THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share


9 มิถุนายน 2021
ประสาท มีแต้ม


ที่มาภาพ : file:///C:/Users/larpb/Downloads/UNDP-Oxford-Peoples-Climate-Vote-Results%20(1).pdf

บทความครั้งที่แล้ว ผมได้นำเสนอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในประเทศเยอรมนี สรุปได้ว่า ประเทศไทยมี “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ” ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

ในวันนี้ผมจะนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นอีกชิ้นหนึ่งซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ต่อคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉินของโลกหรือไม่” ผลปรากฏว่าในขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1.22 ล้านคน จาก 50 ประเทศทั่วโลกเห็นว่า “เป็น” ถึงร้อยละ 64 แต่คนไทยเราเห็นว่าเป็นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของชาวโลก คือเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น

ผมจะเลือกมานำเสนอในบางประเด็นที่สำคัญต่อการทำงานของภาคประชาสังคม พร้อมกับวิจารณ์ในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยหรือไม่ค่อยเห็นด้วยกับบางนโยบายที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือก แน่นอนครับว่า ผมต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิงข้อโต้แย้งดังกล่าวด้วย

ผลงานวิจัยนี้สำคัญอย่างไร

ถ้าเราเชื่อว่าผลงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้สามารถสะท้อนความจริงหรือน่าเชื่อถือได้ดีพอสมควร จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คนไทยเราทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงด้านโลกร้อนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก (จาก 180 ประเทศ) แต่ทำไมพี่ไทยเราจึงยังได้รู้สึกว่าเป็นเรื่อง “ฉุกเฉิน” น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ผู้วิจัยไม่ได้ทดสอบทางสถิติถึงความมีนัยสำคัญระหว่าง 60% กับ 64% แต่ผมคาดหวังเอาเองว่าคนไทยเราน่าจะรู้สึกได้ว่าภัยพิบัติกำลังมาสู่ตนได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ทำไมจึงกลายเป็นตรงกันข้าม

สาเหตุที่คนไทยเรามีความรู้สึกช้ากว่าชาวโลก จึงน่าจะมีความเป็นไปได้เพียง 2 ทาง คือ คนไทยมีสติ มีความอดทนสูงกว่าชาวโลก หรือมีความรู้ ความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน้อยกว่าประเทศอื่น

นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งกลุ่ม “Thai Climate Justice for All” ที่จะต้องนำผลการศึกษานี้ไปพิจารณา

วัตถุประสงค์และวิธีการศึกษา

การศึกษานี้ชื่อว่า “เสียงโหวตของประชาชนต่อเรื่องโลกร้อน (The Peoples’ Climate Vote)” เพื่อให้การศึกษากับประชาชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อนพร้อมกับถามประชาชนว่ารัฐบาลของตนควรจะต้องปฏิบัติการอย่างไรกับเรื่องนี้

การสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร การสำรวจเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 รายงานผลการศึกษาได้เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2564 ถือว่าเป็นการศึกษาที่รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับจำนวนตัวอย่างมากกว่า ล้านฉบับ

ผู้บริหารของ UNDP ท่านหนึ่งกล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้เป็นการนำเสียงของประชาชนให้มาอยู่แนวหน้าของการถกเถียงในประเด็นโลกร้อน มันเป็นการส่งสัญญาณถึงหนทางต่างๆ ที่แต่ละประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยการสนับสนุนของประชาชน ในขณะที่เราทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับความท้าทายที่ใหญ่โตมโหฬารนี้”

ที่น่าสนใจมากคือวิธีการศึกษาซึ่งผู้ศึกษาเรียกว่าเป็น “วิธีการทำโพลแบบใหม่และนอกกรอบ” คือ การกระจายแบบสอบถามผ่านการโฆษณาบนแอปพลิเคชันเกมเกือบ 4,000 แอปในโทรศัพท์มือถือ การสุ่มตัวอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย (ที่อายุเกิน 14 ปี) และทุกระดับการศึกษา ผู้ศึกษาอ้างว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจะรู้สึกสนุกกับการได้ส่งความเห็นของตนเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนไปยังผู้นำโลก

คำถามทั้งหมดมีเพียง 8 ข้อ ในจำนวนนี้มี 2 ข้อเป็น “ภาพใหญ่” ของปัญหา

เนื้อหาของแบบสอบถาม

ในแบบสอบถาม ผู้ศึกษาได้ถามประชาชนถึงภาวะฉุกเฉินโลกที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย 6 ด้านที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลของตนควรลงมือกระทำ คือด้าน (1) พลังงาน (2) เศรษฐกิจ (3) การขนส่ง (4) การเกษตรและอาหาร (5) การปกป้องประชาชน และ (6) การปกป้องธรรมชาติ โดยวิเคราะห์ผลออกมาตาม 4 กลุ่มประเทศ คือ (1) รายได้สูง (2) รายได้ปานกลาง (3) ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries หรือ LDC) และ (4) เกาะเล็กๆ และรัฐกำลังพัฒนา

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ขอเริ่มที่คำถามแรกครับ ถ้าคิดเป็นกลุ่มประเทศ 4 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ลองเดาดูสิครับว่ากลุ่มไหนเห็นว่าเรื่องโลกร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินโลกมากที่สุด

คำตอบคือ กลุ่มเกาะเล็กๆ และรัฐกำลังพัฒนา เห็นว่าเป็นภาวะฉุกเฉินโลกสูงที่สุดคือ 74% รองลงมา 72%, 62% และ 58% คือ กลุ่มประเทศรายได้สูง กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และ LDC ตามลำดับ

ผู้วิจัยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ผมเองเคยได้รับรู้จากข่าวเมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้วว่า ตามเกาะเล็กๆ ได้มีผู้อพยพเนื่องจากน้ำท่วมเกาะเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คนกลุ่มนี้สามารถรับรู้ได้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบโรงเรียนนานๆ เหมือนกับคนในประเทศร่ำรวย

ถ้าคิดเป็นรายประเทศพบว่า ที่เห็นด้วยสูงสุดคือ สหราชอาณาจักรและอิตาลี (81%) ที่เหลือผมเลือกมาเสนอดังนี้ อันดับ 8 ฟิลิปปินส์ (74%) อันดับ 11 อินโดนีเซีย (69%) สหรัฐอเมริกา (65% ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์) เวียดนาม (64%) ประเทศปากีสถานและไทยเท่ากันคือ 60% ทั้งๆ ที่ปากีสถานและไทยถูกจัดให้มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 8 และ 9 ของโลก ตามลำดับ

ถ้าแบ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มอายุ 4 กลุ่ม พบว่า โดยรวมค่าเฉลี่ยของโลก กลุ่มที่มีอายุน้อยที่สุด (ระหว่าง 14 ถึงต่ำกว่า 18 ปี) เห็นว่าโลกร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินโลกสูงที่สุดคือ 69% ในขณะที่กลุ่มที่มีอายุมากที่สุด (เกิน 60 ปีขึ้นไป) เห็นว่าเป็นภาวะฉุกเฉินโลกน้อยที่สุด คือร้อยละ 58% นั่นคือ คนสองกลุ่มนี้มีความเห็นต่างกันถึง 11%

ที่น่าสนใจคือคนญี่ปุ่น เพราะว่าทั้งคนอายุน้อยที่สุดและอายุมากที่สุดมีความเห็นว่าเป็นภาวะฉุกเฉินของโลกในสัดส่วนที่สูงมาก แต่มีช่องว่างระหว่างกลุ่มเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น (ดูภาพประกอบ)

แต่ประเทศไทยเราเอง พบว่าช่องว่างระหว่างวัยในเรื่องดังกล่าวของคนสองกลุ่มห่างกันมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก คือห่างกัน 12% จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ขณะนี้ประเทศเรากำลังมีความแตกต่าง (และแตกแยก) ทางความคิดอย่างมากในเรื่องอื่นๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือรัฐบาลไทยใช้อำนาจที่รุนแรงในการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนมาก

คราวนี้มาดูเมื่อจำแนกตามพื้นฐานการศึกษาของผู้ตอบ พบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของคนทั้งโลกเห็นว่า เรื่องโลกร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินโลกนั้นมีสัดส่วนสูง ประเทศที่สูงที่สุดคืออีตาลี (90%) ฟิลิปปินส์อันดับ 3 (86%) ที่ต่ำที่สุดคือมอลโดวา (56%, ประเทศเล็กๆ ในยุโรป) ในขณะที่เวียดนาม (75%) ไทย (72%) และ สหรัฐอเมริกา (66%)

รายงานนี้ยังได้ให้ข้อมูลว่า ผู้จบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเห็นด้วยมากกว่าผู้ที่จบแค่มัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 8%

นโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนที่ประชาชนนิยม

ผู้ศึกษาได้นำเสนอนโยบายด้านภูมิอากาศเพื่อการแก้ปัญหาโลกร้อนจำนวน 18 นโยบาย ในคำถาม 6 ข้อ (หรือ 6 ด้านดังที่กล่าวแล้ว) แต่ละข้อมี 3 นโยบาย ผู้ตอบสามารถเลือกได้ 1 นโยบาย ในการวิเคราะห์ผู้ศึกษาได้นำนโยบายที่มีผู้ตอบสูงสุด จำนวน 4 อันดับมาเรียงกัน พบว่าอันดับที่ 1 การอนุรักษ์ป่าและพื้นดิน (54%) อีกสามอันดับถัดไป คือ ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า (53%) ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับภูมิอากาศในการทำเกษตรกรรม (52%) และ เพิ่มการลงทุนในธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น (50%)

เราจะเห็นว่าทั้ง 4 นโยบายนี้ได้รับความนิยมในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก ถ้ามีการทดสอบทางสถิติก็น่าจะพบว่าไม่มีนัยสำคัญ หรือได้รับความนิยมที่ไม่แตกต่างกันเลย

เรื่องความคิดเห็นก็เป็นเรื่องของความคิดเห็น แต่ความเป็นจริงนั้นคืออะไร

การจะแก้ปัญหาใดๆ เราต้องค้นหาความเป็นจริงให้พบ แล้วใช้หลักอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ (รู้ว่าเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง) สมุทัย (การกำจัดเหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (การดับทุกข์) และมรรค (จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด)

สำหรับเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก ในวันนี้ผมขอนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอย่างสั้นๆ เพื่อที่จะบอกว่าการอนุรักษ์ป่าและแผ่นดินนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ “ทางสายเอก”

ผมขอเสนอ 2 ภาพ ในภาพแรกนั้นบอกว่า ก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมาไปนั้น 76% มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ในภาคไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรม และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ก๊าซอื่นที่เหลืออีก 24% จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

ภาพที่สอง แสดงอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการนำไปใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ ในแต่ละปี การปล่อยก๊าซมี 2 ส่วน คือการเผาพลังงานฟอสซิลในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน รวมกันได้ 40.3 หน่วย (1 หน่วยในที่นี้คือ 1 พันล้านตันต่อปี) แต่มีการนำไปใช้ประโยชน์ของพืชโดยการสังเคราะห์แสงทั้งพืชบนบกและพืชในมหาสมุทรรวมกัน 21.7 หน่วย

ดังนั้น จึงมีเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศอีกปีละ 18.6 หน่วย หรือ 18,600 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นทุกปี

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงได้เขียนแบบท้าทายไว้ว่า ต่อให้เราสามารถเพิ่มจำนวนป่าไม้และพืชบนบกได้อีกหนึ่งเท่าตัว ก็ยังไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาได้หมด

เป็นเรื่องยากมากที่เราจะเพิ่มจำนวนพืชในมหาสมุทรเพื่อให้ช่วยดูดซับก๊าซที่เราปล่อยออกมา ดังนั้น “ทางสายเอก” ที่เหลืออยู่ทางเดียวคือ การลดหรือเลิกการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังน้ำขนาดเล็ก และชีวมวล

คำถามต่อมาก็คือ ทางสายเอกนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ เอาไว้คุยกันยาวๆ ในภายหลังนะครับ สำหรับวันนี้ ผมรู้สึกพอใจกับวิธีการและผลการศึกษานี้พอสมควร แม้ว่าผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นเรื่องนโยบายการแก้ปัญหานัก ที่เป็นกำลังใจให้กับภาคประชาสังคมก็คือชาวโลกส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 64 เห็นว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องฉุกเฉินโลกที่ผู้นำโลกและรัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจังและโดยด่วนด้วย

ตอนหน้าผมจะเขียนเรื่อง “โลกร้อนขึ้นแบบสูตรดอกเบี้ยทบต้น” โปรดติดตามนะครับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2021/06/thai-climate-justice-for-all03/?fbclid=IwAR1Quaq2nPG4Rhgj6heeE9oJt-ioR2NgLlZn9HXPju2GWw8C49OFA_5htg0



Social Share