THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย ประสาท มีแต้ม
วันที่ 25 สิงหาคม 2021
คอลัมภ์ : Thai Climate Justice for All / Thai Publica

“ถ้าก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะหยุดลงได้”

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 องค์กรที่มีชื่อย่อว่า IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ ได้ออกรายงานที่เกี่ยวกับ “สถานการณ์โลกร้อน” เป็นรายงานฉบับที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2531 ปรากฏว่าได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมทั้งสื่อกระแสหลักในบ้านเราด้วย แม้ว่าตัวสาระของข่าวจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีคือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อชาวโลก แต่การที่ชาวโลกให้ความสนใจในเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ

เนื่องจากรายงานฉบับนี้มีความยาวถึง 3 พันกว่าหน้า สื่อต่างๆ จึงได้หยิบเอาบางมุมมานำเสนอ โดยเฉพาะในมุมที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้นเท่านั้นเท่านี้ น้ำท่วม คลื่นความร้อนที่โน่น ที่นั่น ฯลฯ แต่ไม่มีสื่อไหนเลย (ในขณะนั้น) ที่บอกว่า มาตรการแก้ปัญหาอย่างถาวรและชัดเจนที่ IPCC เสนอนั้นคืออะไร

ผมลงมือค้นคว้าใน Wikipedia จึงได้พบกับคำตอบที่ต้องการ และต่อมารายการ “ข่าวเจาะย่อโลก” ทางสถานีไทยพีบีเอส (14 ส.ค. 2564) ได้นำมาเสนอทางออกที่ผมคาดหวังด้วย ขอขอบคุณสื่อทั้งสองมาในโอกาสนี้ครับ

ทางออกจากสถานการณ์โลกร้อนในรายงานที่เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินสำหรับมนุษยชาติดังกล่าว มีความยาวแค่ไม่ถึง 2 บรรทัด คือ

“ถ้าก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ปัญหาโลกร้อนก็จะหยุดลงได้”

โปรดสังเกตว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง ลดก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งของระดับที่กำลังปล่อยภายในปี 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ระหว่างทาง และขั้นที่สอง ต้องลดลงอีกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็น “net zero” ภายในอีก 20 ปีถัดไป หรือภายในปี 2050 โดยที่ “net zero” หมายถึง ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อยู่แต่จำนวนที่ปล่อยออกไปต้องไม่มากกว่าความสามารถที่พืชหรือป่าไม้จะดูดซับไปใช้ในการสังเคราะห์แสงได้หมด

เหตุที่ IPCC ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ต้องแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนก็เพราะเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนมาก ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศให้ลงมือปฏิบัติในทันที จะมัวแต่อ้อยอิ่งแล้วไปขอหยุดเอาในปีสุดท้ายทีเดียวไม่ได้

สถาการณ์โลกร้อนมีสาเหตุหลักจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกไปจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ก๊าซฯ นี้จะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำหน้าที่เหมือน “ผ้าห่มโลก” ที่กีดขวางไม่ให้แสงอาทิตย์ (ซึ่งมีความร้อนติดอยู่กับแสงด้วย) สะท้อนกลับออกไปจากโลกได้ เมื่อเราปล่อยก๊าซฯมากขึ้นๆ ผ้าห่มก็ยิ่งหนาขึ้นๆ ความร้อนที่ถูกกักขังไว้ก็จะทำให้อุณหภูมิโลกก็ยิ่งสูงขึ้นๆ ส่งผลให้ระบบต่างๆ ของโลก เช่น การเคลื่อนที่ของอากาศ กระแสน้ำ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับอากาศ ต้องเปลี่ยนไปจากสภาพสมดุล จึงเกิดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ความจริงแล้ว องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซฯ แบบสมัครใจมาตั้งแต่ “ข้อตกลงปารีส” เมื่อปี 2558 แล้ว แต่เมื่อผ่านมาประมาณ 5 ปี ก็ได้พบกับความจริง 2 ประการ คือ

หนึ่ง ปริมาณการปล่อยก๊าซฯ โดยรวมของโลกนอกจากไม่ได้ลดลงแล้ว แต่กลับเพิ่มขึ้นอีก แม้แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักจนทั้งโลกเกือบจะเป็นอัมพาต แต่การปล่อยก๊าซฯ ก็ลดลงจากปีก่อนเพียง 6-7% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าชาวโลกยังจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซฯ ลดลงในอัตรา 6-7% ติดต่อกันตลอดไปด้วยความรู้สึกพึงพอใจ อุณหภูมิของโลกในปี ค.ศ. 2100 ก็จะได้ตามเป้าหมายคือสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่เราสามารถตอบได้ทันทีว่า เราไม่พอใจกับวิถีชีวิตในยุคโควิด ดังนั้น ถ้าเราจะมีกิจกรรมแบบก่อนโควิด-19 เราก็ต้องลดและเลิกการเผาพลังงานฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติถึงกับเสนอให้เลิกการสำรวจปิโตรเลียมด้วย

สอง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อน เช่น อุณหภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเล ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกละลาย สภาพอากาศร้อนสุดขั้ว ฯลฯ ต่างก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า “มันมาเร็วและรุนแรงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้มาก” ด้วยเหตุผลดังกล่าว IPCC จึงได้เรียกร้องดังข้อความในภาพครับ

คราวนี้มาดูการตอบสนองของประเทศไทยครับ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 (ก่อนที่ IPCC ได้ออกรายงาน 5 วัน) นายกรัฐมนตรีในฐานะ “ประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ” ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานออกมาแถลงผลการประชุมว่า ประเทศไทยได้กำหนดกรอบ “แผนพลังงานแห่งชาติ” โดยกำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน ให้มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emission นั่นเอง) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070

ขอย้ำนะครับว่า ประเทศไทยได้มีแนวคิดที่จะลดลงเป็น net zero ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 นั่นคือ หลังจากที่ IPCC ร้องขอนานถึง 15-20 ปี นอกจากนี้ยังประกาศโดยไม่ได้ระบุเป้าหมายว่าจะลดลงมาครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เพื่อให้มีการตรวจสอบระหว่างเส้นทางของแผนด้วย

โปรดสังเกตอีกนิดนะครับว่า IPCC ได้กำหนดเวลาภายในปีที่ชัดเจน เช่น “ภายในปี 2050” แต่ของไทยเราได้กำหนดเป็นช่วงเวลาซึ่งสะท้อนถึงความไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง คือ “ภายในปี 2065-2070” ผมรู้สึกว่าระยะเวลาที่ได้กำหนดกรอบแนวนโยบายว่าจะลดลงเป็น net zero นั้น มันนานเกินไป ไม่ทันกับความรุนแรงของปัญหาผลกระทบที่มาก่อนเวลาที่ได้คาดหมายไว้และจริงๆ แล้วยังไม่ได้ประกาศเสียด้วยซ้ำ กำลังอยู่ในขั้นจัดทำแผน โดยกำหนดว่าจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในเดือนสิงหาคมปี 2565

ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกแย้งผมอยู่ในใจว่า ก็เพราะว่ากระทรวงพลังงานของเราได้ประกาศแผนก่อนที่รายงานของ IPCC จะออกมาร้องขอนี่ ใครจะไปรู้ได้ว่าสาระสำคัญของรายงานดังกล่าวจะออกมารูปใด

ผมขอเรียนว่า แม้รายงานของ IPCC ได้ออกมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมปีนี้ แต่เนื้อหาสาระของรายงานดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นความลับแล้ว ยังเป็นข้อเรียกร้องและประเด็นรณรงค์ของภาคประชาสังคมและผู้นำของบางประเทศมานานแล้ว ตามที่ผมได้คัดลอกมาแสดงในภาพข้างล่างนี้

สหรัฐอเมริกาซึ่งประชากรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 50% ภายในปี 2030 ซึ่งก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีโอบามาเคยประกาศว่าจะลดลง 26-28% ของระดับปี 2005 ภายในปี 2025 ประเทศจีนซึ่งปัจจุบันปล่อยก๊าซฯ มากที่สุดในโลกได้ประกาศก่อนที่รายงาน IPCC จะออกว่า “จะปล่อยถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 และจะเป็น net zero ภายในปี 2060”

สำหรับประเทศเราเอง โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศแบบมีเลศนัยว่า “จะลดลง 20-25% ของระดับที่ได้พยากรณ์ไว้ในอนาคต” ซึ่งจะพยากรณ์ให้สูงเท่าไหร่ก็ได้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผมรู้สึกอายที่ประเทศเราประกาศเช่นนั้น แต่เอาเถอะครับ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า คนไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานในปี 2015 และปี 2019 เท่ากับ 254.8 และ 257.7 ล้านตัน ตามลำดับ คือนอกจากจะไม่ได้ลดลงเลย ยังกลับเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ประเทศใดได้ประกาศเข้าร่วมโครงการ net zero บ้างแล้ว

ที่มาภาพ: https://www.visualcapitalist.com/race-to-net-zero-carbon-neutral-goals-by-country/

จากเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “Race to Net Zero: Carbon Neutral Goals by Country” (8 มิถุนายน 2564) พบว่ามี 137 ประเทศได้ประกาศเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่มีประเทศไทย

ในจำนวนนี้มี 124 ประเทศ หรือ 90% ที่ประกาศว่าจะ net zero ภายในปี 2050 มีเพียง 5 ประเทศ ที่ประกาศแปลกออกไป เช่น สิงคโปร์ประกาศว่า “เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ภายในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21” ซึ่งอาจจะเป็นปี ค.ศ. 2051 ก็ได้

ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังคิดและคิดนานมาก คาดว่าจะคิดเสร็จปลายปีหน้า และคิดว่าจะประกาศเป็น net zero ภายในปี 2065-2070 การประกาศแบบนี้ถือเป็นเรื่องน่าอายมาก เพราะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อปัญหาสำคัญของโลก ทำไมไม่ประกาศ net zero ในชาติหน้าเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย


https://thaipublica.org/2021/08/thai-climate-justice-for-all09/


Social Share