THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Julie Titone
วันที่  23 พฤษภาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย  ปิโยรส ปานยงค์

เกษตรกรในภูมิภาค Pacific Northwest ของประเทศสหรัฐอเมริกาประสบกับสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศ ได้แก่หิมะตกน้อยลง น้ำค้าแข็งเกิดผิดฤดูกาล ฝนชุกผิดปกติ น้ำท่วมมากและผิดฤดูกาล ฤดูร้อนที่แล้งจัด และไฟป่า สภาพความผิดปกติทางภูมิอากาศเช่นนี้อาจเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับเกษตรกร เพราะว่าการเกษตรแบบปลดปล่อยคาร์บอนปริมาณต่ำนอกจากจะลดปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย ข้อมูลของ World Resources Institute ระบุว่ากาซเรือนกระจกมาจากภาคเกษตรกรรมถึง 25% ซึ่งรวมไปถึงกาซมีเธนจากการเลี้ยงสัตว์ ไนโตรเจนไดออกไซด์จากปุ๋ยเคมี และคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องจักรทางการเกษตร

เพื่อให้เกษตรกรรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่กระทบกับรายได้ สถาบัน Snohomish Conservation แห่งรัฐวอชิงตัน ได้ริเริ่มแผนเกษตรกรรมยั่งยืนในปี 2019 โดยยึดเอาปัญหาโลกร้อนเป็นศูนย์กลาง และให้เกษตรกรประเมินผลกระทบจากน้ำเค็มที่ไหลจากทะเลเข้าแหล่งน้ำบาดาลเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ระดับน้ำท่วมถึงตลอดชายฝั่งแม่น้ำ Snohomish และแม่น้ำ Stillaguamish และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อพืชผลทางการเกษตร เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 7 ปี และนำข้อมูลมาทำนายสภาพภูมิอากาศในช่วงปี 2050 ไว้ว่าพื้นที่การเกษตรกว่าหมื่นไร่จะตกอยู่ในสภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ พื้นที่ชุ่มน้ำและระดับน้ำทะเลหนุนทำให้การหว่านเมล็ดพันธ์ต้องล่าช้าไปหนึ่งเดือน

ไม่มีใครแก้ปัญหาน้ำเค็มที่ไหลจากทะเลเข้าแหล่งน้ำบาดาลเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้นอกจากจะปล่อยให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) เนื่องจากดินเค็มเกินกว่าที่จะทำการเพาะปลูก ซึ่งจะทำให้ขาดแคลนพื้นที่ปลูกผักโขม บีตรูต กะหล่ำปลี และมันฝรั่งแดง ภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมไร่นา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีพายุจัดของปี

การแก้ปัญหาระยะยาว

เนื่องจากระดับน้ำขึ้นน้ำลงส่งผลกระทบต่อแม่น้ำทั้งสาย พื้นที่ตรงกลางระหว่างเมือง Ebey Slough กับเมือง Snohomish จึงได้รับผลกระทบทั้งน้ำเค็มที่หนุนสูงและน้ำท่วมลงมาจากยอดเขา ในอดีตเกษตรกรเพียงแค่ปลูกหญ้าอย่างสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่ในปัจจุบันแม้แต่การใช้ปั๊มไล่น้ำออกจากไร่นาก็ไม่ทันการณ์ เพราะการทิ้งน้ำให้ท่วมพื้นที่เพราะปลูกเป็นเวลานานนั้นไม่ดีต่อดิน เกษตรกรต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเปิดทางให้น้ำระบาย เพื่อปกป้องปลาซัลมอนวัยรุ่นที่ขึ้นมาอาศัยอยู่ในบริเวณ แม้ว่าระบบระบายน้ำจะเป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลาก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ปลาเหล่านี้ควรอาศัยอยู่ในพื้นที่รองรับน้ำท่วมตามธรรมชาติมากกว่า และหนึ่งในเป้าหมายของแผนเกษตรกรรมยั่งยืนคือการกันประชากรปลาออกจากพื้นที่การเกษตรโดยการสร้างฝาย ขุดคูระบายน้ำ ย้ายปั๊มน้ำและแก้ไขช่องทางระบายสู่แม่น้ำทั้งหมด โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2024 หลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จ ปลาซัลมอนจะมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในพื้นที่แก้มลิงที่จะรองรับน้ำที่จะท่วมไร่นาได้ด้วย

ดินเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ดีจะแก้ปัญหาทางการเกษตรได้แทบทุกอย่าง ดินที่ไม่ถูกน้ำท่วมจะรักษาความชื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ลดผลกระทบจากความแล้ง และช่วยเก็บกักคาร์บอนได้ด้วย ดังที่วิธีการเกษตรกรรมฟื้นฟูใช้ในการอนุรักษ์หน้าดินที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในปัจจุบันนั้นสูญหายไปหมดอันเนื่องมาจากการพลิกหน้าดินเพื่อเตรียมการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม การเพาะปลูกโดยไม่พลิกหน้าดินนั้นทำได้ยากกว่า

เกษตรกรรมฟื้นฟูนั้นจะช่วยไม่ให้ดินถูกกัดเซาะ รักษาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินและทำให้ดินอุดมสมบูรณ์เช่นไส้เดือนและแมลง รักษาความชื้นในดินได้ถึง 5% to 10% ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอสำหรับหน้าแล้ง ในรัฐวอชิงตัน การสัมปทานน้ำเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้นเพราะความขาดแคลน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชมูลค่าสูงตกอยู่ในความเสี่ยง ในบางครั้ง ฤดูร้อนและฤดูเพาะปลูกที่ยาวนานขึ้นก็เป็นผลดีต่อเกษตรกรเนื่องจากทำให้ปลูกพืชได้หลากหลายขึ้น แต่จะต้องมีน้ำเพียงพอ

การปรับตัว

เกษตรกรในรัฐวอชิงตันพยายามปรับตัวและหาวิธีการใหม่ๆมาใช้ในการรับมือปัญหาโลกร้อน ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยได้มาก หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สำคัญได้แก่ WSU’s AgWeatherNet ซึ่งเป็นเครือข่ายข้อมูลอุตุนิยมวิทยาสำหรับการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่ให้ข้อมูลเรื่องอุณหภูมิ ลม น้ำ ความชื้นของดิน และอื่นๆที่เกี่ยวข้องทางออนไลน์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้จากการสำรวจโดยเกษตรกรในภูมิภาคเอง

เมื่ออุณหภูมิในฤดูร้อนเพิ่มสูงขึ้น เจ้าหน้าที่จะใช้ช่องทาง AgWeatherNet ดังกล่าวเพื่อเตือนเกษตรกรถึงอุณหภูมิถึงจุดจะเป็นอันตราย และทำการเฝ้าระวังอุณหภูมิที่แปรปรวนในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิปลายฤดูหนาวไม่ต่ำเท่าที่ควร ทำให้ต้นไม้คิดว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้วและออกดอก เมื่ออากาศกลับมาเย็นอีกครั้งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรจึงต้องใช้โดรนบินสำรวจน้ำค้างแข็งเพื่อเตรียมการพ่นโพรเพนเพื่อรักษาเกสรดอกไม้อันมีค่าไว้ หรือเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าที่จะทำให้เกิดควันเป็นเวลาหลายๆวัน บดบังแสงแดด และทำให้ผลไม้สุกช้า และทำให้ถั่วดำชื้นเกินกว่าจะเก็บเกี่ยว จึงต้องนำมาอบแห้ง ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่ม

ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 และบรรดาร้านอาหารที่เคยซื้อผักจากเกษตรกรปิดตัวลง เกษตรกรเริ่มขายผลผลิตของตนไปถึงผู้บริโภคโดยตรง เมื่อเชื้อรากเน่าเริ่มทำลายต้นราสเบอรี่ เกษตรกรเริ่มนำเอาต้นแอปเปิลไซเดอร์มาปลูกสลับกับราสเบอรี่เพื่อกำจัดเชื้อรา เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวที่เด่นชัดของเกษตรกรฟาร์มโคนม ช่วงปี 1970 มีฟาร์มโคนมรายย่อยใน Snohomish County ประมาณ 400 ฟาร์ม แต่ปัจจุบันเหลือเพียงฟาร์มขนาดใหญ่ประมาณ 12 ฟาร์ม บางฟาร์มไม่ได้ผลิตนมแล้วแต่ยังเลี้ยงสัตว์สลับไปกับการปลูกพืชไร่ บ้างก็ปรับตัวไปปลูกพืชผักออร์แกนิกส์ เนื่องจากฟาร์มเหล่านี้มีขนาดที่ใหญ่มาก วิธีการดูแลรักษาดินของเกษตรกรเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป


ภาพโดย      Olivia Vanni
อ้างอิง      https://www.heraldnet.com/news/by-necessity-local-farmers-grow-resilient-to-climate-change/


Social Share