THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share


เขียนโดย   Miguel Calmon และ Rafael Feltran-Barbieri
วันที่ 5 ธันวาคม 2019
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์



ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่เกษตรกรทั่วโลก เกษตรกรรมต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิสูงต่ำ ปริมาณฝน แรงลม และปัจจัยอื่นๆ มีการประมาณการว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง 17% ภายในปี 2050

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นหลักเช่น ประเทศบราซิล ผลการวิจัยพบว่าลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของฝนที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้ถั่วเหลืองที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของบราซิลนั้นไม่ออกผล และพบว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของสามรัฐในบราซิล ลดลงถึง 95%

ข่าวดีคือเกษตรกรสามารถปรับตัวเองให้อยู่รอดในภาวะโลกร้อนได้ โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

1. ใช้ระบบสวนผสมที่มีทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และป่าไม้ ยิ่งมีพืชที่หลากหลายในพื้นที่มากเท่าไร ความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนก็จะยิ่งสูงขึ้น แทนที่เกษตรกรจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวเต็มพื้นที่ แต่ให้ปรับเปลี่ยนเป็นไร่นาสวนผสมระหว่าง ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชและปลูกป่า เลี้ยงสัตว์และปลูกป่า หรือทั้งสามอย่างร่วมกัน

Brazilian Agricultural Research Corporation (Embrapa) ให้เหตุผลว่าการทำไร่นาสวนผสมเช่นนี้เป็นการผลิตอาหาร พลังงาน ใยอาหาร ไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่าอื่นๆในพื้นที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดความสามารถในการปรับตัว โดยการลดอุณหภูมิในพื้นที่และเพิ่มความชื้นในอากาศ ลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนต่อผลผลิต ลดการกัดเซาะหน้าดิน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเนื่องจากมีสินค้าที่หลากหลายให้นำไปขายได้

ตัวอย่างเช่น INOCAS เป็นฟาร์มปศุสัตว์หนึ่งในบราซิลที่นำพื้นที่ส่วนหนึ่งมาปลูกต้นปาล์มท้องถิ่นเพื่อปรับคุณภาพดินและให้ร่มเงาแก่สัตว์เลี้ยง และต้นไม้ยังให้ผลผลิตเป็นน้ำมันพืชอีกด้วย ระบบสวนผสมนี้ช่วยปรับปรุงพื้นที่ ทำให้สัตว์เลี้ยงสามารถรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

2. ฟื้นฟูฟาร์มปศุสัตว์ที่เสื่อมโทรม ความเสื่อมโทรมของฟาร์มปศุสัตว์เป็นปัญหาใหญ่ในบราซิล พื้นที่เสื่อมโทรมมักถูกกัดเซาะและกักเก็บน้ำได้น้อย ไร้ต้นหญ้าที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์
มีวิธีการต่างๆ มากมายในการฟื้นฟูฟาร์มปศุสัตว์ที่เสื่อมโทรม วิธีที่ง่ายที่สุดคือการใส่ปุ๋ย แต่ก็ไม่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวเนื่องจากเกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยทุกๆสี่หรือห้าปี อีกวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่าได้แก่การปลูกพืชและหญ้าท้องถิ่นคลุมดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะ หญ้าจะเป็นอาหารของสัตว์ในขณะที่ต้นไม้จะเก็บกักคาร์บอนได้อีกด้วย
การฟื้นฟูฟาร์มปศุสัตว์ที่เสื่อมโทรมยังเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อน โดยการลดอุณหภูมิในพื้นที่และเพิ่มความชื้นในอากาศ สร้างภูมิต้านทานต่ออากาศร้อนและความแล้ง ลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ลดการกัดเซาะหน้าดิน และเพิ่มแหล่งน้ำ

3. ระบบวนเกษตร คือการปลูกพืชผลทางการเกษตรร่วมกับป่าไม้อย่างเป็นระบบ แม้แต่ไม้ที่จะนำมาปลูกก็จะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกันและไม่เป็นศัตรูกัน ความหลายหลายของพืชไร่และต้นไม้ทำให้พื้นที่นั้นๆมีผลผลิตตลอดทั้งปี เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
โกโก้เป็นตัวอย่างที่ดีของระบบวนเกษตร โกโก้เป็นไม้ที่เติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ในประเทศเปรู รัฐวิสาหกิจให้การสนับสนุนเกษตรกรจำนวน 20,000 รายที่ปลูกโกโก้ออร์แกนิกส์ และ/หรือโกโก้คุณภาพสูงในระบบวนเกษตรบนพื้นที่ 143,000 เอเคอร์ ระบบวนเกษตรเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเกษตรกรในการปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อน ช่วยลดผลกระทบจากความแล้ง ความร้อน และน้ำท่วม ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มแหล่งน้ำ ช่วยเรื่องการผสมเกสรของพืช และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

4. การปลูกป่า เป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ช่วยกักเก็บคาร์บอนและป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ให้ผลผลิตเสริมแก่เกษตรกรอย่างเช่น ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าอื่นๆ นอกจากจะเป็นการลงทุนที่ดีแล้ว ป่าไม้ยังให้ผลดีในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแทบทุกปัจจัย ยกเว้นเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ต้นไม้ที่มีเนื้อเปราะบางติดไฟง่ายและขึ้นหนาแน่นอย่างเช่นป่ายูคาลิปตัสก่อให้เกิดไฟที่ลามเร็ว
การฟื้นฟูป่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับเกษตรกรชาวบราซิล กฎหมายป่าไม้ของประเทศบราซิลระบุว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งในที่ดินในชนบทจะต้องปกคลุมด้วยต้นไม้ธรรมชาติ พื้นที่ป่า 51 ล้านเอเคอร์ในประเทศบราซิลกำลังประสบกับภาวะเสื่อมโทรมและถูกทำลาย ซึ่งต้องการการฟื้นฟู ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในเขตทับซ้อนที่ไม่อนุญาตให้ทำการเกษตรได้ ทว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งสามารถทำเป็นวนเกษตรซึ่งให้ข้อดีทั้งในเชิงรายได้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกไม้ท้องถิ่นเพื่อการเก็บเกี่ยวในภายหลังจะกลายเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีของเกษตรกรในขณะที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในเขตชนบทด้วย

บทเรียนสำหรับบราซิลและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

วิธีการตามที่ได้กล่าวมาแล้วช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยการทำการเกษตรที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ทำให้สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกในขณะที่รักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน จึงได้รับการบรรจุไว้ในนโยบายสำคัญสองนโยบายของประเทศบราซิลได้แก่แผนการเกษตรคาร์บอนต่ำหรือ Plano ABC และแผนแห่งชาติว่าด้วยการฟื้นฟูพืชท้องถิ่นหรือ Planaveg

การปรับวิธีการเกษตรตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นนโยบายสำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ และยังรวมถึงการปกป้องสถาบันทางการเงินและบริษัทประกันภัยด้วย การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติช่วยให้สถาบันทางการเงินสามารถจัดการเครดิตของธุรกิจการเกษตรและบริษัทประกันโดยการลดค่าความเสี่ยงและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้

โมเดลวนเกษตรนี้แสดงให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้สำหรับเกษตรกรทั่วโลกที่จะปรับตัวเข้าหาวิธีการเกษตรคาร์บอนต่ำและเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการลดความเสี่ยงของเกษตรกรต่อภาวะโลกร้อนด้วย


ภาพโดย      Bruno Calixto
อ้างอิง   https://www.wri.org/insights/4-ways-farmers-can-adapt-climate-change-and-generate-income


Social Share