THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้เสวนา

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษอุตสาหกรรม
ศ. ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์่ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
คุณ ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้แทนชุมชนประมงขนาดเล็ก จังหวัดระยอง

ดำเนินรายการ

ดร. กฤษฎา บุญชัย ผู้รับผิดชอบโครงการพลเมืองตื่นรู้กอบกู้วิกฤติโลกร้อน


ดร.กฤษฎา บุญชัย : กล่าวเปิดการเสวนา เริ่มด้วยการชี้ให้เห็นว่าปัญหาน้ำมันรั่วลงทะเลเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนานโดยมีต้นเหตุสำคัญคืออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ที่ยังส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมทางภูมิอากาศอีกด้วย หัวข้อเสวนาในวันนี้ได้แก่ ประการแรก ทำไมปัญหาน้ำมันรั่วจึงไม่มีวิธีป้องกันและแก้ไขเสียที สอง เราได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากวิทยากรในสาขาต่างๆ สาม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สี่ ประเด็นการฟ้องร้องทางกฎหมายและการชดเชยค่าเสียหาย และห้า ได้แก่การพิจารณาถึงระบบทั้งหมดเป็นองค์รวมที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

สรุปคลิปสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ :

  • คุณวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง แจ้งว่า
  • ในอ่าวระยองเกิดความผิดปกติ (เสียงหาย) ในวันที่สองพบว่ามีการฉีดสารเคมีไล่น้ำมันในพื้นที่ปะการังเทียมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คราบน้ำมันจึงไหลไปทางตะวันตก แต่วันต่อมาเมื่อไม่มีการฉีดก็ไหลกลับมาทางตะวันออกอีก ทำให้ฉีดสารเคมีมาสามวันยังควบคุมคราบน้ำมันไม่ได้เนื่องจากกระแสน้ำพัดในลักษณะสลับฟันปลาพาคราบน้ำมันเข้าและออกจากฝั่ง วันที่สี่คราบน้ำมันมาถึงหาดแม่รำพึง พบปะการังเทียมและแหล่งประมงเสียหาย จนวันที่ห้าก็เข้ามาถึงหาดทั่วทั้งหมดด้วยลักษณะของกระแสน้ำสลับเช่นนั้น ในวันนี้ (วันที่ 31) ก็ยังพัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ตรงกับประกาศของรัฐและบริษัทที่ว่าควบคุมได้แล้ว
  • ผลคือสัตว์น้ำเป็นพิษตายหมด รวมถึงปะการังเทียมก็เสียหายด้วยเช่นกัน ผลของน้ำมันรั่วครั้งนี้ซึ่งมีปริมาณ 4 แสนลิตร เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันรั่วในปี 56 รวม 5 หมื่นลิตร เมื่อรวมเข้ากับผลกระทบของเหตุการณ์เดิมที่ยังไม่หมดทำให้คาดว่าจะเสียหายในระยะยาวเป็นทวีคูณ ตอนนี้พบปูปลาเลอะน้ำมันแล้ว ทั้งขายก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ ทั้งชาวประมงและผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ชาวประมงหยุดออกเรือแล้วเพราะสัตว์น้ำปนเปื้อนและเป็นพิษ จึงขอให้มีการฟื้นฟูครั้งใหญ่ เพราะผลกระทบเมื่อครั้งปี 56 ยังไม่หมดมาถูกซ้ำเติมจากครั้งนี้อีก โดยขอไม่รับเงินเยียวยา แต่ให้ประมงจังหวัดเอางบไปฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลแทน และที่ผ่านมายังไม่ได้รับการชี้แจงจากบริษัทแต่อย่างใด และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
  • ในวันที่ 28-29 ตนออกเรือไปพบคราบน้ำมันหนามากเหมือนเรือแล่นบนบ่อน้ำมัน และมีเรือประมงได้รับผลกระทบประมาณ 3-4 พันลำ จึงคาดว่าครั้งนี้อย่างต่ำคงใช้เวลากว่า 20 ปีถึงจะแก้ไขผลกระทบได้ และอาจเกินช่วงชีวิตของตนก็เป็นได้

ภาพ : ผู้จัดการออนไลน์

ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ : แสดงงานวิจัยเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 56 ที่อ่าวพร้าวและสารก่อมะเร็งในน้ำมันดิบ (PAHs) เมื่อน้ำมันปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สารก่อมะเร็งนี้ก็เข้าไปอยู่ในดินรอบๆเกาะเสม็ด เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี 58 ก็ยังพบสารนี้อยู่ แม้จะมีไม่มาก แต่ระดับความเป็นพิษมีสูงมาก ผลการวิเคราะห์พบว่าสารก่อมะเร็งพบมากในบริเวณอ่าวพร้าว และปริมาณที่พบยังเป็นระดับผิวดิน ยังไม่รวมชั้นดินที่อยู่ลึกลงไปหรือการปนเปื้อนของสาร PAHs ในสัตว์ทะเล แพลงตอน หรือ สาหร่าย

โดยปกติแล้วระดับความเป็นพิษหรือ Toxicity ของสาร PAHs จะแปรผันตามจำนวนของวงแหวนกล่าวคือยิ่งมีวงแหวนเบนซินมากจะยิ่งมีพิษมากเป็นเงาตามตัวและคราบน้ำมันที่พบในอ่าวพร้าวก็พบว่ามีวงแหวนเบนซินเป็นจำนวนมากคือ 5-6 วง แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นพิษมากและผลกระทบจะอยู่นานกว่า กลุ่มสาร PAHs ที่มีวงแหวน 3-4 วง จากการประเมินความเสี่ยงพบว่าหลังสองปีไปแล้ว ยังคงพบว่ามีสารก่อมะเร็ง PAHs ตกค้างอยู่รอบเกาะเสม็ดแม้ว่าผลการใช้แบบจำลองประเมินความเสี่ยงจะพบว่า ค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs จะอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะช่วงเวลากว่าสองปี แสงยูวีรวมทั้งแบคทีเรียบางชนิดอาจช่วยทำให้สาร PAHs จำนวนหนึ่งถูกย่อยสลายลงไปก็เป็นได้

ประการต่อมาได้แก่เรื่องสารเคมีจัดการคราบน้ำมันดิบ ขอตั้งคำถามต่อบริษัทน้ำมันว่าทำไมไม่ใช้ Skimmer ตั้งแต่แรกพบการรั่ว กลับมาใช้ absorber ในภายหลังซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และควรต้องชดเชยชาวบ้านเป็นตัวเงินด้วยเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ประการสุดท้ายขอตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการรั่วไหลว่ารัดกุมหรือไม่ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานป้องกันแก้ไขที่มีประสิทธิภาพอย่าง USEPA ของสหรัฐอเมริกา

ภาพ :ผู้จัดการออนไลน์

รศ.ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล : ตั้งคำถามว่าทำไมน้ำมันจึงรั่ว เพราะโรงงานน่าจะต้องมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกันอุบัติเหตุต่างๆรวมถึงน้ำมันรั่วด้วย จึงถามหาว่าบริษัทมีรายงานไหม ได้ปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA และเงื่อนไขในการอนุญาตไหม และได้ตรวจสอบท่อเป็นประจำหรือไม่

อีกหนึ่งข้อสังเกตได้แก่รอยรั่วที่ได้รับรายงานมีขนาด 0.9 ซม. แต่ทำไมน้ำมันถึงออกมาในปริมาณที่สูงมาก และปรากฏข้อเท็จจริงว่าแท่นที่รั่วเป็นโรงงานเก่า มาตรการไม่ทันสมัย  ทำให้แก้ไขได้ไม่ทันการณ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มาตรการตรวจสอบและควบคุมการรั่วของท่อต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย​ มิใช่ต้องดำน้ำลงไปปิดวาล์ว​โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืน ดังนั้นต่อไปเราจะต้องเข้มงวดกับมาตรการข้างต้นอย่างจริงจังเพราะมาบตาพุดกำลังขยายตัว ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ควรมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นทางการของราชการให้ประชาชนทราบทางเว็บไซต์

ประการต่อมาคิดว่าวิธีฉีดพ่น dispersant เป็นเพียงการทำให้คราบน้ำมันหายไปจากสายตา แต่ไม่ได้แก้ผลกระทบจริงจัง ทำให้คราบน้ำมันยังมีอยู่ และสัตว์น้ำริมหาดก็ยังตายอยู่ เพราะสารเคมีที่ใช้พ่นก็เป็นพิษต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วย น้ำมันดิบที่รั่วครั้งนี้เป็นประเภทระเหยง่าย 20-40% ทำให้ส่วนที่เหลืออยู่มีลักษณะเป็นเบนซินเหนียวที่จะตกค้างในอาหารทะเล และผลกระทบในระยะยาวก็จะไม่มีใครติดตามเพราะไม่มีงบประมาณในการสำรวจวิจัย

ภาพ : www.salika.co

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง : มูลนิธิบูรณะนิเวศได้มีเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในพื้นที่หลังเหตุการณ์ไม่นานเพื่อสังเกตการณ์การแก้ปัญหาและผลกระทบที่เกิดต่อประชาชน เราพบว่าเหตุการณ์ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2556 แล้ว เหตุการณ์ปีนี้รุนแรงมากกว่า จากข้อมูลที่รายงานออกมาคือมีปริมาณน้ำมันที่รั่วสู่ทะเลมีมากกว่าและการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันก็ใช้ในปริมาณมาก ผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อระบบนิเวศในทะเลย่อมมีมากกว่าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการปิดกั้นการให้ข้อมูลแก่สาธารณะด้วย

ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของบริษัทไม่ได้บอกรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น สาเหตุ ปริมาณน้ำมันที่รั่วสู่ทะเลและอื่นๆ ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะเป็นข้อมูลกว้างๆ เท่านั้น ข้อสำคัญคือเป็นข้อมูลจากบริษัทเพียงด้านเดียว ไม่แถลงการณ์ชี้แจงจากหน่วยงานภาครัฐออกมา เรายังพบอีกว่า ในกรณีนี้มีการควบคุมการให้ข้อมูลและข่าวสารแก่สื่อมวลชนเพื่อให้การายงานข่าวของสื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภาพดาวเทียมของ JISDA ที่เผยแพร่ออกมาก็มีน้อยมาก ซึ่งดูผิดปกติ จึงตั้งข้อสังเกตว่ากรณีน้ำมันรั่วครั้งนี้มีการปกปิดข้อเท็จจริง การปกปิดข้อมูลจะยิ่งทำให้สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะปฏิบัติการที่จะแก้ปัญหา การช่วยระงับความรุนแรง และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจะไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  หากภาครัฐและบริษัทจะแจ้งว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วสู่ทะเลมีเท่าไหร่ย่อมทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจะต้องได้รับการอนุญาตและต้องมีการแจ้งปริมาณนำเข้าต่อหน่วยงานกำกับและกรมศุลกากร หากเจ้าหน้าที่รีบตรวจเช็คปริมาณน้ำมันที่คงเหลืออยู่บนเรือ ก็จะทราบได้ชัดเจนว่าปริมาณที่รั่วสู่ทะเลคือเท่าไหร่ ไม่ควรปล่อยให้เกิดความสับสนว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วลงทะเลแท้จริงคือเท่าไร จะเป็น 400,000 กว่าลิตร หรือกี่หมื่นลิตร ซึ่งเรื่องนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของน้ำมันสามารถตรวจสอบได้

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติขึ้นมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการฯ ชุดนี้ควรพิจารณาว่า ควรมีมาตรการอะไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต และหากเกิดขึ้นมาตรการที่รับมือที่มีประสิทธิภาพในแต่ละระดับควรเป็นอย่างไรบ้าง ข้อเสนอนี้เคยเสนอมาแล้วในปี 2556 รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการ คณะกรรมการที่แต่งตั้งในปี 2556 เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงประกอบด้วยตัวแทนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขาดความเป็นกลางและความโปร่งใส จึงขอเสนอว่าคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงควรมีความเป็นกลางและประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาเรื่องการตั้งกลไกกรรมการกลางเพื่อรองรับปัญหาอุบัติภัยหรือความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถเข้ามาทำงานสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมได้ในเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมา ตัวอย่างเช่น  ในการฟ้องคดีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 ศาลแพ่งไม่มีกลไกกลางที่ทำงานสนับสนุนเป็นกองเลขาในการประชุมและพิจารณาไกล่เกลี่ย ดังนั้นทางบริษัทน้ำมันที่เป็นคู่กรณีจึงเป็นผู้ประสานงานการเผชิญสืบในพื้นที่และการจัดทำรายงานประชุมรวมถึงเอกสารประกอบการไกล่เกลี่ยทั้งหมด ซึ่งทำให้ข้อมูลและหลักฐานบางอย่างที่ควรมีการบันทึกไว้ไม่ได้ปรากฏออกมา เป็นต้น

เหตุการณ์ครั้งนี้ บริษัทเชฟรอนและ SPRC ต้องออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนทุกกลุ่มอาชีพและต่อระบบนิเวศในทะเลที่เสียหายจากการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาลในการสลายคราบน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันที่ถูกสลายด้วยสารเคมีไม่ได้สูญหายไปไหน จะจมลงที่ก้นทะเล และก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเล

ทั้งนี้อ่าวไทยถือเป็นแหล่งอาหารทางทะเลที่สำคัญของประเทศ แต่มีโครงข่ายท่อน้ำมันใต้ทะเลเป็นความยาวมาก ข้อเสนอเรื่องคณะกรรมการกลาง ความรับผิดชอบของบริษัทน้ำมันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการซ่อมบำรุงท่อน้ำมันใต้ทะเลและท่าขนถ่ายน้ำมันสู่บก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาทะเลอ่าวไทยที่เป็นแหล่งอาหารของประเทศ และควรต้องมีการรายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบ

ภาพ :ผู้จัดการออนไลน์

คุณธารา บัวคำศรี : เสนอให้มี citizen science คือให้ชุมชนเป็นผู้วิเคราะห์ผลกระทบ ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านวิกฤติน้ำมันรั่วมามากได้พัฒนาวิทยาศาสตร์ประชาชนขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ เช่น NOAA ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นและคู่มือตอบสนองน้ำมันรั่วโดยประชาชน เนื่องจากมีผู้สนใจเรื่อง deepwater horizon เป็นจำนวนมาก คู่มือนี้รวมการกำหนดศัพท์ใหม่ๆ แยกประเภทคราบน้ำมัน ให้สื่อสารกันได้เข้าใจง่ายและตรงกัน รวมถึงวิธีการสังเกตและประมาณปริมาณน้ำมันที่รั่วด้วย เช่นการประมาณปริมาณน้ำมันจากภาพถ่ายดาวเทียม ถ้าคราบน้ำมันหนา 1 ไมครอนกระจายตัวเป็นพื้นที่ 1 9รางกิโลเมตร ปริมาณน้ำมันจะเท่ากับ 1 ลูกบาศก์เมตร เป็นต้น (เปิดคลิปเสียง ฟังไม่ชัด) เมื่อนำสูตรการคำนวณนี้มาใช้กับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ผ่านมาคำนวณได้ 50,000 ลิตรที่จะเข้าหาดแม่รำพึง ดังนั้นที่รัฐแจ้งว่าเหลือแค่ 5 พันลิตรจึงไม่เป็นความจริง

ประการสุดท้ายได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและซ้อมป้องกันภัยว่ามีการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ มิฉะนั้นเรื่องเช่นนี้ก็ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเพราะเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่จะต้องหาวิธีปกป้องสิ่งแวดล้อมและชาวประมงจากความเสี่ยงดังกล่าว

คุณสฤนี อาชวานันทกุล : รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาแลกเปลี่ยนประเด็นน้ำมันรั่ว. ในวันนี้อาจจะเน้นเฉพาะประเด็นความรับผิดชอบของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลักๆก็คือ SPRC และ chevron ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เดิมทีแล้ว SPRC เป็น Joint Venture ของ Chevron และปตท. แต่ปตท.ได้ขายหุ้นออกไปแล้ว คิดว่าถ้าจะเรียกร้องตัวนิติบุคคลตอนนี้ก็จะต้องเป็น SPRC กับเชฟรอนเป็นหลัก ซึ่ง Chevron นั้นมี operation อยู่ในประเทศไทยและก็ยังเป็นบริษัทน้ำมันอันดับโลก ที่ผ่านมาก็มีประสบการณ์ในเรื่องของเหตุน้ำมันรั่ว มีกรณีที่เป็นการฟ้องร้องอยู่หลายเรื่องด้วยกันในหลายประเทศ

สิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยก็คือเรารับรู้ว่ามีน้ำมันรั่วกันมาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์. แต่ว่าข้อมูลที่เป็นลักษณะข้อเท็จจริงพื้นฐานหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจนก็เป็นตัวอย่างของเรื่องที่เรายังไม่สามารถจะเรียกว่ายืนยันให้ตรงกันได้ เช่นชนิดของน้ำมันตกลงมันเป็นชนิดไหนที่รั่วออกมา บางคนก็บอกว่ามันเป็นน้ำมันเตานะมันไม่รุนแรงเท่ากับปี 56 นะ บางคนก็บอกว่ามันเป็นน้ำมันดิบชนิดเดียวกันแหละ ตกลงปริมาณน้ำมันทั้งหมดมีเท่าไหร่ ตอนนี้เป็นตัวเลขที่เรียกว่ายังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นลิตร

ทุ่นกักหรือว่าในเรื่องของมาตรการจัดการที่บริษัทใช้หลักๆจากประกาศของทางบริษัทเองก็จะมีเรื่องของการใช้บูม การใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมันหรือ Dispersant แล้วก็มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ แต่เราไม่เห็นตัวเลขที่คิดว่าตัวเองคิดว่าเป็นตัวเลขพื้นฐานเช่นทุนที่เขาใช้ในมันมีทั้งหมดกี่เมตรกี่กม. เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการมีกี่คน แล้วก็ที่มาจากหน่วยงานราชการที่เรียกว่าช่วยกันเยอะตอนนี้มีกี่คน

เรื่องของการใช้การใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมันที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 2 ท่านก็ได้พูดไปแล้ว. ว่าเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลสูงเพราะว่ามีงานวิจัยมีเหตุผลหลักฐานอะไรต่างๆมากมายในอดีตว่ามันไม่ใช่ว่าเป็นวิธีกำจัดที่ไม่ส่งผลกระทบและเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี้คือน้ำยาอะไรใช้ไปปริมาณของน้ำยาที่ใช้ไปเท่าไหร่แล้ว มันจะมีแนวโน้มผลกระทบอะไรไหมต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเหตุผลที่บริษัทเลือกใช้วิธีนี้ขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลคืออะไร โดยส่วนตัวก็มองว่าเป็นเรื่องของพื้นฐานเช่นแนวโน้มการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันในแต่ละวันมันจะไปไหนมาไหนยังไงบ้าง ที่น่าสังเกตว่าข้อมูลแรกๆที่ช่วยสร้างความกระจ่างให้กับเราแล้วก็คือข้อมูลในเชิงภาพถ่ายดาวเทียมที่ GISTDA นำมาเผยแพร่ จากที่คุณเพ็ญโฉมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าปกติ JISA จะลงข้อมูลพื้นฐานที่ละเอียดกว่านี้ และคำถามที่ควรจะถามไปด้วยกันก็คือ อ้าวแล้วบริษัทอยู่ตรงไหนตรงไหนนะ ทำไมบริษัทไม่ใช่คนที่เผยแพร่ข้อมูลเรื่องแนวโน้มการเคลื่อนตัวแล้วก็ภาพสถานการณ์ล่าสุดที่เรารับรู้

ยังมีปัญหาการสื่อสารอีกเยอะ.แต่ว่าอันหนึ่งที่เรายังไม่ได้ยินเลยก็คือเรื่องของกระบวนการสืบสวนหาสาเหตุ.แล้วก็เวลาเราใช้คำว่ากระบวนการสืบสวนหาสาเหตุ ในยุคนี้เป็นยุคแห่งความโปร่งใสแล้ว. แน่นอนว่าบริษัทจะพูดแต่ว่าเขาจะสอบสวนหาสาเหตุเฉยๆแล้วก็จบลงตรงนั้นมันก็ไม่ได้เพราะว่าแน่นอนทุกคนประชาชนก็คาดหวังว่าจะให้ต้องมีการเผยแพร่ผลการสอบสวนต่อสาธารณะด้วย แต่ว่าเรายังได้ยินเรื่องนี้เลย.ว่ากระบวนการจะเป็นยังไงเขาจะใช้กรอบเวลาจะมีวิธีการดำเนินการยังไง ไม่ได้ยินว่าเขามี commitment ที่จะเผยแพร่ ซึ่งตัวเองมองว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นเป็นเป็นข้อมูลพื้นฐานซึ่งควรจะรู้ได้แล้ว.ผ่านมา 7 วัน

แน่นอนว่าประเด็นอีกอันหนึ่งที่เป็นปัญหาทางการสื่อสารที่สับสนหรือว่าการ ลักษณะอะไรที่ข้อมูลที่มันไม่ชัดเจน.หรือว่าจะบางส่วนอาจจะมองว่าบางคนอาจจะมองว่าอันนี้ตั้งใจปกปิดหรือเปล่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าภาครัฐเองมีส่วนเยอะเลยที่ทำให้คนสับสนอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นเป็นตัวอย่างของปฏิกิริยา. 2-3 วันแรกต่อคำพูดของของรัฐมนตรี ที่หลายอย่างที่พูดนี่มันก็ไม่เป็นความจริงนะ เช่นบอกว่าไม่ต้องห่วงหรอกไม่กระทบการท่องเที่ยวแน่นอนไม่ต้องห่วงหรอกว่าเชื่อว่าไม่มีทางเข้าชายฝั่ง แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เข้าชายฝั่ง

ทีนี้เราลองมาดูประเด็นที่จะเน้นในวันนี้.คือเรื่องของบริษัท และช่วงท้ายเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรทำนิดหน่อย เราลองมาดูก่อนว่าว่าบริษัทเขาแจ้งอย่างไร อันนี้เป็นแถลงการณ์ฉบับแรกที่ออกในวันที่ 26 (เหตุเกิดในคืนวันที่ 25) คือว่าเขาก็โอเคนะเมื่อเกิดเหตุก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ก็ตรงตามกฎของตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วที่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อ Operation ของบริษัทในสาระสำคัญต้องรีบแจ้ง แต่ว่าวิธีการแจ้งบอกว่าพบน้ำมันดิบรั่วไหลและสังเกตว่าตัวเลขอะไรบ้างที่อยู่ในนั้นก็คือบอกแต่เพียงว่าตัวทุ่นมันอยู่ห่างไปกี่กิโล แต่ปริมาณน้ำมันไม่ได้เปิดเผย บอกเพียงคาดว่ายังมีปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในทะเลประมาณ 20 ตัน แล้วย่อหน้าถัดมาเขาก็พูดถึงกระบวนการที่เขาใช้ในการเริ่มกำจัด ก็บอกว่าได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนใกล้เคียงแล้ว. แล้วก็บอกว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมีเรื่องกำลังพลเรือน้ำยาและอุปกรณ์ แต่ว่าทั้งหมดนี่เราไม่เห็นอย่างที่เรียนเมื่อกี้ไม่เห็นตัวเลขอะไรเลยไม่รู้ว่าตกลงกำลังคนมีเท่าไหร่ เรือกี่ลำ น้ำยาชนิดไหนอีกต่างหากเราไม่เห็นตัวเลขเลย ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบกับการแถลงของปตท. Global Chemical .ตอนที่เกิดเหตุปี 56 ที่น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด ต้องบอกว่าปตท.นี่เขาแถลงอย่างชัดเจนกว่านี้มาก มีการพูดถึงตัวเลขที่บอกว่ามีอุปกรณ์เท่าไหร่อะไรยังไงแล้วก็มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำมันที่รั่วตั้งแต่แรก นี่คือข้อสังเกตอันที่หนึ่งว่าตั้งแต่ต้นว่าไม่เห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรม ในประกาศย่อหน้าสุดท้ายก็พูดว่า คาดว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อเขาในแง่ธุรกิจ แล้วก็พูดถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ. แล้วก็พูดประโยคสุดท้ายว่าเขามีประกัน แต่ก็ไม่มีตรงไหนเลยที่พูดเรื่องเกี่ยวกับความกังวลในด้านผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่จะเรียกว่าดูแลในเรื่องผลกระทบเหล่านั้น

ในเรื่องล่าสุด. ก็จะมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องคือมีแถลงการณ์ออกมาอีก 7 ฉบับ ล่าสุดที่เจอในระบบเป็นครั้งแรกคือฉบับที่ 8 เป็นฉบับแรกที่มีการประกาศเรื่องมาตรการเยียวยาที่ค่อนข้างกว้าง โดยใช้คำว่ายินดีจะรับผิดชอบใช้คำว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว และกลไกรับเรื่องร้องเรียน แล้วก็บอกว่าจะให้ความสำคัญแก่เรื่องของผลกระทบในเชิงของผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เช่นชาวประมงหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่ได้มีตรงไหนที่บ่งชี้ว่าก็จะดูแลในเรื่องของผลกระทบอื่นๆ อย่างเช่นผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยสรุปนี่คือสิ่งที่เขาแถลงมา 8 ฉบับ และล่าสุดก็คือกลไกเยียวยา แต่ก็ไม่ได้มีขั้นตอนอะไร

ทีนี้เขาทำอะไรมาบ้างในประเด็นพูดอะไรมาก่อนหน้านี้เรื่องของมาตรการป้องกันหรือว่าการเตรียมความพร้อมหรือการบำรุงรักษา ข้อมูลทั้งหมดก็มาจากตัวรายงานความยั่งยืนของ SPRC สไลด์เดียวกันกับที่เมื่อกี้คุณธารานำเสนอ. เพราะเห็นว่าเขาก็เน้นเรื่องนี้แหละก็เหมือนกับบริษัทน้ำมันใหญ่ๆทั่วไป เขาก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่มีการรั่วไหลเลยทั้งปี (zero spill) แล้วก็มีการอธิบายนะว่ามีการซ้อมอันนี้บอกว่าตัว oil seal response ต้องทำทุกเดือน มีการซ้อมแผนป้องกันกับร่วมกับหน่วยงานอื่น. แล้วที่น่าสนใจก็คือว่าอันนี้ถ้าดูไปในเนื้อหาของรายงานมีการพูดว่าเขามีระเบียบปฏิบัติที่จะใช้ในการรายงานอุบัติเหตุการและเหตุการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุโดยเขาก็เขียนลงไปในนี้นะว่าบริษัทมุ่งตรวจสอบหาสาเหตุ ติดตามและประเมินผลอย่างทันท่วงที. แล้วก็บอกว่ามีการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบทุกคนอย่างชัดเจน รวมไปถึงบุคคลผู้ประสบเหตุการณ์หรือความเสี่ยงต่างๆก็มีหน้าที่รายงานสิ่งเกิดขึ้น แล้วก็มีผู้บริหารระดับสูงจะเป็นผู้ดูแลและติดตามผลทันที

ทีนี้ถ้าเราลองไปดูตัวผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ที่บริษัทมองว่ามีกลุ่มไหนบ้าง. ถ้าดูในตารางรายงานความยั่งยืนเขาก็พูดถึงและแยกแยะ.ว่าเขาจะมีช่องทางที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง ที่น่าสนใจคือถ้าดูในกล่องของชุมชนก็ไม่ได้มีการพูดถึงช่องทางรับเรื่องร้องเรียนอะไรไว้ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกพื้นฐานในการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี่ เราจะพบเรื่องช่องทางรับเรื่องร้องเรียนสำหรับกลุ่มคู่ค้าและผู้รับเหมาไม่ใช่กลุ่มของชุมชน มีผู้ระบุเรื่องของช่องทางที่เป็นประเด็นกรณีทุจริตคอรัปชั่นแต่ว่าไม่ได้มีตรงไหนที่มีการอธิบาย.ว่าถ้าเกิดว่าสมาชิกชุมชนหรือว่าคนทั่วๆไปที่ได้รับผลกระทบมีกลไกอะไรหรือว่าช่องทางร้องเรียนคืออะไร

แล้วก็ที่น่าสนใจคือเวลาเราพูดคำว่าช่องทางรับเรื่องร้องเรียนวันนี้ตามหลักการสากลก็จะต้องพูดถึงคำว่า remedy หรือการเยียวยา.เมื่อเกิดผลกระทบที่ต้องรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วยดังนั้นไม่เพียงแต่บริษัทยังไม่ได้บอกว่า – หรือเขาอาจจะมีก็ได้นะแต่เขาไม่ได้ประกาศให้เป็นสาธารณะ – นอกจากจะไม่ได้มีช่องทางที่ชัดเจนการรับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนแล้วก็ยังไม่ได้มีตรงไหนเลยที่พูดถึงช่องทางหรือกลไกหรือขั้นตอนการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบนะ ไม่เจอเลยในรายงาน และจนถึงวันนี้ SPRC ก็ยังไม่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งที่จะช่วยได้มากในการที่จะวางในการที่จะออกแบบกลไกรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเพียงพอ นี่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการปัจจุบัน 

ทีนี้ถ้าเรามาดูเรื่องของการรั่วไหล SPRC ก็ไม่ได้ต่างจากบริษัทน้ำมันอื่นๆคือมีตั้งเป้า zero spill แล้วเขาก็จะรายงานถ้าเกิดเหตุรั่วไหล ล่าสุดจากรายงานปี 63 คือปีล่าสุดก็บอกว่ามี spill ระดับที่เขาบันทึกจำนวน 2 ครั้งที่เขาบันทึกนี่คือ 1 บาร์เรล หรือประมาณ160 ลิตร ที่น่าสนใจคือเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านรายงานความยั่งยืน 3 ปีย้อนหลังของบริษัทซึ่งก็พบว่าในปี 2019 หรือประมาณ 2 ปีที่ผ่านมามีการทำสิ่งที่เรียกว่า Event 2019 หรือว่าโครงการบำรุงรักษาใหญ่เป็นการปิดซ่อมบำรุงใหญ่เลย แล้วก็ในกระบวนการนี้ (เอาตามที่เขาเขียนรายงานเลยนะ) เขาก็บอกว่ามีความจำเป็นต้องเปิดหน้าแปลนเชื่อมกับระบบท่อมากกว่า 15,000 จุด และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตรวจสอบความเรียบร้อย แล้วก็มีการบอกว่าเอาระบบบาร์โค้ดมาใช้สำหรับการติดตั้งซ่อมบำรุงต่างๆ ถือว่าเป็นแผน Major Maintenance ของระบบท่อทั้งหมดเป็น Event 2019 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นนี่ ถามว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการรั่วไหลถึงขั้นบันทึกในปี 2019 มีไหม คือล่าสุดที่เขารายงานมี 2 ครั้งหนึ่ง และปี 62 มี 3 ครั้ง ที่น่าสนใจก็คือว่าเขามีการแจกแจงเหตุการณ์หกรั่วไหลที่เกี่ยวข้องกับ SPM หรือทุ่นผูกเรือที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันนั่นแหละที่เกิดขึ้นในกรณีที่เราพูดถึง สองคือเกิดเหตุหกรั่วไหลที่บันทึกในปี 63 แต่ว่า 2 ใน 3 เป็นเหตุที่เกิดจาก SPM เป็นเรื่องของแท่นหรือท่าเทียบอาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัจจุบันที่เราคุยกันอยู่

เขาก็อธิบายและวิธีที่เขาเปิดเผยรายงานแล้วก็ค่อนข้างชัดอย่างเหตุการณ์แรกก็พูดตั้งแต่ตัวสาเหตุ.แล้วก็อธิบายว่าแก้ไขด้วยการทำอะไร ก็บอกว่าขันซีลให้มีความแน่นหนา และผลกระทบคืออะไร โอเคก็เฉพาะหน้าก็คือมีน้ำมันซึมออกมา 50 มล. และการตอบโต้สถานการณ์คืออะไร แล้วก็มีการถอดบทเรียนด้วย การถอดบทเรียนจากปี 62 นี่เขาบอกว่าทีมสำรวจใต้น้ำนี่ต้องมีการไปดำเนินการตรวจสอบวาล์วใต้ทะเลอย่างละเอียดและสม่ำเสมอเพื่อหาจุดที่จะมีการรั่วไหล ซึ่งอันนี้แน่นอนเป็นข้อมูลที่ทำให้เราตั้งคำถามได้ว่าแล้วตอนนี้ไอ้กิจกรรมนี้มันยังทำอยู่ไหมหรือว่ามันมีการหย่อนหรือไม่อย่างไรถึงได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นในปี 65

อีกเหตุการณ์ในปีเดียวกันที่เขารายงานก็เป็น SPM เหมือนกัน อันนี้เป็นเขาบอกว่าเป็นน้ำมันซึมอันเนื่องมาจากการผุกร่อนของท่อ ซึ่งใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าซึมออกมา 100 ลิตร. แล้วก็ถอดบทเรียนอันนี้วงเป็นสีแดงไว้เองนะเขาบอกว่าค้นพบปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการผุกร่อนของท่อส่งน้ำมัน แต่ที่น่าสนใจก็ไม่บอกว่าอะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการผุกร่อน สิ่งที่เกิดขึ้นเขาบอกว่าเขาได้ทำแผนการตรวจสอบใต้ทะเลอย่างละเอียดและสม่ำเสมอรวมทั้งซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ดังนั้นคำถามคือแล้วปัจจุบันนี่ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่คุณทำ Event 2019 นี่มันคือปิดซ่อมบำรุงใหญ่มา 2 ปีกว่าแล้ว ดังนั้นจึงถามว่าวันนี้ยังมีการยึดตามแนวทางหรือว่าแนวปฏิบัติการตรวจสอบหรือไม่อย่างไรหรือว่าระหว่างทางมันเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีความย่อหย่อนหรืออะไรตรงไหนทำไมได้เกิดเหตุนี้ขึ้น

ขอยกตัวอย่างสั้นๆจากระเบิดของแท่นน้ำมันที่ใหญ่โตมากในอ่าวเม็กซิโกหรือ Deepwater Horizon ซึ่งอันนี้จะชี้ให้เห็นว่าทันทีที่เกิดเหตุบริษัทเองคือ BP ก็ประกาศ.ว่าเขาจะดำเนินการตรวจสอบสาเหตุแล้วก็เผยแพร่ผลการตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพออยู่แล้วในแง่การรับผิดทั้งหมด ส่วนรัฐบาลกลางก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของตัวเอง สุดท้ายก็นำมาสู่คดีความซึ่งผลลัพธ์คือ BP ต้องจ่ายค่าชดเชยมากถึง 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จุดที่อยากชี้ให้เห็นคือ BP เขาประกาศว่าจะตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบเสร็จก็เผยแพร่ผลการตรวจสอบ วันนี้รายงานการตรวจสอบดังกล่าวก็ยังหาอ่านได้นะดาวน์โหลดได้เมื่อเช้าเข้าไปเช็ค.ที่เว็บไซต์ของ BP แล้วในรายงานของบริษัทซึ่งเขาก็เผยแพร่ภายใน 25 เดือนก็อธิบายค่อนข้างชัดว่าเกิดจากอะไรบ้าง โดยระบุว่ามันมีอยู่ 8 Failures หรือความล้มเหลว ซึ่งบางเรื่องก็ยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเอง บางเรื่องก็บอกว่าเป็นความผิดของผู้ที่รับเหมา นี้เป็นระดับความรับผิดชอบที่บริษัททำทำ

พอย้อนกลับมาดู.เมื่อคำนึงถึงข้อมูลต่างๆที่เรารับรู้จาก SPRC ที่ตัวเองเขาพูด.ว่าเขาทำอะไรคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่าการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีนี้เอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาควรจะทำอะไรมากกว่านี้มาก คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นการพิสูจน์เรื่องการแสดงความรับผิดชอบ ตั้งแต่เรื่องข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด (Basic Facts) เช่นตกลงว่าน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่ แล้วเป็นน้ำมันชนิดไหนหรือว่า Dispersant ที่ใช้มีข้อกังวลมากมายจากฝั่งสิ่งแวดล้อม คุณจะใช้ชนิดไหนใช้เท่าไหร่ และผลกระทบ. หรือว่าที่จริงก่อนที่จะอธิบายผลกระทบควรจะอธิบายเหตุผลก่อนว่าวิธีกำจัดคราบน้ำมันที่มีอยู่ทั้งหมดทำไมเลือกวิธีนี้ และควรประกาศเลยว่าบริษัทนี่จะมีกรอบเวลาจะมีขั้นตอนอย่างไรในการตรวจสอบหาสาเหตุ แล้วเมื่อตรวจสอบแล้วจากแพร่ผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างไร แล้วก็ควรจะเปิดเผยผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและชายทะเลทันที. แล้วก็ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ต้องรออะไรเพราะในโลกมีเหตุน้ำมันรั่วมามากแล้ว ไม่ต้องรอการพิสูจน์อะไรอีก สิ่งที่ประชาชนกลุ่มต่างๆควรระวังมีอะไรบ้าง

กระบวนการตรวจสอบก็ต้องลงไปถึง Ultimate Cause ที่มันใกล้เคียงความจริงที่สุดเช่น ยกตัวอย่างการซ่อมบำรุงที่หย่อนสมมติ.หรือมีอะไรที่มากไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่คำอธิบายทำนองที่มันเป็นการออกอาการ เช่นท่อเป็นรูเพราะเพรียงเกาะมา หรือว่ามีนักดำน้ำลงไปดูแล้วเห็นว่าท่อแตกมันคงไม่ใช่สาเหตุ.ที่ที่เราควรจะยอมรับ. คุณจะไปไกลกว่านั้น แล้วก็แน่นอนว่าคนก็อยากจะเห็นเรื่องกระบวนการที่จะใช้ในการฟื้นฟูรวมถึงงบประมาณด้วย. ซึ่งควรจะล้อไปกับเรื่องการเปิดเผยผลกระทบ

อีกประเด็นหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ถ้าดูจากการทำงานของบริษัทที่ผ่านมาถือเป็นช่องโหว่ในการตั้งกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่เพียงพอ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการแสดงความจริงใจต่อสาธารณะที่คุณจะต้องทำอะไรที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่คนมากขึ้น เมื่อกี้หลายท่านก็พูดไปแล้วว่าปัญหาเรื่องของข้อมูลเรื่องความสับสนเรื่องของความไม่ชัดเจนเกิดจากภาครัฐด้วยแล้วมันก็ทำให้คนก็เลยขาดความเชื่อมั่น ถ้าบริษัทอยากจะสร้าง Good Will ตรงนี้อาจลองประกาศว่าจะมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่จะมีบุคคลภายนอกหรือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้ามาร่วมด้วยเพื่อที่จะได้สร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายมากขึ้น

และแน่นอนสิ่งที่อยากเห็นคือการป้องกันและยกยกระดับมาตรการป้องกันจากการถอดบทเรียนในกรณีนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในทะเลไทย และมันก็น่าเศร้าที่ก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย อยากเห็นทางบริษัทซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกควรต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้น และเห็นว่าบริษัทย้ำมากเรื่องของแผนและแผนการซ้อม เรื่องของการตรวจสอบที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง และแผนการบำรุงรักษาจุดบกพร่องมันอยู่ตรงไหนอะไรยังไงบ้างก็ควรจะเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ที่เป็นผลมาจากการสอบสวนของตัวเองด้วย

ภาพ : bangkokbiznews.com

คุณส. รัตนมณี พลกล้า : ประเด็นด้านกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ข้อสังเกตและข้อสงสัยต่างๆที่ผู้ทรงคุณวุฒินำเสนอมาข้างต้นจะต้องนำไปพิสูจน์ในชั้นศาล อันดับแรกคือเรื่องปริมาณน้ำมัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ปริมาณที่แน่นอน เช่นในปี 56 เราได้ข้อมูลจาก GISTDA ทำให้กำหนดปริมาณได้ คือ 5 หมื่นลิตรเป็นอย่างน้อยที่ศาลยอมรับ และใช้ dispersant กำจัดปริมาณเป็นหมื่นลิตรเช่นกัน (โดยมีสูตรการคำนวณว่าใช้สารเคมี 1 หน่วยต่อน้ำมัน 10 หน่วย ดังนั้นจึงใช้ dispersant ประมาณ 5 พันลิตร) แต่บริษัททำเรื่องขออนุญาตใช้มากกว่า 5 พันลิตร ซึ่ง dispersant นั้นเป็นสารพิษที่ต้องจำกัดปริมาณการใช้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพราะอะไรบริษัทจึงต้องการใช้มากเกินความจำเป็น มีน้ำมันรั่วเกิน 5 หมื่นลิตรหรือไม่ ทำให้ต้องพิสูจน์กันต่อไป

ส่วนในปีนี้พบว่ามีน้ำมันรั่วในปริมาณสูงกว่าแน่นอน จากสถานีน้ำมันเดียวกับเหตุการณ์เมื่อปี 56 ซึ่งเป็นแท่นรับน้ำมันเพื่อการผลิตในฝั่ง ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นอีกว่าประเภทน้ำมันเหมือนหรือต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวแท่นนั้นระบบผลัดกันใช้ระหว่าง PTT และ SPRC แต่เหตุการณ์รั่วไหลอยู่ในระหว่างที่ SPRC ใช้ และเป็นที่ทราบมาว่าอุปกรณ์ของแท่นกำลังจะหมดอายุปีหน้า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการทดสอบที่คุณสฤณีพูดถึงนั้นได้คำนึงถึงการใกล้เวลาหมดอายุด้วยหรือไม่

ส่วนเรื่องการฟ้องคดี ผู้เสียหายมิได้มีแค่ชาวประมง แต่มีพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล ร้านอาหาร และผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นจึงแบ่งฟ้องเป็นสองคดี คือศาลระยองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และฟ้องศาลปกครองในด้านความบกพร่องด้านการกำกับดูแล ผลก็คือศาลระยองตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายแก่ชาวบ้านเดือนละ 3 หมื่นบาทเป็นเวลา 3 เดือน เพราะยึดจากประกาศของรัฐมนตรีที่สรุปว่าทะเลกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ผู้เสียหายขออุทธรณ์เนื่องจากมีรายงานทั้งของปตท.และนักวิชาการบ่งชี้ว่าผลกระทบจะเกิดอย่างน้อย 3 ปี ศาลจึงกลับคำตัดสินให้จ่าย 3 ปีในอัตราถดถอย รวมแล้ว 1 แสน 5 หมื่นบาทต่อคน

บทเรียนที่สำคัญคือคำพิพากษาของศาลชี้ว่าการทำน้ำมันดิบรั่วเกิน 5 หมื่นลิตรถือเป็นการกระทำโดยประมาท และถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขโดยการพ่น dispersant กำจัด แต่สารเคมีเองก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องใช้เวลาเกิน 3 ปีในการฟื้นฟู จึงขอให้ตั้งกองทุนฟื้นฟู ที่แยกจากการเยียวยาที่ได้จ่ายไปแล้ว ประกอบไปด้วย 4 โครงการมูลค่า 1.5 ล้านบาท

ต่อมาพบว่าการฟื้นฟูมีเพียงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและสร้างบ้านปลาเท่านั้น แต่ไม่มีการศึกษาก่อนว่าสารสลายน้ำมันหรือ dispersant เมื่อรวมตัวกับน้ำมันแล้วจะทิ้งสารพิษไว้ในทะเลหรือไม่ เพราะใต้ทะเลระยองมีแก่งหินที่สะสมสารพิษและน้ำมันเหล่านี้ไว้ได้ เมื่อไม่มีการตรวจสอบ การฟื้นฟูจึงไม่ได้ผลในการกำจัดสารพิษที่แท้จริง ทำให้ชาวประมงระยองต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น ผลตอบแทนก็ลดลง เวลาผ่านมา 9 ปีแล้วสถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

สุดท้ายเรายังไม่เห็นผลงานการป้องกันน้ำมันรั่วจากกปน.ที่ชัดเจน ทั้งๆที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกหน่วยงานครบครัน จึงหวังว่ากปน.จะนำเอาองค์ความรู้จากชาวบ้านมาช่วยในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้นำมาใช้เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย และขอเสนอว่าปัญหาที่มีลักษณะร่วมทางเทคนิคและปกครองเช่นนี้ จะต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ทุกครั้ง

ที่มา : seub.or.th

ช่วงตอบคำถามและข้อเสนอแนะ

  • คุณเฉลิมพร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง : การระบุปริมาณน้ำมันรั่วไม่ใช่เรื่องยาก มีข้อมูลหลายแหล่งมาก แต่ปัญหาคือไม่มีใครที่ยอมพูดความจริงกัน ทำให้ภาคประชาชนไม่เชื่อถือและเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่นการฟื้นฟูเยียวยาก็จะทำได้ยากขึ้น อีกเรื่องหนึ่งคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารเคมีที่ใช้กดคราบน้ำมันลงใต้ผิวน้ำก็ไม่มีใครพูดความจริงเช่นกัน ซึ่งในอนาคตก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมอีกแน่นอนและปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขเช่นเดิม
  • คุณปอ นักศึกษาด้านกฎหมายพลังงานและสิ่งแวดล้อม : ขอทิ้งคำถามไว้ว่าความเสียหายในทะเล เจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทได้ออกมาร่วมชี้แจงความรับผิดแล้วหรือยัง และสัดส่วนของการเยียวยาคิดเป็นกี่ % ของความเสียหายทั้งหมดเพราะไม่มีทางเยียวยาได้ 100%
  • คุณบรรเจิด ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง : จากบทเรียนปี 56 พบว่าชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่องเทคนิค แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือผลกระทบที่ยังคงเหลืออยู่ สิ่งแวดล้อมยังเสื่อมโทรมอยู่ ไม่มีการเยียวยา ในขณะที่บริษัทต้นเหตุก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ จึงขอเสนอให้มีมาตรการป้องกันแก้ไขใหม่แทนการเก็บกู้และฉีดสารสลายคราบที่ไม่มีความยั่งยืนและอาจเพิ่มความเป็นมลพิษเข้าไปอีก และภาคธุรกิจควรมีความโปร่งใสและรับผิดชอบ และขอให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดแผน
  • คุณพอ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรม : เรียนว่าแผนฉุกเฉินมีเรื่องของการวัดความดันรั่วรวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีใครพูดถึง และการใช้ dispersant ควรใช้กับทะเลลึก ไม่ใช่ทะเลตื้นอย่างอ่าวไทย
  • มล.กร นักวิชาการด้านพลังงาน : แปลกใจว่ารัฐไม่ได้ใช้ประสบการณ์ครั้งที่แล้วในปี 56 มาใช้ในครั้งนี้เลย เพราะดูปฏิบัติการผิดพลาดไปหมด วิธีแก้ที่ถูกต้องควรใช้บูมล้อมและใช้ skimmer ดูดกลับ แต่ไม่เห็นว่าจะมีการใช้ เสนอให้มีการนำเรือที่ติด skimmer มาใช้งานได้แล้วเพราะเรามีโรงกลั่นในทะเลอยู่มาก และเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมมากกว่า dispersant ที่มีผลเสียต่อตัวอ่อนปะการังมาก หรือใช้วิธีอื่นๆเช่นการล้อมแล้วเผา และแผ่นซับน้ำมัน ประการที่สอง สังเกตว่ารัฐแถลงการณ์ตามเอกชน ไม่ได้ไปตรวจสอบเอง ทำให้ไม่มีความกระจ่าง และทำให้การระวังป้องกันไม่ได้ผล และขอแนะนำให้มีการตั้งคณะกรรมการถาวรมาดูแลที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ใช่เป็นแบบที่ตั้งกันชั่วคราว
  • คุณทอฝัน  นักศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ขอให้มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ด้วย
  • อ.ประสาท มีแต้ม : เคยตรวจสอบเรื่องน้ำมันรั่วในปี 56 เห็นด้วยกับการไม่ใช้สารเคมี แต่ควรใช้ skimmer และพบว่าจำนวนทุ่นมีไม่พอเพราะความเป็นจริงต้องใช้ถึง 40 กม. แต่มีใช้เพียง 3 กม. ซึ่งเป็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย EIA

ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ : ตอบคำถามคุณทอฝันว่าขอฝากสิ่งแวดล้อมไว้กับคนรุ่นใหม่ และเล่าให้ฟังถึงความเป็นพิษของน้ำมันดิบอย่างเดียว และน้ำมันดิบผสม dispersant พบว่าแบบผสมมีความเป็นพิษสูงกว่า ประการที่สองโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงภาคพลังงานจะต้องมีการรื้อสร้างใหม่หมด ต้องมีการตั้ง superagency ให้มีอำนาจเต็มในการจัดการที่สามารถลบล้างคำสั่งจากหน่วยงานอื่นทั้งหมดได้

คุณพาลาภ สมาชิกคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อสาธารณประโยชน์ : แนะนำให้ดูสถิติการเกิดโรงมะเร็งในพื้นที่ประกอบ และเห็นด้วยกับโครงการนักวิทยาศาสตร์พลเมืองของคุณธารา

คุณรัตน์ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม : เสนอเรื่องการสื่อสารภาคประชาชน ตอนนี้มีระบบเตือนภัยที่ชัดเจนแล้ว แต่ทางศูนย์เองก็ยังมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวไม่มากนัก ส่วนเรื่องการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ควรมีหน่วยงานวิจัยระดับสูงที่ดูแลในระยะยาว และควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มากกว่านี้

รศ.ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล : ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษและ EEC แต่มาตรการการป้องกันอ่อนมาก และไม่ทราบว่ามีบูมทั้งหมดกี่กิโลเมตร และมาเห็นการใช้ในวันหลังๆเท่านั้นและใช้น้อยด้วย ส่วนวันแรกๆไม่มีเลย และควรทบทวนกระบวนการส่งน้ำมันทางท่อใต้ทะเลใหม่หมด ประการสุดท้ายได้เน้นว่าชาวบ้านอยากได้สิ่งแวดล้อมที่เป็นปกติมากกว่าเงินเยียวยา

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง : แสดงภาพที่สวนทางกับการแถลงข่าวโดยเอกชน ให้เห็นว่าบริษัทมีบูมน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่น้ำมันจะรั่ว ในอดีตเคยมีเหตุน้ำมันรั่วกว่า 200 ครั้งแล้ว บริษัทน้ำมันควรประเมิงความเสี่ยงและลงทุนกับบูมและ skimmer ให้มากกว่านี้ และควรมีกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินความเสียหายทั้งหมด และรัฐบาลควรมีความเข้มแข็งไม่เดินตามแถลงการณ์บริษัท และบริษัทควรมีความรับผิดชอบให้มากสมกับกำไรที่ได้จากทะเลไทย

คุณสฤนี อาชวานันทกุล : เติมสั้นๆสามประเด็นคือภาคประชาชนควรจะมองในเชิงของการจับตาดูการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาครั้งนี้ไปเลย เห็นว่าจริงๆก็ควรจะเห็นคดีแพ่งตามมา ภาครัฐต้องแสดงความจริงใจและแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหามากกว่านี้ แล้วก็คิดว่าก็น่าจะเป็นเรื่องดีถ้าเกิดมีโครงการ Government Watch หรือจับตาดูการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเลย เช่นถ้าเกิดมีสุดท้ายมีการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมใช้อำนาจตามมาตรา 96-97 พรบ.สิ่งแวดล้อมในการในการเอาผิดกับเอกชนก็จะได้หารือและรวบรวมนำไปสู่การฟ้องร้องตามมาตรา 157 อะไรต่อไป คิดว่างานของภาครัฐนี่น่าจะสำคัญไม่แพ้การรวบรวมข้อมูลพลเมืองเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่สอง ในขณะเดียวกัน คิดว่าควรจะเรียกร้องเช่นกันให้มีกลไกของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการที่จะมาดูเรื่องนี้เฉพาะประเด็น. ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทุกคนก็อาจจะสังเกตเห็นบรรยากาศทางการเมืองในสภาที่ล่มแล้วล่มอีก แต่ก็ต้องปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเรามีกลไกสภา อย่างน้อยที่สุดควรจะเป็นกลไกที่ดึงข้อมูลในการดึงข้อมูลดึงข้อเท็จจริงเรียกเอกสารในเชิงลึกได้ ก็คิดว่าอยากเห็นการทำงานในในมุมของกลไกรัฐสภามากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่จะฝากก็คือว่าที่จริงในส่วนของตลาดหนักทรัพย์เองกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในปีนี้เป็นปีที่จะเริ่มใช้แนวหรือว่ารูปแบบการรายงานใหม่ที่เรียกว่า One Report ที่ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะไปเรียกร้องให้ตัวบริษัทและเชฟรอนแสดงความโปร่งใสมากกว่านี้มากในการรายงานข้อมูลและความคืบหน้าของการจัดการตามมาตรฐานใหม่ของกลต. และที่พี่ส.กล่าวถึงกลไกธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าตัวบริษัท SPRC ยังไม่ได้ประกาศ.ว่าเขานำหลักการชี้แนะในเรื่องนี้ของสหประชาชาติมาใช้ แต่เขาเป็นบริษัทลูกของเชฟรอน ซึ่งจริงๆแล้วทำให้น่าจะเป็นเรื่องที่เรียกร้องไปทางเชฟรอนได้เลย ทางเชฟรอนก็มี Operation ในประเทศไทย ว่าในฐานะที่คุณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 60% เชฟรอนจะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร เชฟรอนมีทรัพยากรมีองค์ความรู้ต่างๆมากมายในการจัดการกับน้ำมันรั่ว เป็นบริษัทที่ประกาศเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เรื่องกลไกต่างๆด้วยนี่จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร ก็มองว่าควรจะไปยกระดับคือมองไปที่ตัวเจ้าของของ SPRC และผุ้ถือหุ้นใหญ่ด้วยว่าเขาก็ควรจะต้องมาแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

คุณส. รัตนมณี พลกล้า : ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากพอ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ มีการบังคับใช้ที่ย่อหย่อน ขออย่าผลักภาระให้ประชาชนติดตามปัญหาเอง แต่รัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการและแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทะเลอย่างถูกต้องไม่ใช่แค่การปล่อยสัตว์น้ำแต่เพียงอย่างเดียว ประการสุดท้ายจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยมีประชาชนเข้าเป็นสมาชิก และประชาชนรวมทั้งคนรุ่นใหม่จะต้องสื่อสารข่าวออกมามากๆเพราะรู้สึกว่าเงียบเกินไปสำหรับเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้

ดร.กฤษฎา บุญชัย : กล่าวสรุปประเด็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทำลายระบบนิเวศในระยะยาว ความสับสนของการสื่อสารจากบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐ การไม่มีการถอดบทเรียนทั้งๆที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นหลายครั้ง การขาดความพร้อมและไม่มีผู้รับผิดชอบทั้งรัฐและเอกชน ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเยียวยาไม่ตรงกับต้นเหตุ กฎหมายและกลไกรัฐไม่คุ้มครอง ภาระสุดท้ายจึงตกอยู่ที่ชุมชน ส่วนในเรื่องข้อเสนอรวมถึง superagency และการวิจัยที่ก้าวหน้า การมีส่วนร่วม การตรวจติดตามโดยภาคเอกชน โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชน สุดท้ายนี้ทาง TCJA จะประมวลข้อมูลการประชุมและเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป และกล่าวปิดการประชุม


Social Share