เขียนโดย G Mulyasari, Irham, L R Waluyati, และ A Suryantini
เผยแพร่โดย IOP Publishing Ltd
วันที่ 19 ตุลาคม 2564
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

4. ผลวิจัย
ผลวิจัยความคิดเห็นและกลยุทธ์การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนของชาวประมงแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ ความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อน การปรับตัว และความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนและการปรับตัว
4.1 ความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อน
ความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนของชาวประมงคือการตีความการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนโดยชาวประมง การวัดค่าความคิดเห็นจากข้อมูลสัมภาษณ์ที่มีองค์ประกอบของการรับรู้อันรวมไปถึงเครื่องชี้วัดภาวะโลกร้อน 7 ประการซึ่งได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์และความรู้ของชาวประมงและได้รับการจัดกลุ่มเป็น 17 กลุ่ม ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าชาวประมงส่วนมากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยมีความเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของลมมรสุมตะวันออกและตะวันตก ในขณะที่เครื่องชี้วัดภาวะโลกร้อนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และปัจจัยอื่นๆที่พวกเขาไม่เข้าใจ
ตารางที่ 2 : จำนวนและร้อยละของผู้ถูกสัมภาษณ์แยกตามความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อน


รูปที่ 2 แสดงร้อยละของชาวประมงแยกตามความคิดเห็นที่มีต่อเครื่องชี้วัดภาวะโลกร้อนที่ใช้ในงานวิจัยนี้ เครื่องชี้วัดภาวะโลกร้อนประกอบด้วยภาวะคลื่นลมที่แรงขึ้น อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น กระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทางและความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และความแปรปรวนของฤดูกาล นอกจากนี้ ภาพที่ 2 ยังชี้ให้เห็นว่าชาวประมงเข้าใจว่าความแปรปรวนของฤดูกาลเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของลมมรสุมตะวันออกและตะวันตก ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการประมงในชีวิตประจำวันของตน
4.2 การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน
กลยุทธ์การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ Barlett ใน Cahyadi ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าชาวประมงนำกลยุทธ์การปรับตัวมาใช้อย่างไรและรูปแบบของการปรับตัวเป็นอย่างไร การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนประกอบด้วย 11 กลยุทธ์ โดยร้อยละของชาวประมงที่ใช้กลยุทธ์ต่างๆกันได้แสดงอยู่ในรูปที่ 3 ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่ชาวประมงในจังหวัดเบงกูลูใช้นั้นรวมถึงการย้ายที่หาปลา เปลี่ยนเวลาการออกเรือ ใช้เครื่องมือจับปลาที่หลากหลายขึ้น หาอาชีพเสริม และหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ยิ่งชาวประมงนำกลยุทธ์การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนมาใช้มาก ยิ่งแสดงให้เห็นว่าชาวประมงผู้นั้นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมาก
การปรับตัวของชาวประมงต่อภาวะโลกร้อนส่วนมากเป็นการย้ายที่หาปลาและเปลี่ยนเวลาการออกเรือ นับเป็นร้อยละ 86.67 ของจำนวนทั้งหมด วิธีนี้อาศัยสัญชาตญาณและประสบการณ์เป็นอย่างสูงในการคาดคะเนว่าฝูงปลาจะอยู่ตำแหน่งใดบ้าง สิ่งที่ตามมาคือการใช้พลังงานอย่างด้อยประสิทธิภาพ เสียเวลา และปริมาณปลาที่จับได้น้อย พื้นที่ประมงส่วนมากมักอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 5-10 ไมล์ และเรืองประมงส่วนมากก็ไม่สามารถออกไปได้ไกลกว่านี้ด้วยข้อจำกัดด้านขนาดของเรือและปริมาณเชื้อเพลิงที่นำไปด้วยได้ ดังนั้นหากจะจับปลามากขึ้น ชาวประมงต้องการเครื่องมือจับปลาที่มากขึ้น เนื่องจากชาวประมงส่วนใหญ่ในจังหวัดแบงกูลูเป็นชาวประมงรายย่อย
ชาวประมงจับปลาโดยวิธีการที่เรียบง่ายตามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของตนอย่างเบ็ดราวและอวน นอกจากนี้ยังใช้เครื่องมือจับปลาอย่างลอบร่วมกับอวนจับกุ้งตามประเภทของสัตว์น้ำที่ต้องการ

ตารางที่ 3 : ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนและการปรับตัว

4.3 ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนและการปรับตัว
ความคิดเห็นของชาวประมงที่มีต่อภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากความคิดเห็นเหล่านี้จะนำไปสู่การเตรียมพร้อมเพื่อปรับตนเองและการทำประมงให้เข้ากับภาวะโลกร้อนต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนและการปรับตัวแสดงในตารางที่ 3 ค่า r ของ Spearman คือ 0.232 ความสำคัญ (สองทาง) เท่ากับ 0.028 ซึ่งต่ำกว่า 0.05 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนมีความสัมพันธ์กับวิธีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ
ชาวประมงควรศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนให้มากเพราะจะเป็นสิ่งกำหนดความคิดเห็น ซึ่งจะกำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมต่อไป เนื่องจากความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนของชาวประมงขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความรู้ และประสบการณ์ และความคิดเห็นนี้จะนำชาวประมงไปสู่การปรับพฤติกรรมและการหาแนวทางใหม่ๆในการทำประมง
5. บทสรุป
ชาวประมงในจังหวัดเบงกูลูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยมีความเข้าใจว่าภาวะโลกร้อนเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของลมมรสุมตะวันออกและตะวันตก ในขณะที่เครื่องชี้วัดภาวะโลกร้อนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และปัจจัยอื่นๆที่พวกเขาไม่เข้าใจ ในการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้น ชาวประมงใช้แนวทางที่หลากหลายรวมถึงการย้ายที่หาปลา เปลี่ยนเวลาการออกเรือ ใช้เครื่องมือจับปลาที่หลากหลาย และหาอาชีพเสริม ประการสุดท้าย ผลการวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่มีต่อภาวะโลกร้อนและการปรับตัว โดยชี้ให้เห็นว่ายิ่งชาวประมงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากเท่าใด ชาวประมงผู้นั้นยิ่งมีความสามารถในการปรับตัวมาก
(จบ)
อ้างอิง G Mulyasari et al 2018 IOP Conf. Ser.: Earth Environ. Sci. 200 012037