THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Thomas Hylland Eriksen
วันที่ 26 เมษายน 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ประโยชน์ขององค์ความรู้เชิงมานุษยวิทยาที่นำมาใช้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

นักวิชาการหลายรายได้ทำการศึกษามานุษยวิทยาภูมิอากาศโดยแยกออกเป็นระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ซึ่งงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาผลกระทบและวิธีการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของประชากรชายขอบ จากชาวนอร์ดถึงชาวมองโกล จากชาวอเมซอนถึงชาวเมลานีเซียน ผู้ซึ่งดำรงชีพโดยทิ้งผลกระทบแก่ระบบนิเวศน์น้อยที่สุด ดังนั้นบทเรียนการปรับตัวที่ถอดมาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จึงมีความหลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆแต่เพียงที่เดียว ไม่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาโดยรวมได้ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยของ Amelia Moore (2015) ชี้ให้เห็นว่าการพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวและการบินของหมู่เกาะบาฮามาส์จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่จะทำให้เกาะปะการังน้ำตื้นสูญพันธุ์ หรืองานวิจัยของ Herta Nöbauer (2018) รายงานว่าสกีรีสอร์ตส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรียต้องพึ่งพาหิมะเทียมเพราะหิมะไม่ตกในฤดูหนาว หรือ Harold Wilhite กับ Cecilia Salinas (2019) แสดงให้เห็นว่าชาวป่าเป็นเหยื่อของการรุกรานที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่าโดยนายทุนและภาวะโลกร้อนอย่างไรบ้าง

ทุกฝ่ายลงความเห็นว่าการศึกษามานุษยวิทยาภูมิอากาศต้องอาศัยการศึกษาวิชาการในสาขาต่างๆมาประกอบกัน เพราะว่าภาวะโลกร้อนนั้นเป็นกระบวนการทางฟิสิกส์ ที่รับมือโดยกระบาวนการทางการเมือง แต่มีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นสูงกว่า ตามที่งานของ Werner Krauss (2015) ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการทำความเข้าใจชาวประมงและนักอนุรักษ์ที่ดำรงชีพและทำงานอยู่บนชายฝั่งทะเลเหนือของประเทศเยอรมนี โดย Krauss ได้ร่วมมือกับนักธรรมชาติวิทยาในการค้นหาสมดุลระหว่างเป้าหมายและการดำเนินการ และได้แนะนำเจ้าหน้าที่ถึงความจำเป็นในการใช้มิติของชีวิตมนุษย์ในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนนอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่นการนำทฤษฎีการเมือง กฎหมายระหว่างประเทศ และอุตุนิยมวิทยามาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งทำให้นักวิชาการสามารถเข้าใจว่าทำไมนโยบายทางการเมืองจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสเกลของปัญหา และไม่ทึกทักไปว่าข้อตกลงระหว่างประเทศจะสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

นักวิชาการชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งได้ระบุว่ามีองค์ความรู้ที่สำคัญสามประการในเชิงมานุษยวิทยาภูมิอากาศที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ได้แก่ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ มุมมองเชิงประวัติศาสตร์ และภาพรวมของปัญหา ซึ่งหมายความว่าประสบการณ์ของคนเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมในการกำหนดวิธีแก้ปัญหา โดยไม่พึ่งพิงเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงมีบทบาทที่สำคัญในการตีความวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

พัฒนาการของมานุษยวิทยาภูมิอากาศ

การศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนเริ่มต้นมาจากมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยาพลังงาน ซึ่งทฤษฎีส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 19 พร้อมกับวัฒนธรรมด้านวัตถุนิยม เทคโนโลยี และการปรับตัวของระบบนิเวศน์ นักมานุษยวิทยาชื่อ Franz Boas (1858-1942) เริ่มให้ความสนใจต่อวิถีชีวิตของชาวอาร์คติคที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Julian Steward (1955) นักวิชาการด้านระบบนิเวศน์มนุษย์ ได้ให้ความสนใจต่อระบบการเมืองและสังคมจากมุมมองของนักวัตถุนิยมซึ่งรวมเอาเรื่องเทคโนโลยีและนิเวศวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะต่างๆของระบบนิเวศน์ที่สร้างสังคมที่ใหญ่โตและซับซ้อน ส่วนนักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่งได้แก่ Leslie White (1949) ผู้ซึ่งทำการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีและพลังงานจากมุมมองของพัฒนาการทางสังคม ให้เหตุผลว่าเราอาจวัดพัฒนาการทางวัฒนธรรมได้จากปริมาณพลังงานที่สังคมนั้นนำออกมาใช้ ดังนั้นสังคมที่มีความก้าวหน้าที่สุดคือสังคมที่มีการใช้พลังงานต่อประชากรมากที่สุด ทฤษฎีนี้เสื่อมความนิยมไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานและระบบนิเวศน์เป็นรากฐานของสังคมก็ยังเป็นแนวคิดสำคัญของมานุษยวิทยาภูมิอากาศในปัจจุบัน

ในยุค 1970 เริ่มมีการกล่าวถึงวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะนั้นถูกเชื่อมโยงเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังร่อยหรอและมลภาวะมากกว่าที่จะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน Gregory Bateson (1972) ได้ระบุถึงปัจจัยสามประการที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าว ประการแรกคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตร ประการที่สอง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้แหล่งทรัพยากรเริ่มหมดไป และประการที่สาม แนวคิดและวัฒนธรรมตะวันตกที่ระบุว่ามนุษยชาติเป็นตัวการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม Bateson ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่ว่ามนุษย์ควรจะควบคุมสิ่งแวดล้อมแทนที่จะมองตนเองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ใหญ่กว่า และยังได้ประณามปัจเจกนิยม ค่านิยมที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จบ ความเชื่อที่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราไม่มีที่สิ้นสุด และความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งที่ Bateson เรียกว่า ‘healthy ecology’ หรือระบบนิเวศน์ซึ่งสิ่งแวดล้อมได้ผสมผสานเข้ากับอารยธรรมชั้นสูงซึ่งสามารถยืดหยุ่นให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้จนเกิดความสมดุลที่มนุษย์จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ในขณะที่ Bateson ได้กำหนดให้วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นภัยที่สำคัญต่ออารยธรรมมนุษย์นั้น เขาไม่ได้กล่าวถึงภาวะโลกร้อนโดยตรง แต่เป็น Margaret Mead (1980) ที่เป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวในปี 1975 ซึ่งเป็นเวลาที่เรื่องภาวะโลกร้อนยังไม่ได้เป็นวาระหลักใดๆ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ในยุคนั้นเชื่อว่าโลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งใหม่มมากกว่าจะเป็นยุคของความร้อนแล้ง และมองว่ามลภาวะทางอากาศสามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

ช่วงปี 1990 ภาวะโลกร้อนเริ่มถูกนำมาพิจารณาในวาระการเมืองและวิจัย และคำว่าภาวะโลกร้อนก็ถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงของสภาพอากาศอย่างพายุเฮอริเคน ในด้านมานุษยวิทยานั้น แนวคิดของ Steve Rayner และ Elizabeth Malone (1998) เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยรวมเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธ์เข้ากับความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น นโยบายทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพื่อนำมาใช้อธิบายภาวะโลกร้อน และงานวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างภูมิอากาศและกลุ่มชาติพันธุ์ของ Ben Orlove ก็แสดงให้เห็นว่าชาวนาสามารถทำนายปริมาณฝนและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้จากการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาว Pleiades ซึ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนินโญ งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถเป็นประโยชน์แก่กระบวนการต่อสู้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามในยุคนั้นยังมีการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาเพื่อจุดประสงค์ทางภูมิอากาศที่ไม่มากนัก

สิบปีต่อมา นักมานุษยวิทยาสุขภาพ Hans Baer และ Merrill Singer ได้เผยแพร่บทความชื่อ ภาวะโลกร้อนและระบบนิเวศน์ทางการเมืองแห่งสุขภาพ (2009) บทความดังกล่าวได้ทดสอบผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อแหล่งน้ำ อาหาร และโรคระบาด และได้เน้นย้ำว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไม่เท่าเทียมกันตามความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศในเขตร้อนชื้นจะได้รับผลกระทบจากภาวะการระบาดของโรคที่ถูกกระตุ้นโดยภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่า ภายในปีเดียวกันนั้นเอง Susan Crate และ Mark Nuttall ได้เผยแพร่บทความเรื่องมานุษยวิทยาและภาวะโลกร้อนและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง บทความนี้ได้สำรวจผลกระทบในภูมิภาคต่างๆของโลกและตีความผลกระทบดังกล่าวพร้อมแนวทางการปรับตัวของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ นับตั้งแต่ชาว Siberia ไปจนถึง Papua New Guinea รวมไปถึงสังคมที่น่าจะมีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุดได้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศจีน และสรุปว่าประเทศร่ำรวยก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ในขณะที่คนยากจนตกเป็นเหยื่อ ทำให้เกิดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน ทรัพยากรการท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ในขณะที่ผู้คนพยายามหาเหตุผลให้แก่ความเสี่ยงนั้นและดำรงชีพแบบเดิมต่อไป  (Kari Norgaard 2011)

อีกสองสามปีต่อมา เกิดผลงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาซึ่งพิจารณาภาวะโลกร้อนจากหลายแง่มุมขึ้นอีกเป็นจำนวนมากซึ่งรวมถึงการปรับตัว ความเปราะบาง การทำนายเหตุการณ์ ความเสี่ยง การบริโภค เพศสภาพ และการอพยพถิ่นฐานที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เนื่องจากนักวิชาการเริ่มหันมาสนใจกับปัญหา ในขณะที่การประชุม Society for Applied Anthropology (SAA) มีการพิจารณาเรื่องภาวะโลกร้อนเพียงครั้งเดียวในปี 2006 ต่อมาก็เกิดการประชุมตามมาอีกหลายต่อหลายครั้ง ทำให้นักมานุษยวิทยาได้ผลิตผลงานเกี่ยวกับการเมืองภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขภาวะ ตลาดแลกเปลี่ยนคาร์บอน ทรัพยากรน้ำ และพลังงานขึ้น

(อ่านต่อวันอังคาร)


ภาพโดย     The Cambridge Encyclopedia of Anthropology

อ้างอิง        https://www.anthroencyclopedia.com/entry/climate-change


Social Share