THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jocelyn Timperley
วันที่ 9 ธันวาคม 2019
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ภาพประกอบ US DoE

เป็นที่หวั่นเกรงกันว่าจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น เมื่อกฎเกณฑ์ที่เสนอขึ้นเพื่อปกป้องชุมชนท้องถิ่นจากการดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนกำลังถูกลดทอนความสำคัญลงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2020 เมื่อโครงการอย่างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำและวนเกษตรยั่งยืนสามารถขายเครดิตเพื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนในตลาดคาร์บอนโลก

กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นได้แสดงข้อคิดเห็นว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการต่อรองในการประชุม Cop25 ณ กรุงมาดริด จะต้องรวมมาตรการป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโครงการดังกล่าวด้วย

ทว่าร่างกฎเกณฑ์ฉบับใหม่ที่ออกมาได้แทนที่ข้อบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้อง “ให้ความเคารพ สนับสนุน และปฏิบัติตามความรับผิดชอบและหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน” ด้วยประโยคที่มีความหมายเป็นนัยว่าให้เป็นการกระทำโดยสมัครใจ และยังนำเอากระบวนการพิจารณามาตรฐานด้านกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศออกไปอีกด้วย

การกระทำเช่นนี้ทำให้กฎเกณฑ์และความน่าเชื่อถือของข้อตกลงปารีสอ่อนลง” Erika Lennon อัยการอาวุโสของ Center for International Environmental Law (CIEL) ผู้ซึ่งได้ติดตามประเด็นด้าน safeguard มาเป็นแรมปีกล่าว

เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว หลายประเด็นในระบบตลาดคาร์บอนที่กำหนดโดยกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาดหรือ CDM ของ Kyoto Protocol เมื่อปี 1997 ได้ถูกแทนที่โดยกลไกการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDM) ที่กำหนดขึ้นภายใต้มาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส

อะไรคือมาตรา 6 : ประเด็นที่นักเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถตกลงกันได้
ทั้ง CDM และ SDM เป็นกลไกตลาดที่ทำให้ประเทศหรือธุรกิจสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซโดยการซื้อเครดิตจากโครงการที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่อื่น

CDM ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการปกป้องชุมชนท้องถิ่นและไม่มีกลไกการบริหารข้อร้องเรียน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอนุมัติกลไก offset โดยมิได้หารือกับชุมชนท้องถิ่นเสียก่อน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับความเสียหาย

หนึ่งในโครงการ offset นั้นได้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Alto Maipo ในเมืองซานเดียโก้ ประเทศชิลี ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโครงการนี้เป็นการส่งน้ำไปตามท่อยาว 70 กิโลเมตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านทุนการดำเนินงานจากสถาบันการเงินพหุภาคีและได้จัดตั้งกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน CDM อนุมัติโดยรัฐบาลชิลีที่ได้เสนอกลไกนี้ในที่ประชุม Cop25 เป็นแหล่งพลังงานสะอาด

กลไกนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ โดยส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำของชุมชนและแหล่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังเร่งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยการรบกวนธารน้ำแข็งโดยรอบและทำให้พื้นที่แห้งแล้ง ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน แม้จะส่ง
ผลดีต่อบางกิจการ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลร้ายต่อกิจการอื่นๆ ในชุมชนเช่นปศุสัตว์ ฟาร์มผึ้ง และการท่องเที่ยว
โดยสรุปแล้วโครงการนี้ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างเหมาะสมก่อนการดำเนินการ

เนื่องจากการก่อสร้างเริ่มมาแล้วเป็นสิบๆ ปี ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนหลายต่อหลายครั้ง กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมในชิลีได้ทำการร้องเรียนต่อธนาคารโลกและธนาคาร Inter-American Development Bank ว่าโครงการนี้ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและไม่หารือกับชุมชนท้องถิ่นก่อนการดำเนินการ

“ไม่มีการปรึกษาหารือเกิดขึ้นเลย” Marcela Mella ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมในชิลีกล่าว “ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจต้องกระทำตามข้อเรียกร้องของเรา”
Mella ร่วมกับ Juan Pablo Orrego ประธานกลุ่ม Ecosistemas ซึ่งเป็น NGO ของชิลีเดินทางไปยังกรุงมาดริดเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว

“โครงการพัฒนาพลังงานสะอาดนี้มีความคลุมเครืออยู่มาก” Orrego ให้สัมภาษณ์ “มันเป็นโครงการขนาดใหญ่ และรุกรานและปนเปื้อนแหล่งน้ำ 3 แหล่งสำคัญที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับเมืองหลวงของชิลี ถ้าเราได้มีการระวังป้องกันไว้ก่อน โครงการนี้ก็คงจะไม่ได้รับการอนุมัติ”

ยังมีโครงการเขื่อนอีกหลายโครงการทั่วโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของ CDM รวมถึงเขื่อน Barro Blanco ในปานามาและเขื่อน Bujagali ในอูกันดา และโครงการปลูกป่า Kachung ในอูกันดายังคงเป็นโครงการที่ CDM รับรองถึงแม้ว่าจะมีรายงานจากชนท้องถิ่นถึงการกีดกันทรัพยากร การข่มขู่คุกคาม และการใช้ความรุนแรง

จึงเป็นสาเหตุให้ NGO กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายประเทศผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์ในการประเมินโครงการที่ดีกว่านี้ภายใต้ระบบใหม่

“เราได้เห็นว่า CDM ส่งผลกระทบทางลบต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม และบั่นทอนสิทธิมนุษยชนแล้วอย่างไรบ้าง” Gilles Dufrasne จาก Carbon Market Watch กล่าว “ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และออกแบบกลไกตลาดคาร์บอนใหม่ที่จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นอีก”

ในการออกแบบกลไกตลาดคาร์บอนที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น
ประการแรก จะต้องเคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อยเช่นกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง และคนชายขอบ
ประการที่สอง จะต้องเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบ
ประการต่อมา จะต้องมีคณะทำงานเพื่อรับข้อร้องทุกข์โดยอิสระ

“ถึงแม้ว่าเราจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนให้ปฏิบัติตาม และถึงแม้ว่าเราได้หารือกับชุมชนท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบก็ยังอาจเกิดขึ้นได้” Lennon ว่า “เราจะต้องมีผู้รับเรื่องร้องเรียนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ โดยไม่เพียงแต่ให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียว”
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มูลนิธิอย่าง Green Climate Fund (GCF) ได้รวมเอาเครื่องชี้วัดสามประการนี้ไว้แล้วในการอนุมัติโครงการต่างๆ

“เราคิดว่าการปล่อยให้แต่ละประเทศรับผิดชอบต่อมาตรา 6 กันเองนั้นจะไม่ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้นเริ่มต้นได้เร็วขึ้น” Levi Sucre ผู้เป็นสมาชิกของชนเผ่า bri bri ในคอสตาริกาและผู้ประสานงานของกลุ่ม Mesoamerican Alliance of People and Forests กล่าว

กลุ่มชาติพันธุ์กำลังผลักดันเครื่องชี้วัดประการที่สี่ได้แก่ข้อมูลจากกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าไปอยู่ภายใต้มาตรา 6 ถึงแม้ว่ามาตรา 6 ในปัจจุบันได้รวมเอามาตรการปกป้องคนชายขอบ อันรวมไปถึงการหารือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม การให้สิทธิในการอุธรณ์ และกระบวนการบริหารข้อร้องทุกข์ แต่ Lennon ให้ความเห็นว่ามาตรการเหล่านี้อ่อนเกินไปและอาจไม่ถูกรวมอยู่ในกฎข้อบังคับด้วยซ้ำเมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้นลง

บางประเทศยังไม่เห็นความสำคัญของมาตรการปกป้องคนชายขอบ
ประเทศอย่างอินเดียและซาอุดีอาระเบียเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเห็นว่า สิทธิมนุษยชนควรเป็นประเด็นของชาติมากกว่าที่จะให้สหประชาชาติมาตัดสินใจแทนว่าโครงการในประเทศต่างๆ ควรมีการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง

ส่วนประเทศอื่นๆ หลายประเทศเช่นตูวาลู (ตัวแทนของประเทศกลุ่มที่พัฒนาน้อยที่สุด) คอสตาริกา (ตัวแทนของกลุ่มประเทศแถบทะเลแคริบเบียนและละตินอเมริกา) สวิตเซอร์แลนด์ และเม็กซิโก ยังคงเดินหน้าผลักดันมาตรการปกป้องคนชายขอบให้เข้าไปอยู่ภายใต้มาตรา 6 ภายในปี 2020

ทว่าประเทศมหาอำนาจต่างๆ อย่างอเมริกาและจีนยังเลือกที่จะไม่ออกความเห็นในการเจรจามาตรา 6 นี้โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่เป้าหมายหลัก ส่วนประชาคมยุโรปนั้นเคยสนับสนุนมาตรการปกป้องคนชายขอบในอดีตแต่ก็ยังไม่ออกความเห็นในการประชุมครั้งนี้

“เราเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังมีความยากลำบากในการใช้มาตรการปกป้องคนชายขอบ” Dufrasne กล่าว “เหมือนเป็นหัวข้อต้องห้ามในการประชุมนานาชาติ”
ถึงแม้ว่าการเจรจาในสัปดาห์แรกจะค่อนข้างล่าช้า ที่ประชุม ณ กรุงมาดริดก็มีความพยายามที่จะผลักดันมาตรา 6 ให้สำเร็จ แต่ Lennon เตือนว่าการผลักดันมาตรการที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้เราต้องติดอยู่กับมาตรการดังกล่าวไปอีกเป็นสิบๆ ปี

“ไม่มีมาตรการปกป้องคนชายขอบเสียเลยยังดีกว่าได้มาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อตกลงปารีสอ่อนลงและเกิดการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น” เธอกล่าว


อ้างอิง    https://www.climatechangenews.com/2019/12/09/carbon-offsets-patchy-human-rights-record-now-un-talks-erode-safeguards/


Social Share