THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย : เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
สัมมนาออนไลน์ : ความหวังและแนวทางต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนฐานราก”

ลดวิกฤตโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซภาคอุตสาหกรรม

สถานการณ์

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้นๆ ของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นมานาน ในปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อม จากกระบวนการเปลี่ยนรูปทางเคมี โลหะ และแร่ธาตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน และจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อเผาเอาพลังงานภายในโรงงาน รวมถึงการปล่อยก๊าซจากกิจกรรมจัดการของเสียและน้ำเสียอุตสาหกรรม หากเปรียบเทียบแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงกว่าจากภาคผู้ใช้พลังงานอื่นๆ

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมมีทุกประเภท ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (Methane: CH4), ซัลเฟอร์ เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulphur hexafluoride: SF6), เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbons: PFC), ไนตรัส ออกไซด์ (Nitrous oxide: N2O) และไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน   (Hydrofluorocarbons: HFC)  ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นและเป็นต้นทางที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การหลอม-หล่อโลหะ (เช่น อลูมิเนียม) ปูนซีเมนต์ เคมี (พลาสติก ปุ๋ยเคมี และอื่นๆ) เยื่อและกระดาษ อาหาร น้ำตาล สิ่งทอและหนังสัตว์ แอมโมเนีย และเหมืองแร่ประเภทต่างๆ เป็นต้น ประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้มาโดยตลอดและยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรีไซเคิลทั้งการหล่อหลอมโลหะ-อโลหะ พลาสติกหลายประเภท และการกำจัดของเสีย รวมถึงโรงไฟฟ้าจากของเสีย

ภายใต้พันธะสัญญาตามข้อตกลงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซฯ ประเทศไทยจะต้องลดการปล่อยในทุกด้าน และยังไม่มีมาตรเชิงบังคับหรือมาตรการชัดเจนที่กำหนดให้มีการลดการปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ มีเพียงโรงงานควบคุมจำนวนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงภายในโรงงาน และมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซฯ จากภาคอุตสาหกรรมและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซฯ ที่สามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอนต่อไปเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลจากรายงานที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งให้กับ UNFCCC ในปี 2556 มีการประเมินก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากภาคอุตสาหกรรมไว้ต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคพลังงานและภาคเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีนโยบายและกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซจากภาคอุตสาหกรรมยังดูต่ำมากและห่างไกลจากการปล่อยจริงอย่างมหาศาล

ข้อเสนอเชิงนโยบาย (เพิ่มเติมจากนโยบายที่มีอยู่ของภาครัฐ)

  1. การมีกฎหมายและกลไกการพัฒนาบัญชีรายชื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกขนาดทั่วประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
  2. การมีมาตรการให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด (best available technologies: BAT) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทที่มีการใช้พลังงงานเข้มข้นและมีการปล่อยก๊าซฯ ปริมาณสูง และมีมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการลดการปล่อยก๊าซฯ
  3. การเน้นส่งเสริมและคัดเลือกการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
  4. การมีนโยบายที่ชัดเจนและมาตรการที่เข้มแข็งในการห้ามนำเข้าเศษวัสดุใช้แล้วและของเสียประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเศษพลาสติกทุกประเภท ขี้แร่ เศษโลหะ และอื่นๆ สำหรับกิจการรีไซเคิลและการกำจัดหรือบำบัดในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมการรีไซเคิลเป็นกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษชนิดอื่นๆ สูงมาก
  5. การมีนโยบายและมาตรการเพื่อลดปริมาณและจัดการของเสียภาคอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
  6. การมีมาตรการชัดเจนในการส่งเสริมและกำกับให้มีการคัดแยกและลดปริมาณของเสียจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง

เอกสารอ้างอิง

1. มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), กันยายน พ.ศ. 2562

2. IPCC, 2014: Climate Change 2014: Mitigation of Climate Change. (Chapter 10 Industry), Contribution of Working Group III to the Fifth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [Edenhofer, O., R. Pichs-Madruga, Y. Sokona, E. Farahani, S. Kadner, K. Seyboth, A. Adler, I. Baum, S. Brunner, P. Eickemeier, B. Kriemann, J. Savolainen, S. Schlömer, C. von Stechow, T. Zwickel and J.C. Minx (eds.)]. Cambridge University Press, Cambridge, United Kingdom and New York, NY, USA.


Social Share