THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย  GRAIN
วันที่   10 มีนาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย   ปิโยรส ปานยงค์


จากจำนวนเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ประชาคมโลกได้เริ่มประกาศตนเองที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและกว้างขวาง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นสำคัญในเกือบทุกการประชุมระดับนานาชาติด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายไปแล้วกว่า 2.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2019 ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมาจากทวีปเอเชียและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ปัญหาที่โลกกำลังพยายามดำเนินการอยู่นั้นยังไม่ตรงประเด็น เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่นประชากรสูญเสียรายได้ไปจนถึงระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และมีเพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ Climate Smart Agriculture โชคดีที่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งในเอเชียที่คิดวิธีที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการทำเกษตรกรรมของตน ซึ่งได้แก่การทำวนเกษตร

ภาวะโลกร้อนและผลกระทบในเอเชีย

เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศน์จะเสียสมดุล การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ลมฟ้าอากาศ และแสงแดดส่งผลกระทบต่อดิน ปศุสัตว์ และแหล่งน้ำ และส่งผลอย่างต่อเนื่องไปยังการออกดอกของพันธ์ไม้ ฤดูเก็บเกี่ยว สมดุลความชื้นในดิน และการระบาดของศัตรูพืช อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง น้ำอุ่นขึ้น และคุณภาพน้ำต่ำลง ทำให้ปริมาณและคุณภาพของอาหารด้อยลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคชนบท เช่นในประเทศอินเดีย มีการประมาณการไว้ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง 15% ถึง 18% หรืออาจถึง 25% ในพื้นที่ที่ไม่มีการชลประทาน

นอกจากประเทศอินเดียแล้ว ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดภูมิภาคหนึ่ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ได้ออกคำเตือนว่าคลื่นความร้อนที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นจะทำให้อัตราการเจ็บป่วยและตายสูงขึ้นในกลุ่มเปราะบาง และภาวะน้ำท่วมสลับแล้งจะทำให้การปลูกข้าวได้ผลน้อยลงและก่อให้เกิดความยากจนในหลายๆพื้นที่

ประเทศจีนซึ่งผลิตอาหารให้แก่ประชากรจำนวน 20% ของประชากรโลกจากที่ดินเพียง 8% ของที่ดินที่เพาะปลูกได้ทั้งหมดในโลกเริ่มประสบปัญหาความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศจากภาวะโลกร้อน ประเทศจีนผลิต 18% ของข้าว 29% ของเนื้อสัตว์ และ 50% ของผักใบเขียวทั้งหมดที่โลกผลิตได้ และเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่จากทั่วโลก สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจึงมิได้ส่งผลกระทบเพียงความมั่นคงทางอาหารในประเทศจีนเท่านั้น ยังส่งผลต่อราคาอาหารโลกด้วย

ไม่มีประเทศในเอเชียประเทศใดที่จะรอดพ้นไปจากวิกฤติโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ตกเป็นเหยื่อของภาวะโลกร้อนอยู่เสมอ ในปี 2019 ประเทศไทยสูญเสียรายได้ 657-821 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจากภาวะฝนแล้งเป็นระยะเวลานานและตามมาด้วยน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ปลูกข้าวทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทำลายผลผลิตข้าวปริมาณ 100,000 ตันหรือคิดเป็น 8% ของปริมาณการส่งออก ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย การสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรจากฝนตกผิดฤดูกาลและน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องปกติ เช่นในเดือนมกราคมปีนี้ อินโดนีเซียถูกภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรไปแล้วกว่า 209,884 เฮกเตอร์ใน 12 จังหวัด

ในบังคลาเทศ เกษตรกรต้องสูญเสียทั้งบ้านและพืชผลทางการเกษตรให้แก่พายุและน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2020 ที่ความสูญเสียเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดจากพายุไซโคลน Amphan ทำลายผลผลิตทางการเกษตรไปถึง 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดใน 20 ปี ทำลายผลผลิตทางการเกษตรไปอีก 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมประมงก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน Abdur Rashid ผู้เลี้ยงปลาในหมู่บ้าน Lebubunia สูญเสียพื้นที่บ่อปลาไปหนึ่งในสาม และซ้ำเติมโดยน้ำท่วมในเดือนสิงหาคม ทำให้เขาตกอยู่ในภาวะยากจนทันที ลูกๆทั้ง 3 คนต้องออกจากโรงเรียน ชาวนาอีกคนหนึ่งคือ Abdus Samad อาศัยอยู่ในเมือง Kalmati ประสบภาวะน้ำท่วมนาจากพายุไซโคลน พอน้ำลดเขาก็เริ่มปลูกผักไป 2 เอเคอร์เพียงเพื่อที่จะถูกน้ำท่วมเสียหายอีกในเดือนสิงหาคม เขาพยายามปลูกผักอีกครั้ง แต่คราวนี้น้ำท่วมในเดือนตุลาคมทำให้เขาหมดตัว อุตสาหกรรมประมงของบังคลาเทศสูญเสียถึง 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากพายุ Amphan และอีก 56.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากน้ำท่วมในปี 2020

เหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย จากข้อมูลของคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรด้านการเกษตร อินเดียสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร 4-9% เป็นประจำทุกปีด้วยภัยธรรมชาติ คิดเป็น 1.5% ของ GDP

พายุลูกเห็บที่ตามมาด้วยฝนตกหนักเป็นเรื่องปกติในภูมิภาคอินเดียตอนเหนือและปากีสถาน และในปัจจุบันเกิดภัยแล้งเพิ่มเติมขึ้นในรัฐ Maharashtra และ Telengana ในช่วงกลางฤดูร้อน ในเดือนเมษายน 2019 เกิดพายุลูกเห็บถล่มเมือง Latur ใน Maharashtra ชาวนาในพื้นที่รายงานว่าพายุลูกเห็บเกิดขึ้นเพียง 18-20 นาทีเท่านั้น แต่ทำให้ต้นไม้ถอนราก นกตายเกลื่อน และสัตว์เลี้ยงได้รับบาดเจ็บสาหัส พื้นที่แห้งแล้งในเขต Telengana ประสบปัญหาเดียวกันในเดือนเมษายน ปี 2020 โดยได้สูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวฟ่างไป 16,800 เฮกเตอร์ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุของการระบาดของฝูงตั๊กแตน ที่ถล่มนาข้าวในปากีสถานในปี 2020 สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ผลผลิตในฤดูหนาวและ 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ผลผลิตของฤดูร้อน การระบาดของฝูงตั๊กแตนยังก่อให้เกิดปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารในอินเดียและปากีสถานเช่นกัน

รายงานโดย University of California Berkeley ระบุว่าภาวะโลกร้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการฆ่าตัวตายของเกษตรกรชาวอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ความเสียหายของพืชผลจากความผันผวนของอุณหภูมิอากาศและฝนทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย จากการคำนวณพบว่าทุกๆ 1 องศาของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การฆ่าตัวตายประมาณ 70 ราย อีกรายงานหนึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างความแห้งแล้งและอัตราการฆ่าตัวตาย ได้แก่รัฐที่แห้งแล้งมาก 5 รัฐของประเทศอินเดียมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่ารัฐอื่นๆ

เกษตรอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อน

เมื่อเราพูดถึงวิกฤติโลกร้อน ภาคเกษตรกรรมรับบทบาทเป็นทั้งเหยื่อและสาเหตุของภาวะโลกร้อน ก๊าซมีเธนถูกปลดปล่อยมาจากการเก็บเกี่ยวข้าวและปศุสัตว์ และไนตรัสออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากปุ๋ยและปัสสาวะของปศุสัตว์ ก๊าซทั้งสองประเภทนี้มีความสามารถในการทำลายชั้นบรรยากาศโลกสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตาม ก๊าซเหล่านี้มักถูกปลดปล่อยออกมาจากการเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและยาฆ่าแมลง ใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเลี้ยงปศุสัตว์เป็นจำนวนมากที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเธนจากของเสีย ผนวกกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร การเก็บอาหารแช่แข็ง และการขนส่ง ทำให้ภาคเกษตรมีอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมาก

ดังนั้น แวดวงเกษตรกรโลกจึงหาวิธีปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงหรือเรียกว่า Green Revolution เพื่อลดปัญหาโลกร้อน อย่างไรก็ตาม การบวนการดังกล่าวโดยมากเกิดขึ้นจากบริษัทอาหาร ซึ่งต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรยุคใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีที่มีความเสี่ยง ประการแรก มีการนำพืชตัดแต่งพันธุกรรมมาเพาะปลูกเพื่อให้ทนต่อความแล้ง ความเค็ม และน้ำค้างแข็ง ประการที่สอง เทคโนโลยีเชื้อเพลิงจากพืช วิศวกรรมธรณี และชีววิทยาสังเคราะห์ที่ใช้วิธีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่และการใช้สารเคมีนั้นต้องใช้ทุนสูงมาก ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างผิดๆนี้จึงเป็นการประกันผลประโยชน์ของนายทุนมากกว่าจะแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากโครงการ Green Revolution ในอาฟริกาหรือ AGRA การใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ เมล็ดพืชตัดแต่งพันธุกรรม และการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ได้ทำให้เกษตรกรสามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนได้

วิธีการแก้ปัญหาที่ผิดเพี้ยนนี้พยายามจะปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการของคนและทำลายระบบนิเวศน์ ได้แก่ป่าไม้ ดิน พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ป่าชายเลน และมหาสมุทรที่มีสิ่งมีชีวิตต่างๆอาศัยอยู่ เราจะเห็นจากโครงการ AGRA ว่าวิธีการที่ใช้การตลาดนำนี้พยายามแยกชุมชนท้องถิ่นออกจากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา การใช้เทคโนโลยีในการผลิตลดบทบาทของผู้หญิงในการเกษตรและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวของเพศหญิง มีการนำพืชพันธุ์ที่มีความต้านทางต่อแมลงมาปลูกโดยเรียกว่าเป็นหารปลูกพืชโดยไม่ต้องมีการไถหว่าน โดยอ้างว่าเป็นการลดโลกร้อนเนื่องจากเป็นการฝังคาร์บอนไดออกไซด์ลงในดินแทนการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ดี วิธีการเช่นนี้มิได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้นายทุนสามารถทำกำไรได้ต่อไป

Climate smart agriculture: ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ ‘smart’

เกษตรกรรมแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Climate Smart Agriculture (CSA) นั้นได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลและนายทุนว่าเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็คือระบบ Green Revolution แบบเก่าที่มีแต่จะก่อปัญหามากขึ้น กลุ่มคนหน้าเดิมๆที่เคยสนับสนุน Green Revolution อย่างเช่น World Bank ตอนนี้หันมาสนับสนุน CSA ด้วยเหตุผลที่ผิดๆเหมือนเดิม ในการเจรจาลดปัญหาโลกร้อน ได้มีการนำเอา CSA มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำหรือ Low Carbon Technology Partnerships Initiative (LCTPi) ของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่ง CSA มีแนวโน้มที่จะใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อความเค็ม น้ำท่วม และน้ำค้างแข็ง ซึ่งเชื่อกันในแวดวงนักวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตรที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทว่า CSA ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมและความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ได้ผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่รัฐบาลของประเทศในเอเชียเลือกที่จะไม่สนใจวิธีการเหล่านี้และให้การสนับสนุนวิธีการทางเทคโนโลยีของพวกนายทุนแทน โดยใช้วิธีการเดิมที่ Green Revolution เคยใช้บังคับให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรได้ คือให้ CSA บังคับเกษตรกรใช้พืชตัดต่อพันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ และบริษัทที่มีชื่อเสียงที่ไม่ดีอยู่แล้วจากการยึดที่ทำกินและบังคับใช้เมล็ดพืชตัดต่อพันธุกรรม สร้างผลกระทบทางสังคมต่อเกษตรกรและชุมชน ประกาศตนว่าเป็น ”climate-smart”

(อ่านต่อพรุ่งนี้)


ภาพโดย  GAON Connection
อ้างอิง    https://grain.org/en/article/6632-agroecology-vs-climate-chaos-farmers-leading-the-battle-in-asia


Social Share