THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย   GRAIN
วันที่ 10 มีนาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์


หลักฐานจากแผ่นดิน: วิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

จากการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียระหว่างการเพาะปลูกแบบออร์แกนิกกับแบบใช้สารเคมีโดยสถาบัน Rodale พื้นที่ที่ใช้การเพาะปลูกโดยวิธีออร์แกนิกเป็นเวลา 27 ปีมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณคาร์บอนในดินเกือบ 30% ดินที่มีคาร์บอนผสมอยู่เป็นปริมาณมากจะสามารถเก็บกักน้ำได้ดีทำให้พืชทนทานต่อความแล้งและโรคพืช และการเพาะปลูกแบบออร์แกนิกสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 40% ของปริมาณการปลดปล่อยทั่วโลก

มีหลักฐานที่เราเห็นได้ทั่วไปว่าระบบวนเกษตรมีส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากใช้พลังงานฟอสซิลน้อยจึงปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบบเกษตรอุตสาหกรรม ระบบวนเกษตรรวมถึงเกษตรกรรมยั่งยืน ไร่นาสวนผสม การเพาะปลูกแบบออร์แกนิก เกษตรชีวพลวัต และเกษตรกรรมแบบธรรมชาติที่ลงทุนต่ำ เหล่านี้เป็นเกษตรกรรมที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินและช่วยลดปัญหาโลกร้อน

เกษตรกรรายย่อยทั่วโลกกำลังปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและหาวิธีการเพาะปลูกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังจากประสบปัญหาภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนเช่นความแล้ง ฝนฟ้าผิดฤดูกาล พายุลูกเห็บ ฤดูมรสุมที่สั้นลง และการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยวิธีดังกล่าวได้แก่ ระบบเก็บกักน้ำชลประทาน เทคนิคการให้น้ำพืชใหม่ๆเช่นระบบน้ำหยด การใช้เมล็ดพันธุ์ธรรมชาติ ปุ๋ยออร์แกนิก และยาไล่แมลงออร์แกนิก ระบบไร่นาสวนผสม ระบบฐานข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและการรายงานแบบเรียลไทม์ เกษตรกรรมแบบมีแผนงานรองรับ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ และการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน

วิธีการเหล่านี้ประสบความสำเร็จมาแล้วโดยที่เราอาจไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อฝูงตั๊กแตนถล่มไร่นาที่ประเทศอินเดียในปี 2020 รัฐบาลจึงสั่งให้ใช้โดรนพ่นยาฆ่าแมลง แต่เกษตรกรรายย่อยใช้วิธีการตามธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาไล่ตั๊กแตน คือวิธีการตีกลองและทำเสียงดังไล่ และในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ แทนที่เกษตรกรจะใช้เมล็ดพันธุ์ GMO และไฮบริดซึ่งสามารถเติบโตได้ดีในไร่นาที่ใช้สารเคมีเท่านั้น เกษตรกรได้สร้างเครือข่ายอนุรักษ์และแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ต้นแบบตามธรรมชาติ ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มีความต้านทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยได้เป็นอย่างดี เครือข่ายนี้ช่วยให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายสำหรับสภาพดิน อากาศ โกดัง และศัตรูพืชที่แตกต่างกันไป ซึ่งในการนี้เพศหญิงจะมีบทบาทมากในการเก็บและเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นแบบจากธรรมชาตินี้

ในภูมิภาคเอเชีย กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพที่เกิดจากปัญหาโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น เช่นสัตว์และพืชที่หายไป ป่าที่ต้นไม้บางตาลง ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาที่ดิน และอื่นๆอีกมาก อย่างไรก็ตาม การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่นชนเผ่า Kond ในประเทศอินเดีย ใช้ระบบวนเกษตรเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในที่ดินของตนโดยปล่อยให้แมลงและนกเข้ามาหากินในไร่โดยอิสระ สร้างภูมิต้านทานต่อภาวะโลกร้อน หรือเพศหญิงในกลุ่มชาติพันธุ์เพาะปลูกพืชมากกว่า 80 ชนิดในพื้นที่ไร่ขนาด 2 เฮกเตอร์ ซึ่งหนึ่งนั้นได้แก่ข้าวฟ่างที่ทนแล้งและอากาศร้อนจัดได้ดี และข้าวชนิดที่ปลูกในที่สูงและเก็บเกี่ยวได้เร็ว ซึ่งต้องการน้ำน้อยจึงทนแล้ง นอกจากนี้ ชาวนาในเผ่ายังได้ทดลองปลูกมันฝรั่งในกองฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ที่ทำให้ชาวนาสามารถลดต้นทุนที่ใช้ในการเผาตอไม้และไถพรวน และยังลดการใช้น้ำได้ถึง 80% เนื่องจากกองฟางเก็บความชื้นได้ดีและวัชชืพไม่รบกวน

MASIPAG หรือองค์กรนักวิทยาศาสตร์/เกษตรกรในฟิลิปปินส์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้ที่เราจะใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบวนเกษตรเพื่อแก้ปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตามรายงานของ MASIPAG วิถีเกษตรกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้ผลดีกว่า มีต้นทุนต่ำกว่า และทนทานต่อสภาพอากาศมากกว่า โดยการคัดเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะกับพื้นที่ทำให้พืชโตเร็ว ทนแล้งหรือน้ำท่วม และใช้การบริหารจัดการน้ำที่ใช้จัดการภาวะน้ำท่วมและเก็บความชื้นไว้ในดินสำหรับหน้าแล้งโดยเฉพาะ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวนาของ MASIPAG ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่กว่า 2,000 พันธุ์ โดยมี 18 พันธุ์ที่ทนความแล้ง 12 พันธุ์ที่ทนน้ำท่วม 20 พันธุ์ที่ทนน้ำเค็ม และ 24 พันธุ์ที่ทนโรคพืช

นอกจากนี้ ชาวนาของ MASIPAG ยังได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยงดใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในนาของตน เพิ่มความหลากหลายของพืชรวมถึงต้นไม้ในไร่เพื่อลดความรุนแรงจากน้ำป่าไหลหลาก ความแล้ง และน้ำเค็มจากพายุไซโคลน ระบบวนเกษตรเช่นนี้ยังทำให้มีผลผลิตที่หลากหลายและเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี และยังเกิดผลพลอยได้อื่นๆเช่นฟางที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยคอก ฟืน รั้วต้นไม้ตามธรรมชาติ พืชคลุมดินป้องกันการกัดเซาะ สัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัยให้ล่าเป็นอาหาร เป็นต้น วนเกษตรนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังมีส่วนทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอีกด้วย

โดยวิธีการเดียวกัน องค์กร Southeast Asia Regional Initiatives for Community Empowerment (SEARICE) ได้ร่วมมือกับชุมชนชาวนาในฟิลิปปินส์และกัมพูชาในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า โครงการปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อนของ SEARICE ทำให้ชุมชนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศสามารถปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์และมีเมล็ดพันธุ์พืชที่แข็งแรงไว้เพาะปลูก ตัวอย่างแรกได้แก่ SEARICE ได้ตั้งศูนย์ฝึกอบรมชาวนาในประเทศกัมพูชาเพื่อการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมโดยการเพาะปลูกข้าวพันธ์ุที่มีวงจรชีวิตสั้นและปลูกข้าวสองชนิดขึ้นไปในปีเดียวกันถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง สอง ตามที่ราบสูงของประเทศฟิลิปปินส์ ชาวนาปลูกข้าวแบบขั้นบันไดเพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน สาม ตามพื้นที่ใกล้แนวชายฝั่งที่มักถูกน้ำเค็มท่วมถึง ชาวนาก็จะปลูกข้าวพันธุ์ที่ทนความเค็ม การที่จะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายสำหรับสถานการณ์ต่างๆกันไป ซึ่งทาง SEARICE ได้อนุรักษ์เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไว้ถึง 50 ชนิดในธนาคารเมล็ดพืชในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา มีชาวนาถึงกว่า 3,000 รายที่ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้

ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพืชในเมือง Odisha ซึ่งเป็นธนาคารที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายที่สุดในอินเดีย คือกว่า 1,400 พันธุ์สำหรับทุกสภาพดินฟ้าอากาศ ธนาคารดังกล่าวได้ใช้เวลากว่า 30 ปีในการสะสมและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กับชาวนากว่าร้อยรายทำให้ยิ่งเกิดความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในพื้นที่น้ำท่วมได้นั้นจะมีลำต้นที่สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ หรือบางพันธุ์ก็สามารถเจริญเติบโตใต้น้ำได้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อพายุไซโคลน Aila ถล่มหมู่บ้าน Sudarbans ที่ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอลในปี 2009 พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่ทนทานต่อน้ำเค็มจึงมีส่วนช่วยชาวนาจากความเสียหายที่เกิดจากน้ำเค็มท่วมนาได้มาก ซึ่งพันธุ์ข้าวดังกล่าวนอกจากจะทนต่อความเค็มแล้ว ยังให้ผลผลิตที่สูงกว่าพันธุ์ทั่วไปอีกด้วย คือให้ผลผลิตถึง 240 กิโลกรัมจากพื้นที่ปลูกเพียง 1 ใน 10 ของ 1 เฮกเตอร์ ข้าวบางพันธุ์มีคุณสมบัติเป็นยาด้วย เนื่องจากมีธาตุอาหารเช่นเหล็ก ซิงค์ วิตะมิน และ antioxidant ในปริมาณสูง ทำให้สมาชิกชุมชนมีสุขภาพที่ดี

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาองค์กรชาวนาในภูมิภาคเบงกอลตะวันตกหรือ DRCSC ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติย่างยั่งยืนโดยการสร้างโมเดลไร่นาสวนผสมที่ทนทานต่อสภาพอากาศ โดยใช้วิธีการปลูกข้าว 5-6 ชนิด ผัก 10-12 ชนิด ต้นไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และสมุนไพรในพื้นที่เดียวกันตลอดทั้งปี DRCSC ใช้ไร่นาประเภทนี้ในการเพาะเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ผลิตปุ๋ยออร์แกนิก และสนับสนุนการทำไร่นาสวนผสม เช่นการปลูกข้าว เลี้ยงปลา เป็ด และแหนแดงในพื้นที่เดียว ส่วนชาวอินเดียในเบงกอลมักประสบปัญหาอาหารขาดแคลนสองครั้งต่อปี ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากภัยแล้ง น้ำท่วม หรือพายุ DRCSC ได้อบรมชาวนาให้สงวนพันธุ์ข้าวไว้ในที่สูงเพื่อเลี่ยงภัยน้ำท่วม และสามารถกู้มาเพาะปลูกได้โดยคิดดอกเบี้ยต่ำและคืนเป็นข้าวในการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป ในหมู่บ้าน Birbhum ชาวนาได้รับการสนับสนุนให้ทำไร่นาสวนผสมโดยการปลูกข้าว พืชกินหัว ผัก และพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารให้ทั้งชาวนาเจ้าของที่ดินและปศุสัตว์ในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ ส่วนในที่ที่ขาดน้ำจืดนั้น ชาวนาจะใช้วิธีที่เรียกว่า Systematic Rice Intensification หรือ SRI ได้แก่การปักดำต้นข้าวไม่กี่ต้นแทนที่จะปักดำเป็นกำมือ ทำให้ใช้เมล็ดที่ต้องเพาะกล้าน้อยกว่า และไม่ต้องปล่อยน้ำเต็มนาตลอดเวลา นอกจากนี้ยังขุดสระไว้รองรับน้ำฝนเพื่อลดการสูบน้ำใต้ดิน และเลี้ยงปลา/ปลูกผักไว้รอบๆขอบบ่อ เมื่อระดับน้ำลดลง จะเกิดพืชผักต่างชนิดกันตามระดับของน้ำไว้เป็นแหล่งอาหารเพิ่มเติมอีกด้วย

ระบบวนเกษตรสามารถเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกได้หรือไม่?

ระบบวนเกษตรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคเอเชียจึงได้รับการพิสูจน์แล้วว่านอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วแล้ว ยังสามารถรับประกันความมั่นคงอาหารด้วยวิธีการที่ยั่งยืนกว่า และวิธีการต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นยังทำให้เกษตรกรสามารรถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้เมล็ดพืชตัดต่อพันธุกรรม ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงได้จริง และเพิ่มรายได้จากความหลากหลายของผลผลิต รัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศต่างๆจึงต้องให้การสนับสนุนวิธีการเหล่านี้ให้ใช้แพร่หลายทดแทนเกษตรอุตสาหกรรมทีละเล็กละน้อยจนสามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์และสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกได้ในที่สุด

(จบ)


ภาพโดย   GAON Connection
อ้างอิง    https://grain.org/en/article/6632-agroecology-vs-climate-chaos-farmers-leading-the-battle-in-asia  


Social Share