THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Elena Ojea, Sarah E. Lester, และ Diego Salgueiro-Otero
วันที่ 12 พฤษภาคม 2020
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบ Reuters

ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จากการเปลี่ยนแปลงของการกระจายตัวของพันธุ์สัตว์น้ำ

ระบบนิเวศน์ทางทะเลกำลังเปลี่ยนแปลงจากการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการขยายตัว หดตัว หรือกระจายตัว ของเขตประมง (ตามรูปที่ 1) และแนวโน้มนี่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต งานวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นศึกษาการปรับตัวของสัตว์น้ำชนิดต่างๆต่ออุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลดีในบางด้านต่อความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำอย่างค่าความเป็นกรดด่าง ระดับน้ำทะเล ค่าความเค็ม และปริมาณออกซิเจนในน้ำ ตัวอย่างเช่น McHenry ได้ทำการเปรียบเทียบสัตว์น้ำ 125 สายพันธุ์ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิอย่างเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยและพบว่าโมเดลที่ใช้ปัจจัยร่วมแสดงผลลัพธ์ที่น่ากังวลกว่า กล่าวคือทำให้สัตว์น้ำอพยพย้ายถิ่นมากกว่าและเขตประมงหดตัวลง การย้ายถิ่นอาจเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและกระแสลมหรือกระแสน้ำในมหาสมุทร

รูปที่ 1 : ประเภทของการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศน์ในพันธุ์สัตว์น้ำที่ทำการศึกษาอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยสีฟ้าแทนพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็นและสีแดงแทนพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำอุ่น ในขณะที่เกิดการกระจายของพันธุ์สัตว์น้ำในการปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อน พันธุ์สัตว์น้ำที่อพยพมาจากถิ่นอื่นจะมีปฏิสัมพันธ์กับพันธุ์สัตว์น้ำเดิม ทำให้ระบบนิเวศน์ในเขตนั้นเปลี่ยนแปลงไป

สิ่งสำคัญได้แก่การทำนายว่าพันธุ์สัตว์น้ำทุกประเภทจะย้ายถิ่นเข้าหาขั้วโลกนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำนายผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะมีต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การปัจจัยชุดหนึ่งๆมีอิทธิพลต่อการย้ายถิ่นของพันธุ์สัตว์น้ำหมายความว่าการอพยพอาจไม่เป็นไปตามสัญชาติญาณ ดังนั้นผลกระทบของภาวะโลกร้อนจึงอาจเป็นผลดีหรือผลร้ายก็ได้ ในขณะที่สัตว์น้ำบางพันธุ์ปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ สายพันธุ์ที่เหลืออาจไม่สามารถปรับตัวได้และลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ อัตราเร็วของการกระจายตัวอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของสายพันธุ์ พื้นที่หากิน และความสามารถของตัวอ่อนในการแพร่พันธุ์ องค์ประกอบของระบบนิเวศน์มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกัน ทำให้สายพันธุ์ใหม่ปรับตัวเข้าหาระบบได้ง่าย ในขณะที่ระบบนิเวศน์หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและจัดเรียงใหม่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อก็จะเกิดขึ้น (เช่นสายพันธุ์ที่เคยเป็นเหยื่อกลายเป็นผู้ล่า หรือสายพันธุ์กินพืชที่มีจำนวนมากขึ้นจากการรุกรานของสายพันธุ์อื่น) สายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับที่อยู่อาศัยใหม่ สายพันธุ์ที่ต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอด และการย้ายถิ่นอย่างผิดฝาผิดตัว ในกรณีที่รุนแรง ระบบนิเวศน์ทางทะเลบางพื้นที่อาจถึงจุดเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ในระบบนั้นๆ นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ทางทะเลในเขตมหาสมุทรใกล้เส้นศูนย์สูตรอาจประสบปัญหาเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วและสัตว์น้ำสูญพันธุ์หรือย้ายถิ่นเหลือเพียงสายพันธุ์ที่ทนความร้อนได้ดีที่เหลือรอด ถึงแม้ว่าการทำนายการปรับตัวของสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเนื่องจากมีการพัฒนาโมเดลสภาพอากาศ ข้อมูลชีวภาพ และแนวทางที่ใช้คำนวณให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้ความแม่นยำของการทำนายสูงขึ้น และการวางแผนการปรับตัวที่ดีขึ้นด้วย

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง

จากการที่สายพันธุ์เป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านถิ่นที่อยู่และความอุดมสมบูรณ์อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน การประมงย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงต้องทำความเข้าใจห่วงโซ่ของผลกระทบเริ่มตั้งแต่ระบบนิเวศน์ การประมง ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และสุดท้ายคือคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมและทรัพยากรของชุมชนประมง รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึง เส้นทางของ SESs ของการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลสะท้อนและความสัมพันธ์ทางอ้อมเนื่องจากชุดผลกระทบดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นเส้นตรงและข้ามระดับกัน ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนเครื่องมือและวิธีทำประมงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินไป แหล่งสัตว์น้ำถูกทำลาย และทำให้ชุมชนเปราะบาง ต่อไปนี้เป็นหัวข้อหลักในงานวิจัยหากเราต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

รูปที่ 2 : ห่วงโซ่ของผลกระทบที่เกิดจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การประมง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลูกศรแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งแบบส่งผลและสะท้อนกลับ

ผลที่เกิดจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำที่มีต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลแสดงในรูปที่ 1 การประมงจะสูญเสียสัตว์น้ำบางชนิดไปเนื่องจากการย้ายถิ่นของสัตว์พันธุ์ใหม่เข้ามาในระบบเดิม การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดที่ชาวประมงเคยจับจะกระทบต่อชาวประมงรายย่อยเป็นอย่างสูงเนื่องจากพึ่งพาการจับสัตว์น้ำชนิดนี้เพียงอย่างเดียวมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ในบางชุมชน การเข้ามาของสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่อาจเป็นประโยชน์หากมีตลาดรองรับอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นในประเทศไอซ์แลนด์ จำนวนปลาแมคคาเรลที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจประมงคึกคัก ในขณะที่สัตว์น้ำพันธุ์ใหม่อาจส่งผลทางลบแก่ธุรกิจประมงในพื้นที่อื่นเพราะเข้ามาทำลายชนิดที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยสรุปแล้ว นักวิจัยจะต้องศึกษาเพิ่มเติมโดยนำเอาทั้งผลดีและผลเสียของการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำมาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกัน

ในเขตประมงที่สูญเสียสัตว์น้ำชนิดที่ก่อให้เกิดรายได้นั้น เรือประมงจะสามารถย้ายไปหาปลาในพื้นที่อื่นได้ก็ต่อเมื่อมีเครื่องมือตรวจหาปลาที่เหมาะสม ทว่ากฎหมายประมงและเขตแดนก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงฝูงปลาเมื่อฝูงปลาย้ายถิ่นข้ามเขตแดนประเทศ อย่างไรก็ตามความสูญเสียมักตกอยู่กับชาวประมงรายย่อยมากกว่าธุรกิจประมงขนาดใหญ่เนื่องจากขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ประการสุดท้ายการที่มีสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่เข้ามาในระบบส่งผลต่อส่วนผสมของพันธุ์ปลาที่จับได้ ทำให้ต้องจับปลามากขึ้นเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ต้องการจำนวนเพียงเล็กน้อย เสี่ยงต่อการทำลายพันธุ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการและฝ่าฝืนโควต้าการจับ ทำให้ชาวประมงต้องหยุดจับปลาทั้งๆยังมีโควตาเหลือสำหรับพันธุ์ปลาที่เป็นที่ต้องการ เมื่อจำนวนปลาที่ไม่ใช่พันธุ์เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลต่อการประมงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นนโยบายประมงของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปบังคับให้ชาวประมงต้องรายงานจำนวนปลาที่จับได้แต่ไม่เป็นที่ต้องการ เพื่อนำมาหักออกจากโควต้าการจับปลาพันธุ์เศรษฐกิจ ทำให้รายได้ของชาวประมงลดลงหากไม่มีการทบทวนนโยบายอย่างทันต่อเหตุการณ์ ในกรณีของประมงพื้นบ้าน เหตุการณ์เช่นนี้ยังไม่ได้รับการประเมินแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจประมงจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อนได้แก่ทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลงและต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด โดยความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของตลาดและรสนิยมของลูกค้า เช่นตลาดจะปรับตัวโดยการนำเข้าปลาเพื่อชดเชยปลาท้องถิ่นที่ลดลง ทว่าในประเทศอุรุกวัย การปรับตัวเช่นนี้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเนื่องจากมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้า ส่วนในบางกรณีอาจปรับตัวโดยการย้ายโรงงาน ตลาด หรือท่าจอดเรือประมง ตลาดปลานานาชาติได้รับการพิจารณาว่าเป็นแหล่งปลาสำรองสำหรับชุมชนปะมงท้องถิ่น แต่การพึ่งพาตลาดสากลแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจก่อให้เกิดผลเสียเช่นคนท้องถิ่นสูญเสียงานและรายได้ สินค้ามีราคาแพงขึ้น สินค้าท้องถิ่นสูญหายไป นอกจากนี้ตลาดสากลมักจะนำแต่สินค้าราคาสูงอย่างหูฉลามและปลิงทะเลมาขาย นำไปสู่การประมงที่ผิดกฎหมายและตลาดมืด ประการสุดท้ายหากชาวประมงไม่ปรับลดขนาดเรือและจำนวนเรือลงก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการจับปลามากเกินไปและสัตว์น้ำทั้งชนิดที่ต้องการและไม่เป็นที่ต้องการสูญพันธุ์

แน่นอนว่าการประมงนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างระบบนิเวศน์ทางทะเล ชุมชนชาวประมง และสังคมผู้บริโภค ผลกระทบจากการอพยพย้ายถิ่นทำให้จำนวนปลาที่จับได้น้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและแรงงานแปรรูปอาหารทะเลซึ่งส่วนมากเป็นผู้อพยพและสตรีซึ่งไม่ได้รับสิทธิใดๆในการเข้าถึงทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประมง เทคโนโลยี และพฤติกรรมการทำประมงอาจทำให้ชาวประมงเลิกพึ่งพาภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นอีก ผลกระทบเช่นนี้เปลี่ยนวิถีที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน เปลี่ยนแปลงต้นทุนทางสังคม และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวัฒนธรรมประมงท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นในทวีปอาร์กติก ภาวะโลกร้อนทำให้โครงสร้างชุมชนพื้นเมืองกล่าวคือลักษณะประชากรและบทบาทหน้าที่ของเพศชายและหญิงเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้วิถีความเป็นอยู่และประเพณีท้องถิ่นเปลี่ยนไปด้วย โดยสตรีวัยรุ่นต้องย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ และภูมิปัญญาดั้งเดิมสูญหายไปในหมู่คนรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้จะทำให้เกิดความห่างเหินกันในหมู่สมาชิก และความยากจนเมื่อชาวประมงต้องหาวิธีการต่างๆมาปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นซึ่งอาจไม่ได้ผลและทำให้เกิดความยากจนที่รุนแรงขึ้นอีก

(อ่านต่อวันเสาร์)


อ้างอิง  https://www.cell.com/one-earth/pdf/S2590-3322(20)30248-7.pdf


Social Share