THAI CLIMATE JUSTICE for All

กลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นผู้นำที่ดีในการวางแผนแก้ปัญหาโลกร้อน

เขียนโดย   Nicola Jones
วันที่   11 กุมภาพันธ์ 2020
แปลและเรียบเรียงโดย    ปิโยรส ปานยงค์


วันหนึ่งในฤดูร้อน Courtney Greiner นักชีววิทยาทางทะเลเดินไปตามชายหาดวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อันเต็มไปด้วยกรวดหินในเวลาน้ำลง พร้อมกับคุ้ยเขี่ยโคลนและกรวดเพื่อหาหอยลายไปด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตเมื่อพันปีก่อน กลุ่มชาติพันธุ์จะใช้วิธีการสร้างกำพงหินในช่วงน้ำลง ให้ทรายก่อตัวขึ้นหลังกำแพงเพื่อลดความลาดชันของชายหาด ทำให้เกิดบ่อน้ำขังที่หอยลายชอบอาศัยอยู่เป็นช่วงๆ วิธีการสร้างฟาร์มหอยลายตามธรรมชาตินี้สร้างความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอด

ปัจจุบัน ชาว Swinomish ในรัฐวอชิงตันได้นำเอาเทคนิควิธีการนี้กลับมาใช้ใหม่ และ Greiner ก็ได้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงนิเวศน์วิทยาเพื่อช่วยหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างฟาร์มหอยลาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณหอยลายที่จะนำมาเป็นอาหารทดแทนปลาซัลมอนที่ลดจำนวนลง การดำเนินการเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะปรับตัวเองเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ชนเผ่า Swinomish เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่พยายามปรับตัวเข้ากับสภาวะโลกร้อน โดยในปี 2010 ได้ริเริ่มโครงการที่จะปกป้องประชากรปลาซัลมอนโดยการฟื้นฟูแหล่งวางไข่และปลูกต้นไม้ใหญ่ริมน้ำเพื่อให้ร่มเงาแก่ปลาและลดอุณหภูมิของน้ำ สอง รณรงค์คัดค้านการทำเหมืองต้นน้ำ Skagit ในเขต British Columbia ที่จะส่งผลต่อคุณภาพน้ำในลำธาร สาม โครงการเพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรหอยนางรมพันธ์ Olympia ที่ลดจำนวนลงจากน้ำเสีย การถูกรุกรานโดยหอยนางรมพันธ์ Pacific และสภาพความเป็นกรดของน้ำทะเล โดยคนงานจะจับหอยนางรมพันธ์ที่ต้องการมาปล่อยบนชายหาดที่เตรียมไว้ สุดท้ายได้แก่โครงการพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลพืชท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และวัฒนธรรมของชาว Swinomish เพื่อการดูแลรักษาฝั่งแม่น้ำอย่างถูกวิธีสำหรับปลาและชาวไร่

ในอเมริกาเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการร่างและดำเนินแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตน เช่นในปี 2019 ชนเผ่า Karuk ที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือได้กำหนดแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยการเผาป่าอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมที่จะลดปัญหาไฟป่าในแคลิฟอร์เนียลงได้ สอง ชนเผ่า Tulalip ที่อาศัยอยู่ในรัฐวอชิงตันได้ทำการอพยพประชากรบีเวอร์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองกลับไปยังถิ่นฐานดั้งเดิมได้แก่ลำธารในป่าเพื่อลดอุณหภูมิน้ำและช่วยให้ปลาซัลมอนอยู่อาศัยได้ และใช้แรงน้ำไหลในการทำเกษตรมาผลิตกระแสไฟฟ้า สาม ชนเผ่า S’Klallam ในเมืองเจมส์ทาวน์ รัฐวอชิงตันรื้อถอนพุ่มต้นราชาวดีริมฝั่งแม่น้ำ Dungeness เพื่อปกป้องปลาซัลมอน สี่ ชนเผ่า Salish และ Kootenai ในรัฐมอนทาน่าเก็บเกี่ยวและหว่านเมล็ดต้นสนขาวที่ทนต่อโรคที่มากับอากาศร้อน และห้า ชนเผ่า Alaskan ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาสปอร์ของมอสราที่เป็นอันตราย ที่แพร่ระบาดเนื่องจากน้ำอุ่นขึ้น เป็นต้น

กลุ่มชาติพันธุ์นั้นปรับตัวอยู่เสมอ และปรับตัวได้เร็วกว่าประชากรกลุ่มอื่น เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับแผ่นดินและได้รับผลกระทบเร็วกว่า ผลการวิจัยระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งกินอาหารทะเลมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นในประเทศเดียวกันถึง 15 เท่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและสภาพความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น  หรือในทางเหนือที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องย้ายถิ่นฐานเพราะบ้านเรือนถล่มเนื่องจากชั้นน้ำแข็งใต้ดินละลาย และชนเผ่าที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันเนื่องมาจากหิมะในฤดูหนาวเปลี่ยนไปเป็นฝนน้ำแข็ง ทำให้ใบไม้จมอยู่ใต้น้ำแข็ง กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้พึ่งพาอาศัยแผ่นดินมาจากรุ่นสู่รุ่น สั่งสมความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตพืช สัตว์ และภูมิอากาศ ดังนั้น แทนที่จะพยายามเอาชนะธรรมชาติตามแบบชนชาติตะวันตก กลุ่มชาติพันธุ์มองว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของธรรมชาติถูกทำลาย มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ กลุ่มชาติพันธุ์มักมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรในระยะยาว เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมองระยะสั้นเพียงแค่ 4 ปี ตามวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี

รายงานจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องภาวะโลกร้อนยืนยันถึงประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์มีข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำและเป็นนักปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ดี ตัวอย่างเช่นอัตราการตัดไม้ทำลายป่าอเมซอนในประเทศบราซิลจะต่ำกว่าสองถึงสามเท่าในเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ จากข้อมูลของ UN Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services กลุ่มชาติพันธุ์ถือครองที่ดินเพียง 28% ของที่ดินทั้งหมดในโลก แต่นับเป็น 40% ของพื้นที่ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จนรัฐบาลแคนาดาถึงกับให้ทุนแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2017 เพื่อให้ปกป้องสิ่งแวดล้อม

องค์กร ITEP แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำงานร่วมกับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 300 กลุ่มจากทั้งหมด 574 กลุ่ม ซึ่งมีถึง 50 กลุ่มที่มีแผนการรับมือภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินการอยู่ และวางแผนให้มีครบทุกกลุ่มภายใน 5 ปี บางชนเผ่าเช่นนาวาโฮวางแผนการใช้พลังงานทดแทนน้ำมันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพเศรษฐกิจของตนในอนาคต

ชนเผ่า Swinomish อาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆในช่องแคบ Swinomish รัฐวอชิงตัน ซึ่งตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการจมทะเลเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 5 ฟุตในศตวรรษนี้ รับภาระดูแลพื้นที่สงวนกว่า 1,100 เอเคอร์จากทั้งหมด 10,000 เอเคอร์ ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการประมงของตน อีกกว่าครึ่งหนึ่งเป็นป่าไม้ซึ่งความเสี่ยงต่อไฟป่าเพิ่มสูงขึ้นเพราะอากาศร้อนและแห้งขึ้น Swinomish เป็นเผ่าเล็กๆมีจำนวนประมาณ 1,000 คนและดำรงชีพด้วยการเก็บหอยและล่ากวางมาเป็นอาหารหลัก หลังจากที่ประชากรปลาซัลมอนที่เดิมอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำในพื้นที่ลดลงมาตลอดระยะเวลา 30 ปีอันเนื่องมาจากน้ำลำธารน้อยลงและอุ่นขึ้นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนจำนวนปูและหอยก็ลดลงเพราะสภาพความเป็นกรดของน้ำทะเล ส่วนที่ บริเวณปากแม่น้ำ Skagit หิมะที่เคยตกบนยอดเขารอบๆกลายเป็นฝน ทำให้น้ำท่วมในฤดูฝนแต่แล้งในฤดูร้อน น้ำที่อุ่นขึ้นและน้อยลงทำให้ปลาซัลมอนไม่วางไข่ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงอย่างเคย

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ภาวะโลกร้อนเป็นอันตรายกับทั้งสุขภาพของสิ่งแวดล้อมและของมนุษย์ และเราไม่สามารถพูดถึงสิ่งหนึ่งโดยละเลยอีกสิ่งได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่และหากินกับสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวังด้วย Jamie Donatuto  ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์สุขภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของเผ่า Larry Campbell  เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดทางสุขภาพขึ้นจากวัฒนธรรมของเผ่าและหวังว่าโลกจะดำเนินรอยตามในการคำนวณผลกระทบที่มีมากกว่าสุขภาวะและอัตราการตายของมนุษย์ เรื่องนี้จุดประกายความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยงานรัฐมากขึ้น ตัวอย่างเช่น University of Washington ร่วมมือกับชนเผ่าในพื้นที่ในการพัฒนาตัวชี้วัดสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ เช่นจำนวนวันที่อากาศร้อนในฤดูร้อน และปริมาณน้ำฝน เพื่อช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์วางแผนปรับตัวได้ดีขึ้น และกลุ่มชาติพันธุ์ยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ATNI ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงซีแอทเทิล ในเดือนตุลาคม 2020 อีกด้วย เหล่านี้ทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ที่สูญเสียบทบาทนี้ไปในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเพราะการถูกไล่ที่ทำกิน ทำให้เกิดความทุกข์เข็ญในหมู่ชนเผ่า การสูญเสียตัวตน แม้แต่การติดเหล้าและยาเสพติด การคืนบทบาทผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์จะทำให้พวกเขากลับมานับถือตนเองและสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง


ภาพโดย   Swinomish Indian Tribal Community
อ้างอิง     https://e360.yale.edu/features/how-native-tribes-are-taking-the-lead-on-planning-for-climate-change   

Scroll to Top