THAI CLIMATE JUSTICE for All

บทบาทของเยาวชนไทยในการป้องกันภัยจากภาวะโลกร้อน

ด.ช.ในปาย รัตนพงษ์
ด.ช.นิธาน ขำล้ำเลิศ

ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            ปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบันที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นคือปัญหาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  จากการสำรวจข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศพบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน และแผ่ขยายในวงกว้าง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช 2554 นอกจากนี้ยังเกิดภัยแล้งและการรุกล้ำของน้ำทะเล เรียกได้ว่า ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและต่อวิถีชีวิตของเรา  แนวปะการังที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์สูญหายหายไป ยังไม่นับรวมผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำให้เราสูญเสียรายได้มหาศาล ซึ่งท้ายที่สุดนำมาสู่การส่งผลต่อสุขภาวะและการดำรงชีวิตของเรา

            โดยทั่วไปแล้วการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในช่วงที่ผ่านมาถ้ามองในระดับของบุคคล จะเริ่มต้นด้วยกสารเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ลดระดับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่เปิดไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับในประเทศไทยคือประมาณ 25 องศาเซลเซียส  การนำกระดาษหรือภาชนะบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ กลับไปใช้ใหม่ และพยายามซื้อสิ่งของที่มีอายุ การใช้งานนาน ๆ จะช่วย เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานของโลก ลดการใช้น้ำมันจากการขับขี่ยานพาหนะส่วนตัว โดยใช้ขนส่งสาธารณะแทน รวมทั้งการช่วยกันรักษาป่าไม้ให้ได้มากที่สุด ลดหรืองดการจัดซื้อสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำจากไม้เพื่อปล่อยให้ต้นไม้และป่าไม้เหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นปอดของโลกต่อไป เป็นต้น อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเหล่านี้ยังขาดความจริงจังและต่อเนื่องในการปฏิบัติ ภาครัฐยังต้องคอยกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพราะคนไทยยังติดความสบายเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าในอนาคตข้างหน้ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตใช้ชีวิตบนโลกต่อไปในอนาคตนั้นอาจจะต้องประสบกับปัญหาที่วิกฤติมากขึ้นหลายเท่าตัว

            “เมื่อสิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเด็กที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยเหลือเพื่อการมีสภาพแวดล้อมที่ดีเด็กและเยาวชนเองก็จะต้องมีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์สิทธิและช่วยกันพัฒนาสภาพแวดล้อมแก้ปัญหาโกลร้อนที่เกิดขึ้นด้วย โดยจะต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน”

            ยังมีพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคอีกหลายอย่างเช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเติมใหม่ได้ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีกล่องบรรจุที่เมื่อใช้สินค้าหมดแล้ว ก็สามารถหาซื้อเฉพาะตัวสินค้ามาเติมในกล่องบรรจุเดิมได้เลย เพื่อเป็นการลดขยะจากหีบห่อของบรรจุภัณฑ์ ประหยัดการใช้กระดาษหรือใช้กระดาษทั้ง 2 หน้า เพราะการผลิตกระดาษต้องใช้พลังงานจาก น้ำมันและไฟฟ้าจำนวนมาก ถ้าสามารถใช้อุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้อื่น ๆ ได้ เช่น ไอแพด ก็ควรนำมาใช้แทนอย่างคุ้มค่า  ต้องลดการผลิตขยะทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนของตัวเอง แยกขยะก่อนทิ้งให้ได้และทำเป็นกิจวัตร จะช่วยประหยัดทรัพยากร การสนับสนุนสินค้าและผลิตผลจากเกษตรกรในท้องถิ่นใกล้บ้าน นอกจากจะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ ส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่นแล้ว จะทำให้ภาคการเกษตรในพื้นที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่าขึ้นมากเพราะไม่ต้องขนส่งผลิตผลลดการใช้พลังงานได้อีกหลายต่อ ซื้อของให้น้อยลง ใช้เท่าที่จำเป็น รู้จักแบ่งปันให้มากขึ้น อยู่อย่างพอเพียง การบริโภคจำนวนมากทำให้ต้องใช้พลังงานในการผลิตจำนวนมากตามไปด้วย สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อน เพื่อช่วยลดการใช้พัดลมและเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ต้องลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติด เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ การเผากำจัดต้องใช้พลังงานจำนวนมากทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มในบรรยากาศ

ในฐานะที่เป็นเยาวชนการให้ความร่วมมือสนับสนุน หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นในโรงเรียนของตนเองก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่โรงเรียนมีการรณรงค์และใช้หลัก 4 R มาประยุกต์ใช้กับวิถีในโรงเรียนได้แก่ 1) พฤติกรรมการลดการใช้พลังงาน (Reduce) คือการลดการใช้ทรัพยากรในช่วงต่าง ๆ ของวงจรผลิตภัณฑ์ 2) พฤติกรรมการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) คือการใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ 3) พฤติกรรมการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) คือการนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาผานกระบวนการผลิตใหม่แล้วนำกลับมาใช้โดยการออกแบบการใช้งานผลิตภัณฑ์เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และ 4) พฤติกรรมการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องใช้ (Repair) คือการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ง่ายต่อการซ่อมบำรุงได้ง่ายจะเป็นการยืดอายุช่วงชีวิตของการใช้งาน

การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นภัยคุกคามประชาชนบนโลกอยู่ ณ ขณะนี้ อาจจะมีวิธีการที่หลากหลาย แต่เด็กและเยาวชนในฐานะที่จะเป็นพลเมืองวัยทำงานของโลกในอนาคตไม่ช้านี้อาจเริ่มต้นด้วยวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เคยชินอยู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบกับตนอย่างมากหากไม่รู้จักใช้อย่างประหยัด ระมัดระวัง แม้การปลูกฝังจะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ถ้าหากวันนี้เรายังไม่เริ่มต้นแสดงบทบาทตามสถานภาพของตนเอง เราก็คงต้องทนอยู่กับปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ต่อไปอย่างไม่มีความสุข

Scroll to Top