THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Elena Ojea, Sarah E. Lester, และ Diego Salgueiro-Otero
วันที่ 12 พฤษภาคม 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ Reuters

ภาพประกอบ Reuters

บทนำ

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำประเภทที่สำคัญต่อการประมงพบว่ามีการย้ายถิ่น ลดจำนวน และกระจัดกระจายกันออกไป ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายสิบปี ทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลาตามวิถีปกติของตน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงอาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อาหารทะเลทั้งหมดไปจนถึงผู้บริโภคในเมือง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กระทบต่อการประมงทุกรูปแบบและมาในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ชาวประมงจึงต้องปรับตัวเองอย่างเร่งด่วนต่อความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ของการประมง
.
การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในการประมงนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของเป้าหมายนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับนานาชาติเนื่องจากสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อปริมาณและประเภทของปลาที่จัดได้ และรายได้ของชาวประมง ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของผลกระทบมีภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่พึ่งพาอาหารจากทะเลมากที่สุดมีแนวโน้มที่จะจับปลาได้น้อยลง ฐานะยากจนลง และกลายเป็นชุมชนเปราะบาง การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสอาจลดผลกระทบเหล่านี้ลงได้บ้าง และการกำหนดเป้าหมายอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้นี้อาจไม่สามารถบรรลุได้ ทำให้การเตรียมพร้อมและปรับตัวมีความสำคัญมาก
.
การปรับตัวและความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติขึ้นอยู่กับลักษณะของผลกระทบและบริบททางสังคม วิธีการปรับตัวหลายวิธีสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ผลการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการปรับวิธีการประมงเพื่อแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไปและลดความเสี่ยงต่อการจับสัตว์น้ำประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์อาจทำให้ผลกระทบบรรเทาความรุนแรงลง ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการปรับวิธีการประมงให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าแนวทางนี้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกประเทศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากนำไปใช้ในน่านน้ำสากล โดยทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ประมง เป็นที่คาดกันว่าร้อยละ 23–35 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ Global Exclusive Economic Zones (EEZs) จะทำให้เกิดการแบ่งเขตประมงใหม่ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนผลกระทบในระดับท้องถิ่นนั้น การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางประเภทอาจทำให้เกิดการรุกรานจากพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์เดิม เช่นทำให้สัตว์และพืชน้ำท้องถิ่นถูกทำลาย ทำให้การประมงไม่ได้ผล ดังนั้นงานเขียนชิ้นนี้จะมุ่งเน้นที่ผลกระทบต่างๆ ของระบบนิเวศน์ทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปต่อชุมชนประมงและธุรกิจประมง
.
มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่เสนอแนวทางการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนสำหรับชาวประมง แม้ว่าประสิทธิภาพของแนวทางดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ก็มีความเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญที่มีต่อความยั่งยืนของการประมง กล่าวคือความสามารถในการรับมือความเสี่ยงในขณะที่วิถีประมงดั้งเดิมยังสามารถดำเนินต่อไปได้โดยการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ในบริบทเช่นนี้ ความสามารถในการอยู่รอดในภาวะโลกร้อนขึ้นอยู่กับระบบนิเวศน์เชิงสังคมของการประมงหรือ Social-Ecological System (SES) SES เป็นระบบที่ปรับตัวได้และซับซ้อน แบ่งแยกจากกันไม่ได้ และมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบนิเวศน์และสังคมมนุษย์ในระดับปัจเจก กลุ่ม และรัฐ เราพิจารณาว่าการประมงเป็น SESs เพราะว่าเราสามารถศึกษาการประมงในฐานะที่เป็นระบบกลางที่ซับซ้อนที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ SES สามารถตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนได้ด้วยกลยุทธ์การแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง การแก้ไขคือการรับมือกับภัยธรรมชาติโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชาวประมงในการนำเอาทักษะ ทรัพยากร และประสบการณ์ออกมาใช้แก้ปัญหา การปรับตัวได้แก่การคาดการณ์และ/หรือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงได้แก่การเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน/โครงสร้างของ SES เพื่อให้เกิดระบบใหม่ขึ้น


ภายใต้ระดับความรุนแรงของภัยโลกร้อน SESs จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรง เมื่อผลกระทบเกิดบ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกินขึ้นเนื่องจากการแก้ไขและปรับตัวนั้นอาจไม่เพียงพอต่อความรุนแรงของปัญหา การวางแผนการปรับตัวนั้นจึงควรครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมด้วย โดยจะต้องทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ขับเคลื่อนการประมงในสถานการณ์ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของพันธุ์สัตว์น้ำอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของ SESs ของการประมง ดังนั้นเราจะต้องสำรวจต้นตอของปัญหาและกลไกที่จะนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ประการสุดท้ายได้แก่การนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ เราจะต้องตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้วยการสำรวจความเสี่ยงของการดำเนินการดังกล่าว
.
จากมุมมองเช่นนี้ เรามุ่งเน้นไปที่ความสามารถของชาวประมงในการเปลี่ยนเป้าหมายในการจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมืออย่าง SESs ในการกำหนดกลยุทธ์และวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้ชาวประมงปรับตัว ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันเนื่องมาจากพันธุ์สัตว์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญต่อความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของชาวประมง การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการประมงอาจเกิดขึ้นในระดับปัจเจก (ชาวประมง) กลุ่ม (ชุมชนชาวประมง) และสถาบัน (รัฐบาล) แต่จะต้องระวังมิให้เกิดการปรับตัวที่จะก่อให้เกิดผลเสียตามมา วิธีนี่เราเสนอแนะต่อ SESs ของการประมงได้แก่การประเมินความสามารถของระบบในการแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงหรืออีกทางเลือกหนึ่งคือความสามารถของระบบในการตอบสนองการกระตุ้นจากปัจเจกและกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นการนำไปสู่การล้มเลิก SES แนวทางการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอาจได้รับอิทธิพลจากขีดความสามารถของ SES ความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และข้อจำกัดทางสังคมและของสถาบัน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการปรับตัวที่จะก่อให้เกิดผลเสียตามมาเมื่อชาวประมงยังใช้วิธีการเดิมๆ แทนที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับปัญหาในอนาคต ดังนั้นเราจึงเสนอให้มีการบริหารการปรับตัวที่ยืดหยุ่น การหาอาชีพเสริม การให้สิทธิประมงที่เท่าเทียมกัน การพัฒนาตลาดใหม่ การพัฒนาข้อตกลงการประมงนานาชาติใหม่ และกลไกด้านนโยบายเพื่อช่วยชาวประมงในการปรับตัวต่อระบบนิเวศน์สัตว์น้ำที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

(อ่านต่อหัวข้อระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงจากการกระจายตัวที่ผิดปกติของสัตว์น้ำได้ในวันพฤหัสบดี)


อ้างอิง https://www.cell.com/one-earth/pdf/S2590-3322(20)30248-7.pdf


Social Share