THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย : ระวี ถาวร
สัมมนาออนไลน์ : ความหวังและแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนฐานราก”

“38 ล้านไร่ พื้นที่แห่งโอกาสในการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างป่าในรูปแบบที่หลากหลายนโดยชุมชนร่วมฟื้นฟูจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้เพื่อปรับต่อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน”


.ประเทศไทยมีเป้าหมายมีพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 (ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15) ภายในปี พ.ศ. 2580 เพื่อความมั่นคงของระบบนิเวศ รวมทั้งตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งมิติลดการปลดปล่อยก๊าซและการปรับตัว ปัจจุบันในส่วนเป็นป่าอนุรักษ์มีร้อยละ 21.55 (69.17 ล้านไร่) ใกล้จะบรรลุเป้าหมายร้อยละ 25 แล้ว เรายังมีป่าธรรมชาติที่อยู่ในป่าเศรษฐกิจ เนื้อที่รวม 6.29 ล้านไร่ ตามเป้าหมายต้องเพิ่มพื้นที่อีกราว 26 ล้านไร่ โจทย์คือเราจะไปเพิ่มพื้นที่ที่ไหน?
.
เรากำลังเผชิญผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ป่าไม่ผลัดใบจะสูญเสียสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ ผลผลิตของป่าลดลงจากความแห้งแล้ง เกิดไฟป่าถี่และรุนแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำท่าจากป่าในช่วงฤดูแล้งน้อยลง และกระทบชุมชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกว่า 17,260 ชุมชน จากอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยสูงขึ้น 1.04 องศาเซลเซียส ที่มีปัญหาการดำรงชีพทั้งแหล่งอาหาร รายได้ น้ำเพื่อการเกษตร และเสี่ยงภัยพิบัติ เช่น ดินโคลนถล่มบริเวณที่ลาดชั้น และน้ำท่วมหลากในราบลุ่มน้ำในเขตป่า
.
ในระดับสากลมีกลไกลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม (REDD+) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายลดการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ครอบคลุมทั้งการป้องกันรักษาป่าไม่ให้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการทำลายป่า รวมทั้งเก็บกักคาร์บอนเพิ่มเติมในผืนป่า ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติกำลังพัฒนายุทธศาสตร์เรื่องนี้อยู่
.
เราได้เผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งนโยบายการจัดการไฟป่าแบบบนลงล่าง ปลอดการเผาซึ่งกลับทำให้ปัญหาไฟป่าหนักขึ้น ยังมีนโยบายที่ทำลายป่า เช่น การสร้างเขื่อนในเขตป่าธรรมชาติ ปัจจุบันมีโครงการสร้างเขื่อน 85 โครงการทั่วประเทศ มี 7 โครงการที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่-ทับลาน เสี่ยงสูญเสียพื้นที่กว่า 20,642 ไร่ ซึ่งจะกระทบระบบนิเวศและสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่ง ยังจะสูญเสียการเก็บกักคาร์บอนกว่า 417,175 ตัน และจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯกว่า 1,526,860 ตัน
.
ทางออกเราต้องอยู่บนหลักการฟื้นฟูและจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้ โดย “รักษาป่าเดิม เพิ่มป่าใหม่ให้เชื่อมโยงกัน” ใช้กลไกการกระจายอำนาจสร้างการจัดการร่วมในระดับพื้นที่ ส่งเสริมบทบาทชุมชนในการเก็บกักคาร์บอนในพื้นที่ป่าทุกประเภท และในพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
1) เร่งรับรองสถานภาพที่ดินทำกินของชุมชนตามกฎหมายในพื้นที่คุ้มครองทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รับรองและส่งเสริมชุมชน 4,232 ชุมชน พื้นที่ 4.29 ล้านไร่ในเขตป่าอนุรักษ์ ได้พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า เชื่อมโยงกับกลไกการจ่ายตอบแทนบริการระบบนิเวศ สร้างมาตรการแรงจูงใจอื่นๆ ให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ในระบบที่หลากหลาย และมีสิทธิในต้นไม้ ทั้งเนื้อไม้และคาร์บอน
.
2) ส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนกว่า 12,000 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนอยู่แล้ว ส่งเสริมกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม สร้างรูปธรรม กลไกจ่ายตอบแทนบริการระบบนิเวศ (PES) ทั้งคาร์บอนและบริการนิเวศแบบอื่นๆ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนากองทุนป่าชุมชนและสวัสดิการคนดูแลป่า
.
3) สร้างมาตรการแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้คนปลูกต้นไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ในป่าในพื้นที่ทำกิน สร้างป่านอกเขตป่า (ป่าเศรษฐกิจ ป่าครอบครัว วนเกษตร) เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ควบคู่กับการพัฒนาเศษฐกิจชุมชน เน้นไปยังพื้นที่ที่จะเชื่อมต่อป่า เช่น พื้นที่เอกสารสิทธิ์ พื้นที่ สปก. 30 ล้านไร่ และพื้นที่ คทช. ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ที่ชุมชนถือครองในปี พ.ศ. 2547- 2557 ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายพื้นที่ป่าเศรษฐกิจกว่า 3.74 ล้านไร่
.
4) จัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กแทนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบต่อผืนป่าโดยเฉพาะในผืนป่าอนุรักษ์ ควรเก็บผืนป่าไว้ทำหน้าที่เก็บกักคาร์บอน ส่งเสริมการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรที่เอื้อกับผืนป่า
.
5) จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว คาร์บอนเป็นเพียงผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม แต่ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลผลิตและบริการทางนิเวศอื่นๆ มีความสำคัญต่อการปรับตัวบนระบบนิเวศเป็นฐานตามแผนแห่งชาติว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว ต้องการแรงหนุนจากผู้คนในสังคมสามารถร่วมขับเคลื่อนได้ดังนี้
1) สนับสนุนการบริโภคผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีดูแลป่า มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พลังผู้บริโภคในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ไทยร่วมกัน
2) การเชื่อมโยงการสนับสนุนผ่านกลไกการตอบแทนระบบนิเวศ หากผู้เป็นผู้ใช้บริการระบบนิเวศก็สนับสนุนผู้ดูแลระบบนิเวศ ทั้งคนทั่วไป ผู้ประกอบการในพื้นที่ และนอกพื้นที่
3) ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องบทบาทป่าไม้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


Social Share