THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย  Pradip Swarnakar
แห่ง Oxford Scholarship Online
แปลและเรียบเรียงโดย      ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย       The Independence



พลังของเครือข่ายและการเจรจาต่อรอง

ในขอบเขตเรื่องโลกร้อนของประเทศอินเดียนั้น ตัวแทนจาก NGO มักเป็นผู้ที่ริเริ่มในการสร้างเครือข่าย ตัวอย่างเช่น เครือข่าย Climate Action Network South Asia (CANSA) ตั้งขึ้นในปี 1991 โดยกลุ่ม NGO ภาคตะวันตกเฉียงใต้และนักวิทยาศาสตร์ที่กังวลกับผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้ยากไร้และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ต่อมาในปี 2018 CANSA และ องค์กรสมาชิก 160 องค์กรจาก 8 ประเทศได้รับโอกาสในกาทำงานในประเด็นระดับชาติและระดับภูมิภาค จากความเป็นสมาชิกภาพในระดับนานาชาติทำให้ NGO ของ CANSAสามารถสร้างความสัมพันธ์กับ NGO อื่นๆในอินเดียและประเทศในเอเชียใต้ที่มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน เครือข่ายนี้ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง NGO และรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ก่อนการประชุม COP 21 ที่กรุงปารีส CANSA ตระหนักดีถึงความต้องการของประเทศอินเดียที่จะมีสิทธิในการพัฒนาเศรษฐกิจและเน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะหาทางออกโดยการใช้พลังงานทางเลือก รายงานของ CANSA ระบุว่า :

เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอินเดียนั้นค่อนข้างสูง …………รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโมดีก็สร้างความคืบหน้าในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยการให้คำมั่นว่าจะสร้างสมาร์ทซิตี้และหมู่บ้านตัวอย่างเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับทุกคน…………รัฐบาลมองว่าการพัฒนาจะต้องมาก่อนการลงทุนในเรื่องแก้ปัญหาโลกร้อน……………เรามั่นใจว่าเมื่อหันไปใช้พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจของอินเดียจะยังสามารถโตตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

เครือข่ายที่สำคัญในเรื่องแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกเครือข่ายหนึ่งได้แก่ Climate Justice Now! (CJN!) ซึ่งเป็นเครือข่าย NGO ที่รณรงค์เรื่อง Climate Justice ที่ตั้งขึ้น ณ การประชุม UNFCCC ที่บาหลีในปี 2007 ซึ่งต่อมาทำให้กลุ่ม NGO มีบทบาทมากขึ้นในการประชุม UNFCCC ณ กรุงโคเปนฮาเกนและกรุงแคนคูน ในปี 2007 CJN! ได้ยืนยันหลักการด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ 4 หลักการได้แก่
(1) ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจควรรับผิดชอบลดปริมาณกาซเรือนกระจกและสนับสนุนทุนให้แก่การนำเอาพลังงานทางเลือกมาใช้
(2) ควรจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน
(3) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มควรมีบทบาทในการตัดสินใจร่วมกัน และ (4) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดควรได้รับการชดเชย

เป้าหมายในการดำเนินงานของเครือข่าย CANSA และ CJN! นั้นแตกต่างกัน และ NGO ในอินเดียสามารถเลือกเป็นสมาชิกของเครือข่ายที่ให้ประโยชน์แก่ตนได้ สมมติว่าถ้า NGO หนึ่งทำงานด้าน Climate Sustainability หรือ Climate Justice ในระดับนานาชาติ NGO นั้นจะได้รับโอกาสมากจากการเป็นสมาชิกของ CANSA หรือถ้ามี NGO หัวก้าวหน้าที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับรัฐบาล ซึ่งสนับสนุนด้าน Climate Justice ในประเทศหรือการรณรงค์ลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน NGO นั้นก็ควรเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย CJN! ที่จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและทุน ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ชัดเจน คือ แนวทางการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศยุคที่หนึ่งที่เน้นการปฏิรูป (CAN) หรือแนวทางการแก้ปัญหายุคที่สองที่ต่อต้านทุนนิยมและระบบ (CJN!) นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกเครือข่ายเพื่อสังคมในระดับนานาชาติแล้ว NGO ยังสามารถแสดงผลงานของตนได้ในกิจกรรมย่อยของการเจรจาปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP

เป็นที่ทราบกันดีว่า NGO มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากจุดเริ่มต้นที่ “ชุมชนมีบทบาทที่สำคัญในการประชุมสุดยอดทางสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (COP) เมื่อถึงปี 2009 มี NGO กว่า 51% หรือประมาณ 1,300 องค์กรถือกำเนิดจากชุมชนท้องถิ่น ในการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส กว่า 2,000 องค์กรที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิก ในการประเมินโอกาสในเครือข่ายระดับนานาชาตินั้น NGO สัญชาติอินเดียได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี COP อยู่เป็นประจำ ในการประเมินการมีส่วนร่วมของ NGO สัญชาติอินเดียในการทำกิจกรรมย่อยในการประชุม COP นั้น พบว่ามีองค์กรที่รวมตัวเป็นกลุ่มเล็กๆแยกตัวออกมาจากกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลสูง เพื่อพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมุมมองของชุมชนระดับรากหญ้า นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรด้านความเป็นธรรมสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น Centre for Community Economics and Development Consultants Society และ Public Advocacy Initiatives for Rights and Values ในอินเดียยังได้สร้างภาคีเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆในประเทศ จากประเทศในเอเชียใต้ และประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย อย่างไรก็ตาม NGO อย่าง TERI ที่ทำงานทั้งทางด้าน Climate Sustainability และ Climate Justice ในระดับนานาชาติได้ริเริ่มความร่วมมือกับองค์กรด้านการวิจัยและสนับสนุนทุนในการดำเนินการของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศอินเดียมีประวัตศาสตร์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไม่ละทิ้งความสำคัญของปากท้องของชุมชนส่วนน้อยหรือเรียกว่าแนวทาง ‘สิ่งแวดล้อมสำหรับคนยาก’ ในช่วงที่มีการรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ดังมากเช่น Narmada และ Chipko ซึ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบของนโยบายรัฐที่มีต่อชุมชนท้องถิ่นนั้น Climate Justice ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มี NGO เป็นจำนวนมากที่ลดความสำคัญด้านคุณภาพชีวิตชุมชนลงและหันไปแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง การรณรงค์เรื่อง Climate Justice ในอินเดียเกิดจากแนวทางสิ่งแวดล้อมสำหรับคนยากแบบดั้งเดิมกับแบบ crowding-in หลังปี 2007 อย่างไรก็ตามทั้งสองแนวทางยังไม่ประสบความสำเร็จในการกำหนดมาตรการ Climate Justice ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ถ้าเราดูจากการดำเนินการตามนโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐบาลได้นำเอาแนวคิดด้าน Climate Justice มาใช้ในการกำหนดนโยบายและการเจรจาระหว่างประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะรวมเอากิจกรรมของ NGO เข้ากับนโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสังคมอินเดียมักมีข้อพิพาทกับรัฐอยู่เสมอ ประการสุดท้าย NGO ในประเทศอินเดียที่มุ่งเน้นเรื่องความ Climate Justice ภายในประเทศมักถูกผูกมัดอยู่กับประเด็นปัญหาในประเทศและขาดการเชื่อมโยงปัญหาเข้ากับประเด็นเรื่องโลกร้อนในระดับนานาชาติ ความสำเร็จของการรณรงค์ในการแก้ปัญหาภูมิอากาศในอนาคตของอินเดียขึ้นอยู่กับการนำเอาแนวนโยบายด้าน Climate Justice ของรัฐบาลมาปฏิบัติ เราคงต้องคอยดูกันต่อไปว่า NGO ในอินเดียจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้โดยใช้เครือข่ายระหว่างประเทศหรือสร้างอำนาจต่อรองในประเทศ

– จบ –

อ้างอิง https://oxford.universitypressscholarship.com/view/10.1093/oso/9780199498734.001.0001/oso-9780199498734-chapter-15


Social Share