THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย recorftc.org
วันที่ 15 มิถุนายน 2562
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบโดย    recorftc.org

ประชากรนับล้านทั่วทวีปเอเชียสามารถต่อสู้กับการระบาดของไวรัส COVID-19 และใช้ชีวิตภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ได้ดีกว่าเนื่องจากประชากรเหล่านั้นเป็นสมาชิกป่าชุมชนซึ่งสามารถบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าของชุมชนได้
งานวิจัยโดย RECOFTC พบว่าป่าชุมชนเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และเป็นหลักประกันความมั่นคงอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้คนเข้าใจและป้องกันตนเองจากความเสี่ยงของการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ และเสนอแนะวิธีการที่ทำให้ป่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูสังคมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายข้อตกลงปารีส


RECOFTC ร่วมกับองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทำการศึกษาวิจัยใน 7 ประเทศในทวีปเอเชีย ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการ และการซื้อขายป่าระหว่าง FAO–EU และได้รายงานผลการวิจัยทางออนไลน์ดังต่อไปนี้
งานวิจัยได้เน้นถึงความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนและระบบการเช่าทำกินเพื่อให้สมาชิกชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากป่าให้มากขึ้น นโยบายสนับสนุนป่าชุมชนไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศสามารถฟื้นฟูตนเองจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อความเสี่ยงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือภาวะโลกร้อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้ว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นเว้นแต่ว่าเราจะหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น การปลูกและดูแลรักษาป่าชุมชนจะเป็นทั้งการขจัดสาเหตุและลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนไปพร้อมๆ กัน


RECOFTC ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวนหลายร้อนคนในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนม่าร์ เนปาล ไทย และเวียตนาม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงอาหารจากการล็อคดาวน์ มาตรการห้ามเดินทาง การปิดตลาดและท่าเรือส่งออกทำให้รายได้ขาดหายไปในขณะที่ราคาอาหารสูงขึ้นเพราะต้องนำเข้า ทำให้ฐานะทางการเงินตกอยู่ในความยากลำบาก


ทว่าป่าชุมชนช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้จากการเก็บของป่า สมุนไพร ผลผลิตจากวนเกษตร และฟืน RECOFTC ประมาณการว่ารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบลุ่มน้ำโขงสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงต้นของการล็อคดาวน์ ป่าชุมชนหลายแห่งได้ถูกนำมาตีค่าเป็นหลักประกันเพื่อออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่สมาชิกโดยคณะกรรมการป่าชุมชนซึ่งหน้าที่ผลักดันกฎหมายป่าชุมชน แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหนือแหล่งทรัพยากร บริหารทุน และลาดตระเวนปกป้องป่าชุมชนจากการเก็บของป่าล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมายและการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับหน่วยงานรัฐและ/หรือภาคีเครือข่ายภายนอกสามารถรับการสนับสนุนต่างๆจากรัฐบาลหรือ NGO ได้อีกด้วย เช่น ใช้การประชาสัมพันธ์ การประสานงาน และภาวะผู้นำในการให้ความรู้และแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์แก่สมาชิกได้อีกด้วย
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้การบริหารป่าชุมชนประสบความสำเร็จ ได้แก่การบริหารการเช่าและสิทธิในการใช้ประโยชน์ ขนาดและคุณภาพของป่าที่รัฐจัดสรรให้แก่ชุมชน และความสามารถของคณะกรรมการในการบริหารสินเชื่อและจัดหาการสนับสนุนจากภายนอกชุมชน และได้ให้ข้อแนะนำถึงวิธีการนำเอาโมเดลที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่การเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนที่บริหารจัดการโดยชาวบ้านในชุมชนเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารให้แก่ชาวบ้านโดยการฝึกอบรมและการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการบริหารการเงิน การตลาด การฟื้นฟูสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์
ในขณะเดียวกัน การให้ทุนและเครื่องมือสนับสนุนการฝึกอบรมและสร้างงานด้านการบริหารจัดการและฟื้นฟูป่าชุมชนจะทำให้ประเทศมีพื้นที่กักเก็บคาร์บอนและแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น จึงลดความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนและเพิ่มความมั่นคงอาหารให้แก่ชุมชน


ภาพประกอบโดย recorftc.org
อ้างอิง https://www.recoftc.org/press-releases/community-forests-boosted-pandemic-resilience-across-asia


Social Share