THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share


ระบบนิเวศธรรมชาติที่สมบูรณ์ของโลก อยู่ในพื้นที่การดูแลของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่า ยามเมื่อโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกรวน ชนเผ่าซึ่งอยู่กับธรรมชาติคือหัวใจสำคัญ แต่เราไม่นึกถึง ในด้านหนึ่ง พวกเขามีภูมิปัญญาในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมควรที่จะเรียนรู้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งๆ ชนเผ่ามีวิถีเกื้อกูลกับธรรมชาติ สร้างผลกระทบให้เกิดโลกร้อนน้อยที่สุด แต่พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากสภาวะโลกร้อนที่อากาศผันผวนรุนแรง ทั้งความร้อน แล้ง ไฟป่า การลดลงหรือสูญพันธุ์ของพันธุ์พืชและสัตว์ นั่นย่อมกระทบต่อวิถีดำรงชีพ ความมั่นคงอาหาร และการผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจ นักนโยบายเริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาก็กระโจนไปหาการจัดการคาร์บอน ด้วยทุน เทคโนโลยี ซื้อขายคาร์บอน หักกลบลบหนี้ให้เกิด “คาร์บอนเป็นกลาง” ที่ยังอยู่ในวังวนของทุนนิยมที่หมดหวังต่อการลดก๊าซเรือนกระจก แต่เพราะความเป็นคนชายขอบ ทำให้แทบไม่มีใครสนใจผลกระทบ การปรับตัว บทเรียนจากวิถีชนเผ่า วิถีแห่งการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และซ้ำร้าย ชนเผ่าวิถีนิเวศเหล่านี้ยังถูกกดดัน ปิดล้อม ขับไล่ด้วยนโยบายการอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการพัฒนา และถูกกลืนกลายให้ทิ้งวิถีนิเวศสู่วิถีทุนนิยม และที่ตลกร้ายคือ ยังถูกกล่าวว่าเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

Thai Climate Justice for All (TCJA) จึงจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “วิถีชนเผ่ากับสภาวะโลกร้อน” โดยมุ่งไปที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงที่มีวิถีนิเวศที่สมดุล แต่ก็ถูกกระทำ และกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้โลกร้อน จากวิถีไร่หมุนเวียน ไฟป่า ฯลฯ

TCJA ได้เชิญ วิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยน

1. พ่อจอนิ โอโด่เชา ปราชญปกากะญอ (กะเหรี่ยง)

ที่ลุ่มลึกนิเวศวัฒนธรรม จะมาสะท้อนโลกทัศน์ มุมมองของชนกะเหรี่ยงต่อสภาวะโลกร้อน ว่า ในวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงเข้าใจสภาวะโลกร้อนอย่างไร พวกเขาได้รับผลกระทบ และปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อนอย่างไร และวิถีชนเผ่าจะเป็นทางออกให้กับการจัดการโลกร้อนได้อย่างไรบ้าง


2. รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย
ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักมานุษยวิทยาที่ได้ทำการศึกษาเรื่อง “ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของชุมชนพื้นเมืองในบริบทป่าและทะเลในประเทศไทย” ในปี 2555 อาจารย์จะมาบอกเล่าว่า ได้เข้าใจความสัมพันธ์ของวิถีชนเผ่ากับโลกร้อนอย่างไร และนักมานุษยวิทยามีวิธีวิทยาในการทำความเข้าใจสภาวะการณ์ดังกล่าวของชนเผ่าอย่างไร


3. รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

หัวหน้าโครงการพลิกฟื้นวิถีสังคมและระบบนิเวศสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (RISE) โดยอาจารย์และทีมวิจัยกำลังศึกษาผลกระทบและการปรับตัวสภาวะโลกร้อนต่อระบบอาหารและโภชนาการของชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเป็นงานศึกษาในชุดโครงการร่วมกับประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย อาจารย์และคณะจะมาอธิบายกรอบและวิธีวิทยาการศึกษาผ่านมุมมองของโภชนาการชาติพันธุ์ในสภาวะโลกร้อน


TCJA หวังว่า เสวนาครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มมุมมอง หรือเปิดพื้นที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านวิถีทางสังคมและวัฒนธรรมของชนเผ่า ทำให้เรามีกรอบคิด บทเรียนในการทำความเข้าใจและแสวงหาทางออกต่อปัญหาได้ลุ่มลึก และกว้างขวางขึ้น ยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางนิเวศให้กับชนเผ่าด้วย


สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยน inbox มาได้ครับ ผู้จัดจะส่ง link zoom ให้ สนใจรับฟังติดตาม Facebook live ที่นี่ ในวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน เวลา 14.00-16.00 น.

ขอบคุณครับ


Social Share