THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย     G Mulyasari, Irham, L R Waluyati, และ A Suryantini
เผยแพร่โดย    IOP Publishing Ltd
วันที่      19 ตุลาคม 2564
แปลและเรียบเรียงโดย  ปิโยรส ปานยงค์

อ้างอิงภาพ :https://voi.id/

1. บทนำ

ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งซึ่งถือว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจากภัยธรรมชาติทั้งจากทางบกและทางทะเล ความสามารถในการปรับตัวของชุมชนต่อภัยธรรมชาติก็ไม่มีความแน่นอนเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน ดังนั้น กลยุทธ์ในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นเพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวน อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่มีประสิทธิภาพหากขาดความเข้าใจความคิดเห็นของชาวประมงที่มีต่อภาวะโลกร้อน ความคิดเห็นและกลยุทธ์จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในกระบวนการปรับตัว การปรับตัวคือกระบวนการที่กำหนดว่าเราจะพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ที่ใช้ในการป้องกัน ปรับตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างไร ความสามารถในการปรับตัวนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของชาวประมงที่จะเผชิญกับภาวะโลกร้อน ความคิดเห็นของชาวประมงที่มีต่อภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากความคิดเห็นเหล่านี้จะนำไปสู่การเตรียมพร้อมหรือการปรับพฤติกรรมของชาวประมงเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการปรับตัวต่อไป

ชาวประมงชาวอินโดนีเซียได้พยายามปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้กลวิธีต่างๆ ในการปรับตัวทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม และทรัพยากรมนุษย์เพื่อการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ มีการในแนวทางการปรับตัวทางกายภาพมาใช้เพื่อป้องกันผลกระทบเช่นการปลูกต้นไม้ตามแนวชายฝั่งเพื่อลดการกัดเซาะและความรุนแรงของคลื่นลม และบรรเทาปัญหาเช่นวางแผนประมงยั่งยืนและการฟื้นฟูแนวปะการัง การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงป้องกันได้แก่การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพาะปลูกพืชเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการประมง และเชิงบรรเทาเช่นการย้ายถิ่นที่อยู่ และการปรับตัวทางทรัพยากรมนุษย์อาทิเช่นการจัดการสัตว์น้ำที่จับมาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการแปรรูปหรือส่งตลาด หรือหารายได้เสริมจากธุรกิจนอกการประมงเป็นต้น

จังหวัดเบงกูลูตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา มีแนวชายฝั่งยาว 525 กิโลเมตรติดมหาสมุทรอินโดนีเซีย พื้นที่ชายฝั่งประกอบไปด้วยที่ราบแคบๆ สลับกับผาชัน จังหวัดเบงกูลูเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติสูงจากวงจรอุทกภัยกล่าวคือ น้ำท่วม ดินถล่ม พายุทอร์นาโด และภัยแล้ง ตัวอย่างเช่นเกาะ Bangkai และ Pulau Satu ที่อยู่ในเขตเบงกูลูตอนเหนือนั้นจมน้ำไปแล้ว ในขณะที่พื้นที่ของเกาะ Enggano นั้นลดลงเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความคิดเห็นของชาวประมงที่มีต่อภาวะโลกร้อนและกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อลดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน

2. วิธีการศึกษาวิจัย

2.1 พื้นที่ศึกษา

งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มจากการเก็บข้อมูลจากชายฝั่งทะเลของจังหวัดเบงกูลู อันรวมถึงตัวเมืองเบงกูลู เขตเบงกูลูเหนือ และเขตเบงกูลูใต้ การเลือกพื้นที่ใช้วิธี Purposive Technique บนพื้นฐานของจำนวนประชากรชาวประมง (200 คนขึ้นไป) และเป็นพื้นที่ที่มีตลาดปลา พื้นที่ชายฝั่งของเบงกูลูตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา มีแนวชายฝั่งยาว 525 กิโลเมตร ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 : พื้นที่ศึกษา

2.2 การสุ่มตัวอย่าง แบบสอบถาม และการเก็บข้อมูล

หน่วยที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นครัวเรือนและกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่หัวหน้ากลุ่มชาวประมง กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 90 คนคัดเลือกโดยใช้วิธีสุ่ม แบบสอบถามได้รับการออกแบบเพื่อเก็บข้อมูลด้านผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความคิดเห็นที่มีต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และกลยุทธ์การปรับตัว โดยใช้วิธีวัดความคิดเห็นที่มีต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบ 5 สเกลของ Likert (เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วย ไม่มีความเห็น ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) ในด้านกลยุทธ์การปรับตัวนั้น ผู้ถูกสัมภาษณ์จะได้รับการสอบถามเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้ถูกสัมภาษณ์

2.3 การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิจัยนี้ใช้การวัดความคิดเห็นของชาวประมงที่มีต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบคะแนน 1 ถึง 5 ข้อมูลความคิดเห็นของชาวประมงจะได้รับการจัดกลุ่มโดยวิธีการ Sturges formula ส่วนการวิเคราะห์กลยุทธ์การปรับตัวดดยการพิจารณากลยุทธ์ที่ชาวประมงใช้ในธุรกิจเพื่อปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นของชาวประมงและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยใช้ทฤษฎี Spearman Rank Analysis

3. ลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง

ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามที่แสดงในตารางด้านล่าง :

ตารางที่ 1 : ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างชาวประมงในจังหวัดเบงกูลู ประเทศอินโดนีเซีย

3.1 อายุ

อายุเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพประมงเนื่องจากช่วงอายุของชาวประมงที่มีกำลังในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั้นจะอยู่ระหว่าง 15-64 ปี จากข้อมูลของ Central Bureau of Statistics ในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดเบงกูลูนั้น ชาวประมงส่วนมากมีอายุระหว่าง 15 ถึง 64 ปีเนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้กำลังและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง

3.2 อาชีพเสริม

ความไม่แน่นอนของอาชีพประมงทำให้ชาวประมงต้องหาอาชีพเสริมทำในช่วงนอกฤดูจับปลา ข้อมูลบ่งชี้ว่าชาวประมงส่วนมากในเขตเมืองเบงกูลูและเบงกูลูใต้ไม่มีอาชีพเสริม ในขณะที่ชาวประมงในเบงกูลูเหนือปลูกสวนปาล์มเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากมีที่ดินเพียงพอ

3.3 การศึกษา

ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในระบบนั้นค่อนข้างแพงสำหรับชาวประมงยากจน ทำให้ส่วนมากมักมีการศึกษาน้อย ตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าระดับการศึกษาของชาวประมงในจังหวัดเบงกูลูค่อนข้างต่ำ และส่วนมากไม่จบการศึกษาแม้จากชั้นประถม ฐานะที่ยากจนทำให้ชาวประมงหลายต่อหลายรุ่นในครอบครัวไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงไปกว่านี้ได้

3.4 จำนวนสมาชิกในครอบครัว

ภาระจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวส่งผลต่อความต้องการขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของครอบครัวนั้นๆ  จำนวนสมาชิกในครอบครัวในที่นี้คือจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่ต้องพึ่งพาอาศัยรายได้จากหัวหน้าครอบครัว ผลการศึกษาพบว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวประมงที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของจังหวัดเบงกูลูอยู่ระหว่าง 0 – 8 คน นอกจากฐานะความเป็นภาระของหัวหน้าครอบครัวแล้ว ชาวประมงหัวหน้าครอบครัวอาจใช้สมาชิกเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือกิจการประมงในครัวเรือนหรือหารายได้จากแหล่งอื่นด้วย

3.5 ประสบการณ์ในอาชีพประมง

ประสบการณ์ในอาชีพประมงคือกระบวนการเรียนรู้การประกอบกิจการประมงของชาวประมงเนื่องจากจำนวนปีของประสบการณ์ส่งผลถึงการบริหารจัดการธุรกิจประมง ตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าชาวประมงส่วนใหญ่มีประสบการณ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 ปี จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นชายฝั่งทะเลของพื้นที่แถบนี้ทำให้ประชากรชายเกือบทุกคนเป็นชาวประมง การกระจายตัวของจำนวนปีของประสบการณ์แสดงอยู่ในตารางที่ 1 ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มที่มีประสบการณ์ 3-11 ปี กลุ่ม 12-20 ปี และกลุ่ม 21-30 ปี ตามลำดับ

(อ่านผลวิจัยต่อในวันเสาร์นี้)


อ้างอิง    G Mulyasari et al 2018 IOP Conf. Ser.: Earth Environ. Sci. 200 012037
https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1755-1315/200/1/012037/pdf


Social Share