THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

จะเป็นอย่างไรเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นทุกๆ 1 องศา 

มาร์ค ไลนัส (Mark Lynas) นักเขียนชาวอังกฤษได้รวบรวมข้อค้นพบจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมหาศาล ผ่านหนังสือ “Six Degrees: Our Future In The Hotter Planet” เพื่ออธิบายถึง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 – 6 องศาเซลเซียส (นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือประมาณ ค.ศ. 1780s) โดยจำแนกประเภทของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส หมายเหตุ: ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 0.8 องศาเซลเซียสนับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 

+ 1 องศา (อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อ 6,000 ปีที่แล้ว)

  • หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าทะเลทรายซาฮาร่าเคยอุดมสมบูรณ์มาก โดยเห็นได้จากภาพเขียนบนก้อนหินรูปช้าง ยีราฟ และควายป่า
  • ทะเลสาบ Mega-Chad เคยมีขนาดกว้างเกือบเท่าทะเลแคสเปี้ยนในปัจจุบัน
  • มรสุมในแอฟริกาจะทำให้เกิดฝนตกในบริเวณทะเลทรายซาฮาร่ามากขึ้น
  • อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้หิมะบนภูเขาคีรีมันจาโรละลายจนหมดเป็นครั้งแรกในรอบ 11,000 ปี
  • เทือกเขาแอลป์ก็เช่นกัน การละลายจะทำให้เกิดดินถล่มอย่างรุนแรงเนื่องจากชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ที่ทำหน้าที่เสมือนกาวเชื่อมชั้นดินไว้ด้วยกันละลายจนเสียความสามารถในการยึดเกาะ
  • อุณหภูมิในเขตอาร์คติคจะสูงกว่าที่อื่น 1 องศา ทำให้น้ำแข็งในทะเลละลายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลก สิงโตทะเล และแมวน้ำ จะถูกผลักให้ขึ้นไปอยู่ใกล้ขั้วโลกขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นที่ที่มีอากาศหนาวมีขนาดแคบลง
  • ระบบนิเวศพังทลาย โดยเฉพาะแนวปะการังในเขตร้อน นั่นหมายความว่าความหลากหลายทางชีวภาพก็ลดลงด้วย
  • คาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายผสมกับน้ำทะเลจะทำให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด ซึ่งสัตว์ทะเลที่สามารถรอดชีวิตจากอุณหภูมืน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็จะไม่สามารถรอดชีวิตจากสภาพนี้ได้ โดยเฉพาะสัตว์มีเปลือกที่มีเเคลเซียมเป็นส่วนประกอบ

+ 2 องศา (อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อ 125,000 ปีที่แล้ว)

  • อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 2 องศาจะทำให้ฤดูร้อนทุกๆ ปีของทวีปยุโรปมีความร้อนเท่ากับปี 2003 (สูงกว่า 40 องศา) ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนกว่า 30,000 คน และอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับบริเวณตะวันออกกลางอาจส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายแสนคน
  • ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนอาจต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนยาวนานถึง 6 สัปดาห์ต่อปี และปริมาณฝนตกอาจะลงลดถึง ⅕ ของปัจจุบัน
  • อัตราการเกิดไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น
  • อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสององศาสามารถทำให้แผ่นน้ำแข็งทั้งหมดของกรีนแลนด์ละลายหายไปได้ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 7 เมตร
  • เมื่อประมาณ 125,000 ปีที่แล้ว เมื่อโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 1-2 องศส น้ำแข็งทั่วโลกละลายเกือบทั้งหมด
  • แม้นาซ่า (NASA) จะคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำทะเลน่าจะสูงขึ้นประมาณ 50 ซม. ภายในปี  2100 แต่นั่นเป็นการประมาณการที่ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ดีจนเกินไป
  • อัตราการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์นั้นเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากปี 2004
  • อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ธารน้ำแข็งบนยอดเขาละลายจนหมด ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำหลายสายต้องแห้งลงเนื่องจากแหล่งต้นน้ำหายไป
  • ความมั่นคงทางอาหารระดับโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน เพราะแม้ว่ามนุษย์จะสามารถอยู่รอดภายใต้อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 2 องศาได้ แต่ ⅓ ของสายพันธุ์ (species) อื่นๆ อาจไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้
  • ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งจะนำปไปสู่การสูญพันธุ์

+ 3 องศา

  • หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงง 3 องศา สถานการณ์โลกร้อนจะก้าวข้ามผ่านจุดแตกหักที่แท้จริง โดยจุดศูนย์กลางความเสียหายอยู่ที่ป่าอเมซอน (พื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร) เมื่ออากาศแห้งแล้งจัดจะนำไปสู่ไฟป่าที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลออกมา เมื่อรวมกับก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกมาจากพื้นดินอาจเร่งให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาในทันที
  • อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 3 องศาจะเปลี่ยนให้โลกเป็นที่ที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปเพราะผลกระทบจากความร้อนและความแล้ง
  • ทวีปออสเตรเลียจะไม่มีฝนตกต้องตามฤดูกาลอีกต่อไป
  • ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนจะเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับ 5 (ระดับเดียวกับซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไฮ่เยี่ยน)
  • ปริมาณอาหารในโลกจะขาดแคลนถึงขั้นรุนแรง จนอาจทำให้เกิดผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (climate refugees) มากถึงพันล้านคน ต้องอพยพจากเขต subtropical ขึ้นไปยังเขต mid-altitude
  • ประเทศปากีสถานจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนักอันเป็นผลจากความเเห้งเเล้ง เนื่องจากธารน้ำแข็ง Karakoram ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำละลายหายไป ทั้งยังอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศกับประเทศอินเดียเนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่พอสำหรับทั้งสองประเทศ
  • ทางตอนเหนือของทวีปยุโรกและประเทศอังกฤษจะมีฤดูร้อนที่แห้งแล้งและฤดูหนาวที่มีน้ำท่วมรุนแรงจากฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุนจากพายุ (storm surge)โดยเฉพาะกับเมืองชายฝั่งที่อยู่ในระดับต่ำ
  • พื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองได้จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์สูงที่สุดในโลกเมื่อผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศหลายล้านคนอพยพจากเขตร้อนไปอยู่ (ประเทศไทยก็อยู่ในเขตร้อน)

+ 4 องศา

  • เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 4 องศา นั่นหมายความว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่ก๊าซเรือนกระจกหลายแสนล้านตันซึ่งถูกเก็บกักไว้ในชั้นดินเยือกแข็งในภูมิภาคอาร์คติค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไซบีเรีย เริ่มละลายและปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาลออกมา
  • น้ำแข็งทั้งหมดในมหาสมุทรอาร์คติคจะละลายหายไปจนหมด ทำให้ขั้วโลกเหนือจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดเป็นครั้งแรกในรอบสามล้านปี แน่นอนว่าหมีขาวและสัตว์ต่างๆ ในบริเวณดังกล่าวจะต้องสูญพันธุ์ทั้งหมดอ  
  • แผ่นน้ำแข็งทางตะวันตกของแอนตาร์คติค (ขั้วโลกใต้) อาจละลายหลุดออกจากแผ่นหินที่มันยึดเกาะอยู่และพังทลายลงเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอีก 5 เมตร หมายความว่าเมืองชายฝั่งและประเทศที่เป็นหมู่เกาะหลายๆ ประเทศจะจมหายไปอย่างแน่นอน
  • ทวีปยุโรปจะได้เห็นทะเลทรายทั่วภูมิภาคเป็นครั้งแรก ทั้งในอิตาลี สเปน กรีซ และตุรกี ทะเลทรายซาฮาร่าจะขยายอาณาเขตไปจนข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์ (the Straits of Gibraltar) ฤดูร้อนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศา
  • เทือกเขาแอลป์จะไม่มีน้ำแข็งและหิมะเหลืออยู่อีก ซึ่งน้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะก้อนหินและชั้นดินไว้ด้วยกัน  และจะมีธารน้ำแข็งเหลืออยู่แค่บนยอดเขาสูงๆ เช่น Mont Blanc เท่านั้น
  • ภูมิอากาศทางตอนใต้ของอังกฤษจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนภูมิอากาศที่เมือง Marrakech กำลังเผชิญอยู่ (ทะเลทราย) โดยมีอุณหภูมิในฤดูร้อนสูงถึง 45 องศา
  • ประชากรส่วนใหญ่ของยุโรปจะตต้องเดินทางขึ้นเหนือเพื่อความอยู่รอด

+ 5 องศา  (อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว: ยุคอีโอซีน (Eocene)

  • ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าโลกที่อุณหภูมิ 5 องศา มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศต่างจากที่เราอาศัยอยู่ตอนนี้มาก แต่มันคือภูมิประทศแบบเดียวกับยุคอีโอซีน (Eocene)
  • มีการค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตเขตร้อน เช่น จระเข้และเต่า ในบริเวณแคนาเดี้ยนอาร์คติค ซึ่งน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว ก่อนที่โลกจะถูกภาวะโลกร้อนกระทบอย่างเฉียบพลัน
  • หนึ่งในฟอสซิลที่พบบริเวณชายฝั่งของกรีนแลนด์ คือ ต้นสาเก ซึ่งอุณหภูมิของน้ำทะเลในแถบนั้นอยู่ที่ประมาณ 20 องศา แม้ว่าจะอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น ยุคนั้นขั้วโลกไม่มีน้ำแข็ง และน่าจะมีป่าอยู่บริเวณขั้วโลกใต้อีกด้วย
  • สถานการณ์ก๊าซเรื่อนกระจกในยุคอีโอซีนนั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ถึงกับอึ้งไป ไม่ใช่แค่ผลกระทบของมันที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างเฉียบพลันในท้องทะเล แต่เป็นเพราะสารมีเทนไฮเดรท (methane hydrate) ส่วนผสมที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยนัก มันคือน้ำแข็งที่ประกอบด้วยน้ำผสมกับก๊าซมีเทน ซึ่งจะคงสภาพเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำและความดันสูง และมันอาจจะระเบิดออกมาจากใต้ทะเลได้ ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทะเลเรอ” (ocean burp) ที่จะกระตุ้นให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างรุนแรง (มีเทนมีความสามารถในการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า) [ปัจจุบันนี้มีเทนไฮเดรทยังถูกเก็บกักอยู่ในชั้นดินใต้ทะเล]
  • เมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นมันอาจปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว
  • นอกจากนั้นพื้นสมุทรอาจถล่มลงเมื่อมันปล่อยก๊าซมีเทนออกมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาพุ่งตรงเข้าสู่แนวชายฝั่ง
  • อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์หายนะครั้งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันอาจใช้เวลาหลายศตวรษก็เป็นได้กว่าทีอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นขึ้นจะเดินทางลงไปถึงก้นทะเลและทำให้ก๊าซมีเทนนี้ถูกปล่อยออกมา กระนั้น สำหรับระดับน้ำทะเลที่ไม่ลึกมาก เช่น ในบริเวณอาร์คติค ผลกระทบเดียวกันนี้อาจเดินทางไปถึงในไม่ช้านี้
  • สิ่งหนึ่งที่เราลืมไม่ได้ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกยุคอีโอซีนนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 10,000 ปีในการเกิดกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เรากำลังจะก้าวเข้าสู่จุดนั้นภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปี

+ 6 องศา  (อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อ 251ล้านปีที่แล้ว: ยุคเพอร์เมียน (Permian)

  • หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 องศา 95% ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกจะสูญพันธุ์
  • ภูมิอากาศแบบเพอร์เมียน คือ ภาวะเสมือนการ “ล้างโลก” ที่สุดตั้งแต่โลกนี้เคยมีมา
  • การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้มีความเกี่ยวพันกับภาวะเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นสูงมาก
  • ไอโซโทปของออกซิเจนที่ตรวจพบในก้อนหินจากช่วงเวลาดังกล่าว ชี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 6 องศา ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลในอีก 200 ล้านปีต่อมาในยุคอีโอซีน
  • ชั้นหินตะกอนชี้ให้เห็นว่าพืชเกือบทั้งหมดบนโลกขณะนั้นถูกทำลายจากปัญหาชั้นดินสึกกร่อนกะทันหัน มีร่องรอยของเชื้อราบางชนิดในก้อนหินซึ่งแสดงถึงการเน่าเปื่อยของซากพืชซากสัตว์ ซากศพมากมายถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทรทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในน้ำ บริเวณที่เป็นทวีปยุโรปตอนกลางและอาจรวมถึงวงแหวนอาร์คติคเคยเป็นทะเลทรายมาก่อน
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษา “กลไกการฆ่า” ในช่วงสิ้นสุดยุคเพอร์เมียนชี้ว่า “การระเบิดของมีเทนไฮเดรทสามารถจะทำลายทุกชีวิตบนโลกใบนี้ได้” มีเทนไฮเดรทจะทำหน้าที่เหมือนเป็นระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ หรือ ระเบิดสุญญากาศ (vacuum bombs) การระเบิดครั้งใหญ่ของมีเทนในมหาสมุทรอาจมีพลังงานมากถึง 10,000 เท่าของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลก

ที่มา/อ่านเพิ่มเติม: 
http://www.theguardian.com/books/2007/apr/23/scienceandnature.climatechange%C2%A0


Social Share