไลน์ของผู้บริโภค ดังที่ Zuboff ได้อธิบายว่าบริษัทเหล่านี้นำข้อมูลที่ได้มาฟรีๆมาขาย ทำให้เรากลายเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังได้ปกปิดต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลอีกด้วย Kenney กับ Zysman เสนอความคิดนี้โดยชี้ให้เห็นถึงบทบาทของนักลงทุนที่ส่งเสริมการผูกขาดทางเทคโนโลยี เช่นบริษัทอย่าง Uber หรือ Amazon ที่ระดมทุนจากแพลตฟอร์ม Crowdfunding โดยผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้อื่น ทำให้ตนเองกลายเป็นม้าตัวที่ไม่มีวันแพ้ในตลาด นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทสั่งสมอำนาจต่อรองเชิงนโยบายซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็คืออำนาจในการล็อบบี้กฎหมายนั่นเอง

เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจผูกขาด นักลงทุนก็จะเดินหน้าลงทุนในบริษัทลูกของบริษัทเหล่านี้ที่มีชื่อเสียทางด้านกดค่าแรงโดยใช้สัญญาจ้างช่วงเป็นเครื่องมือ ยิ่งไปกว่านั้น Lazonick กับ Mazzucato ได้เรียกร้องให้ Apple และบริษัทเทคฯอื่นๆหยุดใช้บัญชี Offshore เพื่อเลี่ยงภาษีและความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและแรงงานที่ถูกบริษัทเหล่านี้กดค่าจ้าง

ข้อมูลใหม่นี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองโดยตรงแต่ก็ยังไม่ได้รับความเอาใจใส่นักในแวดวงการอภิปรายงานการเมืองและรัฐศาสตร์ การละเลยเช่นนี้เปิดโอกาสให้เราพิจารณาว่านักวิชาการในสาขานี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคต้นๆไว้อย่างไร ในปลายทศวรรษที่ 1970 ความสนใจของนักวิชาการที่มีต่อหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์และสารสนเทศเปรียบได้กับกระแส AI ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองมีความเหมือนกันตรงที่เข้ามาแทนที่ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้แรงงานและเวลามาก นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเน้นให้เห็นถึงแนวคิดที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในขณะนั้นว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติน่าจะทำให้แรงงานจำนวนมากสูญเสียงานของตน และยิ่งไปกว่านั้นยังลดทอนความสำคัญของความตระหนักรู้และรอบคอบของมนุษย์ และนำเอาความเป็นมนุษย์และคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในชิ้นงานทิ้งไป ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมสถานประกอบการและการที่เจ้าของกิจการและหัวหน้างานใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้มากำราบแรงงานที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นอื่นๆที่ตามมาก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและเทคโนโลยีนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานในภูมิภาคที่แตกต่างกันไป และความแตกต่างในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนั้น ตัวอย่างเช่นงานวิจัยในยุโรปและเอเชียชี้ให้เห็นโมเดลทางเลือกที่แรงงานเป็นเครื่องมือของนายจ้างในการใช้เทคโนโลยี เพราะแทนที่แรงงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี นายจ้างกลับต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของแรงงานในการทดสอบ ควบคุม และพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ การตัดสินใจในเรื่องนี้มิเพียงแต่สะท้อนถึงความมีใจเมตตาและปัญญาของนายจ้างเท่านั้น แต่มาจากชุดนโยบายและอำนาจรัฐที่บังคับใช้สวัสดิการสังคมและโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ทั้งยกระดับมาตรฐานทักษะของแรงงานและประกันความมั่นคงทางรายได้ให้แก่แรงงานด้วย

แน่นอนว่าโมเดลของแต่ละประเทศนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย นักวิชาการบางรายชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ในท้ายที่สุดแล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ลงรอยกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและปกป้องแรงงานอยู่แต่เดิม Herrigel กับ Sabel ได้ทำการศึกษาแรงงานในเยอรมนีในช่วงปี 1990 และพบความแข็งตัวไม่ยืดหยุ่นของสหภาพแรงงานฝีมืออันมีผลมาจากทักษะเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่มีไว้เพิ่มอำนาจต่อรองผ่านทางสหภาพที่ควบคุมความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ความแข็งตัวนี้กลายมาเป็นอุปสรรคของการพัฒนาระบบการผลิตที่ยืดหยุ่นเพราะจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมายที่ต้องเสียผลประโยชน์มหาศาลหากนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ระบบเก่า

เมื่อนักรัฐศาสตร์และนักวิชาการสาขาอื่นๆขยายงานวิจัยของตนเองออกไปนอกขอบเขตของการเมืองและโครงสร้างทางกฎหมายในประเทศเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการผลิตแบบเก่าให้มากขึ้น พวกเขาก็ได้ค้นพบการเมืองของทักษะและความชำนาญเฉพาะด้านที่ยังหลงเหลืออยู่ในแวดวงเล็กๆในปัจจุบัน การทำความเข้าใจในสนามแข่งขันของตัวแทนของสถาบันต่างๆและการใช้วิธีการตั้งคำถามกับนิยัตินิยมเชิงเทคโนโลยีจึงส่งผลต่อการทำความเข้าใจของเราต่อความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันกับอิทธิพลทางการเมืองของแรงงาน รวมถึงการเมืองเรื่องความรู้และความชำนาญในงานเฉพาะด้านที่แรงงานใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าและองค์ความรู้มีอยู่ควบคู่กันไปในวรรณกรรมทางรัฐศาสตร์ แต่มิได้ถูกนำออกมาใช้เชื่อมโยงภาวะโลกร้อนเข้ากับอาชีพการงานในอนาคต สาขาย่อยของรัฐศาสตร์ใหม่ๆจึงได้เริ่มรวมเอาสองสาขาวิชานี้เข้าด้วยกันผ่านงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่ได้รับการนิยามอย่างกว้างๆว่าคือความพยายามที่จะสะสมอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากระบบที่เน้นการบริโภคเป็นระบบที่เน้นความยั่งยืน การศึกษาแนวโน้มทางสังคมและการเมืองที่กำลังขยายตัวเช่นนี้หมายความว่านักวิชาการกำลังช่วยดึงความสนใจของมวลชนสู่ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาระหว่างสภาพภูมิอากาศและงาน ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามที่สำคัญอย่างลักษณะงานร่วมสมัยจะสามารถพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ หรือคำถามที่ตามมาได้แก่เราสามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่งานด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่และอย่างไร

สำหรับนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นสำคัญได้แก่บทบาทของสหภาพแรงงานในการสนับสนุนวาระทางการเมืองทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนและงานอาชีพ ในฐานะที่เป็นสถาบันสื่อกลางทางเศรษฐกิจ สหภาพแรงงานมิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่ชักจูงความคิดเห็นของสาธารณชนในเรื่องภาวะโลกร้อน แต่ยังสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม นักรัฐศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานและการผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเต็มไปด้วยอุปสรรค และมิได้สำเร็จลงได้เพียงแค่การเรียกร้องให้สหภาพแรงงานรับเอาเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติอย่างเป็นทางการ บางครั้งผู้นำแรงงานก็ต่อต้านกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานของตนดังเช่นที่เราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วในปี 2019 ที่ AFL-CIO คัดค้านนโยบาย Green New Deal ในสหรัฐฯ

นักวิชาการบางรายตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์ของกรอบนโยบาย “งาน v.s. สิ่งแวดล้อม” โดยมองว่าเป็นการแบ่งแยกอย่างผิดๆโดยภาคธุรกิจเพื่อขัดขวางมิให้แรงงานสนับสนุนกฎหมายสิ่งแวดล้อม บางรายก็เห็นใจที่แรงงานเกรงว่าตนเองจะสูญเสียงานที่ทำหากสนับสนุนกฎหมายใหม่และเข้าใจดีความไม่แน่นอนของภาวะโลกร้อนทำให้ต้องมีการศึกษาอนาคตของการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของกฎหมายการจ้างแรงงานจำนวนมากๆที่เรียกว่า Decommodification หรือการลดการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าที่ Gough เรียกร้องให้ “ลดชั่วโมงทำงานและพฤติกรรมการซื้อลง เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก และปรับพฤติกรรมของสังคม” ในการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ นักรัฐศาสตร์บางรายเสนอให้ใช้นโยบายการันตีรายได้ขั้นต่ำกับงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่แรงงานในการเปลี่ยนผ่าน

ประการต่อมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระแสชาตินิยมและความกังวลว่างานด้านสิ่งแวดล้อมจะจำกัดอยู่เพียงพื้นที่เล็กๆไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมทการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมโดยใช้กฎหมายหรือการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจากภาคเอกชน นักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งงานมักกระจุกตัวอยู่ในย่านคนมีเงินทั่วโลก ส่วนแรงงานในพื้นที่อื่นๆนั้นต้องประสบภาวะทุกข์ยากจากกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้าซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของพวกตนที่มีอยู่ก่อนแล้ว

การขับเคลื่อนประเด็นแรงงานที่จำกัดอยู่เพียงในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอาจผลักดันให้การใช้ทรัพยากรต้องย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นที่กฎหมายเข้มงวดน้อยกว่าและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและสุขภาวะของแรงงานในประเทศนั้น สหพันธ์แรงงานนานาชาติจึงได้ออกมาเรียกร้องให้เอาใจใส่ในผลกระทบนี้ถึงแม้ว่าสหภาพแรงงานในประเทศตะวันตกยังละเลยในประเด็นดังกล่าวและเน้นการขับเคลื่อนนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอยู่ก็ตาม ดังที่สหพันธ์ฯได้ประกาศว่า “กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่ถูกจำกัดขนาดและขอบเขตก็คือการเปลี่ยนผ่านที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง”

อุปสรรคสำคัญของนโยบายแรงงานสีเขียวในระดับท้องถิ่นได้แก่การรั่วไหลของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการย้ายฐานการผลิตของทุนเพื่อเลี่ยงกฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางภูมิอากาศเพราะไม่เพียงแต่เป็นการย้ายการใช้ทรัพยากรไปยังประเทศอื่นที่กฎหมายเข้มงวดน้อยกว่า แต่ยังทำให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต้นทางนั้นใช้ไม่ได้ผลในภาพรวมอีกด้วย ในระดับประเทศนั้น ประเทศต้นทางอาจพอใจกับการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เพราะเห็นผลลัพธ์จากการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมทันที แต่เมื่อเรามองในระดับนานาชาติ การย้ายฐานการผลิตของภาคธุรกิจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางภูมิอากาศและทำให้เกิดการแย่งที่ดินทำกินจากชาวบ้านภายใต้นโยบายดูดซับคาร์บอน และความไม่เป็นธรรมจากแนวโน้มการลงทุนในระดับนานาชาตินี้ยังบ่อนทำลายแคมเปญที่พยายามเชื่อมโยงแรงงานเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติอีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างการรณรงค์เคลื่อนไหวโดยแรงงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจยังเป็นเรื่องเล็กน้อย มีความขัดแย้งในตัวเอง และไม่สม่ำเสมอ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในบางบริบทของสหภาพแรงงานที่เน้นการขับเคลื่อนด้านกฎหมายเทคโนโลยีจะต้องพึ่งพา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมตัวและตัดสินใจว่าพวกเขามีอำนาจและความสามารถที่จะใช้ความเสี่ยงที่มากับความคล่องตัวให้เป็นลิ่มตอกแบ่งแยกความสามัคคีของแรงงานออกจากกันหรือไม่ สำหรับนักรัฐศาสตร์บางรายนั้น อุปสรรคต่อแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมที่สหภาพแรงงานต้องเผชิญสะท้อนถึงข้อจำกัดของระบบทุนนิยมที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่การผลิตร่วมสมัย

กลุ่มทุนมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจขับผลักดันให้บริษัทต้องต่อกรกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่กำลังขยายขอบเขตทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งบ่อยครั้งที่วาระของกลุ่มเสรีนิยมใหม่ที่ซ่อนอยู่ได้แก่การทำกำไรสูงสุดนั้นอาจนำไปสู่การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและสวัสดิการสังคมเนื่องจากต้องการสนับสนุนนโยบายเก็บภาษีธุรกิจ ซึ่งหมายความว่ามีกฎหมายคุ้มครองทางสังคมให้แก่แรงงานเปราะบางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนี้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ในระบบทุนนิยมนั้น แรงงานถูกผูกติดไว้กับการจ้างงานและรับเงินค่าจ้างจากนายจ้างจนทำให้ไม่มีเวลาและจิตใจที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ในบริบทเช่นนี้ ทางเลือกระหว่างงานและสิ่งแวดล้อมจึงชัดเจน

หลังจากที่ได้ศึกษาในเรื่องเหล่านี้แล้ว นักรัฐศาสตร์บางรายจึงสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมโดยนำเอาทุนภาคเอกชนทั้งหมดออกจากระบบและให้รัฐเข้ามาควบคุมการผลิตเพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับแรงงานและสิ่งแวดล้อม จากมุมมองด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมนี้เอง “กลยุทธ์ของนักสังคมนิยมกลับพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ทุนเสียเอง และเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเข้าควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์”

ไม่ใช่ว่านักรัฐศาสตร์ทุกคนจะเห็นว่าสังคมนิยมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะรัฐสังคมนิยมก็มีประวัติทำลายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกับทุนนิยม และรัฐสังคมนิยมยังปฏิเสธไม่ยอมเลิกใช้พลังงานฟอสซิลอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังไม่ค่อยมีสหภาพแรงงานที่ขาดความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับสมาชิกแรงงานใดต้องการสนับสนุนสังคมนิยมเต็มใบ ตามที่ Felli ได้เตือนไว้ว่า “กลยุทธ์แบบ Top-down ของนักสังคมนิยมยังคงใช้ได้ผลอยู่เพราะความเป็นไปได้ที่จะกำหนดกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงของแรงงานนั้นมักถูกมองข้าม”

ปัญหานี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะขยายกรอบดำเนินการทางกากรเมืองและเปิดพื้นที่ให้แก่ความร่วมมือที่หลากหลายมากขึ้น นักรัฐศาสตร์เสนอว่าขั้นตอนสำคัญที่จะเพิ่มความหลากหลายให้แก่สถานะทางการเมืองของรัฐที่เดิมมีเพียงเสรีนิยมใหม่และสังคมนิยม (หรือตลาดเสรีและตลาดภายใต้การควบคุม) เราต้องเปิดช่องให้ระบบการเมืองแบบอื่นเข้ามามีบทบาทและรับรองกลยุทธ์ที่วิวัฒน์ไปเพื่อรองรับและสร้างอิทธิพลในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

การศึกษาด้านประวัติศาสตร์สหภาพแรงงานด้านการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะช่วยได้มากในกรณีเช่นนี้ โดยยกเอาช่วงเวลาในอดีตที่นักสหภาพแรงงานมีอิทธิพลต่อนโยบายกระแสหลักและในขณะเดียวกันก็กระตุ้นความพยายามในระดับองค์กรที่จะผลักดันนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่นโยบายของประเทศยังล้าหลัง ในประเทศออสเตรเลีย สเปน และสหราชอาณาจักร สหภาพแรงงานอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าที่จะเข้าถึงนักการเมืองและให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นมิตรต่อแรงงาน ในทางตรงกันข้าม สหภาพแรงงานในสหรัฐอเมริกามีอิสระน้อยกว่าและมุ่งเน้นไปที่การขอความร่วมมือจากสมาชิกในเรื่องสิ่งแวดล้อม

สหภาพแรงงานบางรายในสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้ามากในระดับรัฐจากการผลักดันกฎหมายก้าวหน้าในรัฐที่เป็นต้นแบบอย่างแคลิฟอร์เนีย การที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่รับหลักการด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติและถอนตัวจากความตกลงปารีสยิ่งกระตุ้นให้เกิดการรณรงค์ในระดับรัฐมากขึ้น Stevis ตั้งข้อสังเกตว่าการรอคอยกฎหมายสิ่งแวดล้อมในระดับชาติและระดับนานาชาติไม่ควรเป็นเหตุผลทำให้แรงงานสายสิ่งแวดล้อมนั่งรอคอยเฉยๆแต่จะต้องลุกขึ้นมาริเริ่มด้วยตนเอง ถ้าพวกเขาสามารถผลักดันให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เห็นผลในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐได้ ความเป็นไปได้ที่สหภาพแรงงานสายสิ่งแวดล้อมจะผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อต้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานก็จะสดใสขึ้น

แนวทางการพัฒนาเหล่านี้ก่อให้เกิดความต้องการกลยุทธ์ทางการเมืองที่มีความหลากหลายและสร้างความร่วมมือทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และระหว่างเครือข่ายแรงงานและชุมชนแรงงาน ไม่ว่าจะมีสหภาพหรือไม่ก็ตาม ตามที่ Ostrom ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า “โชคดีที่หลายกิจกรรมสามารถนำไปใช้ดำเนินการในหลายพื้นที่หลายชุมชนซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ นอกจากพวกเขาจะประสบความสำเร็จในหลายๆระดับแล้วยังได้มีโอกาสทดสอบนโยบายต่างๆและได้ประสบการณ์การเรียนรู้มากมาย” ดังนั้นคำถามต่อมาคือการทดสอบนโยบายเหล่านี้เป็นอย่างไรและมีแรงงานเข้าร่วมปฏิบัติการในการทดสอบเหล่านี้มากน้อยเพียงไร

ทางเลือกหนึ่งที่นักสหภาพแรงงานมีได้แก่การมีส่วนร่วมในการวางแผนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการใช้ทรัพยากรโดยแรงงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางสังคมและความยั่งยืน Eric Lars Henriksson นักสหภาพแรงงานยานยนต์ของสวีเดน ได้เสนอทางเลือกนี้ในแผนลูคัส (Lucas plan) ที่ร่างโดยสหภาพแรงงานในสหราชอาณาจักรเพื่อให้อำนาจแก่สมาชิกในการรวมเอาองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการผลิต การบริหารองค์กร และการจัดการเพื่อแปลงโรงงานอากาศยานสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อนำไปใช้งานด้านอื่น Eric Lars Henriksson เห็นความสำคัญของการประสานงานในโครงการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า:

“เมื่อโรงงานต้องปิดตัวลงหรือปลดพนักงาน สหภาพจะเรียกร้องให้นายจ้างหางานทดแทนให้แก่แรงงานที่ถูกปลด ค่าชดเชย หรือการฝึกอบรมทักษะสำหรับอาชีพใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานมักมาจากการรวมตัวของสมาชิก และแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมนั้นอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความร่วมมือ เป็นความต้องการร่วมกันที่เราสามารถต่อสู้ไปด้วยกันได้แทนที่จะต่อสู้ตามลำพังคนเดียวท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน”

โชคไม่ดีที่แผนลูคัสที่มีชื่อเสียงไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้สำเร็จ เป็นไปได้ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงผู้นำแรงงานนำแผนมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาเชิงเทคนิคมากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการเมือง ในทางตรงกันข้าม สหภาพแรงงานหัวก้าวหน้าในปัจจุบันโยงความต้องการของตนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยแรงงานในการวางแผนเชิงนวัตกรรมที่ให้อำนาจทางการเมืองแก่งานรณรงค์ด้านแรงงานในขอบเขตที่กว้างขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งของแคมเปญเพื่อความเป็นธรรมทางภูมิอากาศที่ National Union of Metal Workers ของอาฟริกาใต้กำลังดำเนินการอยู่ได้แก่การที่สหภาพแรงงานและสมาชิกใช้กลยุทธ์หลายง่ามรวมถึงการประท้วงและคว่ำบาตรเพื่อทำลายการผูกขาดจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่และบังคับเจ้าหน้าที่รัฐให้กำหนดราคาพลังงานอย่างโปร่งใส ในการนี้สหภาพใช้องค์ความรู้ของแรงงานเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานที่จะขยายความร่วมมือทางการเมืองเพื่อการวางแผนสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเข้ากับสังคม และจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

การนำตลาดสู่ความเป็นรูปธรรม

ในบรรดาสามหัวข้อที่เราศึกษาในบทความนี้ได้แก่การแปลงทรัพยากรเป็นสินค้า องค์ความรู้ และการเปลี่ยนผ่าน ตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ภายใต้เงื้อมเงาของตลาด วัตถุดิบและกระบวนการทางกายภาพดำเนินไปในขณะเราสร้างผลกระทบต่อภูมิอากาศโลกและแสวงหาวิธีการใหม่ๆที่ลดความเป็นนามธรรมของเศรษฐกิจลง ดังที่การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดมีความคลุมเครือเท่าๆกับความโปร่งใส หากสิ่งใดไม่สามารถกำหนดค่าได้ ตลาดก็จะไม่รู้จักสิ่งนั้น แรงงานที่มิได้ถูกกำหนดราคาและแลกเปลี่ยนและระบบนิเวศที่ไม่สามารถตีค่าเป็นดอลล่าร์ฯได้จะกลายเป็นสิ่งล่องหน อนาคตที่ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่ไม่สามารถแปลงเป็นสินค้าได้จะไม่สามารถทำนายได้ด้วยตลาด ดังนั้นจึงไม่ถูกนำมาพิจารณา

อำนาจของตลาดที่ลดทอนความสำคัญของสิ่งที่ไม่มีมูลค่าเป็นตัวเงินนั้นทำให้เกิดรูปแบบของการประสานงาน ความร่วมมือ และตัวแทนบุคคล ที่มองไม่เห็นและพ้นจากความเป็นตลาด ที่สำคัญคือตลาดทำให้แนวทางรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรดูซับซ้อนเกินไปและไร้เหตุผลรองรับ

นักสังคมศาสตร์มีบทบาทที่สำคัญในการตั้งคำถามต่อตลาดและการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าที่ตลาดต้องพึ่งพาในมุมมองที่กว้างขึ้น เราต้องการงานวิจัยที่ไม่เพียงแต่จะประกอบตลาดให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาใหม่แต่ยังขอให้เรารับผิดชอบต่อเขตแดนทางกายภาพที่ชีวิตยุคใหม่ต้องพึ่งพา ซึ่งหมายถึงการทำนายอนาคตที่พื้นฐานทางวัตถุของสังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจนจำไม่ได้ และหมายถึงการวิเคราะห์แนวทางที่การเมืองยุคโลกร้อนก่อตัวขึ้น ได้แก่อำนาจทางการเมืองและการดำเนินการทางการเมืองที่ส่งผลต่อโลก ต่อกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้เกิดแรงงาน และการกระจายทรัพยากร หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าความต้องการปกป้องอนาคตของมนุษย์ไม่สามารถบ่งแยกออกได้จากการปกป้องสิ่งแวดล้อม

แล้วเราจะเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมเข้ากับสังคมในบริบททางการเมืองได้อย่างไร?

ก้าวแรกที่สำคัญได้แก่เราจะต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมิใช่เพียงแค่การปรับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองหรือรัฐบาลที่กำกับดูแลตลาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ท้าทายและแก้ไขกระบวนการย่อยของการบริหารงานของรัฐในหลายระดับ บทวิเคราะห์กระบวนการที่สร้างและให้อำนาจสถาบันทางการเมืองจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาวัตถุภาวะของการแลกเปลี่ยนในสังคม ผู้อ่านจะพบว่าแนวความคิดที่ว่าสถาบันนั้นแข็งตัว รวมศูนย์ทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน และมีความเป็นโครงสร้างจะถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็ว สำหรับสถาบันในระดับย่อยนั้น ความจำเป็นของตลาดจะหมดไป และสถาบันจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่แค่กิจกรรมของมนุษย์แต่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อโลก ปรากฏการณ์ทางรูปธรรมของโครงสร้างสถาบันและปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อโครงสร้างนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และความเป็นไปได้ของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือทางการเมืองที่เชื่อมสิ่งแวดล้อมเข้ากับสังคมอย่างเป็นธรรมก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


อ้างอิง : Climate Change and Work: Politics and Power


Social Share