THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Dimitri Selibas
วันที่ 4 June 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ Faizal Abdul Aziz

ภาพประกอบ Faizal Abdul Aziz

สถาบันวิจัย RRI มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดาได้ทำการศึกษาวิจัยใน 31 ประเทศในทวีปอาฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ซึ่งมีพื้นที่ป่าเขตร้อนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั้งหมดของโลกและคิดเป็นร้อยละ 62% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ พบว่า ประเทศเจ้าของป่าเขตร้อนเหล่านี้กำลังสนใจต่อประโยชน์ของตลาดคาร์บอน แต่ยังขาดการกำหนดบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในตลาดคาร์บอน
.
ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยใช้กลไกตลาดคาร์บอนนั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ภาครัฐและเอกชนเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งมาจากข้อตกลงของกลุ่ม LEAF อันประกอบไปด้วยบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างอเมซอน ยูนิลีเวอร์ แอร์บีเอนบี และเนสท์เล่ ที่จะลงทุนเป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลล่าร์ในระบบ Architecture for REDD+ Transactions (ART) เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของสภาพป่า ในขณะที่ตลาดคาร์บอนดูเหมือนจะเป็นกลไกที่วิน-วินในการปกป้องป่าและรักษาสภาพเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
แต่ถ้าเราไม่นำชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกลไกตลาดคาร์บอน ก็อาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างรัฐและชุมชนและการฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน
.
ผลงานวิจัยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอีกว่าชนกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้ปกป้องผืนป่าชั้นดี ดังนั้นการให้สิทธิในที่ดินแก่พวกเข้าเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการลดก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยของสถาบันวิจัย RRI ระบุว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยวิธีธรรมชาติอย่างตลาดคาร์บอนนี้ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศในเขตร้อนชื้นที่สนใจประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเหล่านี้จะต้องกำหนดบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นและให้สิทธิในที่ดินแก่พวกเขา มิฉะนั้นการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยวิธีธรรมชาติดังกล่าวจะเต็มไปด้วยอุปสรรค
.
ทีมนักวิจัยได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสิทธิเหนือผืนดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นในหลายประเทศทั่วโลกในระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา พร้อมกับการวิจัยเรื่องการตั้งคณะทำงานเพื่อขยายตลาดคาร์บอนเสรี พบว่าประเทศในเขตร้อนชื้นจะได้ประโยชน์มหาศาลจากค่าคอมมิสชั่นในการซื้อขายคาร์บอน จากการศึกษาใน 31 ประเทศในทวีปอาฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ซึ่งมีพื้นที่ป่าเขตร้อนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั้งหมดของโลก รวมทั้ง 5 ประเทศที่มีผืนป่าเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุดได้แก่บราซิล คองโก อินโดนีเซีย เปรู และโคลอมเบีย พื้นที่ป่าในประเทศเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 62% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนดังนั้นจึงมีคาร์บอนออฟเซ็ตขนาดใหญ่ที่สุดด้วย
.
บริบทของตลาดคาร์บอน
ในขณะที่ทฤษฎีตลาดคาร์บอนดูเหมือนจะเป็นกลไกที่วิน-วินในการปกป้องป่าและรักษาสภาพเศรษฐกิจไปพร้อมกัน แต่ผลวิจัยเตือนว่า ถ้าเราไม่รับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นทีมีต่อที่ดิน ป่า และคาร์บอน เราก็จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างการยึดที่ทำกิน การเช่าที่ดินทำกิน การฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน และความขัดแย้งอื่นๆ ผลผลิตทางการเกษตรอย่างน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มนั้นมีชื่อเสียงที่ไม่ดีอยู่แล้วจากความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ทำกิน และงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกในการลงทุนแก้ปัญหาโลกร้อนโดยวิธีธรรมชาติโดยไม่มีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นตั้งแต่ต้น
.
Alain Frechette ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ของสถาบันวิจัยเปิดเผยว่า “เรามีความพร้อมในการวัดค่าคาร์บอน แต่ไม่พร้อมที่จะวัดค่าคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคน” และเสริมว่าในขณะที่มีการลงทุนเพื่อการตรวจสอบและรายงานปริมาณคาร์บอนที่ป่าดูดซับไว้ แต่ไม่มีการกระทำดังกล่าวกับผู้คนเลย กลยุทธ์การลงทุนเพื่อชุมชนและปวงชนนั้นควรพิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อผู้คนและตรวจสอบว่าการลงทุนเหล่านั้นสร้างโอกาสให้แก่ผู้คนอย่างไรบ้าง

ผลวิจัยโดย RRI ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้เราจะได้ลงทุนไปกับโครงการ REDD+ มาแล้วนับสิบปี แต่ก็มีเพียงไม่กี่ประเทศที่กำหนดเงื่อนไขการค้าคาร์บอนหรือ REDD+ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ในขณะเดียวกัน บรรดาบรรษัทข้ามชาติอย่างกลุ่ม LEAF อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะกดดันรัฐบาลในเรื่องนี้โดยการกำหนดกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชัดเจนในเรื่องเงินชดเชยการเวนคืนที่ดินและสิทธิการถือครองที่ดิน เพื่อแลกเปลี่ยนกับความร่วมมือด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และก่อนที่จะเกิดการลงทุนขึ้นจริง รัฐและเอกชนจำต้องร่วมมือกันกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น สิทธิของชุมชนในการให้การยินยอม ข้อคิดเห็น และผลกระทบจากกลไกดังกล่าว เพราะหากขาดการร่วมมือจากชุมชนในการกำหนดสิทธิเหนือทรัพย์สินต่างๆ แล้ว บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องก็อาจประสบปัญหาด้านการเสียชื่อเสียงได้
.
สิทธิเรื่องคาร์บอน
Charlotte Streck ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Climate Focus ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเรื่องคาร์บอนและทำงานในประเด็นนี้ตั้งแต่เธอทำงานด้านกองทุนคาร์บอนกับธนาคารโลกในปี 2000 เธอเล่าว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วนั้นเธอก็ได้ตั้งคำถามขึ้นแล้วว่าตลาดคาร์บอนนั้นมีไว้เพื่อซื้อขายอะไร และใครเป็นเจ้าของ เธออธิบายว่าสิทธิเรื่องคาร์บอนมิใช่สิทธิเหนือทรัพย์สินตามกฎหมายเพราะคาร์บอนตามบริบทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดค่าให้แก่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเงิน มิใช่ธาตุตามความหมายทางเคมี และการกำหนดสิทธิเรื่องคาร์บอนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะมักเกี่ยวข้องกับความซับซ้อนเรื่องที่ดินและความเป็นเจ้าของที่ดิน


“ตลาดคาร์บอนมีศักยภาพที่จะสนับสนุนหรือบ่อนทำลายสิทธิของชุมชนเหนือเรื่องคาร์บอนนี้ได้,” Streck กล่าว “สิ่งสำคัญคือชุมชนควรเป็นผู้ตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในวิธีการลดก๊าซโดยกลไกตลาดนี้หรือไม่”


มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่อธิบายถึงบทบาทพื้นฐานที่สำคัญของชุมชนที่อาศัยในเขตป่า เช่นในแถบอเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน ชุมชนป่าเป็นผู้ปกป้องป่าที่ดี ดังนั้นการให้การสนับสนุนชุมชนเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการลดปริมาณก๊าซ และในภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างแคเมอรูน เนปาล และแซมเบียนั้น ศักยภาพของการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนนั้นลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความยากจน ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและดูดซับคาร์บอน


งานวิจัยของ RRI อีกชิ้นหนึ่งในปี 2020 แสดงให้เห็นว่าชนกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นจำนวน 1.65- 1.87 พันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ความหลากลายทางชีวภาพที่สำคัญๆ ของโลก ทำให้ชุมชนเหล่านี้มีความสำคัญต่อการรักษาความหลากลายทางชีวภาพดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
.
ชุมชนท้องถิ่นในฐานะพันธมิตร

Fany Kuiru Castro เป็นหนึ่งในชนเผ่า Uitoto ในประเทศโคลัมเบีย และยังเป็นทนายความและผู้ประสานงานด้านเด็กและสตรีขององค์การ National Organization of Indigenous Peoples of the Colombian Amazon (OPIAC) อีกด้วย ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราไม่ต้องการแค่รอรับผลประโยชน์จากโครงการหรือทรัพยากรจาก NGOs หรือรัฐบาลอีกต่อไป แต่เราต้องการเป็นพันธมิตรกับ NGOs และรัฐบาลเพราะเราเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว”

Kuiru เสริมว่ารัฐบาลควรรับรองบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องผืนป่าแล้วจึงให้ทุนสนับสนุน
OPIAC ให้เหตุผลว่าเพื่อชุมชนจะได้ใช้ทุนนี้ในการออกแบบแผนพัฒนาของตนเองซึ่งจะรวมไปถึงการศึกษา สุขภาวะ การฝึกอบรม และสร้างความเข้มแข็งให้แก่วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และการปกครองตนเอง

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการให้สิทธิเหนือผืนดินแก่กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการแก้ปัญหาโลกร้อน และถึงแม้ว่าเราจะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อการให้สิทธิดังกล่าวก่อนที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้นั้น


งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของมูลนิธิ Rainforest Foundation ประเทศนอร์เวย์ชี้ให้เห็นว่าโครงการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยภาครัฐและเอกชนนั้น มีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ที่นำเอาสิทธิเหนือที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาพิจารณา
.
“เราปกป้องผืนป่าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมภูมิอากาศโลก” Kuiru กล่าว “ไม่ใช่พวกบริษัทเอกชนหรือนักล่าอาณานิคม แต่เป็นพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่น (ที่ปกป้องป่า) วันใดก็ตามที่กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นสูญหายไป ป่าก็จะสูญหายตามไปด้วยกัน”


อ้างอิง    https://news.mongabay.com/2021/06/we-guard-the-forest-carbon-markets-without-community-recognition-not-viable/


Social Share