THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Benjamin Stephan และ Matthew Paterson
วันที่ 11 กรกฎาคม 2012
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

Cr.World Bank Staff and contributors – World Bank Group. 2021.
State and Trends of Carbon Pricing 2021. Washington, DC: World Bank. © World Bank.

บทคัดย่อ
ต่อไปนี้เป็นบทสรุปของการวิเคราะห์เชิงการเมืองต่อตลาดคาร์บอน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามหัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรกได้แก่กระบวนการออกแบบกลไกการทำงานของตลาดคาร์บอน หัวข้อที่สองจะบรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของกลุ่มต่างๆ ในการก่อตั้งตลาดคาร์บอน และหัวข้อที่สามเป็นการประเมินประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และความถูกต้องทางกฎหมายของตลาดคาร์บอน งานเขียนฉบับนี้สร้างความขัดแย้งกับกรอบแนวคิดที่นำมาอ้างอิงในตัวงานเขียนเอง กล่าวคือเศรษฐศาสตร์คาร์บอนถูกแยกโครงสร้างออกโดยแนวทางของนัก constructivist และนัก poststructuralist ประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์คาร์บอนกำลังถูกนำขึ้นมาพิจารณา และเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติของระบบตลาดคาร์บอนก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง ดังนั้นงานเขียนชิ้นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กระบวนการด้านนโยบายที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่จะนำเอากลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการ offset มาใช้ แต่ยังรวมถึงองค์ความรู้ที่ใช้เป็นพื้นฐานของตลาดและการกิจกรรมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องทั่วๆ ไปด้วย

คำนำ
เป็นเวลา 15 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดคาร์บอนเป็นส่วนสำคัญของนโยบายแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกในหลายประเทศ เนื่องจากตลาดคาร์บอนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีสารเกียวโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกลไกการค้าคาร์บอนระหว่างประเทศ (ETS) การปฏิบัติการร่วม (JI) และกลไกการพัฒนาพลบังงานสะอาด (CDM) และ ETS แห่งยุโรปคือหัวใจสำคัญของนโยบายสภาพภูมิอากาศของประชาคมยุโรป นอกจากนี้ระบบการซื้อขายคาร์บอนในปัจจุบันเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับทั้งเศรษฐกิจและภาวะโลกร้อนเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาในระดับภาค (รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ) ที่เรียกว่า Regional Greenhouse Gas Initiative นอกจากนี้ได้มีการนำกลไกการซื้อขายคาร์บอนมาใช้ในญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และนิวเซาธ์เวลส์ นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังมีตลาดคาร์บอนเสรีเล็กๆ อื่นๆ ที่เสนอขายคาร์บอนเครดิตแก่บริษัทเอกชน องค์กร และปัจเจกที่ไม่อยู่ใต้ข้อบังคับในการลดการปล่อยก๊าซ (เช่น Chicago Climate Exchange ที่หยุดดำเนินการไปแล้ว)

ในขณะที่ตลาดคาร์บอนเป็นนโยบายทางออกที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่สำคัญ แต่สภาพเศรษฐกิจคาร์บอนในขณะนี้ยังดูมืดมัว เมื่อไม่มีข้อตกลงหลังพิธีสารเกียวโตและขาดเป้าหมายการลดก๊าซภาคบังคับหลังปี 2012 ทำให้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดอุปสงค์สำหรับ CER, ERU หรือ AAU ซึ่งเป็นสินค้าและบริการสำหรับการลดก๊าซตามข้อตกลงพิธีสารเกียวโตหรือไม่ อย่างเช่น Durban Platform ที่สนับสนุนระบบ CDM เป็นการชั่วคราว มิใช่ในระยะยาว ความไม่แน่นอนนี้เมื่อผนวกกับความหวั่นเกรงเรื่องภาวะล้นตลาดใน EU ETS และผลกระทบของการลดการปล่อยก๊าซเองทำให้ราคาคาร์บอนยังต่ำอยู่
.
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังดูมืดมนก็ตาม แต่ก็เป็นไปได้ยากที่ตลาดคาร์บอนจะถูกยกเลิกทั้งหมด ในทางตรงข้าม การพัฒนาส่วนหนึ่งนำไปสู่การขยายตัว ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศมารองรับก็ตาม โครงการตลาดภายในประเทศหลายโครงการกำลังได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อผลในระยะสั้นและระยะกลาง เช่นรัฐ California ได้อนุมัติกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทางออนไลน์ในปี 2013 ทำให้สมาชิก Western Climate Initiative อื่นๆ อย่างรัฐ Québec, Ontario และ British Columbia อาจเข้าร่วมในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนตลาดของออสเตรเลียเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2012 และประเทศกำลังพัฒนาอีก 8 ปะเทศอย่างชิลี จีน โคลอมเบีย คอสตาริก้า อินโดนีเชีย เม็กซิโก ไทย และตุรกีได้ให้ทุนสนับสนุนการออกแบบกลไกตลาด ส่วนเกาหลีใต้ได้พัฒนากลไกดังกล่าวไปจนใกล้จะสำเร็จแล้วเพราะวางแผนที่จะเริ่มใช้ในปี 2015 นอกจากนี้ ความพยายามในการสร้างกลไกที่จะลดการปล่อยก๊าซจากการทำลายป่า (REDD+) น่าจะทำให้เกิดกลไก offset คาร์บอนในระดับมหภาคด้วยเช่นกัน
.
สถานะของรายงานฉบับพิเศษ
ในปัจจุบันเราจะพบเห็นงานเขียนที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจว่าเรื่องตลาดคาร์บอนไม่ค่อยถูกนำมากล่าวถึงในวารสาร Environmental Politics ที่มีเพียงสองบทความเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องกลไกของพิธีรสารเกียวโตและ ETS แห่งยุโรป และอีกเรื่องหนึ่งนั้นได้แก่บทบาทของการซื้อขายคาร์บอนที่มีต่อการเลือกตั้งในประเทศออสเตรเลียในปี 2010 และประเด็นปัญหาความเป็นธรรมของระบบการค้าในระหว่างคนต่างวัย นอกเหนือจากนั้นแล้ว เพียงพบการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งคราวในมาตราทั่วไปของพิธีสารเกียวโต นโยบายสิ่งแวดล้อมของยุโรป และอื่นๆ ดังนั้น ในแง่หนึ่ง จุดมุ่งหมายของงานเขียนชิ้นนี้ได้แก่การกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเรื่องตลาดคาร์บอนในแง่ของการเมืองสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่ยังอาจมีอยู่แน่นอนว่ายังมีเนื้อหาของการเมืองตลาดคาร์บอนในสาขาวิชาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เช่นบทอภิปรายที่เกี่ยวกับระบบนิเวศน์สมัยใหม่และเครื่องมือทางนโยบายสิ่งแวดล้อม (NEPI) ซึ่งตลาดคาร์บอนอาจถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือดังกล่าว (ร่วมกับข้อตกลงโดยสมัครใจ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และอื่นๆ) หรือสิ่งที่ Albert Weale (1992) เรียกว่า “การเมืองแห่งมลภาวะสมัยใหม่” เมื่อ 20 ที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการค้นหาที่ไปไกลเกินกว่าขีดจำกัดของมาตรการทางกฎหมายและดำเนินการด้วยการใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาระบบนิเวศน์ให้ทันสมัย เนื่องจากการเมืองแห่งมลภาวะสมัยใหม่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนนั้นตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง และเป็นเพราะว่าเป็นการสืบทอดคนในรุ่นที่เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือทางการเงินของตลาดคาร์บอนและโครงการ offset คาร์บอน) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่โดยเฉพาะ ประการสุดท้าย ตลาดคาร์บอนอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกระบวนการทั้งสองเข้าด้วยกัน จากที่กระบวนการทั้งสองถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดและแนวปฏิบัติของเสรีนิยมใหม่ในยุค 1980 ความเกี่ยวข้องเช่นนี้เป็นการลดความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งกฎระเบียบแบบ “สั่งการและควบคุม” ที่เอื้อต่อมาตรการแบบตลาดเสรี สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อำนาจของนายทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้นายทุนเหล่านี้สามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง


แต่ถึงแม้ว่างานเขียนเหล่านี้จะมีประโยชน์ในแง่ของความเป็นข้อมูลประกอบที่ดี แต่มีข้อจำกัดเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือร่างนโยบายและองค์กรทางสังคมในการบริหารตลาดคาร์บอนที่มีความซับซ้อนสูง ในความเป็นจริงนั้น ตลาดดังกล่าวได้ดำเนินมาได้และทำหน้าที่ต่อต้านภาวะโลกร้อน (ซึ่งรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วยเช่นพื้นที่ชุ่มน้ำในสหรัฐอเมริกา) ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นการพิจารณางานเขียนเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือร่างนโยบายสิ่งแวดล้อมใหม่จะเป็นการจำกัดความสนใจของเราไว้เพียงแค่รายละเอียดเชิงพลวัตทางการเมือง

เป็นที่น่าสนใจว่าในขณะที่มีการกล่าวถึงตลาดคาร์บอนใน NEPI ทว่ากรอบแนวคิดนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาอ้างอิงในงานเขียนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม งานเขียนที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเองส่วนมากมักจะมาจากนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และผู้ทีสนใจเกี่ยวกับการออกแบบกลไกตลาด ทว่าคนเหล่านี้ไม่สนใจคุณค่าของตลาดคาร์บอนแต่มุ่งไปที่คำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คำถามเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะมีอิทธิพลต่องานวิชาการเฉพาะด้านอย่างเช่น Climate Policy and Energy Policy แต่ยังมีอิทธิพลต่องานที่เกี่ยวกับนโยบายและการบริหารงานสิ่งแวดล้อมเช่น Environmental Policy and Governance และ Environment and Planning C: Governance and Policy ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจอธิบายได้โดยนักวิจัยนโยบายโลกร้อนโดยทั่วไปที่ความสำคัญอันดับแรกได้แก่การผลิตงานให้ทันกับการอภิปรายรอบหน้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า “ไล่ตามรถพยาบาล” ทว่าขาดความสนใจในแง่การเมืองทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการร่างนโยบายและวิธีการทำงานของตลาดที่นโยบายนั้นได้สร้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองเรื่องตลาดคาร์บอนมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสามหัวข้อ
.
หัวข้อแรก ได้แก่กระบวนการออกแบบกลไกการทำงานของตลาดคาร์บอน ซึ่งเกิดงานเขียนที่เกี่ยวกับกระบวนการกำหนดนโยบายตลาดคาร์บอนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นหัวข้อที่เกี่ยวกับ EU ETS (งานของ Cass 2005, Pinkse and Kolk 2007, Voß 2007, Skjærseth และ Wettestad 2008, 2009, 2010, Baldwin 2008, Braun 2009, และ van Asselt 2010), เรื่องกลไกพลังงานสะอาด (CDM) (งานของ Green 2008, Boyd 2009, Pulver 2010, และ Shin 2010) เรื่องการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกในระดับภูมิภาค (Regional Greenhouse Gas Initiative หรือ RGGI) (งานของ Rabe 2004, 2007, Selin และ VanDeveer 2011), เรื่องนิวซีแลนด์ (Hood 2010 และ Bullock 2012), เรื่องการทดลองโมเดลการซื้อขายคาร์บอนในอังกฤษ (Nye และ Owens 2008) และตลาดคาร์บอนเสรี (Bumpus และ Liverman 2008) นอกจากนี้ยังมีงานเขียนเชิงเปรียบเทียบกับการกำหนดนโยบายสำหรับตลาดอื่นๆ (งานของ Betsill และ Hoffmann 2011 และ Paterson 2012) และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ CDM ในแง่ของทุนนิยมและการสร้างระบบการบริหาร CDM แห่งชาติ (Friberg 2009, Fuhr และ Lederer 2009, Schroeder 2009)
.
หัวข้อที่สอง จะบรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของกลุ่มต่างๆ ในการก่อตั้งตลาดคาร์บอน งานเขียนส่วนมากมักเกี่ยวกับบทบาทของนักธุรกิจต่อกระบวนการดังกล่าว เช่นการล้อบบี้ในบางอุตสาหกรรม หนึ่งในตัวอย่างนั้นได้แก่การรวมเอาเรื่องการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเข้าไว้ในโครงการ CDM (Vormedal 2008) ในขณะที่งานเขียนบางงานสนใจภาพรวมของบทบาทความร่วมมือทางธุรกิจหรือเครือข่ายในการกำหนดนโยบายตลาดคาร์บอน (Pinkse และ Kolk 2007, 2009, Kolk 2008, Meckling 2011a, 2011b, Stephan 2011, และ Paterson 2012)
.
หัวข้อที่สาม เป็นการประเมินประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และความถูกต้องทางกฎหมายของตลาดคาร์บอน หัวข้องานวิจัยนี้สนใจการอภิปรายภาพรวมของความยั่งยืนและประสิทธิภาพการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามต่อความถูกต้องทางกฎหมายหรือความเป็นธรรมทางสังคม ตัวอย่างเช่น Toke (2008) ที่สำรวจว่า ETS ของยุโรปสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางความเคร่งครัดของกฎระเบียบด้านพลังงานทางเลือกในระบบกฎหมายพลังงานไฟฟ้าของอังกฤษและการผลักดันการผลิตพลังงานทางเลือกอย่างกว้างขวางขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่ Skjærseth (2010) ทดสอบปัญหาด้านกฎหมายของการปฏิรูป ETS ของยุโรปหลังปี 2012 หรือ Lovell (2009) หรือ Paulsson (2009) ที่สำรวจข้อจำกัดของตลาด offset ในด้านการลดการปล่อยก๊าซ การอภิปรายเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมายมักเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างองค์กรรัฐให้เป็นบริษัทเอกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปของบริษัทเอกชนในการชี้นำรัฐบาลทางอ้อมเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายโดยตรง (Lövbrand 2009, Paterson 2010, และ Bernstein 2011) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำถามด้านความเป็นธรรมนั้น มีบทความที่เกี่ยวข้องมากมายตั้งแต่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์ตลาดคาร์บอนในแง่ศีลธรรมที่เกิดจากการนำเอาบรรยากาศโลกมาซื้อขายกันเป็นสินค้า หรือวิธีการกระจายสินค้าของระบบการซื้อขายคาร์บอนในระดับโลก (ดูตัวอย่างของ Caney 2010, Spash 2010, และ Page 2011) หรือบทวิเคราะห์ตลาดคาร์บอนและผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว (เช่น Boyd 2009) หรืองานเขียนที่สะท้อนถึงบทวิจารณ์ตลาดคาร์บอนโดยนักรณรงค์กิจกรรมเพื่อสังคมและพันธมิตรที่เป็นนักวิชาการ (Bachram 2004, Lohmann 2005, 2006, Smith 2007, Böhm and Dabhi 2009, Gilbertson และ Reyes 2009)
.
งานเขียนทั้งหลายแหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่ประการหนึ่งได้แก่แนวคิดที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเมื่อกล่าวถึงธรรมชาติของการเมืองและบทบาทในการก่อตั้งตลาดคาร์บอน โดยมองว่าการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการกำหนดนโยบาย โดยที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทำการล็อบบี้เพื่อให้เกิดนโยบายตามที่ตนต้องการ แล้วจึงอภิปรายว่าควรใช้เหตุผลของฝ่ายใดในการตัดสินว่านโยบายประเภทใดที่ควรนำมาใช้หรือละทิ้งเสีย ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญในงานเขียนฉบับนี้ แน่นอนว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการร่างนโยบายด้วย ทว่าบทความจะนำเสนอแนวคิดที่ไกลเกินกว่าเพียงการทำความเข้าใจในการเมืองอย่างแคบๆ และเริ่มต้นที่ความคิดที่ว่าตัวตลาดนั้นเองคือการเมือง
.
ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สังคม ได้เกิดงานเขียนที่กล่าวถึงสังคมที่ซับซ้อนของตลาดคาร์บอน ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่นำความเป็นรูปธรรมมาสู่ระบบตลาด และสิ้นสุดสถานะความเป็นสถาบันทางการเมืองและสังคม แนวทางเช่นนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของทฤษฎีสังคมศาสตร์แบบ post-positivist ที่วิเคราะห์กระบวนการสร้างตลาดและสินค้า (เช่น Lohmann 2009, MacKenzie 2009, Lovell และ Liverman 2010, Knox-Hayes 2010, และ Bumpus 2011) หรือสังคมวิทยาบนทฤษฎีผู้เล่น-เครือข่าย (Lohmann 2009 และ MacKenzie 2009) หรือวัตถุนิยมของวรรณกรรมธรรมชาติ (Bumpus 2011) งานเขียนเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างทางความรู้สำหรับสังคมศาสตร์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิชาการด้านตลาดคาร์บอน ยกตัวอย่างเช่น Donald MacKenzie (2009) ให้ความสนใจในวิธีการทางเทคนิคที่ส่งผลต่อกระบวนการต่างๆ ที่ได้สัดส่วนกันในการสร้างตลาดคาร์บอน ส่วน Michel Callon (2009) เน้นการวิเคราะห์ลักษณะของตลาดคาร์บอน ข้อจำกัด และความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้ขยายไปไกลกว่าเดิมโดยใช้มิติทางการเมืองในการวิเคราะห์ และอภิปรายตัวอย่างการทดสอบกระบวนการสร้างตลาดคาร์บอน (Bullock; Stephan) หรือความเที่ยงธรรมอันเป็นพื้นฐานในการดำเนินการของตลาด (Paterson และ Stripple) ในขณะที่กล่าวถึงการวิเคราะห์ทางการเมืองในงานเขียนบางงาน (เช่นงานของ Lohmann ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงตลาดคาร์บอน หรือตัวอย่างจากงานของ Bumpus และ Liverman 2008 หรือ Descheneau และ Paterson 2011) และอื่นๆ อีกมาก
.
เป้าประสงค์ของวรรณกรรมชิ้นนี้
จากเนื้อหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว วรรณกรรมชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้ ประการแรกคือเพื่อให้มีบทความที่ทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจการเมืองตลาดคาร์บอน ประการที่สอง เพื่อขยายความให้ผู้อ่านเข้าใจถึงการเมืองในภาพกว้างที่รวมถึงอำนาจหน้าที่ของตลาด โดยไม่จำกัดอยู่เพียงกระบวนการกำหนดนโยบายหรือความเป็นธรรมทางการเมือง มุมมองเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากความเข้าใจการเมืองในทฤษฎีการเมืองแบบ poststructuralism (Edkins 1999) ความเข้าใจการเมืองของนักทฤษฎี poststructuralist ส่วนมากแตกต่างไปจากความเข้าใจการเมืองแบบเดิมที่สนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐสภาเท่านั้น กล่าวคือข้อขัดแย้งที่เชื่อมโยงกับการจัดตั้งโครงสร้างทางสังคม และความเข้าใจของเราที่มีต่อความถูกผิดนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองด้วยเช่นกัน
.
ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น การเมืองไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมเสียใหม่เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระบวนการกำหนดนโยบาย เกี่ยวข้องกับการกล่าวอ้างความเป็นจริง ความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และการตอบสนองที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีความเป็นการเมืองอย่างมาก จากมุมมองนี้ ตลาดจึงถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการตัดสินใจในสถาบันการเมืองแบบดั้งเดิม (ซึ่งต่างจากสิ่งที่นักทฤษฎีของ Adam Smith ยืนยัน) และสร้างผลกระทบแก่การกระจายอำนาจ แต่ตลาดนั้นก็มีความเป็นการเมืองในตัวเองด้วยเช่นกันเพราะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของอำนาจและความรับผิดชอบและความท้าทายที่มีต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดโครงสร้างของตลาดและสังคมโดยรอบ ดังนั้นหัวใจสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้จึงได้แก่การเมืองของตลาดโดยตัวของมันเอง ซึ่งนำมาสู่จุดมุ่งหมายประการที่สาม ซึ่งได้แก่การขยายขอบเขตวรรณกรรมเชิงสังคมวิทยาต่อตลาดคาร์บอนด้วยการสำรวจกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตลาดคาร์บอนในฐานะที่เป็นกระบวนการทางการเมือง
.
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว งานเขียนชิ้นนี้จะวิเคราะห์การสร้างตลาดคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ และพิจารณาถึงวิธีการดำเนินงานประจำวัน ในงานเขียนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการนำเอาแนวคิด poststructural ไปปฏิบัติ การใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเห็นความแตกต่างของแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในแง่ของการออกแบบ การเปรียบเทียบ และการพาณิชย์กำหรับการสร้างตลาดคาร์บอน นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงเทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่จะมาสนับสนุนการดำเนินงานของตลาด ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคในการออกแบบและการพาณิชย์ของตลาด และแสดงให้เห็นถึงแผนสำรองและโครงสร้างอำนาจ หัวข้อต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงการสร้างและลักษณะของตลาดได้เป็นอย่างดี
.
โดยสรุปแล้วหัวใจสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้ได้แก่มุมมองในเชิงทฤษฎี มิติเชิงประวัติศาสตร์ และหลักฐานทางการปฏิบัติและเทคโนโลยี

การแยกโครงสร้างเศรษฐกิจคาร์บอน
งานเขียนที่รวบรวมไว้ ณ ที่นี้นำเสนอแนวคิดที่เรียกกันว่า radical constructivist หรือ poststructuralist เช่น Descheneau และ Lane ที่นำเอากรอบทฤษฎีผู้เล่น-เครือข่าย (Actor–Network Theory or ANT) มาประยุกต์ใช้ หรือ Paterson และ Stripple ที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง Governmentality หรือ Stephan ที่พูดถึงทฤษฎีความเป็นผู้นำโลกของ Laclau และ Mouffe ในขณะที่ Lederer เข้าถึงปัญหาโดยเน้นการปฏิบัติ และในขณะที่หลายๆ แนวทางเน้นการนำเอาทฤษฎีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้โดยตรง (Lane, Lederer) ด้วยการสังเกตปรากฏการณ์ที่ถูกมองข้ามไปในเวลาที่ผ่านมา อีกหลายแนวทางได้รวมเอาหลายทฤษฎีมาใช้ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ ดังนั้น Descheneau จึงได้ใช้วรรณกรรมทางสังคมศาสตร์เงินตรามาอธิบายทฤษฎี ANT เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทางเทคโนโลยีในแง่มุมของสังคมศาสตร์ Paterson และ Stripple ได้นำเอางานของ Der Derian (2009) ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศีลธรรมและโลกแห่งความเป็นจริงมาขยายความต่อในกรอบนโยบายรัฐ และ Stephan ได้รวมเอาข้อมูลจากวรรณกรรมเชิงสังคมวิทยาของตลาดและการพาณิชย์แห่งทรัพยากรธรรมชาติและทฤษฎีความเป็นผู้นำโลกเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติเชิงพาณิชย์
.
ถึงแม้ว่าวรรณกรรมเหล่านี้จะมีความหลากหลายแต่ก็มีส่วนที่เหมือนกันได้แก่ความสนใจในแง่มุมของการแยกโครงสร้างระบบเพื่อการวิเคราะห์และตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินงานประจำวันและบรรทัดฐานของตลาดคาร์บอนที่ถูกละเลยมาก่อนหน้านี้ Descheneau ได้ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจคาร์บอนในฐานะที่เป็นเงินตรา อันรวมไปถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และผลกระทบที่เกิดจากการซื้อขายคาร์บอน และ Lane ได้แยกโครงสร้างความคิดที่แพร่หลายของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของตลาดคาร์บอน ส่วน Paterson และ Stripple ก็ได้แยกโครงสร้างระบบเทียบมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหัวใจของตลาดคาร์บอน ในขณะที่ Stephan ตั้งคำถามเกี่ยวกับการพาณิชย์เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการแยกโครงสร้างลักษณะต่างๆ ที่เคยถูกละเลยเช่นนี้ แนวคิดต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้เกิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนและทำให้เราเข้าใจการทำงาน โอกาส และข้อจำกัดของตลาดได้ดีขึ้น
.
ประวัติศาสตร์ของตลาดคาร์บอน
เนื้อหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นนี้ได้แก่ภูมิหลังการวิวัฒน์ของตลาดคาร์บอนจากหลากหลายแง่มุม ยกตัวอย่างเช่น Bullock ศึกษาที่มาของนโยบายภูมิอากาศของประเทศนิวซีแลนด์ และพิจารณาถึงการเกิดขึ้นของ ETS ด้วยการอธิบายถึงกลไกแรกเริ่มและพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2009 และ Paterson กับ Stripple พาเรากลับไปสู่ยุค 1990 และวิเคราะห์ที่มาของ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) และ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) เพื่อบรรยายถึงต้นกำเนิดของระบบเทียบมูลค่าคาร์บอนไปออกไซด์ ส่วน Lane นั้นมองไปไกลกว่าการนำเอาระบบการซื้อขายคาร์บอนระบบแรกมาใช้ในสถานการณ์จริง โดยทำการวิเคราะห์กลไกการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งตรงข้ามกับนโยบายการควบคุมการปล่อยก๊าซในยุค 1960-1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ส่วน Stephan นั้นมองย้อนหลังไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนและการตัดไม้ทำลายป่าที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 งานเขียนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่มาของตลาดคาร์บอนทำให้เราสามารถทำความเข้าใจตัวตลาดในปัจจุบันและวิธีการสร้างตลาดขึ้นใหม่
.
แนวทางการดำเนินการและเทคโนโลยี
หัวข้อที่สามได้แก่ความสนใจของผู้เขียนที่มีต่อแนวทางการดำเนินการและเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานและโครงสร้างของตลาดคาร์บอน โดย Descheneau ได้สำรวจวิธีการคำนวณในการแปลงค่าการปล่อยก๊าซให้เป็นเครดิตหรือเงินตราในตลาดคาร์บอน ส่วน Stephan วิเคราะห์เทคโนโลยีการวัดค่าและแนวทางการบริหารบัญชีที่จำเป็นต่อการพาณิชย์เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่า Paterson และ Stripple พิจารณาแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถซื้อขายคาร์บอนได้ และ Lederer สำรวจแนวทางปฏิบัติเชิงวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการออกแบบตลาดคาร์บอน งานของ Bullock แสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขทางวัตถุนิยมช่วยกำหนดลักษณะของตลาดคาร์บอนได้อย่างไร (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ทฤษฎีใดๆ มาวิเคราะห์ในการแสดงดังกล่าว)
.
ผู้เขียนทุกคนได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการและเทคโนโลยีในแนวทางที่ต่างกันเล็กน้อย แต่มีความสนใจร่วมกันในด้านผลกระทบทางสังคมจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง Descheneau ไปไกลกว่าวิสัยทัศน์ทาง ANT ที่มีต่อตลาดคาร์บอนเพียงแง่เดียว ส่วน Stephan นั้นสนใจแนวทางการดำเนินการและเทคโนโลยี ในขณะที่เนื้อหาหลักในงานของ Paterson และ Stripple ได้แก่คุณค่าของเทคโนโลยีที่ใช้สร้างตลาดคาร์บอน
.
โดยการแยกโครงสร้างของตลาดคาร์บอน สำรวจที่มาของตลาดคาร์บอน และพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการและเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบและสร้างตลาดคาร์บอน ทำให้แนวคิดทั้ง 6 ประการในวรรณกรรมฉบับนี้แสดงให้เราเข้าใจถึงนวัตกรรมและข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับการสร้างและหน้าที่ของตลาดคาร์บอน
.
ภาพองค์รวมของข้อเขียน
หัวข้องานเขียนทั้งสามเมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดแนวทางที่ทรงพลังที่จะนำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนและคุณสมบัติของตลาดคาร์บอน ตัวอย่างเช่นบทวิจารณ์ของ Schmitz และ Michaelowa (2005) ซึ่งดูเหมือนว่าจะรวบรวมเอาสมมติฐานแบบดั้งเดิมไว้หลายประการในงานเขียนที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอน และแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ข้อมูลในงานเขียนชิ้นนี้สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการวัดผลและการ offset ที่ Schmitz และ Michaelowa ได้ให้ความสนใจ การวิเคราะห์ดังกล่าวแก้ไขสมมติฐานในงานเขียนตามที่ได้กล่าวมาแล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
.
Schmitz กับ Michaelowa มุ่งเน้นไปที่คำถามที่ว่าเราจะกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซสำหรับโครงการ JI ได้อย่างไร คำถามเกี่ยวกับเครื่องชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณปริมาณก๊าซที่ปล่อยจากโครงการเพื่อการพิจารณาว่าโครงการควรเดินหน้าต่อหรือไม่ และกำหนดว่าควรให้เครดิตแก่โครงการเป็นจำนวนเท่าไรนั้นเป็นคำถามที่สำคัญในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ JI, CDM, หรือตลาดเสรีก็ตาม ทว่าระบบ JI มีความแตกต่างจากระบบอื่นกล่าวคือทั้งสองประเทศตั้งเป้าการลดก๊าซตามพิธีสารเกียวโต และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซถูกกำหนดร่วมกันโดยทั้งสองประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎีจะทำให้การกำหนดเป้าหมายมีความถูกต้องแม่นยำเนื่องจากประเทศเจ้าภาพไม่มีเหตุผลที่จะตั้งเป้าการลดก๊าซสูงเกินกว่าความเป็นจริง (ด้วยการกำหนดเป้าหมายไว้สูงเพื่อเพิ่มเครดิต) เพราะจะเป็นการไปลดระดับก๊าซที่พิธีสารเกียวโตอนุญาตให้ประเทศนั้นปล่อยได้ ในทางตรงข้าม โครงการ CDM เนื่องจากประเทศเจ้าภาพไม่ต้องกำหนดเป้าหมาย จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเครดิตให้แก่ตัวเอง
.
สมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซแก่ตลาด offset เหล่านี้ตั้งขึ้นโดย Schmitz กับ Michaelowa และงานเขียนอื่นๆ อีกเป็นส่วนมากเนื่องจากเป็นสมมติฐานที่ประกอบด้วยเหตุผล ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชนย่อมจะเลือกแนวทางการคำนวณที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองมากที่สุด ดังนั้นแนวคิดทฤษฎีต่างในวรรณกรรมฉบับนี้จึงมีประโยชน์ในการลดความน่าเชื่อถือของสมมติฐานเหล่านี้และเสนอวิธีการที่จะใช้ในการสำรวจคุณลักษณะของตลาดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นข้อเสนอสองด้านโดย Schmitz กับ Michaelowa นี้จึงมีประโยชน์ที่จะนำมารวบรวมในงานเขียนชิ้นนี้
.
ประเด็นแรก ได้แก่ลักษณะของหน่วยงาน สมมติฐานที่ประกอบด้วยเหตุผลที่แน่นหนาแข็งแรงเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนอาจขัดแย้งกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์จริงในการบริหารงาน จัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายในการทำกิจกรรม และการดำเนินกิจการประจำวัน ด้วยความเข้าใจในหลักการเช่นนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าการคำนวณและกำหนดเป้าหมายนั้นเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากเนื่องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องทำการคำนวณในแบบของตนเองเพื่อรักษาผลประโยชน์ไว้ ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่จะให้องค์กรอย่างบริษัทที่ปรึกษาหรือองค์กรผู้กำหนดมาตรฐานต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามองค์กรเหล่านี้ก็จะถูกกดดันด้วยเวลาในการทำงานและใช้วิธีการทั่วๆ ไปในการกำหนดเป้าหมายทั้งที่การกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซนั้นจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ Schmitz กับ Michaelowa (2005, p. 83) ตีความแนวปฏิบัติของปะเทศเจ้าภาพ (ในกรณีของ JI ในยุโรปตะวันออก) หน่วยงานราชการจะต้องเรียนรู้ประเด็นเรื่องการต่อรองเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของตน ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ที่จะมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติที่จะกำหนดกิจกรรมของหน่วยงานเหล่านี้มากกว่าที่จะทึกทักเอาว่าหน่วยงานเหล่านี้จะล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยหน่วยงานภายนอก

ในขณะเดียวกัน การเลือกหน่วยงานภายนอกอย่างชอบด้วยเหตุผลนั้นอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าหน่วยงานนั้นอยู่เป็นเอกเทศ และมีผลประโยชน์ที่สามารถระบุได้โดยง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยในการร่างโครงการ จึงตีความได้ว่าเป็นปัญหาระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานภายนอกในทฤษฎีทางเลือกด้วยเหตุและผลว่า หน่วยงานต้นสังกัด (เช่นรัฐบาลไทย) จะสามารถควบคุมให้หน่วยงานภายนอก (บริษัทที่ปรึกษาและรับรองระบบ carbon offset) ให้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทเอง (Schmitz & Michaelowa 2005) ในทางตรงกันข้าม บทความต่างๆ ในวรรณกรรมฉบับนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างหน่วยงานทั้งสอง ซึ่งก่อให้เกิดระบบผลประโยชน์ที่ซับซ้อนหลากหลายขึ้นไปอีก มากกว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ยกตัวอย่างบริษัทซื้อขายคาร์บอนเครดิตบริษัทหนึ่งที่มีพนักงานส่วนใหญ่มาจาก NGO และบางส่วนมาจากบรรษัทเงินทุนที่พนักงานมีประสบการณ์ทำงานทั้งจาก NGO และภาคเอกชน และต้องส่งพนักงานมาเข้าร่วมประชุม CDM พนักงานเหล่านี้จะเข้าใจบทบาทของตนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปกป้องผลประโยชน์ของตนเมื่อถึงการคำนวณเป้าหมายการลดก๊าซในที่ประชุมได้อย่างไร ในทางตรงกันข้าม เราอาจทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยงานภายนอกในกรณีนี้โดยใช้แนวคิดผู้เล่น-เครือข่าย (actor–network) (ของ Descheneau), แนวปฏิบัติประจำวัน (Lederer) หรือผลลัพธ์ของวาทกรรมในวงกว้าง (Paterson กับ Stripple, Stephan)
.
เรื่องที่สอง ได้แก่ความแตกต่างเป็นอย่างมากระหว่างเทคนิคและการเมือง บทความของ Schmitz และ Michaelowa นั้นน่าสนใจในเชิงประเด็นปัญหาทางการเมืองและทางเลือกทางเทคนิค และได้แบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้ในงานเขียน ANT ที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนในบทความที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (โปรดอ่าน Callon 2009 และ MacKenzie 2009 ประกอบ) และได้กำหนดขอบเขตระหว่างการเมืองและเทคนิคไว้อย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซที่ไม่ใช้กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวแต่จะต้องใช้การตัดสินใจทางการเมืองด้วย (Schmitz กับ Michaelowa 2005) ส่วนนักวิชาการคนอื่นๆ นั้นก็ได้แยกแยะความแตกต่างระหว่างรูปธรรมและนามธรรมของการกำหนดเป้าหมาย ในการแยกแยะความแตกต่างเช่นนี้ การเมืองจะเป็นเรื่องของนามธรรมที่จำเป็นต้องมีสำหรับกระบวนการที่เป็นรูปธรรมเชิงเทคนิค ทว่าเส้นแบ่งขอบเขตความแตกต่างนั้นจะไม่ชัดเจน ประการแรก เราไม่สามารถลดรูปการเมืองลงให้เหลือเพียงการตัดสินใจดำเนินระบบซื้อขายคาร์บอนหรือร่างกฎเกณฑ์เพื่อการดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ายังมีการเมืองอยู่ในกระบวนการกำหนดเป้าหมายโครงการ offset หรือส่วนอื่นๆ ในกระบวนการจัดตั้งตลาดคาร์บอน (โปรดอ่าน Paterson และ Stripple หรือ Descheneau ประกอบ) ประการที่สอง เราจะต้องพิจารณาเกณฑ์ทางเทคนิคหรือรูปธรรมที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมายในแง่มุมของการเมืองด้วย (Stephan) อำนาจหน้าที่ในการกำหนดเกณฑ์การวัดเชิงรูปธรรมรวมถึงอำนาจทางการเมืองของผู้เชี่ยวชาญเพื่อเปิดโอกาสในการเข้าร่วม เกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมจะแฝงไว้ด้วยบรรทัดฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมือง แม้กระนั้นตัวเลือกสำหรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซอย่างเป็นรูปธรรมยังเปลี่ยนดุลอำนาจระหว่างหน่วยงานไปในระหว่างดำเนินกระบวนการ
.
จากสิ่งเสมือนจริงสู่นิวซีแลนด์ : บทความในงานเขียนชิ้นนี้
งานเขียนชิ้นนี้เริ่มด้วยบทความของ Matthew Paterson และ Johannes Stripple ซึ่งได้พัฒนากรอบแนวคิดสำหรับการจัดตั้งตลาดคาร์บอนบนพื้นฐานทฤษฎี “สงครามเสมือนจริง” ของ Der Derian และได้ตั้งคำถามต่อคาร์บอนเครดิตในแง่ของความเป็นสินค้าที่ชอบธรรม โดยอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ในระหว่างกันของสิ่งเสมือนจริงและความชอบธรรม หรือเทคนิคและคุณธรรม ในการจัดตั้งตลาดคาร์บอน ซึ่งทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในตัวของมันเองและทำให้ตลาดคาร์บอนแข็งแกร่ง บทความของผู้เขียนสำรวจเทคนิคและคุณธรรมจำนวน 5 ตำแหน่งในขั้นตอนกระบวนการออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับตลาดคาร์บอน และวิเคราะห์ประดิษฐ์กรรม tCO2e ที่เป็นพื้นฐานของตลาด รวมถึงความแตกต่างของตลาดราคาสูงและตลาดราคาต่ำ และผู้เขียนยังได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของรัฐบาลรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการต่อต้านด้วยการทำให้สินค้ามีความชอบธรรมในตัวเอง ผ่านทางทฤษฎีความชอบธรรมของคาร์บอน
.
งานเขียนของ Richard Lane นำเราไปสู่ประวัติศาสตร์ของการค้าคาร์บอนเครดิต และสำรวจสิ่งที่สำคัญซึ่งเป็นสิ่งแรกในจำนวน 5 ประการของ Paterson และ Stripple ตามที่ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าที่ผ่านมา โดย Lane ได้พิจารณาเกี่ยวกับ ANT เพื่อวิเคราะห์การรับประกันด้านประสิทธิภาพการซื้อขายคาร์บอน ผู้เขียนได้สาวไปถึงต้นกำเนิดของการรับประกันดังกล่าวในยุค 1970 เมื่อกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมสั่งการนั้นถูกพิจารณาว่าขาดประสิทธิภาพเนื่องจากช่องว่างระหว่างวิธีการและผลลัพธ์ ทำให้กฎระเบียบนี้ถูกยกเลิกไป ในขณะเดียวกันระบบการค้าคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพถูกจัดตั้งขึ้นด้วยวิธีการจัดตั้งโมเดลจำลอง ปรับโครงจัดตั้ง และทำซ้ำอีกโดย Environmental Protection Agency บนพื้นฐานทางทฤษฎีแต่เพียงด้านเดียว ทำให้ระบบการค้าคาร์บอนเครดิตนี้กลายเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่างกรณีกันไป
.
Philippe Descheneau ยังได้พิจารณาเกี่ยวกับ ANT โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการเชิงพาณิชย์ ผู้เขียนได้เริ่มต้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอที่ให้พิจารณาว่าคาร์บอนคือเงินตรารูปแบบหนึ่ง (Victor และ House 2004, Button 2008) และผู้เขียนยังแสดงให้เห็นว่าตลาดในปัจจุบันเช่นตลาดแลกเปลี่ยนหรือลงทะเบียนนั้นเอื้อให้ผู้ที่สนใจสามารถทำเงินจากคาร์บอนได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ได้ทำให้คาร์บอนกลายเป็นเงินตราไปโดยถาวร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่ากระบวนการพื้นฐานทางสังคม
.
วรรณกรรมฉบับนี้จบลงด้วยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการนำเอาระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาใช้ในประเทศนิวซีแลนด์ บทความของ David Bullock นำเสนอตั้งแต่ทฤษฎี poststructural ซึ่งสนับสนุนแนวคิดอื่นๆ ไปจนถึงกระบวนการร่างนโยบายที่ได้กล่าวถึงในงานเขียนที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนฉบับแรกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอตลาดคาร์บอนของประเทศนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่าง รวมไปถึงอิทธิพลของภาคการเกษตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่ร่วมกันออกแบบระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่เหมือนประเทศอื่นใด นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้สะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลจากกรอบการวิเคราะห์ในงานเขียนหลายชิ้น การจัดตั้งตลาดคาร์บอนจะแตกต่างออกไปหรือไม่ถ้าเรานับแกะจำนวน 33 ล้านตัวและวัวจำนวน 10 ล้านตัวเป็นแหล่งปล่อยก๊าซด้วย? (ข้อมูลของนิวซีแลนด์ปี 2012) และเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องกลุ่มใด เมื่อเกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้น?
.
บทสรุป
ในบทนำได้กล่าวถึงหัวข้อต่างๆ ในวรรณกรรมฉบับนี้อย่างคร่าวๆ และเน้นข้อมูลและคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดคาร์บอน งานเขียนเชิงรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนมักเน้นหนักไปที่กระบวนการร่างนโยบายไปจนถึงการขับเคลื่อนนโยบาย การประเมินประสิทธิภาพ ความถูกต้องทางกฎหมาย และความเป็นธรรม สิ่งที่ยังขาดอยู่ได้แก่การประเมินตัวตลาดเอง แนวทางเช่นนี้สามารถพบเห็นได้จากงานเขียนของนักภูมิศาสตร์ที่สนใจเรื่องการพาณิชย์ของทรัพยากรธรรมชาติหรือนักสังคมวิทยาที่สนใจในแง่มุมของสังคมศาสตร์ของตลาด แต่ก็ยังขาดแง่มุมทางการเมืองอยู่ บทความต่างๆ ที่รวบรวมอยู่ในวรรณกรรมฉบับนี้ประกอบไปด้วยสองลักษณะ ได้แก่การยกย่องนักภูมิศาสตร์และนักสังคมวิทยาในการจัดตั้งตลาดคาร์บอนด้วยการเน้นถึงลักษณะเชิงการเมืองของกระบวนการ และงานเขียนเชิงรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอน บทความต่างๆ ในวรรณกรรมฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าตัวตลาดเองมีความเป็นการเมืองโดยพื้นฐานอย่างไรบ้างด้วยการทำความเข้าใจการเมืองอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าการเมืองที่เป็นเพียงกระบวนการทางนโยบายที่จะนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจการตลาดคาร์บอน
.
เราได้ระบุลักษณะร่วมของบทความในวรรณกรรมนี้สามประการ ได้แก่การนำเอาทฤษฎี poststructural ไปประยุกต์ใช้ การแยกโครงสร้างตลาดคาร์บอนที่ถูกละเลยมาก่อนหน้านี้ การพิจารณาที่มาของตลาดคาร์บอนโดยรวมหรือลักษณะเด่นของแต่ละตลาด และสุดท้ายได้แก่การวิเคราะห์แนวปฏิบัติและเทคนิคที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งและจัดการตลาดคาร์บอน ดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการใช้บทความของ Schmitz และ Michaelowa เพื่อกำหนดเป้าหมายลดก๊าซภายใต้โครงการ JI เป็นตัวอย่างนั้นทำให้เรามีเครื่องมือในการทบทวนขางเขียนที่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนในปัจจุบัน และทำให้เราเข้าใจบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มากไปกว่าการทำกำไรสูงสุด ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงช่วยให้เราเอาชนะความซับซ้อนวุ่นวายของตลาดคาร์บอนได้
.
การใช้วิธีคิดใหม่ๆ กับตลาดคาร์บอนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องนำไปวิเคราะห์ต่อ โดยเราต้องประเมินบทบาทและผลกระทบที่เกิดจากแรงคัดค้านทั้งจากภายในและภายนอกตลาด เช่นภาวะถดถอยของตลาดคาร์บอนในปัจจุบันนั้นมีผลกระทบต่อลักษณะและการเมืองของตลาดอย่างไรบ้าง


Cr. https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/09644016.2012.688353


Social Share