THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย DALE JAMIESON
วันที่ 18 มิถุนายน 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์


ในสังคมโลกตะวันตก มวลชนเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสามารถป้องกันและแก้ปัญหาต่างๆที่เราประสบอยู่ได้ เช่น ประเทศประชาธิปไตยไม่ทำสงครามกันเอง รับมือกับโรคระบาดได้ดี และปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ผ่านการทดสอบมาหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยอาจไม่เหมาะสมในการแก้ปัญหาโลกร้อน ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่ประชาชาติทั้งหลายได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ถึงระดับที่ทำลายบรรยากาศโลก ทว่าปัญหาก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นโดยตลอด ปริมาณการปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นกว่า 60% ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากกว่า 15% และอุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่า 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้น ปัญหาโลกร้อนเป็นสาเหตุของปัญหามากมายของมนุษย์ รวมไปถึงภาวะโลกระบาด แต่เราจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่?

ดังที่พลาโตได้กล่าวไว้เมือสองพันกว่าปีที่แล้วว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่มีประสิทธิภาพถ้าประชาชนขาดความรู้ ผู้นำไร้ความสามารถ กฎหมายและนโยบายขาดเสถียรภาพเพราะประชามติที่ขาดเหตุผล หรือที่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลกล่าวไว้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด

ปัญหาภาวะโลกร้อนอยู่ภายใต้ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ ในขณะที่ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกนั้นสามารถแก้ไขได้โดยบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์เท่านั้น ทว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนเจ้าของเสียงโหวตเท่านั้น ซึ่งทำให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้นอ่อนกำลังลง และทำให้รัฐบาลไม่มองภาพรวมที่กว้างไปกว่าปัญหาภายในประเทศของตน ประการที่สอง การแก้ปัญหาโลกร้อนต้องใช้ความมุ่งมั่นในระยะยาว ในขณะที่นโยบายเปลี่ยนไปตามวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ประการสุดท้าย ระบอบประชาธิปไตยยังมีระบบออกเสียงคัดค้านนโยบาย เช่นสมาชิกวุฒิสภา  34 คนของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ทำให้การแก้ปัญหาเต็มไปด้วยความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาโลกร้อนจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีความสำคัญน้อยกว่าเสียงส่วนรวม (ซึ่งอาจไม่ถูกต้องเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสื่อสังคมออนไลน์เช่นนี้ ทำให้มวลชนในโลกตะวันตกลดความสำคัญของความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญลง แต่ให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมคบคิดที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความเห็นกันในสื่อสังคมออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่นมีประชาชนที่นิยมพรรคลีพับลิกันถึง 44% เชื่อว่าแคมเปญเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดของบิล เกตส์เกิดจากความพยายามที่จะฝังไมโครชิปในมนุษย์ เป็นต้น

หากประเทศประชาธิปไตยต้องการที่จะประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาโลกร้อน ประเทศนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับต้น วิธีการผสานองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเข้ากับความเห็นของมวลชนในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลจะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาจากการสอนข้อเท็จจริงและการคำนวณตัวเลข มาเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนรู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองและยึดมั่นในศีลธรรมจรรยา ประชาชนของประเทศประชาธิปไตยจะต้องบอกความแตกต่างระหว่างความเห็นของผู้เชียวชาญและข่าวปลอมได้ เพราะไม่มีรัฐบาลใดจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาได้ถ้าประชาชนไม่เข้าใจหรือไม่ต้องการที่จะยอมรับแนวทางนั้น

การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผลักไสหรือยอมรับประชาธิปไตย แต่ขึ้นอยู่กับการนำของรัฐบาลและการยอมรับความเป็นจริงของประชาชน เพราะท้ายที่สุดแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาในระดับสากลจะต้องมาจากภูมิปัญญาทางการเมืองของแต่ละประเทศ เพราะปัญหานี้อาจหนักหนาสาหัสกว่าที่เราคิดไว้


ภาพโดย Carl de Souza
อ้างอิง https://www.politico.eu/article/can-democracies-beat-climate-change/


Social Share