THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่โดย World Rainforest Movement
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2016
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ
World Rainforest Movement

ภาพประกอบ World Rainforest Movement

ประชากรส่วนใหญ่ที่มีถิ่นฐานอยู่ในซีกโลกเหนือมักไม่ค่อยให้ความสนใจต่อรายละเอียดการลงนามในข้อตกลงปารีสในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก มีเพียงข่าวเล็กน้อยทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียเท่านั้น ส่วนผู้ที่ให้ความสนใจและพยายามยกประเด็นเรื่องความไม่สอดคล้องในรายละเอียดของข้อตกลงปารีสขึ้นมาพิจารณา และความยาวนานของการเจรจาในเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่พิธีสารเกียวโต


มีสาเหตุมาจากกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบที่ถูกห้องล้อมโดยกิจกรรมอย่างเช่น การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การขนส่ง การผลิตสารเคมีที่เป็นพิษ และไร่นาพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการอุตสาหกรรม


“ในการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อน กลุ่มชาติพันธุ์มิได้เป็นเพียงด่านแรกที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่ยังเป็นด่านแรกของการต่อสู้เพื่อการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินอีกด้วย จุดยืนของข้อตกลงปารีสละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลกและผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ไม่ได้ผล” กลุ่ม Indigenous Environmental Network ให้สัมภาษณ์


เนื้อหาของข้อตกลงปารีสนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของโมเดลทุนนิยมซึ่งแน่นอนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการละเว้นไม่เอาผิดการละเมิดสิทธิเหนือที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์โดยกลุ่มทุนและรัฐบาลเพื่อกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นวิธีที่อันตรายเมื่อนำเอาทรัพยากรป่าชุมชนในซีกโลกใต้มาชดเชยการปล่อยก๊าซของประเทศในซีกโลกเหนือ ทำให้ประเทศในซีกโลกใต้เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วม ความแห้งแล้ง โรคระบาดในพืชและปศุสัตว์ ทรัพยากรขาดแคลน และความมั่นคงอาหารหมดไป


ส่วนประเทศในซีกโลกเหนือก็ประสบปัญหาที่ดินตามแนวชายฝั่งสูญหายไปเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวนานนับศตวรรษที่ยึดถือเอาที่ดินเป็นที่พึ่งทางอาหารและจิตวิญญาณอาจถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่นฐานออกไปในอนาคต


“ตั้งแต่ปี 1932 เป็นต้นมา รัฐ Louisiana ได้สูญเสียที่ดินทางตอนใต้ไปแล้วกว่า 3,058 ตารางกิโลเมตร หรือหนึ่งเอเคอร์ในทุกๆ ชั่วโมง และยังต้องเผชิญความรุนแรงของพายุเฮอริเคนและพายุโซนร้อน เฮอริเคน Katrina จะไม่ใช่พายุลูกสุดท้าย และเราจะต้องรับมือกับพายุอีกหลายลูกที่จะมาถึง ประกอบกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปีและการก่อสร้างท่อก๊าซยาว 17,000 กิโลเมตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในที่ลุ่มน้ำของรัฐ เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำที่ท่วมไม่ใช่น้ำจืดอีกต่อไปแต่เป็นน้ำเค็มซึ่งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและบังคับให้ชุมชนชายฝั่งต้องอพยพย้ายถิ่นออกไป โดยพวกเขาบอกว่าชุมชนควรเสียสละเพื่อการพัฒนา” Monique M Verdin หนึ่งในชนเผ่า Houma รัฐลุยเซียน่า กล่าว


มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ข้อตกลงปารีสละเลยได้แก่ ข้อตกลงที่สามารถลดการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลออกมาใช้ได้จริง กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างโครงการ REDD+ (ลดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม) ของสหประชาชาติมีแต่จะทำให้เกิดกลไกทางการเงินสำหรับประเทศอุตสาหกรรมเพื่อทำให้สามารถขยายการใช้พลังงานฟอสซิลออกไปได้อีก กลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับที่มีกิจกรรมการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลออกมาใช้ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค โครงการอย่างทรายน้ำมันดินของแคนาดา โครงการขุดเจาะน้ำมันในอัลเบอร์ตา รัฐอลาสก้า และรัฐนอร์ธดาโคต้า คือตัวอย่างของโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในซีกโลกเหนือ


“ณ เวลานี้ชาว Denedeh ที่อาศัยอยู่ในแถบออาร์กติกได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 2 องศาและภาวะโลกร้อนเรียบร้อยแล้ว และเรายังคาดว่าโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกอย่างโครงการขุดทรายน้ำมันในเมือง Alberta จะทำให้ดินเสื่อมและทำให้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นหนักหนาขึ้นไปอีกสำหรับชุมชนนี้ เราจึงต้องหยุดพูดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังเสียที โดยเริ่มจากหยุดการขุดทรายน้ำมันเพื่อเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินต่อไป” Daniel T’Seelie สมาชิกชุมชน Dene ระบุ


นอกจากจะละเลยมาตรการปกป้องคนชายขอบแล้ว ข้อตกลงปารีสทำให้เกิดการซื้อขายที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ในซีกโลกใต้เพื่อจุดประสงค์ในการซ่อนมลภาวะจากแหล่ง โครงการอย่าง REDD+ ทำให้อีกไม่นานก่อนที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจะกำหนดค่าคอมมิสชั่นในการซื้อขายคาร์บอนในตลาดการเงินโลกที่ขาดเสถียรภาพอยู่ก่อนแล้วเพื่อการ “ลงทุน” ในป่าเขตร้อน พรบ.แก้ไขปัญหาโลกร้อนฉบับที่ 4 ของรัฐแคลิฟอร์เนียและ REDD+ ทำให้เกิดกลไกที่กำหนดให้ป่าต้องรองรับการกักเก็บหรือ offset คาร์บอนโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากกลุ่มชาติพันธุ์ผู้อยู่อาศัยก่อน ดังนั้นชุมชนในซีกโลกใต้ทั้งหมดจะสูญเสียที่ดินโดยถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนโดยกองกำลังทหารหรือตำรวจ
กลุ่มชาติพันธุ์สามารถอยู่รอดมาได้นับพันๆ ปีโดยการปรับตัวเข้ากับกฎธรรมชาติซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดกาล กฎธรรมชาตินี้เป็นผู้จัดสรรการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นหลักประกันให้สรรพชีวิตสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ สำหรับชนชาวป่านั้น ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับความเคารพและปกป้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่าป่าคือปอดแห่งโลก
กลุ่มชาติพันธุ์คือชนชาวน้ำและชาวดิน และพวกเขากำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่นอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น การขุดเจาะแหล่งพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกตะวันตก การขุดเจาะเชื้อเพลิงในที่ดินแหล่งน้ำ หรือทะเลของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดบ่อยครั้งขึ้นโดยความช่วยเหลือของบริษัทสำรวจน้ำมันแก่รัฐบาลเพื่อแสวงหาความร่ำรวยมาตอบสนองลัทธิบริโภคนิยม


ซึ่งในความเป็นจริงแล้วที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบไม่ควรมีถนนมากเกินความจำเป็น ไม่ควรมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือโครงการขุดเจาะพลังงานขนาดยักษ์


“เราต้องรักษาที่ดินและเขตแดนที่เป็นที่อาศัยและที่ทำกินของเราด้วยการต่อต้านโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของผู้รักษาแผ่นดินที่จะหาวิธีการต่อสู้กับความละโมบ คอรัปชั่น และลัทธิล่าอาณานิคมจากผู้รุกรานภายนอก ซึ่งอาจมาจากวิธีที่เราปฏิบัติต่อแผ่นดินด้วยความเคารพ จากการฟังคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่ และไม่ลืมว่าหน้าที่ที่แท้จริงของเราคืออะไร” Andrea Landry จากองค์กร Pays Plat First Nation ประเทศแคนาดากล่าว


อ้างอิง https://wrm.org.uy/articles-from-the-wrm-bulletin/section1/carbon-offsets-and-trading-a-logic-that-violates-indigenous-and-human-rights/?fbclid=IwAR1b_StCrb7sOYerKK7fYYXBB9zOWJP5_HqK-dRvtNapI9oJhOypnPf_15w


Social Share