THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Marshall B. Rosenberg
วันที่ 11 มิถุนายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบ Puddle Dancer Press

“ความอยู่รอดของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับความสามารถในการตระหนักว่าสวัสดิภาพของตัวเราและสวัสดิภาพของผู้อื่นนั้นคือสิ่งเดียวกัน” – ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์ก

ในความเป็นจริงนั้น พวกเราที่สำนักพิมพ์ PuddleDancer เชื่อถือคำพูดของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มิฉะนั้นจะเกิดหายนะขึ้นแก่ตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และอารยธรรมของเรา เนื่องจากเราอยู่ในสังคมที่ข้อมูลเท็จระบาดและการชี้นำโดยสื่อ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

.
มีคำกล่าวว่า “ไม่สำคัญว่าเรารู้อะไรเท่ากับเรารู้จักใคร” แต่ที่สำคัญกว่าเรารู้จักใครนั้น คือระดับความสัมพันธ์ของคนที่เรารู้จักด้วย
หรืออีกคำหนึ่งได้แก่ “ไม่มีใครสนใจว่าเรารู้อะไรบ้างจนกระทั่งพวกเขารู้ว่าเราห่วงใยมากขนาดไหน” ผู้อื่นมักจะสนใจฟังเราก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าเราใส่ใจในตัวเขา มากกว่าจะฟังผู้ที่เขารู้สึกว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม
.
ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์ก กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดจาก “การสื่อสารอย่างเป็นมิตร” ที่เกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง การสนทนาเรื่องสำคัญๆ กับสมาชิกภายในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลทรงอำนาจในเวลาจำกัด ทำอย่างไรเราจึงจะสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด คำตอบได้แก่วิธีการสื่อสารอย่างเป็นมิตร ถึงแม้จะเป็นประเด็นที่ใหญ่และซับซ้อนอย่างภาวะโลกร้อน การสื่อสารอย่างเป็นมิตรทำให้คู่สนทนาเข้าใจตรงกันและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
.
ความสำคัญของการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นมิตร
.
หนึ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ล้มเหลวในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้นเกิดจากความคิดที่ว่าเราเพียงให้ข้อมูลที่มากพอแก่ผู้คน แล้วเขาจะต้องการเปลี่ยนแปลงกันเอง ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดนี้ไม่ได้ผล เพราะเราใช้วิธีตำหนิติเตียนการกระทำที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผ่านๆมาโดยหวังที่จะให้ผู้คนเห็นความผิดและตื่นรู้ ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับต่อต้าน

นอกจากนั้นวิธีนี้ยังไม่สามารถทำให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญของการแก้ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพียงทำให้รู้สึกผิดหรือละอาย ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใคร แม้แต่นักสิ่งแวดล้อมเองที่จะต้องการสร้างการต่อต้านเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่แล้ว แทนที่เราจะเปลี่ยนคนที่น่าจะชักชวนมาเป็นแนวร่วมได้ให้เป็นศัตรู เราควรทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ แล้วจึงเข้าหาเขาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร การสื่อสารอย่างเป็นมิตรช่วยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ให้เป็นเชิงบวกและเตรียมผู้ฟังให้อยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะรับข้อมูลโดยไม่ทำให้รู้สึกผิดหรือละอาย โดยการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นมิตรนั้น จะทำให้ผู้ฟังไม่เดินหนีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ฟังและนักสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย และโครงสร้างทางสังคม
.
การก้าวข้ามอุปสรรคในการสื่อสารในประเด็นที่สำคัญ เราจะก้าวข้ามอุปสรรคในการการสื่อสารในประเด็นที่สำคัญได้อย่างไร


อันดับแรก เราต้องระบุว่า อะไรคืออุปสรรคเหล่านั้นบ้าง ซึ่งได้แก่ความสำคัญผิด การวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งชื่อให้โดยมีเจตนาล้อเลียน การหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ การกล่าวโทษ การเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการจากผู้อื่น รวมทั้งวิธีการกระตุ้นให้ผู้อื่นทำตามที่เราต้องการโดยใช้ความกลัว ความรู้สึกผิด ความละอาย ความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ และการใช้รางวัลและบทลงโทษเป็นเครื่องมือ
.
อันดับต่อมา เราควรใช้การสื่อสารอย่างเป็นมิตรเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในการการสื่อสารในประเด็นที่สำคัญด้วยการพูดเกี่ยวกับชุมชนของเราและสิ่งที่ชุมชนต้องการ แทนที่จะใช้การกล่าวโทษกันเองหรือการตั้งชื่อให้โดยมีเจตนาล้อเลียน การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพนั้นได้แก่ การเน้นความต้องการที่แท้จริง และทางเลือกที่มีอยู่ของกลุ่มเป้าหมาย แทนที่จะบอกพวกเขาว่าทำไมพวกเขาจึงผิด
ในขณะที่ตระหนักไว้เสมอว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นกับการยอมตามกันนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้น
หมายความว่า เราเปิดใจของเราให้กว้างเพื่อทำความเข้าใจผู้อื่น และเมื่อผู้อื่นรู้สึกว่าเราเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเขาแล้ว เราจึงชวนคุยถึงประเด็นปัญหาที่เราคิดว่าสำคัญเป็น


ประการต่อมา การสื่อสารที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นการถกเถียงหรือแข่งขันอภิปรายกันว่าใครผิดใครถูก แทนที่เราจะเรียกร้องหรือบังคับให้ผู้อื่นทำตามที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เราอาจเสนอความคิดที่มีเหตุผลและนำไปปฏิบัติได้
.
ความสำคัญของการสื่อสารอย่างเป็นมิตรในเวทีภาวะโลกร้อน
.
เมื่อเราเริ่มพูดว่า “ความคิดของฉันเป็นความคิดเดียวที่ถูกต้อง” ถึงแม้ว่าผู้พูดจะเป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม โอกาสที่จะเกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายนั้นจะหายไปกับสายลมทันที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่นำเอาข้อเท็จจริงขึ้นมาพิจารณา ประเด็นก็คือว่าเราสามารถริเริ่มการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพได้
การไม่พยายามที่จะเปลี่ยนความคิดของคู่สนทนาไปโดยสิ้นเชิงจะทำให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต การรักษาความสัมพันธ์อันดีหมายถึง เราหลีกเลี่ยงที่จะเปลี่ยนคนที่น่าจะชักชวนมาเป็นแนวร่วมได้ให้เป็นศัตรู และสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำหรับอนาคต ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพยายามเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของใครสักคนแต่ไม่สำเร็จ เมื่อคู่สนทนาของเราเดินหนีไป เขาก็จะคิดว่าเราเป็นคนที่ไม่สุภาพ และเหมารวมไปว่าคนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคงเป็นแบบนี้เหมือนๆ กันหมด ทำให้เป็นการยากที่เราจะสื่อสารกับเขาได้อีกในอนาคต ถึงแม้ว่าเขาอาจเปลี่ยนความคิดได้เองในภายหลัง เขาก็ยังมีอคติต่อตัวเราอยู่เมื่อได้พบปะกันอีกในอนาคต ทำให้เราหมดโอกาสที่จะสื่อสารข้อมูลอะไรแก่เขาได้อีก


ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเริ่มต้นโดยไม่พยายามที่จะเปลี่ยนความคิดของคู่สนทนา และจากกันด้วยดีแม้ว่าจะยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ ในกรณีนี้เป็นไปได้มากที่เราจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ในภายหลัง และถึงแม้ว่าเขาสามารถเปลี่ยนความคิดไปเองในภายหลัง เราก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเมื่อได้พบปะกันอีกในอนาคต และทำให้เกิดโอกาสที่จะสื่อสารข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้อีก
.
ประเด็นปัญหาที่สำคัญในระดับนานาชาติอย่างภาวะโลกร้อนและการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ชนิดต่างๆ นั้นสามารถหาทางแก้ไขได้ด้วยการสร้างความเข้าใจและเห็นพ้องต้องกันโดยปราศจากการบังคับ

การสื่อสารอย่างเป็นมิตรเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
การสื่อสารอย่างเป็นมิตรช่วยให้ผู้คนบนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้ภาษาที่สามารถสื่อสารความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นสากล ความต้องการของมนุษย์เองนั้นมีความเป็นสากลและไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราสามารถใช้เวลาค้นหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งและสื่อสารความต้องการของตัวเราเองในลักษณะที่คนอื่นยินดีรับฟัง เราจะสามารถเชื่อมโยงความต้องการเหล่านี้ให้เป็นสากลได้ การให้ความสำคัญต่อความต้องการของคนทุกคนทำให้เราสามารถออกแบบกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ เมื่อความต้องการต่างๆ เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เราจะพบกลยุทธ์การแก้ปัญหาที่ดีกว่า มิฉะนั้นเราจะตกอยู่ในวังวนของการลงคะแนนเสียงเพื่อผ่านร่างนโยบายหรือการต่อสู้กันในชั้นศาลโดยปราศจากการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง การสื่อสารอย่างเป็นมิตรจึงทำให้เรากำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายได้
.
สมดุลแห่งแรงเฉื่อย
ปัญหาเรื่องเวลา และการใช้กำลังเพื่อการป้องกันเหตุร้าย ในขณะที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีก่อนการสื่อสารนั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและสนุกสนานกว่า แต่ก็ยังมีบางกรณีที่การใช้อำนาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์กแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบทลงโทษด้วยการใช้กำลังและการใช้กำลังเชิงป้องกัน บทลงโทษด้วยการใช้กำลังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินว่าใครผิดใครถูกเพื่อนำคนที่ทำผิดมาลงโทษ ส่วนการใช้กำลังเชิงป้องกันเป็นการใช้กำลังเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินในขณะที่ยังแสดงความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจถึงความต้องการของผู้อื่น ตัวอย่างเช่น สมมติว่าลูกๆ ของเรากำลังวิ่งออกไปที่ถนน ข้าพเจ้าจึงวิ่งไปฉุดเธอออกจากถนนโดยใช้กำลังขัดขืนความต้องการของเธอ

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ข้าพเจ้ากำลังคิดทำโทษลูกอยู่ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ข้าพเจ้าก็จะตะโกนด่าทอเธอไปด้วยในขณะที่ฉุดกระชากเธอเข้าบ้าน
แต่ถ้าข้าพเจ้ากำลังใช้วิธีการใช้กำลังเชิงป้องกัน ข้าพเจ้าจะมีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยแทนที่จะตะโกนด่าทอลูก และจะฉุดเธอออกจากถนนและพูดกับเธอด้วยน้ำเสียงอาทรและชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากรถยนต์โดยไม่ทำให้เธอรู้สึกผิด นี่คือการใช้กำลังเชิงป้องกัน
.
ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดภาวะหนีเสือปะจระเข้ในหลายๆ กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสมดุลแห่งแรงเฉื่อยและปัญหาเรื่องเวลา
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเบรกของรถอีโคคาร์ น้อยคนจะทราบว่าเบรกของรถอีโคคาร์ทั่วไปจะเริ่มทำงานภายในเวลา 2 วินาทีหลังจากที่เราเหยียบแป้นเบรก และถ้าเรารู้เรื่องนี้ พฤติกรรมการขับรถของเราจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว โดยเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้นเพื่อเผื่อเวลา 2 วินาทีให้เบรกทำงาน คราวนี้ลองนึกภาพว่าเราขับรถพ่วงด้วยความเร็ว 140 กม./ชม. ระยะเบรกจะเพิ่มจาก 2 เป็น 30 วินาทีทันที
โดยนัยเดียวกันกับปัญหาภาวะโลกร้อน ในปี 2020 เราได้เห็นฤดูพายุเฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่นัก วิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจในเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้นและสามารถระบุได้ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่สะสมมาเป็นเวลา 10 – 20 ปี ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเหยียบเบรคในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมความเป็นอยู่ไปโดยสิ้นเชิง ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาโลกร้อนจะได้รับการแก้ไขโดยทันที
.
ภาวะโลกร้อนอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้ามนุษย์ยังมีเวลาเหลือเฟือ
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำหรับทั้งสังคมและปัจเจก และเราต้องเร่งแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับหายนะจากภัยธรรมชาติ
หลายคนเชื่อว่าเราต้องการอำนาจเพื่อใช้กำลังในการป้องกันภัยแก่สรรพชีวิตบนโลก แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องหาบทสรุปที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อรวมพลังกันทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าจะพึ่งพาอำนาจของผู้ใดผู้หนึ่งเพียงผู้เดียว
.
ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์กบรรยายเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร. มาร์แชล โรเซนเบิร์กเคยกล่าวไว้ว่า บทสนทนาดีๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในเชิงบวกเสมอ เรื่องนี้เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราสามารถเข้าถึงบุคคลที่มีอำนาจต่อรองสูง ดังนั้นเราจะสื่อสารอย่างไรในระยะเวลาอันสั้นที่ทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ดร. โรเซนเบิร์กยังกังวลว่า ถ้าเราเพียงแต่แสดงความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เราอาจเพียงแค่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นในขณะที่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดร. โรเซนเบิร์กไม่ต้องการให้การสื่อสารอย่างเป็นมิตรเป็นเพียงยาบรรเทาปวด
.
ดร. โรเซนเบิร์กเห็นศักยภาพที่คนเราสามารถสร้างระบบและโครงสร้างที่ให้อิสรภาพ สนับสนุน และให้อำนาจแก่ผู้คน และเขาเห็นวิธีที่มนุษย์สามารถหยุดทำลายตัวเองได้เมื่อเราตระหนักถึงความสูญเสียและทางเลือกอื่นที่มีอยู่
.
ดร. โรเซนเบิร์กได้ใช้เวลากว่าห้าสิบปีในการยุติความขัดแย้งและสอนให้ผู้อื่นอดกลั้นความรู้สึกต้องการใช้ความรุนแรง สื่อสารกับผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับเรา ค้นหาจุดร่วมผลประโยชน์ และสร้างความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัวและในอาชีพเพื่อประโยชน์ของทุกคน


ที่มา : https://www.nonviolentcommunication.com/learn-nonviolent-communication/nvc-climate-change/?fbclid=IwAR0Y4oAvWCGJc3cyKFs6srGj3mnrOoNt81LPrBheeyLo_OELfEXiiF3vPcA


Social Share