THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย    FAO
วันที่    17 กุมภาพันธ์ 2021
แปลและเรียบเรียงโดย  ปิโยรส ปานยงค์


ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณและคุณภาพน้ำจะส่งผลต่อความมั่นคงอาหารและชีวิตของชาวนายากจนในชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้ง ในหลายๆภูมิภาค ผลผลติทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น แหล่งน้ำชลประทานที่ไม่เพียงพอ และภาวะฝนแล้งสลับน้ำท่วม

เกษตรกรรมนั้นพึ่งพาสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ไม่ใช่ดินฟ้าอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นการเติบโตของจำนวนประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ การบริหารจัดการระบบวนเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยี การค้า และราคาอาหาร ปัจจัยเหล่านี้สร้างผลกระทบที่มีต่อแหล่งน้ำได้เร็วกว่าภาวะโลกร้อน ดังนั้นเราควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบชลประทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก่อนที่จะประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

สถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของระบบชลประทาน

ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1961 ถึง 2011 ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าเพื่อตอบสนองความต้องการอาหาร ไฟเบอร์ และสินค้าเกษตรอื่นๆที่เพิ่มสูงขึ้น ทว่าการขยายตัวของที่ดินเพื่อการเกษตรนั้นจำกัด โดยเพิ่มขึ้นเพียง 12% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีระบบชลประทานเพิ่มขึ้นสองเท่า หรือจาก 139 ล้านเป็น 301 ล้านเฮกเตอร์ จะเห็นได้ว่าระบบชลประทานคือปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ปริมาณน้ำที่ถูกทดเข้าไร่นาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือคิดเป็น 70% ของน้ำทั้งหมดที่มนุษย์นำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ระบบชลประทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นขาดความสมดุลเท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับประเทศและภูมิภาคเป็นสำคัญ พื้นที่ลุ่มน้ำหลายแห่งทั่วโลกประสบภาวะระดับน้ำต่ำกว่าที่เคยเป็นมาเนื่องจากถูกนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมและอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวน 40% ของผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทริมฝั่งแม่น้ำต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

ความต้องการน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ผู้คนแย่งน้ำกันใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำโดยไม่มีคนกลางที่มีความชอบธรรมเข้ามาตัดสิน ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยน้ำจืดในการดำรงชีพ ระบบชลประทานน้ำผิวดินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในยุคปฏิวัติสิ่งแวดล้อมและใช้พื้นที่มากในยุค 1980 ทำให้การไหลของแม่น้ำหลายสายเปลี่ยนแปลงไป การลงทุนภาคเอกชนมีการดึงน้ำปริมาณมากจากแหล่งบาดาลขึ้นมาใช้ ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มหมดไปในประเทศที่ทำอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่เช่นจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

นอกจากภาคเกษตรแล้ว ความต้องการน้ำของชุมชนเมืองและภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากตามอัตราการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ในขณะที่มลพิษจากการเกษตร  ชุมชนเมือง และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงแหล่งน้ำทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงขึ้น และคาดว่าจะยิ่งรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้เนื่องจากจำนวนประชากรยังเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด ทำให้ความต้องการอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น

จำนวนแหล่งน้ำที่จำกัดทำให้อัตราการขยายตัวของที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีระบบชลประทานเป็นไปอย่างช้าๆ คิดเป็น 0.1% ต่อปี ด้วยอัตรานี้ ที่ดินเพื่อการเกษตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 337 ล้านเฮกเตอร์ทั่วโลกในปี 2050 เทียบกับ 325 ล้านเฮกเตอร์ในปี 2013 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าในช่วงปี 1961-2009 การพิจารณาถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อน้ำเพื่อการชลประทานนั้นจึงต้องนำเรื่องความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและคุณภาพน้ำที่เสื่อมลงมาประกอบ

การแก้ไขปัญหาโลกร้อนละประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030 (SDG) นั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการยากที่จะขจัดปัญหาความยากจนโดยไม่สร้างภูมิต้านทานปัญหาโลกร้อนให้แก่เกษตรกรรายย่อย SDG 6 (การบริหารแหล่งน้ำและการอนามัยอย่างยั่งยืน) ประกอบไปด้วยเป้าหมาย 4 ข้อได้แก่ 1) ให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและการอนามัยได้ 2) รักษาคุณภาพน้ำให้ปลอดมลภาวะ 3) นำชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ และ 4) ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึง SDG 2 (สร้างความมั่นคงอาหาร ปรับปรุงสารอาหาร และสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน) และ SDG 1 (ขจัดปัญหาความหิวโหยให้หมดไปในทุกส่วนของโลก)

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบชลประทาน

แหล่งน้ำเป็นแหล่งทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอันดับต้นๆเนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศน์ ภาวะโลกร้อนจะทำลายองค์ประกอบทุกอย่างในวงจรการไหลเวียนของน้ำ การเกษตรจะได้รับผลกระทบจากน้ำที่ระเหยหายไปเร็วกว่าเดิม ลักษณะฝนฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป การไหลของแม่น้ำและการสะสมของแหล่งน้ำใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของการชลประทานจะเปลี่ยนแปลงไป

วงจรแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

ฝนและการระเหยของน้ำคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่กำหนดปริมาณน้ำจืดในแหล่งน้ำ การพยากรณ์สภาพอากาศพบการลดระดับลงของแหล่งน้ำในบางพื้นที่แต่ก็เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่เช่นกันอย่างไม่มีความแน่นอน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการต่างลงความเห็นว่าแหล่งน้ำจะลดลงในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและพื้นที่แล้ง และจะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคทางเหนือ และใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีความชื้นสูง แม้กระนั้น การเพิ่มของแหล่งน้ำก็จะสลับไปกับความแล้งระยะสั้นเนื่องจากความไม่แน่นอนของฝนที่ตก ความแล้งในบางพื้นที่ทางตอนเหนือจะเกิดจากปริมาณสะสมของหิมะและน้ำแข็งในฤดูหนาวลดลง สุดท้ายภาวะโลกร้อนจะทำให้คุณภาพของน้ำจืดด้อยลงอีกด้วย ปริมาณที่ลดลงของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินในภูมิภาคที่แห้งแล้งจะก่อให้เกิดความตึงเครียดในการจัดสรรปริมาณน้ำระหว่างภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และการผลิตพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อไปยังความมั่นคงอาหารและพลังงาน

ภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง

คาดกันว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อความถี่และความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมและความแล้ง และผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่เช่นกัน จากหลักฐานที่มีจำกัดพบว่าพื้นที่ที่มักถูกน้ำท่วมกระจายครอบคลุมครึ่งหนึ่งของโลก ได้แก่ไซบีเรียกลางและไซบีเรียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ อาฟริกาเขตร้อนชื้น และอเมริกาใต้ทางตอนเหนือ ส่วนพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมน้อยลงได้แก่ยุโรปตอนเหนือและยุโรปตะวันออก อนาโตเลีย เอชียกลางและเอเชียตะวันออก อเมริกาเหนือตอนกลาง และอเมริกาใต้ทางตอนใต้ รายงานประเมินสภาพอากาศฉบับที่ 5 ระบุไว้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากภัยน้ำท่วมได้เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการขาดการป้องกันและเตรียมการที่ดี และส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน

ในบางภูมิภาคเช่นยุโรปตอนใต้และอาฟริกาตะวันตก Metereological Droughts ซึ่งหมายถึงภาวะที่แล้งฝน และ Agricultural Droughts หรือภาวะที่ดินขาดความชื้นเกิดบ่อยครั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1950 และภาวะโลกร้อนจะมีส่วนทำให้ภัยแล้งทั้งสองประเภทเกิดถี่ขึ้นอีกในศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝนและความชื้นในดินที่ลดลงจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นที่คาดการณ์ว่าภัยแล้งจะรุนแรงในยุโรปตอนใต้และพื้นที่รอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน ยุโรปตอนกลาง อเมริการเหนือตอนกลางและตอนใต้ อเมริกากลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล และอาฟริกาใต้

คุณภาพน้ำ

มีหลักฐานพอสมควรว่าภาวะโลกร้อนนอกจากจะเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำแล้วยังมีผลต่อคุณภาพของน้ำอีกด้วย โดยผ่านกระบวนการทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ที่ซับซ้อน เช่นอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ปริมาณตะกอนที่มากขึ้น ธาตุอินทรีย์และมลพิษที่น้ำฝนชะลงมาและสะสมในแหล่งน้ำในหน้าแล้ง ทำให้คุณภาพน้ำตกต่ำลงแม้จะใช้วิธีการกรองหรือต้มเพื่อให้สะอาด

ฤดูน้ำหลาก

ในพื้นที่ที่มีหิมะตก ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูน้ำหลากเปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น เว้นในภูมิภาคที่มีอากาศเย็นจัด อากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ระดับหิมะสูงสุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิลดลงและปริมาณหิมะละลายสูงสุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมจากหิมะละลาย และน้ำแข็งในแม่น้ำอาร์คติคแตกตัวเร็วขึ้น

ปริมาณน้ำบาดาล

เป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบต่อระดับน้ำบาดาลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนที่ตกจะทำให้น้ำที่จะไหลรวมกันลงสู่ใต้ดินนั้นน้อยลง ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นกลับลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำบาดาลเนื่องจากความสามารถในการดูดซับน้ำของดินไม่ดี ในพื้นที่กึ่งแล้งการสะสมของน้ำใต้ดินจะเกิดขึ้นได้มากกว่า แต่ก็จะลดโอกาสในการเกิดฝนตกลงเนื่องจากน้ำไม่ระเหยสู่อากาศ

(อ่านต่อพรุ่งนี้)


ภาพโดย   FAO
อ้างอิง      http://www.fao.org/climate-smart-agriculture-sourcebook/production-resources/module-b6-water/chapter-b6-3/en/


Social Share