THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Pichayada Promchertchoo
วันที่ 10 เมษายน 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ Pichayada Promchertchoo

ภาพประกอบ Pichayada Promchertchoo

ที่จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา ท้องฟ้ายังมืดสนิทอยู่เมื่อ ตัน บันทอน เดินทางออกจากบ้านไปยังที่นาของตน ร่างของเขาโอนเอนไปมาอยู่บนเกวียนเทียมวัวเมื่อเกวียนแล่นไปตามทางแคบๆที่เต็มไปด้วยโคลนและหลุมบ่อ ถึงแม้ว่ายังอีกหลายชั่วโมงกว่าฟ้าจะสว่าง แต่งานของชาวนาก็เริ่มตอนเวลาตีสามของวันใหม่แล้ว
.
ชายวัย 51 มีงานหนักรออยู่ข้างหน้า ที่นาขนาด 36 ไร่ของเขาต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการไถหว่าน และเขาก็ไม่มีเครื่องจักรใดๆเพื่อผ่อนแรง มีเพียงวัวสองตัวและคันไถไม้เท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเร่งทำงานให้เสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อให้น้ำไหลเข้าที่นาให้ข้าวลอยตัว
.
ในฐานะลูกบ้านของหมู่บ้านน็อตในกำปงธม บันทอนป็นหนึ่งในชาวนาไม่กี่คนในกัมพูชาที่ยังปลูกข้าวลอยในที่น้ำท่วมสูงอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการทำนาที่เก่าแก่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และอาจเป็นทางเลือกในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ดี
.
“ข้าวลอยเติบโตได้ดีในที่น้ำท่วม” บันทอนว่า ผิวคล้ำกร้านแดดจากการทำงานหนักภายใต้แสงแดดกล้ามานับสิบๆ ปี “ไม่ว่าน้ำจะท่วมสูงขนาดไหนก็ตาม ข้าวก็ไม่ตายเพราะมันจะโตพ้นผิวน้ำอยู่เสมอและไม่ต้องการดูแลอะไรมากในช่วงเก็บเกี่ยว”
.
นาข้าวลอยหรือข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวนาเมืองที่เจริญเติบโตบนผิวน้ำและไม่ต้องการยาฆ่าแมลงนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวน้ำโขงมานานหลายต่อหลายรุ่น ในประเทศกัมพูชา เราอาจเห็นนาข้าวลอยรอบๆตนเลสาบ ในที่ลุ่มของจังหวัดกำปงธม กำปงชนัง เสียมเรียบ โพธิสัตว์ และบันเตียเมียนเจย คุณสมบัติพิเศษของข้าวลอยคือสามารถยืดลำต้นให้พ้นน้ำได้เสมอ บางคราวอาจสูงถึง 1-6 เมตร ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ใบข้าวและรวงจะแทงพ้นน้ำและสุกงอม ในขณะที่ระดับน้ำสูงจะทำหน้าที่ไล่แมลงที่จะมากินข้าว ในช่วงที่ข้าวยังอยู่ใต้น้ำก็จะได้รับสารอาหารต่างๆจากตะกอนดินที่ผสมอยู่ในน้ำ ทำให้ชาวนาไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี
.
“เราไม่ต้องเสียงเงินซื้อปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงเลย เราแค่ต้องการให้ฝนตกมากๆจนน้ำท่วมแค่นั้นเอง ดังนั้นข้าวของเราจึงเหมาะกับคนที่รักสุขภาพ”
.
การที่ข้าวลอยมีความทนทานต่อโรคพืชโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีนั้นทำให้นักวิจัยเชื่อว่าเราจะได้ประโยชน์มากมายจากการทำนาข้าวลอยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชา ผลการศึกษาของ USAID และโครงการปรับตัวสูภัยโลกร้อนลุ่มน้ำโขงแดสงให้เห็นว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหนักหน่วงประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ภาวะโลกร้อนทำให้ภูมิภาคแถบนี้มีฝนตกหนักบ่อยขึ้น ดังนั้นจึงเกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นด้วยโดยเฉพาะในแถบที่ลุ่มรอบๆตนเลสาบรวมถึงภาคกลางและภาคใต้ของจังหวัดกำปงธมด้วย”
.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พันธุ์ข้าวที่ปลูกในหน้าแล้งหรือข้าวนาสวนจึงไม่เหมาะกับพื้นที่แถบนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา กัมพูชาจึงสูญเสียผลผลิตข้าวนาสวนเป็นพื้นที่ถึง 20,726 ไร่ไปกับภาวะน้ำท่วม และพันธุ์ข้าวอื่นๆอีก 1,800 ไร่
.
นาข้าวลอย : ประเพณีที่กำลังสาบสูญ
ส่วนในหมู่บ้านน็อตนั้น ชาวนาไม่กังวลกับภาวะน้ำท่วมมากนัก
“ข้าวลอยเติบโตได้ดีเมื่อน้ำท่วมสูง และไม่ต้องการการดูแลมากนัก” บันทอนว่า “ถ้าพระแม่ธรณีปรานีต่อเรา เราก็จะได้ผลผลิตข้าวถึง 3 ตันต่อไป”
.
การทำนาเป็นอาชีพเดียวที่เขารู้จักตั้งแต่อายุ 18 ตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ เขาเคยเดินตามพ่อไปที่นาและเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวในที่น้ำท่วมเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆในหมู่บ้าน เป็นประเพณีที่สานต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่นและเขาหวังว่าจะยังคงสืบทอดกันต่อไปในอนาคต ทว่าข้อมูลจากกระทรวงเกษตรชี้ให้เห็นว่านาข้าวลอยกำลังสูญหายไปจากที่ลุ่มประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1975-1979 ที่ประเทศต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์
.
สี่ปีภายใต้อำนาจของเขมรแดง ชาวกัมพูชาต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยคาดว่าเขมรแดงโดยการนำของพลพตได้สังหารชาวกัมพูชาไปถึง 2 ล้านคนหรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น ส่วนที่เหลือถูกบังคับให้ไปทำไร่นาอยู่ในชนบทเพื่อต้องการเปลี่ยนสังคมไปเป็นสังคมเกษตรกรรมในอุดมคติ ทำให้การทำนาลอยถุกพิจารณาว่าไร้ค่าเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงซึ่งก็คือข้าวนาสวนนั่นเองเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด เนื่องจากข้าวพันธุ์นี้สามารถเกี่ยวเกี่ยได้สองถึงสามครั้งต่อปี
.
“ตลาดข้าวนาสวนขยายตัวอย่างรวดเร็วในกัมพูชา เพราะใช้เวลาเพียงแค่สามเดือนในการปลูก ทำให้เป็นที่นิยมของชาวนามากเพราะให้รายได้ดีกว่า” ชิม เชาเอิงซึ่งเป็นสมาชิกของสภาชุมชนกำปงสเวในกำปงธมเล่าให้เราฟัง


ในประเทศกัมพูชา ข้าวเป็นอาหารหลักและสินค้าหลักของประชากร ในปี 2017 ส่งออกข้าวกว่า 635,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 17.3 จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร รัฐบาลจึงได้วางแผนยกระดับให้ประเทศกัมพูชาเป็นตะกร้าข้าวของโลกโดยส่งออกข้าวเป็นสินค้าหลักของประเทศ อย่างไรก็ตามตลาดข้าวโลกเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงโดยคู่แข่งอย่างอินเดีย ไทย และเวียตนาม โดยเมื่อปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวถึง 11.25 ล้านตันและเวียตนามส่งออกอีก 5.9 ล้านตัน
.
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง รัฐบาลกัมพูชาจึงสนับสนุนการปลูกข้าวระยะสั้นที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งหมายถึงการเพิ่มพื้นที่ข้าวนาสวนที่ปลูกในหน้าแล้งและลดพื้นที่นาข้าวลอยลงไปอีก ในปี 1975 พื้นที่นาลอยทั้งหมดในประเทศกัมพูชาคิดเป็น 2.5 ล้านไร่ แต่ในปี 2015 ลดลงถึงร้อยละ 88.6 เหลือเพียง 280,554 ไร่
.
“ในขณะที่ข้าวนาสวนที่ให้ผลผลิตสูงนั้นมีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับ ส่วนข้าวลอยนั้นไม่มี” ดร. แวน เหงียน และผ.ศ. เจมี พิตต็อกกล่าวถึงในงานวิจัยของพวกเขา
.
ข้าวลอยไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ซื้อ แต่ชาวนาจะนิยมปลูกไว้รับประทานเองในครอบครัวเพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ ในหมู่บ้านน็อตเองนั้น ยอดขายข้าวลอยค่อยๆลดลง
.
“ในอดีตชาวนาทุกคนทำนาข้าวลอย แต่ในปัจจุบันชาวนาจำนวนมากหันไปทำนาข้าวสวนเพราะให้ผลผลิตดีกว่าและสามารถส่งออกได้รายได้ดี” ผู้จัดจำหน่ายข้าวรายหนึ่งเล่า
.
แต่ข้อเสียของข้าวนาสวนก็คือชาวนาต้องใช้เวลาดูแลเอาใจใส่มาก และใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงมาก
“ตอนที่ชาวนาไถพรวนที่ดินก็ต้องพ่นยาฆ่าแมลงก่อนหนึ่งครั้ง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อข้าวโตเต็มทีแล้ว และยังต้องใช้สารเคมีอื่นๆ อีกเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคเลย แต่ชาวนาก็ยังนิยมข้าวนาสวนกัน”
แต่สำครับชาวนาที่มีที่นาที่ถูกน้ำท่วมทุกปีอย่างบันทอนนั้นไม่คิดที่จะเปลี่ยนจากนาลอยไปเป็นนาสวนอย่างชาวนาคนอื่นๆ
.
“เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของที่ดินของเราได้” ชาวนาผู้หนึ่งว่า เบื้องหน้าของเขานั้นเป็นภาพผิวน้ำของนาลอยทอประกายอยู่ใต้แสงอาทิตย์ ปริมาณน้ำมีมากในปีนี้และเขาก็พร้อมแล้วที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตของตน


ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/asia/floating-rice-cambodia-food-production-alternative-830836?fbclid=IwAR15oAdcdLZ4BzLAtdw0glNZ7IKH842Qvq9_kvuMMlzDmwuLJaLr3BaL2W8


Social Share