THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Thomas Hylland Eriksen
วันที่ 26 เมษายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

บทนำ


แม้ว่าผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบภูมิอากาศโลกจะเพิ่งถูกเปิดเผยต่อสายตาของชาวโลกเมื่อเร็วๆนี้ แต่ความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ฮิปโปเครตีส ปราชญ์ชาวกรีก (460 ปีก่อนคริสตกาล) ค้นพบว่าสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนฤดู ความร้อน และฝน มีผลต่ออารมณ์และสุขภาพของมนุษย์ ต่อมามองเตสกิเออ (ค.ศ. 1689-1755) ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศและสังคม กล่าวคืออากาศเย็นทำให้ผู้คนกระฉับกระเฉง และความร้อนทำให้เฉื่อยชา ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม จนปัจจุบันเราพบว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ซึ่งนักมานุษยวิทยาได้ให้ความสำคัญแก่องค์ความรู้และนโยบายในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว แต่ก่อนที่จะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้นั้น เราจะต้องทำความเข้าใจที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันเสียก่อน


ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยสร้างผลกระทบต่อดาวเคราะห์โลกได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางเช่นนี้มาก่อน เพียงแค่ 20 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 มนุษย์ได้ครอบครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งนักวิชาการได้เรียกช่วงเวลานี้ว่า ‘Anthropocene’ หรือยุคที่กิจกรรมของมนุษย์มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโลกมากที่สุด ทำให้ยุค Holocene ที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อ 11,500 ปีที่แล้วสิ้นสุดลง ณ ปัจจุบัน เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ซึ่งกิจกรรมของมนุษย์ได้ขยายตัวในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต่อมาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและระบบนิเวศน์ รวมไปถึงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ได้เกิดขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 1990 ทำให้มนุษยชาติ พืช สัตว์และระบบนิเวศน์ทั้งหมดตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอย่างที่สุด


การแกปัญหาภาวะโลกร้อนจึงเป็นวาระเร่งด่วน มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องมากมายในโลกวิชาการ สถาบันวิจัยพร้อมทีมบุคลากรได้รับการจัดตั้งขึ้นทั่วโลก มีการจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศ เช่นที่สหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ประเมิน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงรายงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ที่โด่งดังด้วย


ต่อมา Jason Moore นักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้นำเสนอคำศัพท์ ‘Capitalocene’ เพื่อใช้แทนคำว่า ‘Anthropocene’ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าทุนนิยมคือต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโลก และชี้ให้เห็นว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย การแสวงหาผลกำไรอย่างไม่หยุดหย่อน การตีความว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่รอให้นำออกมาใช้ และการใช้อัตราการเติบโตของ GDP เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักทฤษฎีชื่อ Donna Haraway และได้เสนออีกคำศัพท์หนึ่งได้แก่ ‘Chthulucene’ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์กันของสรรพชีวิตทั้งหมด โดยเธอเสนอว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะกระตุ้นให้มนุษย์ตระหนักถึงความสัมพันธ์และการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตในโลกทั้งหมด และได้ทำการประเมินความเสียหายของดาวเคราะห์โลกและเสนอทางเลือกที่ทำให้มนุษย์ พืช และสัตว์อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายโดยน้ำมือของมนุษย์นี้ นักวิชาการเหล่านี้เห็นพ้องกันว่าเราไม่สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลกให้กลับสู่สภาพเดิมได้ แต่เราต้องค้นหาความเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความเสียหายนี้


ภาวะโลกร้อนได้รับความสนใจจากนักสังคมวิทยาด้วยเช่นกัน ในทางทฤษฎีสังคมวิทยานั้น ภาวะโลกร้อนคือผลของการเติบโตและความไม่แน่นอนของสังคมสมัยใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงที่เกินจะควบคุม และคือการขาดเสถียรภาพ มองว่าภาวะโลกร้อนคือภัยที่มากับสังคมสมัยใหม่และคือภัยที่สังคมอุตสาหกรรมได้สร้างขึ้น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยวิธีการแก้ปัญหาเชิงเดี่ยว สังคมในปัจจุบันกระตุ้นให้มนุษย์เร่งรีบที่จะแข่งขันกันผลิต สื่อสาร ขนส่งโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ระบบทุนนิยมโลกได้สร้างสถานการณ์ซึ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้หมดไปและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ดังนั้นเรื่องภาวะโลกร้อนและกิจกรรมของมนุษย์จึงเป็นเรื่องเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองเรื่องมีเครื่องชี้วัดอย่างเดียวกันได้แก่ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเผาเชื้อเพลิงถ่านหิน นักวิชาการบางกลุ่มถึงกับแสดงความกังวลว่าสังคมมนุษย์จะสิ้นสุดลงจากภัยโลกร้อน นักธรณีวิทยา Brian Fagan (1999) ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์เอลนินโญได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบลมฟ้าอากาศและอุณหภูมิของทวีปอเมริกาใต้โดยสิ้นเชิง ส่วนนักธรณีวิทยาอีกท่านหนึ่งได้แก่ Joseph Tainter (1988) ได้เปรียบเทียบยุคปัจจุบันกับการล่มสลายของอาณาจักรโรมันและมายา โดยระบุว่าภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุให้สังคมลดความซับซ้อนลง ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งได้แก่ภาวะโลกร้อนทำให้ผลประกอบการของภาคพลังงานลดต่ำลง เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการอาหารปริมาณมหาศาลแต่กำไรลดลง และต้นทุนด้านการขนส่งที่เพิ่มขั้น และ Joseph ยังได้ระบุว่าการขาดแคลนทรัพยากรอันมีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรโลก เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าภาวะโลกร้อนเสียอีก


ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดคำถามต่อพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรของมนุษย์ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เราได้ใช้พลังงานเป็นปริมาณมหาศาลมากกว่ายุคใดในอดีต เริ่มตั้งแต่การขุดถ่านหินที่ฝังอยู่ใต้ดินตื้นๆออกมาใช้ จากนั้นก็ขยับไปสู่น้ำมันและก๊าซเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำกำไรให้ระบบทุนนิยม และพัฒนาความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น ทำให้การบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นถึงแปดเท่า ทำให้ต้นทุนพลังงานขยับตัวสูงขึ้นเนื่องจากพลังงานจากแหล่งที่เข้าถึงได้ง่ายได้หมดไป การผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานถ่านหินก็มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เรากำลังบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เวลาเป็นล้านๆปีในการสร้างขึ้นให้หมดไปและทำลายตัวเองโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ใช้อยู่อาศัยไปพร้อมๆ กัน


ดังนั้น เราจึงต้องใช้วิชาการในหลายสาขามาประกอบกันเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมดของภาวะโลกร้อน ในขณะที่นักสิ่งแวดล้อมได้ทำการสำรวจภาพรวมทั้งหมดของระบบนิเวศน์ และนักโบราณคดีกำลังศึกษาข้อมูลในอดีตเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหา นักมานุษยวิทยาก็ได้ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนต่างๆเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อชุมชนและการปรับตัว ช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่องค์ความรู้เชิงมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ได้นำมาใช้ในการศึกษาเชิงสังคมและการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ

(อ่านต่อวันเสาร์)


ภาพโดย The Cambridge Encyclopedia of Anthropology
อ้างอิง https://www.anthroencyclopedia.com/entry/climate-change


Social Share